14 พฤษภาคม 2561

คู่แข่งเกษตรกรมาแล้ว ! ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกทยอยปลูกผักเอง .. ยุโรปเตรียมขยายให้ครบ 1,000 แห่งในปีหน้า



กระแสทำฟาร์มในร่มมาแรง .. ห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคาร โรงแรม ทั่วโลก มุ่งใช้ระบบปลูกผักในร่ม ผลิตผักใช้เอง

เรื่องที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในสหรัฐฯ และ ในยุโรป มีแผนที่จะทำการปลูกผักในห้างเอง เราคงเคยได้ยินเรื่องนี้มาสักพักแล้วนะครับ .. ก่อนหน้านี้ ห้างทาร์เก็ต (Target)ในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มทดลองปลูกผักในห้างเอง ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2017 โดยเริ่มต้นปลูก มันฝรั่ง บีทรูท ซุคคินี พริกไทย และมะเขือเทศสายพันธ์หายาก และทยอยขยายจำนวนสาขา และ จำนวนชนิดของพืชผักที่ปลูกไปเรื่อยๆ เช่น จะเพิ่มการผลิตพืชที่เป็นไม้ผล มากขึ้นเรื่อยๆ
.
ต่อมา ห้างค้าปลีก Whole Foods ซึ่งมีมหาเศรษฐีเจ้าของเว็บไซต์ อี-คอมเมิร์ซ ชื่อดังยี่ห้อ Amazon เป็นเจ้าของ ก็ประกาศแผนจะเปิดโรงงานปลูกพืชผัก (Plenty) ในเมืองจีนจำนวนกว่า 300 แห่ง เน้นการส่งขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต
.


ข้ามฝากมาที่ยุโรปครับ ซึ่งมีสตาร์ทอัพปลูกผักที่ชื่อว่า InFarm ข่าวล่าสุดนั้น บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลยุโรปจำนวน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 80 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการทำการวิจัยและพัฒนา และล่าสุดเพิ่งได้เงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 800 ล้านบาท จากกองทุนร่วมลงทุนของเอกชน เพื่อที่จะขยายระบบปลูกไปยัง ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างๆ ทั่วยุโรปให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี ค.ศ. 2019
.
ปัจจุบัน ซูเปอร์มาร์เก็ตในนครเบอร์ลินจำนวน 50 แห่ง ได้หันมาใช้ระบบปลูกผักแบบนี้ ในห้างของตัวเองกันแล้ว และเป็นที่พึงพอใจทั้งตัวห้างเอง และ ลูกค้าที่มาซื้อผัก เนื่องจากจะได้ผักใหม่ๆ สดๆ สะอาดปลอดภัย ระบบปลูกผักในห้างนี้ สามารถดูแลตัวเองได้ โดยแทบจะไม่ต้องใช้คนดูแลอีกเลยหลังจากนำมาปลูกในระบบแล้ว ซึ่งจะมีเซนเซอร์ต่างๆ คอยเก็บข้อมูล และเฝ้ามอง
.
การที่ห้างค้าปลีก หันมาปลูกพืชเอง จะทำให้ห่วงโซ่มูลค่าจากเดิมที่ยาวๆ สั้นลงอย่างมากเลยครับพี่น้อง ... เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีห่วงโซ่มูลค่าสั้นลง เพราะใช้จำนวนชิ้นส่วนน้อยลงมาก ... ยุคต่อไป เราจะเห็นแบบนี้มากขึ้น ทั้งการผลิตสินค้าและอาหาร ที่ห่วงโซ่มูลค่าจะสั้นลง และเป็นการผลิตใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น (Local Foods, Local Products)



อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from http://www.freshplaza.com/article/189188/Infarm-expands-to-1,000-farms-in-Europe-with-25M-investment
- Data from https://www.thetimes.co.uk/article/infarm-grows-produce-in-supermarket-aisles-7n68n006m
- Data from https://techcrunch.com/2018/02/05/balderton-backs-infarm/

07 พฤษภาคม 2561

เกษตรกรมาเลย์ตื่น ! ทิ้งสวนปาล์ม แห่ปลูกทุเรียน - หลังกระแส มูซัง คิง เริ่มฮิตในจีน




ยุคบูมทุเรียน .. เกษตรกร มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน พม่า หันมาปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
.
เกษตรกรสวนปาล์มทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ในมาเลเซีย .. ทยอยเปลี่ยนสวนปาล์มมาเป็นสวนทุเรียน จากที่มาเลเซีย เคยเปลี่ยนจากปลูกยางพารา มาปลูกปาล์ม จนกลายเป็นมหาอำนาจน้ำมันปาล์ม .. วันนี้ เมื่อกระแสฮิตทุเรียนระเบิดระเบ้อในเมืองจีน ประกอบกับ คนจีนเริ่มให้ความสนใจทุเรียนมาเลย์ "มูซังคิง" ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ด้วยราคาอันจูงใจ .. ในภายภาคหน้า เวลาเราเดินทางไปลงสนามบินกัวลาลัมเปอร์ เราอาจจะได้เห็นสวนทุเรียน กว้างใหญ่ไพศาล สุดลูกหู ลูกตา ก็เป็นได้
.
เมื่อพูดถึงรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มูซังคิง ในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี เป็นอย่างน้อย มากเป็น 9 เท่า เทียบกับ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ทำให้เกษตรกรรายเล็ก รายน้อย ของมาเลเซียเริ่มตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยถึงแม้นักวิจารณ์จะบอกว่า ถ้าแห่ปลูกกันมาก ราคาก็อาจจะตกก็ได้ .. แต่เกษตรกรต่างก็คิดว่า ก็ยังดีกว่าปลูกปาล์มในตอนนี้แหล่ะ โดยเฉพาะมาเลเซียมีพื้นที่ที่เป็นที่ลาดชันค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะเหมาะกับทุเรียน มากกว่าปาล์ม ด้วยซ้ำ



จากสถิติการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศจีนนั้น ในปี ค.ศ. 2016 จีนนำเข้าทุเรียนสด มากถึง 612,063 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งเมืองไทยเรานั้น ได้ส่วนแบ่งตรงนี้ไปมากกว่า 99% ในขณะที่มาเลเซียนั้น ส่งทุเรียนไปเมืองจีน ในรูปทุเรียนแช่แข็ง เป็นหลัก แล้วก็ยังส่งไม่มากนัก เมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเพียง 14,000 ตัน เท่านั้น .. อย่างไรก็ตาม มาเลเซียกำลังพยายามดำเนินการ เพื่อให้สามารถส่งทุเรียนสด เข้าเมืองจีนโดยตรงได้ (ปัจจุบันต้องส่งผ่าน ไทย และ ฮ่องกง)
.
อย่างไรก็ตาม การหันมาปลูกทุเรียน ก็เป็นเรื่องท้าทายของเกษตรกรมาเลย์ ทุเรียนต้องการดูแลเอาใจใส่มากกว่าปาล์มเยอะ พื้นที่ห่างกันแค่ 50 เมตร ก็มีผลทำให้ทุเรียนที่ออกมามีคุณภาพต่างกันแล้ว ทำให้ในสวนเดียวกัน ก็ยากที่จะทำให้ทุเรียนมีรสชาติเหมือนกันได้ .. ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ปลูกที่ต่างพื้นที่กัน ก็ผลิตทุเรียนที่อร่อยแตกต่างกันอย่างแน่นอน
.


นอกจากกระแสตื่นตัวแห่ปลูกทุเรียน จะระบาดในประเทศมาเลเซียแล้ว ยังเชื่อกันว่า เกษตรกรในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน พม่า ก็เริ่มตื่นตัวหันมาปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เกษตรกรมาเลย์ ก็จะต้องเตรียมรับมือการแข่งขันต่างๆ ด้วย ซึ่งเชื่อว่า เทคโนโลยีในการเพาะปลูกจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำ ซึ่งถ้ามองในจุดนี้แล้ว ประเทศที่อาจเข้ามาเป็นคู่แข่งเรื่องทุเรียนในอนาคต ก็อาจเป็น ออสเตรเลีย ก็เป็นได้ ?!?! เพราะในอดีตที่ผ่านมา ออสเตรเลียก็ผันตัวเองมาเป็นประเทศผู้ปลูกผลไม้ส่งออก ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง กล้วย มะละกอ .. และออสเตรเลีย ก็เริ่มหันมาสนใจปลูกทุเรียน แล้ว !!
.


อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from http://www.theedgemarkets.com/article/choosing-between-oil-palm-and-durian-trees
- Data from http://worldnews.easybranches.com/regions/asia/a-durian-economy-malaysia-is-banking-on-it-562101
- Data from http://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2140226/14000-tonnes-durians-exported-malaysia-last-year
- Data from http://www.freshplaza.com/article/192096/Great-potential-for-refrigerated-Malaysian-Musang-King-durians-in-China
- Data from https://www.thestar.com.my/news/nation/2018/03/23/liow-were-working-to-export-durians-directly-to-china/
- Data from http://www.scmp.com/news/hong-kong/economy/article/2122620/how-chinas-soaring-appetite-malaysian-durians-causing-spike

04 พฤษภาคม 2561

โลกปศุสัตว์ระส่ำ ! พบคนรุ่นใหม่หันกิน "เนื้อสัตว์ที่ไม่ต้องฆ่า" ตลาดโตพุ่ง 1.6 แสนล้านบาท




เมื่อคนรุ่นใหม่ มีเมนูอาหารเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าอีกต่อไป .. อุตสาหกรรมอาหาร จึงเริ่มระส่ำ เพราะต้องรีบปรับตัว ไม่งั้นก็อาจโดนล้มล้าง หรือ ดิสรัปต์ (Disrupted) 
.
ในขณะนี้ อุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ กำลังเกิดการตื่นตัวขนานใหญ่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ เหล่า Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1995 ถึงหลังปี 2000 เริ่มมีแนวทางบริโภค อาหารที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้เกิดสตาร์ทอัพด้านอาหารเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ที่มาจากพืช หรือ เนื้อสัตว์ปลูกที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ไข่ที่ไม่ต้องเลี้ยงไก่ นมและชีสที่ไม่ต้องทรมานวัว ของกินเล่นต่างๆ หรือแม้แต่ เบียร์
.
ซึ่งคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ใช่เล็กๆ นะครับ ! เพราะหลังปี 2020 จะมีจำนวนคิดเป็น 40% ของคนที่มีกำลังจ่ายเงินในสหรัฐ เลยทีเดียว .. ทำให้ คนกลุ่มนี้ "ชี้เป็น ชี้ตาย" อนาคตของอุตสาหกรรมอาหาร เลยทีเดียว



ตอนนี้ เนื้อสัตว์ทางเลือก ที่ไม่ต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต กำลังเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ และเป็นตลาดที่เติบโตเร็วมาก ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งแข่งกันนำเข้ามาขาย และตอนนี้เริ่มระบาดไปยังฟาสต์ฟู้ดต่างๆ แล้ว .. และจากการสำรวจความคิดเห็นของคนหนุ่มสาวมหา'ลัย พบว่า พวกเขาเหล่านั้น ชื่นชอบ เนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช กับ อาหารทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ไม่ได้มาจากการประมงแบบใช้แรงงานทาส)
.
ตลาดใหม่นี้ คาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.6 แสนล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ ในปี ค.ศ. 2020
.
กลยุทธ์ที่เหล่าสตาร์ทอัพเนื้อสัตว์ทางเลือกชอบใช้ คือ บุกเข้าไปขายในมหาวิทยาลัย และ โรงเรียนให้ได้ก่อน โดยเจาะไปที่โรงอาหาร ฟู้ดเซนเตอร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะช่วยทำให้กระแสกระพือไปเร็วไวยิ่งขึ้น .. เมื่อเดือน กันยายน ปีที่แล้ว บริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ อิมพอสซิเบิ้ล ฟู้ดส์ (Impossible Foods) ได้เปิดโรงงานผลิตเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช ที่สามารถผลิตเบอร์เกอร์ได้ 4 ล้านชิ้นต่อเดือน .. นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดนี้ ได้เป็นอย่างดี
.
ไม่เพียงแต่  อิมพอสซิเบิ้ล ฟู้ดส์ เท่านั้น ที่บุกตลาดมหาวิทยาลัย .. บริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆ ทั้ง นิวเวฟฟู้ดส์ (New Wave Foods) โอเชียนฮักเกอร์ฟู้ดส์ (Ocean Hugger Foods) ก็โหมบุกตลาดนี้เช่นกัน คนเหล่านี้เชื่อว่า เด็กมหา'ลัย นี่แหล่ะ จะเป็นผู้กำหนดเทรนด์ที่จะเป็นไปในอนาคต นั่นเอง



อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data and Picture from http://www.businessinsider.com/generation-z-is-eating-fake-meat-2017-10
- Data from https://www.fastcompany.com/40557463/the-plant-based-impossible-burger-is-now-available-as-a-white-castle-slider
- Picture from https://qz.com/749443/being-vegan-isnt-as-environmentally-friendly-as-you-think/

01 พฤษภาคม 2561

มารู้จัก ซีไอเอ แห่งวงการเกษตรสหรัฐฯ ผู้ทำให้เกษตรกรสหรัฐได้เปรียบทุกชาติ




มารู้จัก ซีไอเอ แห่งวงการเกษตรสหรัฐฯ ที่คอยสืบหาข้อมูลเกษตรทั่วโลก เพื่อทำให้เกษตรกรของตัวเองได้เปรียบชาติอื่นๆ

ในสงครามต่างๆ นั้น .. ถ้ารู้เขา รู้เรา ย่อมรบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง ใช่ไหมครับพี่น้อง .. การทำเกษตรในยุคข้อมูลนี้ ยิ่งเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ... ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอเมริกาจึงมีหน่วยงานพิเศษ ที่ทำงานเป็นสปายเหมือน ซีไอเอ คอยสืบหา ค้นคว้า เก็บข้อมูลทางด้านเกษตรทั่วโลก เพื่อที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจต่างๆ รวมไปถึงการบริการข้อมูลแก่เกษตรกรสหรัฐ ทำให้เกษตรกรสหรัฐมีความได้เปรียบทางด้านข้อมูลเป็นอย่างมากครับ
.
ด้วยแนวคิดที่ว่า "ให้มองเกษตรกรเหมือนนักธุรกิจ เราต้องบริการข้อมูลที่ดีให้แก่พวกเขา เพื่อพวกเขาจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง"
.
และนี่เอง ช่วยเสริมให้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตร อันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน แทบจะไม่มีใครแข่งด้วย .. และพักหลังๆ นี้ ยังเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรมาตีตลาดเอเชีย เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
.

ในประเทศสหรัฐมีหน่วยงานชื่อ The Foreign Agricultural Service (FAS) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตร (USDA) ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรของทุกประเทศทั่วโลก ให้แก่เกษตรกรและเอกชนของสหรัฐ ข้อมูลที่ติดตามและเก็บรวบรวมนั้นไม่ใช่เป็นแค่ข้อมูลของประเทศคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลของประเทศคู่แข่งด้วย
.
โดยเจ้าหน้าที่ของ FAS จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคการเกษตรเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการเพาะปลูก การส่งออก การนำเข้า และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลปฐมภูมิไม่ใช่ข้อมูลจากการคาดการณ์หรือข้อมูลจากศุลกากร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวของไทย FAS ไม่ได้อิงข้อมูลและตัวเลขของศุลกากร แต่ FAS เก็บข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวจากสายการเดินเรือเองเพื่อความแม่นยำของข้อมูล
.
เจ้าหน้าที่ FAS ประจำกงสุลแต่ละประเทศจะทำหน้าที่ติดตามและรายงานข้อมูลทุกสัปดาห์ เพื่อจัดส่งข้อมูลที่ได้ไปให้ส่วนกลางที่กรุงวอชิงตัน เก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้แล้ว ยังจัดทำรายงานข้อมูลเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ตลอดจนทำการประมวลผลข้อมูลทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสินค้าเกษตรในตลาดโลกด้วย (World Production Market and Trade report) เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตามปรัชญาของการทำงาน “treat farmers like businessmen, give them good information and they will make the right decision”
.
ภายใต้กรอบภารกิจของ FAS เองไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เก็บข้อมูลด้านการตลาดเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่อื่นที่ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการเกษตรของสหรัฐด้วย ซึ่งได้แก่
.
1.ให้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตร การค้า การลงทุนและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์การส่งออกสินค้าเกษตร ข้อตกลงทางการค้า มาตรฐานสินค้า ข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และสินค้าเกษตรทุกประเภท
.
2.ส่งเสริมการส่งออก ซึ่ง FAS จะร่วมมือกับสมาคมภาคเอกชน เช่น สมาคมข้าวสาลี (U.S. Wheat Association) เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้า ตลอดจนการขยายและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร โดยที่ FAS จะไม่ทำหน้าที่ในการจับคู่ธุรกิจให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเอง แต่จะช่วยด้วยการสนับสนุนเงินงบประมาณมากกว่า เพราะเชื่อว่าเอกชนสามารถทำได้ดีกว่าภาครัฐ
.
3.ช่วยล็อบบี้รัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายทางการค้า เช่นกรณีของไทยที่ไม่ให้นำเนื้อสเต็กติดกระดูกของสหรัฐ เข้ามาขายในประเทศ
.












อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- ดร. ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- Picture from http://glassalmanac.com/intelliscout-farming-app-google-glass/5895/
- Picture from https://www.dreamstime.com/smart-agriculture-concept-agronomist-farmer-use-artificial-i-intelligence-augmented-reality-farm-to-help-grow-systems-image102927650
- Picture from http://sen.com/news/persona-3-spy-satellite-lifts-off