17 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 3


สินค้าเกษตร และ อาหาร เป็นหมวดสินค้าที่แม้จะมีจำนวนรายการน้อยกว่าของขวัญ ของตกแต่งมาก แต่ก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้แก่เกษตรกร และประชาชนในชนบท และยังเป็นกลุ่มอาชีพที่เทคโนโลยีระดับสูงเข้าไม่ถึง ในอดีตที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยงานเกษตรกรรม มักจะเป็นเทคโนโลยีพื้นๆ เช่น เครื่องจักรกล การชลประทาน การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดหนี้แก่เกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การนำนาโนเทคโนโลยีไทยทำมาช่วยงานทางด้านนี้ โดยเฉพาะเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มคุณค่าแก่สินค้าเกษตรจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่าง Polymer-Clay Nanocomposite ซึ่งมีคุณสมบัติลูกผสมระหว่างพลาสติกกับเซรามิกนั้น สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้ไปอยู่ทางพลาสติกมากๆ หรือไปอยู่ทางเซรามิกมากๆ ก็ได้ ทำให้สามารถนำไปใช้เป็นถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ สำหรับหีบห่อผลิตภัณฑ์เกษตรที่กันความชื้น เพื่อแทนที่ฟิล์มอลูมิเนียมที่มีราคาสูงกว่า อีกทั้งยังขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติกทั่วไปไม่ว่าจะให้เป็นถุง เป็นฟิล์ม เป็นกล่อง เป็นต้น กลุ่มวิจัยทางด้าน Polymer-Clay Nanocomposite ที่มีสูตรสำหรับนำนาโนวัสดุประเภทนี้ไปใช้ในงานประยุกต์ด้านต่างๆ ก็คือกลุ่มของ ผศ. ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกตัวอย่างหนึ่งคือการนำเอาจมูกอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการควบคุมคุณภาพอาหาร เช่น งานวิจัยของ ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ หน่วยวิจัยพอลิเมอร์ขั้นสูง ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์จำแนกข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งอาจช่วยในการระบุแหล่งผลิต เป็นการสร้างเอกลักษณ์แก่ข้าวหอมมะลิแบรนด์ต่างกัน เช่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ซึ่งต่างก็อ้างว่าข้าวหอมมะลิของตนอร่อยที่สุด


เครื่องดื่มประเภทสุราพื้นบ้าน สุรากลั่น สุราแช่ (สาโท) มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแต่โบร่ำโบราณเทียบเท่ากับเหล้าสาเกของญี่ปุ่น (ฝรั่งจึงเรียกเครื่องดื่มพวกนี้ว่า Spirits) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่ดี อาจสร้างมาตรฐานให้มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับเหล้าสาเกได้ จากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น ทั้งที่เป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์ และ กลุ่มชาวบ้าน ใน http://www.thaitambon.com/ นั้น มีผู้ผลิตไวน์จำนวน 76 ราย สุรากลั่น 47 ราย สุราแช่ 12 ราย มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ประกาศขายที่เป็นไวน์ 575 รายการ สุรา
108 รายการ และสุราแช่ 49 รายการ ดังนั้นการใส่เทคโนโลยีเข้าไปน่าจะคุ้มค่า เทคโนโลยีชั้นสูงสามารถนำมาช่วยสร้างมาตรฐาน แก่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เช่น การสร้างมาตรฐานเรื่องรสชาติของ สาโท ด้วยการใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการทำวิจัยอยู่ที่ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

08 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 2



หัตถกรรม ของตกแต่ง ของขวัญเป็นหมวดหมู่ที่มีรายการขึ้นทะเบียนไว้มากกว่าครึ่งของสินค้า OTOP และถ้าหากเข้าไปดูในเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดังอย่าง e-Bay ก็จะพบว่า ในบรรดาข้าวของต่างๆ ของคนไทยที่มีการประมูลขายกันใน e-Bay นั้น เกินครึ่งจะเป็นสินค้าประเภทของชำร่วย ของตกแต่ง และงานหัตถกรรมกันทั้งนั้น ซึ่งก็เป็นเพราะความมีชื่อเสียงในเรื่องงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย ดูเหมือนอาจไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใส่เทคโนโลยีเข้าไปอีก แต่ที่จริงแล้ว การใส่เทคโนโลยีไทยทำเข้าไปไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงนัก และอาจเพิ่มความโดดเด่น รวมทั้งคุณภาพของตัวสินค้าเข้าไป ทำให้สมราคาและน่าซื้อยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างนาโนเทคโนโลยีที่สามารถนำเข้ามาช่วยงานทางด้านนี้ เช่น จีโอพอลิเมอร์ (Geopolymer) (ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในรูปทางขวามือ) ซึ่งเป็นนาโนซีเมนต์ หรือ ซีเมนต์ที่มีโครงสร้างนาโน เป็นวัสดุเซรามิก ที่สามารถขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิห้อง เมื่อแข็งตัวแล้วจะคงความแข็งแรง ไม่ต้องนำไปเผาที่อุณหภูมิสูง เหมือนเซรามิกทั่วไป ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน วัตถุดิบของจีโอพอลิเมอร์ก็คือเถ้าลอย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จีโอพอลิเมอร์มีคุณสมบัติพิเศษหลายชนิด เช่น ทนร้อน ทนไฟ ทนแรงกระแทก ทนการกัดกร่อน ในต่างประเทศมีการนำเอาวัสดุชนิดนี้ไปทำงานทางด้านศิลปะบ้างแล้ว เนื่องจากมีพื้นผิวสวยงาม มีเอกลักษณ์ สามารถใส่สีธรรมชาติให้เกิดความสวยงามได้ กลุ่มวิจัยทางด้านจีโอพอลิเมอร์ของไทยอยู่ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


นอกจากจีโอพอลิเมอร์แล้ว ยังมีวัสดุชนิดอื่นๆ อีกที่มีคุณประโยชน์ต่อสินค้าประเภทนี้ ได้แก่ เส้นใยนาโนคาร์บอน ซึ่งมีความเหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เช่น อาจนำไปผสมกับเซรามิกเพื่อทำถ้วยชา กาแฟ หรือ ของตกแต่งอื่นๆ ทำให้ตกไม่แตก กลุ่มวิจัยทางด้านนี้ของไทยก็คือ ผศ. ดร. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ หน่วยวิจัยนาโนวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัสดุอีกชนิดที่มีชื่อเรียกว่า Polymer Clay ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือพลาสติก PVC ที่มีวัสดุแต่งเติมที่ทำให้มันมีความอ่อนนิ่ม เหมือนดินน้ำมันหรือ Clay นั่นเอง วัสดุชนิดนี้อาจไม่มีดินผสมอยู่เลย หรืออาจจะผสมดินเข้าไปด้วยก็ได้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษหรือสีสันต่างๆ จริงๆ วัสดุชนิดนี้มีขายในท้องตลาดอยู่แล้ว แต่อาจจะทำวิจัยเพื่อเพิ่มความแปลกใหม่เข้าไปในตัวสินค้าก็ได้ วัสดุนาโนชนิดสุดท้ายที่จะขอแนะนำคือ Polymer-Clay Nanocomposite ซึ่งตัวหลังนี้เป็นการเอาพอลิเมอร์กับอนุภาคดินมาผสมกันจริงๆ ทำให้วัสดุนี้มีสมบัติพิเศษคือ มีความยืดหยุ่นเหมือนพลาสติก แต่มีความแข็งเหมือนดิน ซึ่งงานประยุกต์ของมันน่าจะไปอยู่ในหมวดสินค้าที่จะพูดถึงในตอนต่อไปครับ .......

04 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 1


ประเทศไทยมีความโดดเด่น ในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สปา รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีความจำเพาะทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้า ให้มีชื่อผูกติดกับท้องถิ่นได้ เกิดเป็นสินค้า OTOP ทั้งนี้รัฐบาลยุคนายกฯ ทักษิณ จึงมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้สินค้าเหล่านี้มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมทั้งต้องการให้คนไทยด้วยกัน หันมาบริโภคมากขึ้น แต่การควบคุมหรือเพิ่มคุณภาพสินค้า OTOP มีข้อจำกัดที่ว่า เทคโนโลยีที่ใช้ไม่ควรนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนแก่สินค้ามากเกินไป เพราะสินค้า OTOP โดยมากเป็นอุตสาหกรรมกึ่งครอบครัว ที่อาศัยภูมิปัญญาพื้นถิ่น ใช้เทคโนโลยีแบบชาวบ้าน (Appropriate Technology) ที่มีต้นทุนต่ำ ดังนั้นเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพที่เกิดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์คนไทยด้วยกันเอง น่าจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประเภทนี้ เทคโนโลยีไทยทำอาศัยความได้เปรียบตรงที่ แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีกับผู้ใช้อยู่ใกล้กัน ทำให้มีราคาถูก และประสิทธิภาพที่ปรับได้ตามการใช้งาน ประกอบกับชาวบ้านมักจะ “ยินดี” ที่จะลองเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกันเอง มากกว่าอุตสาหกรรมใหญ่ที่ยัง “เชื่อและนิยม” เทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ นาโนเทคโนโลยี ที่พัฒนาด้วยฝีมือคนไทย จะเดินพาเหรดเข้ามาช่วย พัฒนาสินค้าโอท็อบให้เป็น OTOP Version 2.0


จากหน้าเว็บไซต์ของ ThaiTambon.com จะพบว่ามีสินค้า OTOP ขึ้นทะเบียนไว้ถึง 66,000 รายการ โดยมีผลิตภัณฑ์หลักแบ่งตามกลุ่มใหญ่คือ ของขวัญ ของตกแต่งและหัตถกรรม (มีถึง 42,000 รายการ) อาหารและเครื่องดื่ม (12,400 รายการ) ผลิตผลการเกษตร (2,500 รายการ) ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (4,500 รายการ) เครื่องหนังและรองเท้า (1,400 รายการ) สิ่งทอ (1,200 รายการ) อัญมณี (750 รายการ) เฟอร์นิเจอร์ (550 รายการ) ของใช้ในบ้าน (500 รายการ) ใน series ของบทความ Nano OTOP นี้ ผมจะค่อยทยอย นำเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาส ความเป็นไปได้ ในการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเป็นนาโนเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อช่วยคนไทยด้วยกันครับ

01 ธันวาคม 2551

108-1009 (ร้อยแปด พันเก้า)


วันนี้ขอเก็บตกจากงานประชุมชานานาชาติเรื่องชาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต่ออีกนิดนะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอยู่ต่างจังหวัดทางภาคเหนือเกือบทั้งสัปดาห์เลยครับ เข้าร่วมงานประชุมแค่ 2 วันเท่านั้น ที่เหลือก็ตระเวณตามดอยต่างๆ ทั้งดอยสุเทพ สะเมิง ดอยตุง ดอยช้าง ดอยอินทนนท์ ในรูปทางด้านซ้ายนั้น เป็นรูปที่ผมถ่ายกับป้ายจราจร เป็นเส้นทางที่นำเราไปจุดสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งก็คือดอยอินทนนท์ไงล่ะครับ หลายๆคนที่เคยขึ้นดอยแห่งนี้ อาจจะลืมสังเกตป้ายจราจรที่ผมถ่ายมาให้ดูนี้ เค้าตั้งอยู่ที่สามแยกทางขึ้นดอยอินทนนท์ก่อนถึงไฟแดง พอผมไปถึงผมขอให้คนขับรถจอดเพื่อลงไปถ่ายรูป คนขับยังถามงงๆ ว่าถ่ายไปทำไม ผมบอกเค้าว่าป้ายแบบนี้มีแห่งเดียวในประเทศไทย เพราะมันอ่านว่า "ร้อยแปด พันเก้า" ไงครับ ผมจึงมักจะเรียกเส้นทางขึ้นดอยอิน (ขอเรียกสั้นๆนะครับ) ว่า เส้นทาง "ร้อยแปด พันเก้า" เพราะเราต้องใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 ก่อน จากนั้นจะแยกเข้าทางขวาเพื่อใช้ทางหลวงหมายเลข 1009 ต่อ จริงๆ เส้นทางนี้น่าเที่ยวมากๆ สมกับเป็นเส้นทางร้อยแปดพันเก้า ที่มีทั้งน้ำตกสวย ป่าดิบ โครงการหลวง พระธาตุ ชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ มหาวิทยาลัย สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ สถานีเรดาห์ รีสอร์ทต่างๆ ไปจนถึงสถานีตรวจวัดนิวตรอน โอ้โฮ ครบรสเลยครับ ด้วยความน่าเสน่หาของดอยอิน ผมมักจะแวะมาที่แห่งนี้ทุกๆปี ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว (แล้วก็ฤดูอกหักด้วย)


ด้วยการที่ภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นภูเขาน้อยใหญ่ สลับซับซ้อน สภาพภูมิอากาศท้องถิ่น หรือ micro-climate จะแตกต่างกันไปได้ค่อนข้างมาก ไม่เหมือนทางภาคกลาง หรือ ภาคอีสาน ที่ภูมิอากาศจะคล้ายๆกัน แต่ในภาคเหนือนี้ ดอยที่อยู่ถัดไปใกล้ๆกัน ก็จะมี micro-climate แตกต่างกันได้มาก หรือแม้แต่ไร่เดียวกัน อย่างไร่ชาอาจมีบริเวณที่ slope แตกต่างกัน มีทิศทางแตกต่างกัน ทำให้ได้แสงแดดไม่เท่ากัน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ที่ผิวดิน หรือในดิน อาจมีความแตกต่างกันได้ สภาพการรับน้ำก็แตกต่างกันได้มาก การทำไร่ชาของชาวเขาจึงเกิดสภาพที่ว่า บางไร่มีผลผลิตดี บางไร่ผลผลิตแย่ ทำให้การควบคุมคุณภาพของชาในบริเวณเดียวกันเพื่อที่จะสร้างแบรนด์ท้องถิ่นทำได้ยาก ด้วยความที่ลักษณะของ micro-environment ในพื้นที่เกษตรมีได้ "ร้อยแปด พันเก้า" นี่เอง ทีมงาน Smart Farm ของเราจึงตัดสินใจจะนำเทคโนโลยี Precision Agriculture ไปติดตั้งและทดลองภาคสนามที่ ไร่ชาดอยช้าง จ.เชียงราย เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปครับ