31 ตุลาคม 2563

จีนเตรียมดิสรัปต์วงการปศุสัตว์ เร่งวิจัยพัฒนาเนื้อสัตว์ปลูก เป็นวาระชาติ ทดแทนการนำเข้า


 วงการปศุสัตว์สั่นสะเทือนแน่นอน หากจีนสามารถครอบครองเทคโนโลยีการปลูกเนื้อสัตว์ แล้วกลับมาเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลก ทดแทนการนำเข้า และส่งออกไปขายทั่วโลก

- เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมระหว่างสภาที่ปรึกษาการเมืองของจีน กับ สภาแห่งชาติจีน ในเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนทางด้านอาหาร โดยมีการเสนอให้ประเทศจีนลงทุนเพื่อพัฒนา เทคโนโลยีการปลูกเนื้อสัตว์ ให้เป็น วาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเนื้อสัตว์ของประเทศจีนขณะนี้ ที่เกิดจากไข้หวัดหมู และ โควิด

- โดยสภาที่ปรึกษามองว่า เทคโนโลยีการปลูกเนื้อสัตว์ คือทางออกของประเทศจีนในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การเป็นผู้นำทางด้านนี้ มีความสำคัญต่อประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง

- โดยข้อเสนอต่อสภาแห่งชาติจีน ผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใหญ่ยุทธศาสตร์ชาตินั้น ได้แก่ การใส่เงินทุนให้แก่งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปลูกเนื้อสัตว์ การพัฒนาสตาร์ทอัพสัญชาติจีน การออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับเนื้อสัตว์ชนิดใหม่



- เมื่อปลายปีที่แล้ว นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรแห่งนานจิง ได้ออกมาเปิดเผยความสำเร็จในการปลูกเนื้อหมู ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนได้แสดงให้โลกเห็น หลังจากฝั่งยุโรป อเมริกา อิสราเอล และ สิงคโปร์ ได้ทยอยออกมาประกาศความก้าวหน้าในเรื่องการปลูกเนื้อสัตว์ อยู่เรื่อยๆ

- ผลการวิจัยตลาดชี้ว่าผู้บริโภคจีนนั้นมีการตอบรับกับ เนื้อสัตว์ปลูก เป็นอย่างดี โดย 93.2 เปอร์เซนต์ของคนที่ได้รับการสอบถาม บอกว่าสนใจจะซื้อเนื้อสัตว์ปลูก หากมีวางขายในท้องตลาด

- ก่อนหน้านี้ในปี 2017 จีนได้เซนสัญญาร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพปลูกเนื้อสัตว์ สัญชาติอิสราเอล เป็นเงินจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9,345 ล้านบาท เพื่อที่จะพัฒนาเนื้อสัตว์ปลูกเข้ามาขายในเมืองจีน



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰

📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/

📲 Facebook - https://www.facebook.com/TheRichScientist/

📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/

📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"

Credit : Many Thanks to ....

- Data from https://www.greenqueen.com.hk/chinese-national-advisory-body-cell-based-meat-development-key-for-future-food-supply/

- Data from https://www.foodnavigator-asia.com/Article/2020/06/22/China-s-cell-based-meat-future-Calls-for-national-strategy-to-accelerate-sector-s-growth

- Data from https://vegconomist.com/society/chinese-official-calls-for-national-strategy-to-allow-china-to-keep-up-with-other-countries-making-progress-in-cultured-meat/

- Data from https://news.cgtn.com/news/2019-12-02/Petri-dish-pork-anyone-China-makes-first-foray-into-cell-based-meat-M69nV6CUbC/index.html


22 กรกฎาคม 2563

โควิดเร่ง "เนื้อสัตว์ปลูก" ถึงตลาดเร็วขึ้น กระทบปศุสัตว์แน่ ไทยยังไร้วิจัยพัฒนา



💣💥🐄🐑🐖🐓🐣 การปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารครั้งใหม่ กำลังจะมา วงการปศุสัตว์ไทย พร้อมรับมือหรือยัง เมื่อ #เนื้อสัตว์ทางเลือก ทั้ง #เนื้อสัตว์ปลูก และ #เนื้อเทียมจากพืช จะเริ่มแทนที่เนื้อสัตว์แบบเดิมในปี ค.ศ. 2025 หรือ แค่อีก 5 ปีข้างหน้าเท่านั้น

- 🍔 วิกฤตโควิด ทำให้ชาติตะวันตกเริ่มเห็นปัญหาในวงการปศุสัตว์แจ่มชัดขึ้น เนื้อสัตว์ที่มาจากการฆ่าไม่สะอาด การเลี้ยงสัตว์ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมมีความเสี่ยงโรคระบาด และเมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดขึ้น ก็มีผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ดังนั้น หากเราพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปลูกขึ้นมา ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากการปลูก จะมีความสะอาดได้มาตรฐาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมนุษย์ให้ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกด้วย

- 🍔 นักวิเคราะห์ประมาณว่าในปี ค.ศ. 2025 #เนื้อสัตว์ปลูก จะเริ่มผลิตในราคาที่แข่งขันได้ และเข้าสู่ตลาด แข่งกับปศุสัตว์ 🛒🍔🌮 ซึ่งตลาดในขณะนั้นมีมูลค่ากว่า 37 ล้านล้านบาท โดยในขณะนั้น #เนื้อเทียมที่ทำจากพืช (Plant-based meat) ได้ครองตลาดไปบ้างแล้ว 🥦🍄🌽 แต่หลังจากนั้น เนื้อสัตว์ปลูกจะค่อยๆ มาแย่งตลาดปศุสัตว์ และ เนื้อสัตว์เทียมจากพืช จนสามารถครองโลกได้ในที่สุด



- 🍔 #เนื้อสัตว์ปลูก จะสามารถสเกลอัพ หรือ ขยายการผลิตได้ง่าย 🚀📈📊 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะมันสามารถผลิตเนื้่อได้มีรูปลักษณ์ และรสชาติ ใกล้เคียงเนื้อจริง เนื่องจาก มันคือเซลล์เนื้อสัตว์จริงๆ จึงมีรสชาติอร่อยกว่าพวก #เนื้อเทียมจากพืช 🏆🏅🎖 ทำให้ส่วนแบ่งตลาด ในที่สุดแล้ว จะแซงเนื้อเทียมจากพืชอย่างแน่นอน

- 🍔 ที่น่าตกใจคือ เนื้อสัตว์ที่ได้จากการทำ #ปศุสัตว์ จะล้าสมัยไปเรื่อยๆ ไปยุคลูกหลานเรา การบริโภคเนื้อสัตว์แบบเก่า จะถูกมองว่าเป็นเรื่อง #ล้าสมัย ☠👻 การเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เพราะการผลิตเนื้อสัตว์ด้วยการปลูกจะสะอาดมาก และสามารถทำให้ราคาถูกกว่าการเลี้ยงสัตว์เสียอีก

- 🍔 เนื้อสัตว์ปลูก (มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น In vitro meat หรือ Clean Meat หรือ Lab-grown Meat หรือ Cultured Meat) เป็นการปลูกเนื้อสัตว์ขึ้นมาจากเซลล์ของสัตว์ ก็จะได้เนื้อสัตว์จริงๆ โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ ข้อดีก็คือ เลือกส่วนที่ปลูกได้ตามความต้องการมากน้อยของตลาด ได้รสชาติและลักษณะกายภาพของเนื้อสัตว์ 🍗🥩🥓🍖  ปัจจุบันสามารถปลูกได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไก่ หมู เนื้อ ปลาทะเล กุ้ง หรือแม้กระทั่ง ตับห่าน



- 🍔 ในขณะนี้ อุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ กำลังเกิดการตื่นตัวขนานใหญ่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ เหล่า Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1995 ถึงหลังปี 2000 เริ่มมีแนวทางบริโภค อาหารที่ไม่เหมือนเดิม อาหารแบบใหม่เริ่มได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ที่มาจากพืช หรือ เนื้อสัตว์ปลูกที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ไข่ที่ไม่ต้องเลี้ยงไก่ นมและชีสที่ไม่ต้องทรมานวัว 🍔🌭🧀

- 🍔 นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ชนิดใหม่ยังมีตัวช่วยอีกตัว นั่นคือ #ภาษีเนื้อสัตว์ ครับ เพราะเนื้อสัตว์ชนิดเก่ามีแนวโน้มจะโดนขึ้นภาษี ในฐานะตัวการทำให้เกิด ภาวะโลกร้อน โดยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าทรัพยสินรวมกันกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 131 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ทรงอิทธิพลมาก สามารถที่จะเข้าล็อบบี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย หรือการออกกฎหมายต่างๆ ... และสิ่งที่กลุ่มนี้ กำลังจะทำต่อไป คือการเคลื่อนไหวให้ออก "ภาษีเนื้อสัตว์" ทั่วโลก

- 🍔 คำถามคือ ประเทศไทย ซึ่งมีอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ใหญ่โต #พร้อมรับมือหรือยัง ⁉️ เพราะขณะนี้ เรา #แทบไม่มีการวิจัยและพัฒนา ในเรื่องนี้แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศเกษตร อย่างอิสราเอล และ สิงคโปร์ ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพทางด้านนี้ หลายบริษัทด้วยซ้ำ ทั้งนี้ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลก 60 บริษัท แต่ไม่มีบริษัทของคนไทย แม้แต่บริษัทเดียว 🔬⚗🧪🧫🥓🥩🍗



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.futuretimeline.net/forum/topic/21946-global-meat-consumption-by-type-2025-2055/
- Data from https://www.forbes.com/sites/susanlow/2020/06/01/are-you-ready-to-eat-lab-meat/#7b7033914a95
- Data from https://www.newscientist.com/article/mg24032080-400-accelerating-the-cultured-meat-revolution/
- Data from https://thetyee.ca/Culture/2020/05/15/Ready-Meat-Future/
- Data from https://www.forbes.com/sites/briankateman/2020/02/17/will-cultured-meat-soon-be-a-common-sight-in-supermarkets-across-the-globe
- Data from https://www.foodnavigator.com/Article/2020/04/20/Consumers-willing-to-pay-nearly-40-more-for-cultured-meat-over-regular-meat-study
- Data from https://www.theguardian.com/environment/2019/jun/12/most-meat-in-2040-will-not-come-from-slaughtered-animals-report

02 กรกฎาคม 2563

ขนุน - ซูเปอร์ผลไม้ตัวใหม่ ฝรั่งนำเข้าไปทำเนื้อสัตว์เทียม โอกาสส่งออกเพียบ



ใครก็ตามที่เกาะกระแสทุเรียนไม่ทัน หันมามองขนุนหน่อยก็ดีนะ ฝรั่งไม่กินทุเรียน แต่กินขนุน เด้อพี่น้อง

- ขนุน เป็นผลไม้พื้นบ้านของประเทศเขตร้อน ที่พวกเรามักไม่ค่อยเห็นคุณค่า แถมราคายังถูกแสนถูก จนไม่ค่อยจะมีใครคิดอยากปลูก แต่จริงๆ แล้ว ขนุน นั้นเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก มีไฟเบอร์สูง น้ำตาลต่ำ และที่สำคัญมีโปรตีนสูง ยิ่งไปกว่านั้น การที่มันมีลายเส้นของไฟเบอร์คล้ายๆ กับเนื้อสัตว์ เมื่อเอามาแปรรูปแล้ว จะทำให้เวลารับประทาน ก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังกินเนื้อสัตว์อีกด้วย (ดีไม่ดี อาจจะอร่อยกว่า เนื้อสัตว์ปลูก ก็เป็นได้)

- ขนุนเป็นผลไม้ ที่ปลูกทิ้งๆ ขว้างๆ ในแถบเอเชียใต้ และ อาเซียนบ้านเรา แต่อุดมด้วยโปรตีน แคลเซียม แมกนีเซียม วิตะมินเอ โปแตสเซียม มีสารฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แทนนิน เป็นซูเปอร์ผลไม้ที่ฝรั่งอึ้งมาก มันเป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลูกหนึ่งหนักได้ถึง 40 กิโลกรัม ขนุนเริ่มได้รับความนิยมในประเทศตะวันตกมาได้สัก 5-6 ปีแล้ว โดยเอาไปทำเนื้อหมู เนื้อไก่ เทียม ได้เหมือนมากๆ



- บริษัท อัพทอน แนเชอรัล (Upton's Naturals) ผู้แปรรูปขนุนให้เป็นเนื้อสัตว์เทียมพร้อมรับประทาน ขายดิบขายดีที่ออสเตรเลีย บอกว่า ขนุนนี่แหล่ะ คือ ผลไม้ที่เพอร์เฟคสุดๆ สำหรับการนำมาทำเนื้อสัตว์เทียม มันมีลายเส้นเหมือนเนื้อจริงๆ ทำให้สามารถทำรสสัมผัสให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ง่าย โดยขนุนที่บริษัทเอาไปใช้แปรรูปเป็นขนุนที่ยังไม่สุก ซึ่งจะไปสร้างรสชาติได้ง่ายกว่า สินค้าที่บริษัทนี้จำหน่ายจะเป็น เนื้อสัตว์เทียมที่นำไปทำอาหารได้หลากหลาย ทดแทนเนื้อหมู ได้เลย หรือจะซื้อแบบสำเร็จรูปแล้ว เช่น แกงกระหรี่ไทย ผัดซีอิ้วไทย แกงมัสมั่นไทย เอาไปเวฟกินเลย

- บริษัทสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า เดอะแจ็คฟรุตกัมปานี (The Jackfruit Company) ได้แปรรูปขนุนไปเป็นแหล่งโปรตีนใหม่ ทดแทนเนื้อสัตว์ โดยส่งออกขนุนจากกลุ่มเกษตรกร 350 ราย ในเขตชนบททางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งขนุนที่ปลูกส่วนใหญ่ก็ ปลูกทิ้งปลูกขว้าง กินกันไม่หวาดไม่ไหว เจ้าของสตาร์ทอัพรายนี้บอกว่า จะทำให้อินเดียใต้ เป็นแหล่งป้อนขนุนคุณภาพให้แก่ อเมริกา และ โลกใบนี้ สินค้าแปรรูปขนุน ที่บริษัทสตาร์ทอัพ เดอะแจ็คฟรุตกัมปานี ผลิตก็ได้แก่ ข้าวแกงกระหรี่ขนุน ข้าวผัดพริกขิงขนุน ข้าวหน้าเทอริยากิขนุน เท็กเม็กซ์ขนุน บาร์บีคิวขนุน ขนุนสดแช่แข็ง ขนุนเนื้อสำหรับทำอาหาร โดยได้ส่งขายไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วสหรัฐอเมริกา และกำลังมีแผนจะส่งออกไปทั่วโลกอีกด้วย

- คาราน่า (Karana) เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ที่กำลังจะออกสินค้า เนื้อหมูเทียมจากขนุน เร็วๆ นี้ โดยนำเนื้อขนุนมาดัดแปลงให้เหมือนเนื้อหมูด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใส่สารเคมี แต่ใช้สารปรุงแต่งจากธรรมชาติแทน โดยบริษัทบอกว่า ถ้ากินของเขาแล้วไม่ต้องกลัวเบาหวาน ความได้เปรียบของบริษัทนี้ คือ อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ซึ่งก็คือแหล่งปลูกในแถบอาเซียน นั่นเอง โดยบริษัทมุ่งจะผลิตเนื้อเทียมให้คนสิงคโปร์พึ่งตนเองทางอาหารได้ จากนั้นจะตลุยตลาดอาเซียน และ เอเชีย ก่อนจึงค่อยไปบุกยุโรปและอเมริกา





🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.nowtolove.com.au/lifestyle/food-drinks/what-is-jackfruit-62852
- Data from https://www.uptonsnaturals.com/products
- Data from https://theweek.com/articles/883642/history-jackfruit
- Data from https://www.livekindly.co/jackfruit-hottest-vegan-meat-found-fruit/
- Data from https://www.globalmeatnews.com/Article/2020/06/15/Jackfruit-based-pork-Karana-bids-on-minimal-processing-approach-to-stand-out-in-plant-based-category
- Data from http://smart-farm.blogspot.com/2017/08/blog-post.html
- Data from http://www.foodnavigator.com/Market-Trends/Introducing-jackfruit-The-next-big-thing-in-plant-based-meat-alternatives

04 มิถุนายน 2563

จีนยุคใหม่ ! เมื่อหนุ่มสาวจีนกลับบ้านเกิด ไปสร้างอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในชนบท



มารู้จักโมเดลการพัฒนาชนบทแบบใหม่ของจีน ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่ชนบท ช่วยยกระดับรายได้ของชาวชนบท ควบคู่กับ การทำ #เกษตรอัจฉริยะ ทำให้ชนบทของจีนกำลังก้าวหน้าไปสู่พื้นที่ไฮเทคระดับโลก

- ยุคใหม่ของจีนมาแล้ว เมื่อหนุ่มสาวจีนออกจากโรงงาน ปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานแทน หันหลังให้เมืองใหญ่ แล้วเดินทางกลับบ้านในชนบท ออกไปตั้งโรงงานพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Factory) ในเมืองที่มีค่าครองชีพถูก ค่าแรงถูก รับจ็อบเพื่อพัฒนาข้อมูลให้ปัญญาประดิษฐ์มีความฉลาดมากขึ้น จากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เมืองจีนได้กลายเป็น ประเทศแห่งอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ระดับโลกไปแล้ว

- หลังจากประเทศจีน ประกาศวิสัยทัศน์จะเป็นประเทศผู้นำด้าน เอไอ (A.I. หรือ Artificilal Intelligence) ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาทต่อปี ทำให้ตลาดแรงงานของจีนมีความต้องการวิศวกร และ นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ นับจำนวนหลายล้านคน เพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมนี้

- ซึ่งนี่อาจทำให้จีนขาดแคลนแรงงานทางด้านนี้ได้ ทางแก้คือ ปลดปล่อยคนหนุ่มสาวทั้งหลายออกจากงานโรงงานต่างๆ ซะ ด้วยการเอาหุ่นยนต์เข้าไปทำงานแทนที่ แล้วนำคนเหล่านั้น ออกมาทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น อย่างงานช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอ

- หนุ่มสาวจีนจำนวนมาก หันกลับบ้านเกิด ไปสู่เมืองที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า เพื่อเปิดบริษัทช่วยพัฒนางานด้านเอไอ ทำให้คนท้องถิ่นทำงานที่มีรายได้มากขึ้น



- โรงงานข้อมูล (Data Factory) กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในเมืองจีน โดยส่วนใหญ่จะไปเช่าโกดังร้าง นำมาปรับปรุงทำเป็นห้องขนาดใหญ่ ให้คนนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นับร้อยนับพันเครื่อง โดยหนุ่มสาวโรงงานยุคใหม่ จะช่วยสอนเอไอให้ฉลาดมากขึ้น ด้วยการบอกเอไอว่า รูปที่มันวิเคราะห์อยู่คืออะไร เอาไว้ทำอะไร มีประโยชน์อะไร เป็นต้น

- โรงงานเอไอ เหล่านี้ จะรับงานสารพัดจากลูกค้าที่จ้างให้ช่วยวิเคราะห์ หรือ สอนเอไอ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจดจำใบหน้ามนุษย์ ข้อมูลทางการแพทย์ รูปภาพต่างๆ สำหรับให้รถยนต์ขับเองได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งก็จะทำให้เอไอฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลเสียง หรือแม้แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูง ที่ต้องอาศัยมนุษย์กลั่นกรอง

- ตอนนี้ มีโรงงานเอไอจำนวนกว่า 6,000 แห่งทั่วเมืองจีน มาลงทะเบียนเพื่อรับงานจากแพล็ตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมโยงลูกค้า กับ โรงงานเอไอ ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าแต่ละโรงงานมีคนสัก 200 คน ก็มีคนทำงานทางด้านนี้ 1.2 ล้านคนเข้าไปแล้ว

- ฟาร์มเอไอ หรือ โรงงานข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ตัวจักรสำคัญ ที่ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาฉลาด (smart watch) สมาร์ทโฟน รถยนต์ขับเองได้ รวมไปถึง ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของจีนโดดเด่น นำหน้าประเทศอื่นๆ ในโลก



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.nytimes.com/2018/11/25/business/china-artificial-intelligence-labeling.html
- Data from https://motherboard.vice.com/en_us/article/7xyabb/china-ai-dominance-relies-on-young-data-labelers
- Data from https://time.com/5518339/china-ai-farm-artificial-intelligence-cybersecurity/
- Data from https://www.economist.com/technology-quarterly/2020/01/02/chinas-success-at-ai-has-relied-on-good-data
- Data from https://towardsdatascience.com/data-labeling-is-chinas-secret-weapon-in-the-connected-car-battle-e8e395965380
- Data from https://www.forbes.com/sites/cognitiveworld/2020/01/14/china-artificial-intelligence-superpower/

14 พฤษภาคม 2563

พม่าเตรียมส่ง ดาวเทียมเกษตร ผลงาน นักศึกษามหา'ลัยพม่า สู่วงโคจรปีหน้า



เทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็กกำลังเป็นเทรนด์ แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างพม่า ก็สามารถครอบครองได้

- พม่ากำลังวางแผนจะส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่วงโคจรในปี ค.ศ. 2021 โดยความช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยฮอกไกโด และ มหาวิทยาลัยโทโฮกุ ในญี่ปุ่น วัตถุประสงค์ของดาวเทียมดวงนี้ เพื่อต้องการช่วยเหลืองานทางด้านเกษตร และตรวจวัดสิ่งแวดล้อม

- ดาวเทียมดวงนี้ พัฒนาโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศเมียนมาร์ (Myanmar Aerospace Engineering University) ด้วยความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่มีขนาดความกว้าง-ยาว ด้านละครึ่งเมตร เท่านั้น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม 

- ภายใต้โครงการนี้ นักศึกษาพม่าจะพัฒนาดาวเทียมจำนวน 2 ดวงในระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการฝึกฝนทักษะตั้งแต่การสร้าง จนถึงการนำส่งดาวเทียมสู่วงโคจร รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม ซึ่งทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเพียง 500 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพม่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

- เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019) พม่าได้ส่งดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศเข้าสู่วงโคจร ซึ่งจะทำให้ประชาชนในประเทศพม่า สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่กันดารได้ ดังนั้น ดาวเทียมเกษตรของนักศึกษาพม่า ที่จะส่งขึ้นไปในปีหน้า จึงไม่ใช่ดาวเทียมดวงแรกของพม่า แต่นับเป็น ดาวเทียมเพื่อการเกษตร ดางแรกของเขาเลยทีเดียว


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://asia.nikkei.com/Business/Aerospace-Defense/Myanmar-to-launch-its-first-satellite-in-2021-with-Japan-s-help2
- Data from http://www.unoosa.org/documents/doc/psa/activities/2018/hsti_expert_meeting_vienna/Presentations/Session3_4_Win_Aung.pdf

10 พฤษภาคม 2563

ทางรอดเกษตรกร เยอรมันส่งเสริมหมู่บ้านชาวนา ผลิตไฟฟ้าขาย รับรายได้หลายทาง



เริ่มเป็นกระแสในหลายๆ ประเทศแล้วครับ สำหรับนโยบาย เกษตร-พลังงาน คือ ให้เกษตรกรใช้พื้นที่เกษตรผลิตทั้งอาหาร พืชผลทางการเกษตร และ พลังงาน เพื่อให้มีรายได้มั่นคง (Solar Sharing) โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบ ซึ่งออกนโยบายให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ควบคู่การทำเกษตร และกระแสนี้ก็ได้แพร่ไปสู่เมืองจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

- ปัจจุบัน ประเทศเยอรมันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียน (ลม แดด น้ำ) มากถึง 43% โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการผลิตของสหกรณ์เกษตร หมู่บ้านเกษตรกร ชุมชนต่างๆ หลายร้อยแห่งทั่วเยอรมัน โดยรัฐบาลเยอรมันได้ให้เงินสนับสนุนในการเริ่มต้นกิจการ จนกว่าจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้

- หมู่บ้านที่ชื่อ วิลด์โพลด์สรีด (Wildpoldsried) ในแคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของเยอรมัน ซึ่งมีประชากรจำนวน 2,500 คนเท่านั้น (หมู่บ้านนี้ มีจำนวนวัวมากกว่าคน เสียอีก) สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 800% ของที่ตัวเองใช้ โดยจำหน่ายไฟฟ้าที่เหลือเฟือเหล่านี้ ให้แก่ระบบส่งไฟฟ้า เพื่อนำไปเลี้ยงเมืองที่อยู่ใกล้เคียง



- นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านของเกษตรกรแต่ละหลังจะผลิตป้อนไฟขายแล้ว หมู่บ้านวิลด์โพลด์สรีด นี้ยังมีโรงไฟฟ้าชุมชนพลังงานชีวภาพที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตรถึง 5 โรง มีกังหันปั่นไฟอีก นับสิบต้นที่ติดตามทุ่งหญ้าปลูกพืชของหมู่บ้าน มีกังหันผลิตไฟฟ้าจากลำธารน้ำอีก 3 เครื่อง และมีแผงทำความร้อนจากแสงอาทิตย์กว่า 2,100 ตารางเมตร (ผลิตน้ำร้อนเพื่อทำความอบอุ่นแก่บ้านเรือน) ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของหมู่บ้านนี้ มีชาวบ้านเกษตรกรทั้งหมดเป็นผู้ถือหุ้น

- ที่เจ๋งไปอีกคือ เกษตรกรหมู่บ้านนี้เริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงทำให้หมู่บ้านนี้ พึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานได้เกือบสมบูรณ์

- นอกจากพื้นที่ของหมู่บ้านจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเชิงประวัติศาสตร์ แล้ว หมู่บ้านนี้ยังมีนักท่องเที่ยวแบบกลุ่ม ที่เข้ามาขอดูงานในเรื่องการผลิตไฟฟ้า มากกว่า 100 กลุ่มต่อปี ทั้งจากแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชีย




🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://messe-muenchen.de/en/magazine/magazine/people/empire-of-the-sun/
- Data from https://www.pri.org/stories/2020-04-30/what-germany-s-energy-revolution-can-teach-us
- Data from https://www.100-percent.org/wildpoldsried-germany/
- Data from https://www.yaleclimateconnections.org/2013/07/with-citizen-buy-in-german-village-generates-5x-renewable-energy-it-needs/
- Data from https://new.siemens.com/global/en/company/stories/energy/energy-transition-wildpoldsried.html

29 เมษายน 2563

อียิปต์มุ่งเป็นประเทศเกษตร กองทัพบกลุยสร้าง 100,000 โรงเรือนเกษตรกลางทะเลทราย



ในปี ค.ศ. 2015 กองทัพอียิปต์ ได้ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า "1.5 million Feddan project" ถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงจะประมาณว่า "โครงการ 3.9 ล้านไร่" ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่เป้าหมาย ที่จะเปลี่ยนทะเลทรายของอียิปต์ให้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ตามแผนการนี้ อียิปต์จะสร้างโรงเรือนจำนวน 100,000 โรงเรือนวมทั้งเปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายให้เป็นแปลงเกษตร นาข้าว บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

- โรงเรือนจำนวน 1 แสนโรงเรือนนี้จะก่อสร้างทั่วอียิปต์ เพื่อหล่อเลี้ยงประชากรประมาณ 20 ล้านคน โดยจะสร้างกระจายไปตามเมืองสำคัญต่างๆ โดยขณะนี้ มีการก่อสร้างไปแล้วเกือบ 8 พันโรงเรือน พื้นที่ก่อสร้างบางแห่ง อยู่ในฐานทัพต่างๆ ของกองทัพอียิปต์เอง

- กองทัพอียิปต์ได้เปิดเผยว่า โครงการ 1 แสนโรงเรือน นี้ไม่ได้ไปแข่งขันกับเกษตรกร เพราะจะผลิตในสิ่งที่ตลาดขาด ทดแทนการนำเข้า อีกทั้งยังจะเกิดการจ้างงานใหม่ได้นับแสนตำแหน่ง โครงการนี้จะมีความร่วมมือกับเกษตรกรที่อยู่บริเวณโครงการ เพื่อก้าวไปด้วยกัน #เราไม่ทิ้งกัน

- ปัจจุบัน อียิปต์มีน้ำใช้ประมาณ 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดย 70 เปอร์เซนต์ของน้ำจำนวนนี้มาจากแม่น้ำไนล์ ซึ่งจะถูกใช้ในการทำเกษตรมากถึง 79 เปอร์เซนต์ เลยทีเดียว ดังนั้น โครงการ 1 แสนโรงเรือนนี้ จะช่วยประหยัดน้ำให้ประเทศอียิปต์ได้มากถึง 40 เปอร์เซนต์



- ตัวอย่างเช่น ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบเดิม จะต้องใช้น้ำมากถึง 80 ลิตรเพื่อผลิตมะเขือเทศ 1 กิโลกรัม แต่ถ้าปลูกในโรงเรือน จะใช้น้ำเพียง 15 ลิตร เท่านั้น

- ในขณะทึ่ประชากรของอียิปต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตทางการเกษตรแบบเดิมกลับลดลงเพราะภาวะโลกร้อน ดังนั้น เกษตรแนวใหม่จึงเป็นคำตอบของอียิปต์

- โรงเรือนที่อิยิปต์สร้างขึ้นนี้ ใช้เพาะปลูกพืชหลากหลายชนิดมาก และที่เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ แตงกวา มะเขือม่วง พริกหวาน มะกอก มะม่วง ผักชนิดต่างๆ โดยกลุ่มโรงเรือนต่างๆ เหล่านี้จะมีโรงงานคัดแยก บรรจุหีบห่อ และมีห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาสินค้ารอนำส่ง

- โครงการนี้ จะช่วยทำให้อียิปต์กลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างสบาย ซึ่งในปัจจุบัน อียิปต์ส่งออกผักผลไม้ ปีละ 4 ล้านตัน แถมจะส่งได้ในเกรดสูง ราคาดี เนื่องจากไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเลย

- อาจจะมีคนมองว่า การปลูกพืชในโรงเรือนต้องใช้พลังงานมากมาย เพื่อมาปรับสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้ อียิปต์มีโครงการก่อสร้างโซลาฟาร์มจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเกษตรได้เหลือเฟือ



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://egyptindependent.com/egypt-builds-1300-greenhouses-as-part-of-the-largest-greenhouse-project-in-the-middle-east/
- Data from http://www.xinhuanet.com/english/2019-08/25/c_138337433.htm
- Data from https://www.afrik21.africa/en/egypt-greenhouse-agriculture-to-reduce-water-consumption/
- Data from https://www.egypttoday.com/Article/1/73924/100k-greenhouses-to-fulfill-needs-of-20M-citizens-Sisi
- Data from https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2019/08/egypt-greenhouse-project-army-private-sector.html
- Data from https://thearabweekly.com/armys-economic-role-fuels-debate-egypt

25 เมษายน 2563

หมดยุคน้ำมัน - สหรัฐหนุนเกษตรกรทำโซลาร์ฟาร์ม ร่วม การเกษตร รับรายได้ 2 ทาง



กระแสการทำโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เกษตร เพื่อผลิต อาหาร-พลังงาน พร้อมๆ กันไปนั้นเริ่มมาสักพักแล้ว ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบ ซึ่งออกนโยบายให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ควบคู่การทำเกษตร และกระแสนี้ก็ได้แพร่ไปสู่เมืองจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

- ขณะนี้ เริ่มมีการตื่นตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการทำเกษตรแบบแบ่งปัน คือ แบ่งแสงอาทิตย์ระหว่างการผลิตพลังงาน กับ การปลูกพืช (Solar Sharing) เกิดโครงการทดลองมากมายทั่วสหรัฐ มุ่งเป้าไปสู่การเป็นประเทศผลิตอาหาร-พลังงานอันดับหนึ่งของโลก

- ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้คือ โซลาร์ฟาร์มได้รุกล้ำพื้นที่เกษตร ทำให้พื้นที่เกษตรดีๆ ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ หลายประเทศจึงออกนโยบาย ให้โซลาร์ฟาร์มแบ่งปันพื้นที่ร่วมการเกษตร ให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน เพื่อผลิตได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและพืชผล

- นักวิทยาศาสตร์พบว่า หากพืชได้รับแสงที่เพียงพอแล้ว แสงส่วนเกินที่พืชได้รับ พืชก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ดี ดังนั้น เราสามารถใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อมาดูดซับแสงที่เหลือไปใช้ได้



- กระทรวงพลังงานสหรัฐ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งในพื้นที่เกษตรหลากหลายทั่วสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ในไร่องุ่น แปลงปลูกผัก สวนผลไม้ หรือแม้แต่พื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ พบว่า การสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ จะได้ประโยชน์ทบทวี สัตว์มาช่วยเล็มหญ้าให้ และร่มเงาของโซลาร์เซลล์ยังช่วยบังแดดให้สัตว์ จึงเพิ่มผลผลิตในการเลี้ยงด้วย

- ปัจจุบัน พื้นที่โซลาร์ฟาร์มหลายแห่งทั่วสหรัฐ พยายามแปลงตัวเองให้มาเป็นพื้นที่เกษตร หรือ ช่วยงานการเกษตร เช่น ปลูกพืช หรือ ดอกไม้ ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของฝูงผึ้ง และแมลงผสมเกสร มีฟาร์มน้ำผึ้งในโซลาร์ฟาร์ม มีการจ้างงานฝูงแกะให้เข้ามาเล็มหญ้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม แกะก็ได้กินหญ้าฟรี

- ในหลายพื้นที่พบว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เหนือพื้นที่เกษตร ยังช่วยปกป้องหน้าดินอีกด้วย

- ทั้งนี้ คาดว่า พื้นที่เกษตรที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วมทำการเกษตร ทั่วสหรัฐ จะเพิ่มจำนวนเป็น 7.6 ล้านไร่ ในอีก 8 ปีข้างหน้า 



- ในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั่วโลก เกษตรกรสหรัฐ มีเพียง 50% เท่านั้น ที่มีผลกำไรประจำปี ดังนั้น ถ้าหากเกษตรกรเหล่านี้ มีโซลาร์ฟาร์มของตนเอง แล้วขายไฟฟ้าให้แก่ชุมชนต่างๆ เขาก็จะสามารถมีรายได้ทางอื่นด้ว

- ญี่ปุ่นมีนโยบายห้ามสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เกษตร ยกเว้น จะสามารถแชร์พื้นที่ระหว่างการผลิตไฟฟ้า กับการทำไร่ทำนา ทำฟาร์มเกษตร ได้พร้อมๆ กัน

- กระทรวงเกษตรจีน ก็ได้ออกนโยบายว่า ต่อไปนี้หากจะมีการสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาฟาร์ม ก็ไม่ควรจะไปทำลายพื้นที่เกษตร แต่ให้ใช้พื้นที่เกษตรร่วมกัน โดยนโยบายนี้ออกมาเพื่อเป้าหมายทำให้เกิดเกษตรกรรมที่ทันสมัย โดยโซลาร์ฟาร์มต้องแชร์พื้นที่กับพื้นที่เพาะปลูก หรือ พื้นที่ประมง (โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ) ทั้งนี้ในเมืองจีนมีฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และ ปลานิล ขนาดใหญ่จำนวนมากที่สามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มได้

- จะเห็นว่า ทั้งญี่ปุ่น จีน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา เขาเห็นคุณค่าในพื้นที่เกษตร จึงพยายามติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้การทำเกษตร ยังสามารถทำได้อยู่ .. ไม่เหมือนประเทศไทยเรานะครับ ที่ชอบเอาพื้นที่เกษตรแปลงสวยๆ ไปสร้างโซลาร์ฟาร์ม 


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.scientificamerican.com/article/farms-can-harvest-energy-along-with-food/
- Data from https://www.greenbiz.com/article/should-land-be-used-solar-panels-or-agriculture
- Data from https://www.csmonitor.com/Environment/2020/0423/A-new-vision-for-farming-Chickens-sheep-and-solar-panels
- Data from https://www.renewableenergymagazine.com/emily-folk/should-we-be-using-more-land-for-20200423
- Data from https://solarbuildermag.com/featured/power-plants-pv-site-stability-starts-with-the-right-seed-mix/
- Data from https://rmi.org/solar-panels-the-ultimate-companion-planting-tool/
- Data from https://www.energy.gov/eere/solar/farmers-guide-going-solar

18 เมษายน 2563

หลังวิกฤตโควิด เวียดนามอาจจะผงาด เพื่อแซงทุกชาติในอาเซียน



วิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ทุกประเทศสะบักสะบอมกันไปหมด ว่ากันว่า วิกฤตนี้ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเป็นผู้นำโลก จากชาติตะวันตก เช่น ยุโรป และ สหรัฐฯ มาเป็นจีน ก็เป็นได้ หันมาดูในอาเซียนเรา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย เราเจอวิกฤตเศรษฐกิจเพราะโควิดอย่างจัง และอาจทำให้ชาติที่ไล่หลังมาอย่าง เวียดนาม ผงาดขึ้นมา ก็เป็นได้

- เวียดนามจัดการวิกฤตโควิดได้ดี จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก หากดูวิธีการดำเนินการของเวียดนาม ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวนน้อย พบว่า มีการประกาศให้เชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวเป็นโรคระบาดร้ายเเรงของประเทศ ตั้งเเต่มีผู้ติดเชื้อเพียงเเค่ 20 ราย การรีบประกาศเร็ว ทำให้สามารถสกัดโรคได้เร็ว ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการประกาศ มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง  เเละเวียดนามยังทดสอบโควิด-19 ไปเเล้วมากกว่าไทย

- เวียดนามไม่ได้ใช้ชุดตรวจ RT-PCR เเบบประเทศไทย เเต่สั่งซื้อชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) เเบบประเทศเกาหลี 2 เเสนชุด เเละตรวจถี่ ทำให้รู้สถานการณ์ติดเชื้อได้ดีขึ้น อีกทั้งออกมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่เเละการเว้นระยะห่างทางสังคม

- IMF รายงานว่า ปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา เวียดนามมีการเติบโตของจีดีพี ที่ 7% ของไทยอยู่ที่ 2.4% มาเลเซีย 4.3 อินโดนีเซีย 5.0 สิงคโปร์ 0.7 แต่ในปีนี้ ซึ่งเกิดวิกฤตโควิด คาดการณ์ว่า จีดีพีของเวียดนามจะโต 2.7% ส่วนของไทยติดลบ -6.7% มาเลเซีย -1.7 อินโดนีเซีย 0.5 สิงคโปร์ -3.5 จะเห็นว่า เวียดนามป่วยทางเศรษฐกิจ น้อยกว่าทุกชาติ



- เมื่อเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ไทยมีขนาดจีดีพี 15.6 ล้านบาท เวียดนามอยู่ที่ 7.6 ล้านบาท 

- สินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้เวียดนามมากที่สุด ขณะนี้ไม่ใช่สินค้าเกษตร แต่คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนของไทยนั้นเป็น รถยนต์และส่วนประกอบ 9 แสนล้านบาท ถ้าคิดในบริบทของโลกยุคดิสรัปชันสู่ดิจิทัล เวียดนามดูจะเป็นต่อมากกว่า เพราะการผลิตสินค้าประเภทนี้ ช่วยยกระดับทักษะแรงงานได้ดีกว่า

- วิกฤตโควิด และ สงครามการค้า จะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาติตะวันตก เกาหลี ญี่ปุ่น ย้ายฐานผลิตออกจากจีน จุดแข็งของเวียดนามคือ การมีจำนวนแรงงานที่สูงกว่า 56 ล้านคน โดย 2 ใน 3 นั้นเป็นแรงงานที่อยู่ในช่วงหนุ่มสาวซึ่งมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ของโลก ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเร็วยิ่งขึ้น เช่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google มีการย้ายฐานการผลิตสมาร์ตโฟน Pixel จากจีนมายังเวียดนาม
Nintendo ผู้ผลิตเครื่องเล่นเกม และเกม ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม Samsung ประกาศปิดโรงงานสมาร์ตโฟนในจีน ก่อนที่จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันนั้น เวียดนามเป็นฐานผลิตสมาร์ตโฟนของ Samsung กว่า 60% อีกด้วย

- ในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา Start-up ด้านเทคโนโลยีของเวียดนามดึงดูดการลงทุนแซงหน้าสิงคโปร์เป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนเงินทุนไหลเข้าสู่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 18 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมากกว่าการลงทุนด้านเดียวกันในสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17 ของภูมิภาค

- นครโฮจิมินห์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในเวียดนาม มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าสูงมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจังของเวียดนามเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี กลับเห็นผลที่ชัดเจนจนสามารถทะยานขึ้นเป็นเบอร์สองด้านการดึงดูดการลงทุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย

- มาดูอันดับโลกทางด้านดัชนีนวัตกรรมล่าสุดในปี 2019 ไทย ติดอันดับที่ 43 ดูเหมือนดีขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่อันดับ 48 แต่จริงๆ แล้ว คะแนนต่ำลง ในขณะที่เวียดนาม ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อยู่ที่อันดับ 71 ได้ไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่อันดับ 42 แซงไทยไปอย่างฉิวเฉียด


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://globthailand.com/vietnam-23032020/
- Data from https://www.bangkokbanksme.com/en/techstartup-vietnam-asian
- Data from https://www.wipo.int/global_innovation_index/en/2019/
- Data from https://www.longtunman.com/19606
- Data from https://www.longtunman.com/16455
- Data from https://www.longtunman.com/16762
- Data from https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/87623-news-12.html
- Data from https://brandinside.asia/imf-warns-global-economy-suffer-since-the-1930-th-economic-contraction-lowest-in-asean5-economy/

14 เมษายน 2563

สิงคโปร์บรรจุ เกษตรกรรมเป็นวาระชาติ หวั่นวิกฤตแบบโควิด เกิดขึ้นอีก



วิกฤตโควิด จะทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยนำเข้าอาหาร หันมาสนใจทำการเกษตรมากขึ้น แม้ว่าการทำเกษตรเองจะมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้า แต่เพราะบทเรียนที่ประเทศส่งออกอาหารทั้งหลาย ระงับการส่งออก อีกทั้งขึ้นราคาอาหารในระหว่างวิกฤต ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงทุนทำเกษตรอย่างจริงจัง

- ปัจจุบัน สิงคโปร์ผลิตอาหารได้เองเพียง 10% ของที่บริโภค นโยบาย "30 by 30" เป็นเป้าหมายที่จะทำให้สิงคโปร์ลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยผลิตอาหารได้เอง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030

- ขณะนี้ สิงคโปร์มีฟาร์มผักจำนวน 77 แห่ง โดยเป็นโรงงานปลูกพืชผักในร่ม 25 แห่ง และฟาร์มผักบนหลังคา (rooftop) 2 แห่ง ซึ่งผลิตผักได้ 14% ของการบริโภคทั้งหมด

- สิงคโปร์มีฟาร์มไก่ไข่ ที่มีกำลังผลิต 26% ของความต้องการในประเทศ มีฟาร์มปลา 22 แห่ง โดยเป็นฟาร์มในทะเล 110 แห่ง และฟาร์มบนบก 12 แห่ง มีกำลังผลิต 10% ของความต้องการในประเทศ

- สิงคโปร์ได้จัดตั้ง Agri-Food Innovation Park เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพทางด้านเกษตรและอาหาร มีบริษัทเทคโนโลยีอาหารเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สตาร์ทอัพที่ผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based meat) สตาร์ทอัพปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) สตาร์ทอัพผลิตนมด้วยการปลูกเซลล์ สตาร์ทอัพเพาะเลี้ยงแมลง เป็นต้น



- ล่าสุดสิงคโปร์เร่งแผนปฏิบัติการเกษตร ให้เป็นวาระเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะเปิดฟาร์มปลูกผักบนหลังคาอาคารจอดรถยนต์ เพิ่มอีก 16 แห่ง ในเดือนหน้าและถัดไป นอกจากนี้ ยังมีการเร่งสำรวจอาคารร้าง และ อาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อแปลงเป็นพื้นที่เกษตร

- สิงคโปร์จะเพิ่มฟาร์มเลี้ยงปลา โดยทำฟาร์มเลี้ยงปลาแบบแนวดิ่ง (Vertical fish farm) โดยจะมีการสร้างอาคารเลี้ยงปลาขนาด 8 ชั้น ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตปลาได้เป็น 8 เท่าของฟาร์มปกติ นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังจะเปิดฟาร์มลอยน้ำ (Floating farm) ให้มากขึ้นในน่านน้ำสากล

- สิงคโปร์จะเน้นการทำเกษตรแบบ #เกษตรอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง (internet of things) เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูง ใช้ทรัพยากรอย่างแม่นยำ โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีเกษตรในเมือง (Urban farming) และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีผลพลอยได้คือ ส่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รวมทั้งไทย



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.straitstimes.com/lifestyle/food/grow-local
- Data from https://www.todayonline.com/8days/eatanddrink/newsandopening/24-singaporean-fresh-food-producers-get-veggies-eggs-fish-chicken
- Data from https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-singapore-farming/singapore-ramps-up-rooftop-farming-plans-as-virus-upends-supply-chains-idUSKBN21Q0QY
- Data from https://www.thestar.com.my/opinion/columnists/on-the-beat/2020/04/12/food-for-thought
- Data from https://www.was.org/articles/The-Singapore-Aquaculture-Industry-Contributing-to-Singapores-Food-Security.aspx#.XpKgAMgzaUk

09 เมษายน 2563

โลกหลังวิกฤตโควิด มหาวิทยาลัยจะร่วง หรือ รอด



หลายปีที่ผ่านมา วิกฤตมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนฝีใกล้จะแตก ไม่ว่าจะเป็น เด็กเข้าเรียนน้อยลง ปริญญาที่ด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีดิสรัปชันเข้ามาคุกคาม โดยมีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ มาเป็นคู่แข่ง คราวนี้ พอมีเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดเกิดขึ้น ฝีที่พุพองดังกล่าว ก็ถึงคราวระเบิดในทันใด

- การระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เกิดห้องเรียนร้างกันทั้งโลก อาคารต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยแข่งกันสร้าง กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไร้ประโยชน์ในทันใด เมื่อการเรียนการสอนถูกยกไปไว้ในโลกออนไลน์ วิกฤตนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า จริงๆ มหาวิทยาลัยก็สอนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องของบมาสร้างตึกกันมากมาย

- วิกฤตโควิด ทำให้เราได้รู้ว่า ใครมีความสำคัญต่อองค์กร ใครไม่มีความสำคัญต่อองค์กร ในโลกยุคหลังวิกฤตโควิด ตำแหน่งจำนวนมากในมหาวิทยาลัยจะหายไป จะเหลือแต่ตำแหน่งงานที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น

- วิกฤตครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขนาดเล็กจะรอดก็ด้วยการรวมตัวกัน แล้วแชร์คอร์สออนไลน์กัน ช่วยกันสอนด้วยกลุ่มอาจารย์ที่มาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็ก กลายเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในโลกออนไลน์

- นอกจากการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปแล้ว การสอบและวัดผล จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หมดยุคเอาเด็กมานั่งทำข้อสอบในห้องสอบ และจับเวลาแล้ว หลายๆ มหาวิทยาลัยมีการตรวจรองเท้าและเครื่องแต่งกายระหว่างสอบ ภาพโบราณเหล่านี้จะหายไปในอนาคต เมื่อการสอบวัดผลไปอยู่ในโลกออนไลน์

- ในเรื่องของงบประมาณ วิกฤตโควิดจะสร้างแรงกดดันเรื่องงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก การเรียนการสอนออนไลน์ทำให้ค่าใช้จ่ายควรจะถูกลง นักศึกษาจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอม ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องคอยดูแลรักษาอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่มีเงินที่จะอุดหนุนมหาวิทยาลัย เพราะต้องเอาไปกู้วิกฤตเศรษฐกิจ

- วิกฤตโควิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธุรกิจจำนวนมากจะหายไป ในขณะที่จะเกิดธุรกิจใหม่จำนวนมาก ตำแหน่งงานจำนวนมากจะล้าสมัย ในขณะที่เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ ในโลกหลังโควิดระบาด คำถามจึงเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยจะมีส่วนอย่างไรในการพัฒนาแรงงานแห่งอนาคต
.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.mckinsey.com/industries/public-sector/our-insights/coronavirus-and-the-campus-how-can-us-higher-education-organize-to-respond
- Data from https://www.theguardian.com/education/2020/mar/31/covid-19-is-our-best-chance-to-change-universities-for-good
- Data from https://www.insidehighered.com/digital-learning/blogs/learning-innovation/teaching-and-learning-after-covid-19
- Data from https://www.mackinac.org/higher-education-and-the-covid-19-pandemic
- Data from https://www.insidehighered.com/blogs/learning-innovation/5-reason-stop-doing-timed-online-exams-during-covid-19
- Data from https://edscoop.com/covid-19-forcing-rapid-technological-transformation-higher-ed/

02 เมษายน 2563

วิกฤตโควิด ทำให้โดรน และ หุ่นยนต์เกษตร เมืองจีน ขายดีขึ้น มุ่งสู่ประเทศเกษตรอัจฉริยะ



โลกหลังวิกฤตไวรัสโคโรนาจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่มีวันหวนคืน หลายธุรกิจจะหายไป และมีธุรกิจดาวรุ่งมากมายเกิดขึ้น หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจะมาแน่ๆ คือ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษ์มากขึ้น ทั้งในที่ทำงาน โรงงาน และสถานที่ต่างๆ ทำให้เราทำงานที่บ้านได้ง่ายขึ้น

- XAG บริษัทโดรนของจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดในเมืองจีนอย่างหนัก ได้ทำให้บริษัทขายโดรนเกษตรได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้ขายโดรนเกษตรออกไป 4 พันเครื่อง

- บริษัทYifei Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย โดรนและหุ่นยนต์เกษตร เสริมด้วยว่าบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นจริงๆ และคาดว่ารายได้จะเติบโตเป็น 4 เท่าในปีนี้

- นอกจากโดรนและหุ่นยนต์เกษตรแล้ว ยังมีรายงานอีกด้วยว่า ฟาร์มบริษัท และเกษตรกรรายใหญ่ทั่วเมืองจีน ยังได้ซื้ออุปกรณ์การเกษตรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้ขาดแคลนแรงงานในฟาร์ม ดังนั้น จักรกลที่สามารถทำงานและควบคุมได้จากระยะไกล คือ คำตอบ 



- วิกฤตโควิด จึงเป็นตัวเร่งให้เป้าหมายการปฏิรูปภาคเกษตรให้ทันสมัย ของรัฐบาลจีนบรรลุผลได้เร็วยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรของจีนประมาณการว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีนนี้ ตลาดโดรนเกษตรจะเติบโตกว่า 30,000 ลำ

- นักวิเคราะห์เชื่อว่า วิกฤตโควิดจะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่แบบโดดเดี่ยวได้ยากยิ่งขึ้น จะมีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ในรูปสหกรณ์หรือบรรษัทมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูง และ แข่งขันได้

- ปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะของเมืองจีน มีมูลค่าประมาณ 8.8 แสนล้านบาท ลองคิดดูนะครับว่า มันใหญ่ขนาดไหน


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.cnbc.com/2020/03/10/chinese-agriculture-drone-makers-see-demand-rise-amid-coronavirus-outbreak.html

30 มีนาคม 2563

เข้าเอเชียแล้ว .. กระแส ซูเปอร์มาร์เก็ต ปลูกผักเองในห้าง แนะเกษตรกรรีบปรับตัว



สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล InFarm ซึ่งนำเทคโนโลยีการปลูกผักแนวตั้ง (Vertical Farming) มาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ ประกาศจะผลักดันกระแสการปลูกผักเองของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วทั้งยุโรป ออกไปยังทวีปอเมริกาและเอเชีย

- เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัท InFarm ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทได้รับเงินทุนจาก JR East หรือ การรถไฟสายตะวันออกของญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัทขยายการดำเนินการเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น โดยจะจัดตั้งบริษัท InFarm Japan ทั้งนี้ บริษัทรถไฟ JR East มีซูเปอร์มาเก็ตมากมายกระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่น

- บริษัท InFarm นี้ ก่อตั้งในเยอรมัน โดยปัจจุบันได้รับเงินทุนกว่า 4 พันล้านบาท โดยมีการติดตั้ง ฟาร์มปลูกผักในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปทั่วยุโรปแล้ว ทั้งในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และตอนนี้ยังขยายไปถึงแคนาดา อีกด้วย รวมๆ กัน มีฟาร์มแบบนี้มากถึง 600 แห่งแล้ว

- ฟาร์มในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของ InFarm จะเน้นการปลูกผักที่มีคุณภาพสูง อุดมด้วยสารอาหาร และสมุนไพรต่างๆ โดย InFarm บอกว่า ผักที่ปลูกแบบนี้ ทั้งปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง แถมยังมีรสชาติ กรอบอร่อย กว่าผักที่ปลูกแบบเดิมอีกด้วย เพราะทางบริษัทใช้สูตรในการดูแลไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง การให้สารอาหาร ที่ปรับแต่งมาแล้ว สำหรับผักแต่ละชนิด ที่จะทำให้รสชาติอร่อยที่สุด



- ระบบปลูกแบบนี้ ได้เป็นที่พึงพอใจทั้งตัวห้างเอง และ ลูกค้าที่มาซื้อผัก เนื่องจากจะได้ผักใหม่ๆ สดๆ สะอาดปลอดภัย ระบบปลูกผักในห้างนี้ สามารถดูแลตัวเองได้ โดยแทบจะไม่ต้องใช้คนดูแลอีกเลยหลังจากนำมาปลูกในระบบแล้ว ซึ่งจะมีเซนเซอร์ต่างๆ คอยเก็บข้อมูล และเฝ้ามอง และส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์อินเทอร์เน็ต ระบบจะควบคุมพารามิเตอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับผักแต่ละชนิด

- การที่ห้างค้าปลีก หันมาปลูกพืชเอง จะทำให้ห่วงโซ่มูลค่าจากเดิมที่ยาวๆ สั้นลงอย่างมากเลยครับพี่น้อง ... เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีห่วงโซ่มูลค่าสั้นลง เพราะใช้จำนวนชิ้นส่วนน้อยลงมาก ... ยุคต่อไป เราจะเห็นแบบนี้มากขึ้น ทั้งการผลิตสินค้าและอาหาร ที่ห่วงโซ่มูลค่าจะสั้นลง และเป็นการผลิตใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น (Local Foods, Local Products)

- ก่อนหน้านี้ ห้างทาร์เก็ต (Target) ในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มทดลองปลูกผักในห้างเอง ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2017 โดยเริ่มต้นปลูก มันฝรั่ง บีทรูท ซุคคินี พริกไทย และมะเขือเทศสายพันธ์หายาก และทยอยขยายจำนวนสาขา และ จำนวนชนิดของพืชผักที่ปลูกไปเรื่อยๆ เช่น จะเพิ่มการผลิตพืชที่เป็นไม้ผล มากขึ้นเรื่อยๆ

- ต่อมา ห้างค้าปลีก Whole Foods ซึ่งมีมหาเศรษฐีเจ้าของเว็บไซต์ อี-คอมเมิร์ซ ชื่อดังยี่ห้อ Amazon เป็นเจ้าของ ก็ประกาศแผนจะเปิดโรงงานปลูกพืชผัก (Plenty) ในเมืองจีนจำนวนกว่า 300 แห่ง เน้นการส่งขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต

เห็นได้เลยว่า ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรผู้ปลูกผักจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่แล้วครับ !!


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://nocamels.com/2020/03/israel-founded-infarm-urban-farming-japan/
- Data from https://thespoon.tech/infarms-high-tech-vertical-farms-head-to-canadian-grocery-stores/

28 มีนาคม 2563

นมแม่เทียม มาแล้ว สตาร์ทอัพสิงคโปร์เตรียมผลิตนมมนุษย์ ป้อนทารกทั่วโลก



"นมโค ก็ควรจะให้ลูกวัวกินสิ ไม่ใช่ลูกมนุษย์" เป็นสิ่งที่ผมสงสัยมานานแล้วว่า วันหนึ่งเราจะสามารถผลิตน้ำนมสำหรับลูกมนุษย์ ที่ไม่ใช่นมวัวได้หรือไม่ และวันนี้ ก็ได้เกิดสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่ได้พัฒนากระบวนการที่เรียกว่า Cellular Agriculture เพื่อทำการผลิตน้ำนม โดยการเลี้ยงเซลล์ผลิตนม ให้ทำการผลิตน้ำนม

- โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการผลิตอาหารที่เบียดเบียนสัตว์น้อยลง ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเทียมที่ผลิตจากพืช (Plant-based meat) เนื้อสัตว์ปลูก (in vitro meat) ไข่ที่ไม่ต้องมีไก่ (Plant-based egg)นมทางเลือกชนิดต่างๆ ที่ผลิตจากพืช

- สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า TurtleTree Labs ได้พัฒนาเทคโนโลยีเลี้ยงเซลล์ผลิตน้ำนม ให้สามารถผลิตน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็น วัว แพะ แกะ ได้หมด แต่ผลิตภัณฑ์แรกที่เขาจะนำมาขายคือ น้ำนมมนุษย์ ซึ่งมีขนาดตลาดนมเด็กทารกขนาด 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท



- TurtleTree Labs ไม่ได้คิดจะผลิตน้ำนมขายเอง แต่เขาจะขายไลเซนส์ หรือ สิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้บริษัทผลิตนมขนาดใหญ่ นำเทคโนโลยีนี้ไปผลิตน้ำนมขาย 

- ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือ เราสามารถวิศวกรรมการผลิตให้ได้น้ำนมแบบที่ผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น มีไขมัน หรือ คลอเรสเตอรอล ต่ำ ปราศจากแลคโตส เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถเจาะตลาดได้หลายประเภท ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ตลาดอาหารที่ต้องการนมที่มีความเป็นครีมสูง เป็นต้น

- รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านเกษตรและอาหารอีกหลายแห่ง ด้วยความหวังที่จะทำให้สิงคโปร์สามารถผลิตอาหารเองได้ในอนาคต

- ล่าสุดบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน KBW Ventures ซึ่งเป็นของเจ้าชายพระองค์หนึ่งแห่งซาอุดิอารเบีย พักหลังๆ นี้ เราจะเห็นว่า ประเทศอาหรับลงทุนทางด้านเกษตรอาหาร เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงงานผลิตพืชผัก การปลูกข้าวในทะเลทราย ฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้งขนาดใหญ่ในทะเลทราย



Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://turtletreelabs.com/
- Picture from https://phys.org/news/2019-06-lab-grown-dairy-food-frontier.html
- Picture from https://www.greenqueen.com.hk/turtletree-labs-singapore-lab-grown-dairy-milk-without-cows/

04 กุมภาพันธ์ 2563

เกษตรกรเตรียมปรับตัว รับดิสรัปชัน ในยุคที่ เกษตรกรรมไม่ต้องมีไร่นา อีกต่อไป ผลิตอาหารด้วยระบบอัตโนมัติ



(ในรูป เป็นการผลิตเซลล์ผลไม้ โดยไม่ต้องมีต้น)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกเราพัฒนาไปอย่างเร็วมาก ทำให้หลายอาชีพกำลังหายไป และมีอาชีพแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้น เราเคยคิดว่า ถึงยังไง มนุษย์ก็ต้องกินต้องใช้ ดังนั้นใครทำเกษตร-อาหาร ก็ไม่มีวันตกงานใช่ไหม ทว่า วันนี้ มันอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้

- เกษตรกรรม จะย้ายจากชนบทสู่เมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต มนุษย์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ชนบทจะมีคนน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น การทำเกษตรก็จะค่อยๆ ย้ายเข้าเมือง (Urban Farming) เพื่อให้ผลิตอาหารได้ใกล้กับผู้บริโภค พื้นที่เกษตรจะถูกคืนให้แก่ธรรมชาติ ขณะนี้ คอนโดมิเนียมจำนวนมาก โรงแรมหลายแห่ง ก็เริ่มเข้าสู่กระแสนี้ แม้แต่ซูเปอร์มาร์เกต ก็เริ่มหันมาปลูกผักเองแล้ว

- เกษตรกรรม จะย้ายจากกลางแจ้ง เข้าสู่ในร่ม (Indoor Farming) ไม่ว่าจะเป็นการ ปลูกพืชในโรงเรือนที่อาศัยแสงเสริม (Greenhouse) การปลูกพืชแนวตั้งแบบโรงงานเพาะปลูกพืช (Vertical Farm / Plant Factory) ซึ่งสามารถทำได้ในตึกแถว โรงงานร้าง ในอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การเพาะปลูกในสภาพที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ย่อมเป็นอนาคตอย่างแน่นอน



- การผลิตเนื้อสัตว์ จะเปลี่ยนรูปแบบจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเป็นอาหาร มาเป็น การเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อสัตว์ (in vitro meat) ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ในทุกหญ้า หรือในโรงเลี้ยง ที่สร้างกลิ่นรบกวนต่อชุมชนอีกต่อไป การผลิตเนื้อจะสะอาดปราศจากโรค นอกจากนี้ ยังมีเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากพืช ซึ่งจะทำให้ปศุสัตว์ กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ในอนาคต

- แม้แต่ผลไม้ ก็สามารถผลิตได้ในระบบปิด ทั้งในโรงเรือน และ โรงงานปลูกพืชในร่ม ผลไม้บางชนิดยังสามารถผลิตได้โดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ เป็น ผลไม้ไร้ต้น

- ในยุคที่สังคมโลกกำลังเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากผู้ผลิตอาหาร เกษตรกรรมแบบไร้ไร่นา กำลังเป็นสิ่งที่ใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อย ปัจจุบัน เราใช้พื้นดินจำนวน 1 ใน 3 ไปกับการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร โดย 83% ของพื้นที่ตรงนี้ ใช้เพื่อผลิตเนื้อนมไข่ ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราผลิตโปรตีนเหล่านี้ได้ภายในโรงงานระบบปิด เราจะเอาพื้นที่พวกนี้คืนแก่ธรรมชาติ ได้เยอะขนาดไหน



- ปัจจุบัน อาหารของเรามาจากทั้งพืช และ สัตว์ แต่ในอนาคต เราอาจจะไม่ต้องพึ่งสิ่งมีชีวิต 2 กลุ่มนี้อีกต่อไป เริ่มมีอาหารหลายชนิดที่ผลิตได้จากการใช้สิ่งมีชีวิตจิ๋ว หรือ จุลินทรีย์ ด้วยวิธีการชีววิทยาเชิงสังเคราะห์ บริษัทสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า Solar Foods ในประเทศฟินแลนด์ได้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วนำมาผสมกับส่วนผสมต่างๆ วิธีการนี้ ใช้น้ำน้อยมากๆ

- ปัจจุบัน นมเนยไข่ ที่ผลิตจากสัตว์ กำลังถูกแทนที่ด้วย นมเนยไข่ ที่ผลิตจากพืช แต่ในอนาคต สิ่งนี้ก็จะถูกแทนที่ด้วย นมเนยไข่ ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ บริษัทสตาร์ทอัพ ที่มีชื่อว่า Clara Foods ได้แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถผลิต โปรตีนไข่ จากการหมักน้ำตาลด้วยจุลินทรีย์

- จากรายงานเรื่อง "Rethinking Food and Agriculture 2020-2030" ได้นำเสนอการคาดการณ์อนาคตของภาคเกษตรที่น่าทึ่ง ว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า อาหารกลุ่มโปรตีนจะถูกลง 10 เท่า โดยโปรตีนกลุ่มใหม่จะถูกกว่า อาหารที่มาจากสัตว์มากกว่า 50% นี่หล่ะครับ จุดจบของบริษัทอาหารที่มาจากสัตว์ อย่างแท้จริง


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจ #เกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ---> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ---> https://twitter.com/teerakiat_kerd/