14 มิถุนายน 2556

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 3)



เมื่อโลกร้อนเพราะแสงอาฑิตย์ส่องเข้ามามากเกินไป เราก็ต้องห่มผ้าให้โลก เพื่อให้โลกรับแสงอาฑิตย์น้อยลง ไอเดียอันบรรเจิดนี้มาจากศาตราจารย์ พอล ครูทเซล (Paul Crutzel) นักเคมีรางวัลโนเบล ค.ศ. 1995 ผู้ที่ค้นพบว่าของเสียที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ขึ้นไปทำลายชั้นโอโซน แต่มาตอนนี้ท่านกลับเสนอให้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นมลพิษนี้ในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ เพื่อให้ก๊าซนี้สะท้อนแสงอาฑิตย์กลับเข้าไปในบรรยากาศ แล้วทำให้โลกเย็นลง การกระทำเช่นนี้เป็นการเลียนแบบการเกิดภูเขาไฟระเบิดนั่นเอง เพราะทุกครั้งที่มีการระเบิดของภูเขาไฟนั้น จะมีการปล่อยกลุ่มควัน เถ้าถ่าน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน ทำให้พื้นผิวโลกที่อยู่ใต้บริเวณนั้นเย็นลง ดังเช่น การระเบิดของภูเขาไฟปินาทูโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1991 นั้นได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาถึง 20 ล้านตัน ซึ่งมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส ศาสตราจารย์พอลได้เสนอวิธีที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์โดยการปล่อยบอลลูนที่บรรจุก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นไปปล่อยในชั้นบรรยากาศ หรืออาจบรรจุในถังแล้วยิงขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ให้ไปแตกระเบิดออกในชั้นบรรยากาศ ท่านได้คำนวณจำนวนของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ควรปล่อย ราคาของโครงการ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ แนวความคิดอันสุดโต่งและล้ำลึกของท่านนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามทำวิจัยหาข้อมูลเพิ่มทั้งเพื่อยืนยันและหักล้างแนวคิดนี้ ศาสตราจารย์ครูทเซลได้กล่าวว่า หากโลกเราไม่มีความสามารถในการหยุดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วที่สุด นี่ก็อาจจะเป็นทางออกเดียวที่พอทำได้ที่จะหยุดโลกร้อน

ภาพบน - การระเบิดของภูเขาไฟปินาทูโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1991 นั้นได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาถึง 20 ล้านตัน ซึ่งมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส

13 มิถุนายน 2556

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 2)


วิศวกรรมดาวเคราะห์ หรือ Geoengineering กำลังจะกลายมาเป็นศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใดๆ ที่กระทำโดยสิ่งมีชีวิตจะยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อให้หลุดพ้นจาก Global Warming ลองจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการนี้สิครับ ทะเลทรายที่มีแต่ทรายจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการใช้พืชดัดแปรพันธุกรรม จะมีการปล่อยอนุภาคเหล็กลงไปในทะเลครั้งใหญ่ เพื่อช่วยให้พวกสาหร่ายและแพล็งตอนสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น และดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น การปล่อยสารเคมีที่ช่วยรักษาชั้นโอโซน การปล่อยอนุภาคที่สะท้อนแสงอาฑิตย์ในชั้นบรรยากาศเพื่อลดแสงแดดที่ตกกระทบโลก การอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอซซิล กลับลงไปใต้พื้นพิภพหรือพื้นทะเล ไปจนถึงการสร้างแผงเซลล์สุริยะ หรือ กระจกบานใหญ่ขนาดเป็นร้อยกิโลเมตร ในวงโคจรรอบโลกเพื่อลดแสงอาฑิตย์ที่ส่องเข้ามายังผิวโลก ซึ่งจะเห็นว่าหากต้องการเปลี่ยนฟ้าแปลงโลกให้ได้ผลจริงๆ จะต้องร่วมกันทำทั้งโลก และต้องทำหลายๆอย่างพร้อมๆ กันครับ อย่างไรก็ดีก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับ Geoengineering อยู่แน่นอนครับ กับประเด็นที่ว่า มนุษย์เรามีความรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบต่างๆที่มีขนาดใหญ่อย่างดาวเคราะห์เพียงพอแล้วหรือ แต่ผู้สนับสนุน Geoengineering ก็แย้งว่าการอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร ก็รังแต่จะรอวันสิ้นโลกเท่านั้น สู้เสี่ยงทำอะไรแบบมีสติก็น่าจะดีกว่า


วันหลังผมจะนำรายละเอียด ของวิธีการเปลี่ยนฟ้าแปลงโลก ที่มีการเสนอขึ้นมาเล่าให้ฟังครับ .......