29 เมษายน 2563

อียิปต์มุ่งเป็นประเทศเกษตร กองทัพบกลุยสร้าง 100,000 โรงเรือนเกษตรกลางทะเลทราย



ในปี ค.ศ. 2015 กองทัพอียิปต์ ได้ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า "1.5 million Feddan project" ถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงจะประมาณว่า "โครงการ 3.9 ล้านไร่" ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่เป้าหมาย ที่จะเปลี่ยนทะเลทรายของอียิปต์ให้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ตามแผนการนี้ อียิปต์จะสร้างโรงเรือนจำนวน 100,000 โรงเรือนวมทั้งเปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายให้เป็นแปลงเกษตร นาข้าว บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

- โรงเรือนจำนวน 1 แสนโรงเรือนนี้จะก่อสร้างทั่วอียิปต์ เพื่อหล่อเลี้ยงประชากรประมาณ 20 ล้านคน โดยจะสร้างกระจายไปตามเมืองสำคัญต่างๆ โดยขณะนี้ มีการก่อสร้างไปแล้วเกือบ 8 พันโรงเรือน พื้นที่ก่อสร้างบางแห่ง อยู่ในฐานทัพต่างๆ ของกองทัพอียิปต์เอง

- กองทัพอียิปต์ได้เปิดเผยว่า โครงการ 1 แสนโรงเรือน นี้ไม่ได้ไปแข่งขันกับเกษตรกร เพราะจะผลิตในสิ่งที่ตลาดขาด ทดแทนการนำเข้า อีกทั้งยังจะเกิดการจ้างงานใหม่ได้นับแสนตำแหน่ง โครงการนี้จะมีความร่วมมือกับเกษตรกรที่อยู่บริเวณโครงการ เพื่อก้าวไปด้วยกัน #เราไม่ทิ้งกัน

- ปัจจุบัน อียิปต์มีน้ำใช้ประมาณ 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดย 70 เปอร์เซนต์ของน้ำจำนวนนี้มาจากแม่น้ำไนล์ ซึ่งจะถูกใช้ในการทำเกษตรมากถึง 79 เปอร์เซนต์ เลยทีเดียว ดังนั้น โครงการ 1 แสนโรงเรือนนี้ จะช่วยประหยัดน้ำให้ประเทศอียิปต์ได้มากถึง 40 เปอร์เซนต์



- ตัวอย่างเช่น ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบเดิม จะต้องใช้น้ำมากถึง 80 ลิตรเพื่อผลิตมะเขือเทศ 1 กิโลกรัม แต่ถ้าปลูกในโรงเรือน จะใช้น้ำเพียง 15 ลิตร เท่านั้น

- ในขณะทึ่ประชากรของอียิปต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตทางการเกษตรแบบเดิมกลับลดลงเพราะภาวะโลกร้อน ดังนั้น เกษตรแนวใหม่จึงเป็นคำตอบของอียิปต์

- โรงเรือนที่อิยิปต์สร้างขึ้นนี้ ใช้เพาะปลูกพืชหลากหลายชนิดมาก และที่เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ แตงกวา มะเขือม่วง พริกหวาน มะกอก มะม่วง ผักชนิดต่างๆ โดยกลุ่มโรงเรือนต่างๆ เหล่านี้จะมีโรงงานคัดแยก บรรจุหีบห่อ และมีห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาสินค้ารอนำส่ง

- โครงการนี้ จะช่วยทำให้อียิปต์กลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างสบาย ซึ่งในปัจจุบัน อียิปต์ส่งออกผักผลไม้ ปีละ 4 ล้านตัน แถมจะส่งได้ในเกรดสูง ราคาดี เนื่องจากไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเลย

- อาจจะมีคนมองว่า การปลูกพืชในโรงเรือนต้องใช้พลังงานมากมาย เพื่อมาปรับสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้ อียิปต์มีโครงการก่อสร้างโซลาฟาร์มจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเกษตรได้เหลือเฟือ



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://egyptindependent.com/egypt-builds-1300-greenhouses-as-part-of-the-largest-greenhouse-project-in-the-middle-east/
- Data from http://www.xinhuanet.com/english/2019-08/25/c_138337433.htm
- Data from https://www.afrik21.africa/en/egypt-greenhouse-agriculture-to-reduce-water-consumption/
- Data from https://www.egypttoday.com/Article/1/73924/100k-greenhouses-to-fulfill-needs-of-20M-citizens-Sisi
- Data from https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2019/08/egypt-greenhouse-project-army-private-sector.html
- Data from https://thearabweekly.com/armys-economic-role-fuels-debate-egypt

25 เมษายน 2563

หมดยุคน้ำมัน - สหรัฐหนุนเกษตรกรทำโซลาร์ฟาร์ม ร่วม การเกษตร รับรายได้ 2 ทาง



กระแสการทำโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เกษตร เพื่อผลิต อาหาร-พลังงาน พร้อมๆ กันไปนั้นเริ่มมาสักพักแล้ว ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบ ซึ่งออกนโยบายให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ควบคู่การทำเกษตร และกระแสนี้ก็ได้แพร่ไปสู่เมืองจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

- ขณะนี้ เริ่มมีการตื่นตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการทำเกษตรแบบแบ่งปัน คือ แบ่งแสงอาทิตย์ระหว่างการผลิตพลังงาน กับ การปลูกพืช (Solar Sharing) เกิดโครงการทดลองมากมายทั่วสหรัฐ มุ่งเป้าไปสู่การเป็นประเทศผลิตอาหาร-พลังงานอันดับหนึ่งของโลก

- ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้คือ โซลาร์ฟาร์มได้รุกล้ำพื้นที่เกษตร ทำให้พื้นที่เกษตรดีๆ ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ หลายประเทศจึงออกนโยบาย ให้โซลาร์ฟาร์มแบ่งปันพื้นที่ร่วมการเกษตร ให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน เพื่อผลิตได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและพืชผล

- นักวิทยาศาสตร์พบว่า หากพืชได้รับแสงที่เพียงพอแล้ว แสงส่วนเกินที่พืชได้รับ พืชก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ดี ดังนั้น เราสามารถใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อมาดูดซับแสงที่เหลือไปใช้ได้



- กระทรวงพลังงานสหรัฐ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งในพื้นที่เกษตรหลากหลายทั่วสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ในไร่องุ่น แปลงปลูกผัก สวนผลไม้ หรือแม้แต่พื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ พบว่า การสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ จะได้ประโยชน์ทบทวี สัตว์มาช่วยเล็มหญ้าให้ และร่มเงาของโซลาร์เซลล์ยังช่วยบังแดดให้สัตว์ จึงเพิ่มผลผลิตในการเลี้ยงด้วย

- ปัจจุบัน พื้นที่โซลาร์ฟาร์มหลายแห่งทั่วสหรัฐ พยายามแปลงตัวเองให้มาเป็นพื้นที่เกษตร หรือ ช่วยงานการเกษตร เช่น ปลูกพืช หรือ ดอกไม้ ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของฝูงผึ้ง และแมลงผสมเกสร มีฟาร์มน้ำผึ้งในโซลาร์ฟาร์ม มีการจ้างงานฝูงแกะให้เข้ามาเล็มหญ้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม แกะก็ได้กินหญ้าฟรี

- ในหลายพื้นที่พบว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เหนือพื้นที่เกษตร ยังช่วยปกป้องหน้าดินอีกด้วย

- ทั้งนี้ คาดว่า พื้นที่เกษตรที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วมทำการเกษตร ทั่วสหรัฐ จะเพิ่มจำนวนเป็น 7.6 ล้านไร่ ในอีก 8 ปีข้างหน้า 



- ในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั่วโลก เกษตรกรสหรัฐ มีเพียง 50% เท่านั้น ที่มีผลกำไรประจำปี ดังนั้น ถ้าหากเกษตรกรเหล่านี้ มีโซลาร์ฟาร์มของตนเอง แล้วขายไฟฟ้าให้แก่ชุมชนต่างๆ เขาก็จะสามารถมีรายได้ทางอื่นด้ว

- ญี่ปุ่นมีนโยบายห้ามสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เกษตร ยกเว้น จะสามารถแชร์พื้นที่ระหว่างการผลิตไฟฟ้า กับการทำไร่ทำนา ทำฟาร์มเกษตร ได้พร้อมๆ กัน

- กระทรวงเกษตรจีน ก็ได้ออกนโยบายว่า ต่อไปนี้หากจะมีการสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาฟาร์ม ก็ไม่ควรจะไปทำลายพื้นที่เกษตร แต่ให้ใช้พื้นที่เกษตรร่วมกัน โดยนโยบายนี้ออกมาเพื่อเป้าหมายทำให้เกิดเกษตรกรรมที่ทันสมัย โดยโซลาร์ฟาร์มต้องแชร์พื้นที่กับพื้นที่เพาะปลูก หรือ พื้นที่ประมง (โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ) ทั้งนี้ในเมืองจีนมีฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และ ปลานิล ขนาดใหญ่จำนวนมากที่สามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มได้

- จะเห็นว่า ทั้งญี่ปุ่น จีน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา เขาเห็นคุณค่าในพื้นที่เกษตร จึงพยายามติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้การทำเกษตร ยังสามารถทำได้อยู่ .. ไม่เหมือนประเทศไทยเรานะครับ ที่ชอบเอาพื้นที่เกษตรแปลงสวยๆ ไปสร้างโซลาร์ฟาร์ม 


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.scientificamerican.com/article/farms-can-harvest-energy-along-with-food/
- Data from https://www.greenbiz.com/article/should-land-be-used-solar-panels-or-agriculture
- Data from https://www.csmonitor.com/Environment/2020/0423/A-new-vision-for-farming-Chickens-sheep-and-solar-panels
- Data from https://www.renewableenergymagazine.com/emily-folk/should-we-be-using-more-land-for-20200423
- Data from https://solarbuildermag.com/featured/power-plants-pv-site-stability-starts-with-the-right-seed-mix/
- Data from https://rmi.org/solar-panels-the-ultimate-companion-planting-tool/
- Data from https://www.energy.gov/eere/solar/farmers-guide-going-solar

18 เมษายน 2563

หลังวิกฤตโควิด เวียดนามอาจจะผงาด เพื่อแซงทุกชาติในอาเซียน



วิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ทุกประเทศสะบักสะบอมกันไปหมด ว่ากันว่า วิกฤตนี้ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเป็นผู้นำโลก จากชาติตะวันตก เช่น ยุโรป และ สหรัฐฯ มาเป็นจีน ก็เป็นได้ หันมาดูในอาเซียนเรา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย เราเจอวิกฤตเศรษฐกิจเพราะโควิดอย่างจัง และอาจทำให้ชาติที่ไล่หลังมาอย่าง เวียดนาม ผงาดขึ้นมา ก็เป็นได้

- เวียดนามจัดการวิกฤตโควิดได้ดี จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก หากดูวิธีการดำเนินการของเวียดนาม ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวนน้อย พบว่า มีการประกาศให้เชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวเป็นโรคระบาดร้ายเเรงของประเทศ ตั้งเเต่มีผู้ติดเชื้อเพียงเเค่ 20 ราย การรีบประกาศเร็ว ทำให้สามารถสกัดโรคได้เร็ว ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการประกาศ มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง  เเละเวียดนามยังทดสอบโควิด-19 ไปเเล้วมากกว่าไทย

- เวียดนามไม่ได้ใช้ชุดตรวจ RT-PCR เเบบประเทศไทย เเต่สั่งซื้อชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) เเบบประเทศเกาหลี 2 เเสนชุด เเละตรวจถี่ ทำให้รู้สถานการณ์ติดเชื้อได้ดีขึ้น อีกทั้งออกมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่เเละการเว้นระยะห่างทางสังคม

- IMF รายงานว่า ปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา เวียดนามมีการเติบโตของจีดีพี ที่ 7% ของไทยอยู่ที่ 2.4% มาเลเซีย 4.3 อินโดนีเซีย 5.0 สิงคโปร์ 0.7 แต่ในปีนี้ ซึ่งเกิดวิกฤตโควิด คาดการณ์ว่า จีดีพีของเวียดนามจะโต 2.7% ส่วนของไทยติดลบ -6.7% มาเลเซีย -1.7 อินโดนีเซีย 0.5 สิงคโปร์ -3.5 จะเห็นว่า เวียดนามป่วยทางเศรษฐกิจ น้อยกว่าทุกชาติ



- เมื่อเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ไทยมีขนาดจีดีพี 15.6 ล้านบาท เวียดนามอยู่ที่ 7.6 ล้านบาท 

- สินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้เวียดนามมากที่สุด ขณะนี้ไม่ใช่สินค้าเกษตร แต่คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนของไทยนั้นเป็น รถยนต์และส่วนประกอบ 9 แสนล้านบาท ถ้าคิดในบริบทของโลกยุคดิสรัปชันสู่ดิจิทัล เวียดนามดูจะเป็นต่อมากกว่า เพราะการผลิตสินค้าประเภทนี้ ช่วยยกระดับทักษะแรงงานได้ดีกว่า

- วิกฤตโควิด และ สงครามการค้า จะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาติตะวันตก เกาหลี ญี่ปุ่น ย้ายฐานผลิตออกจากจีน จุดแข็งของเวียดนามคือ การมีจำนวนแรงงานที่สูงกว่า 56 ล้านคน โดย 2 ใน 3 นั้นเป็นแรงงานที่อยู่ในช่วงหนุ่มสาวซึ่งมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ของโลก ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเร็วยิ่งขึ้น เช่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google มีการย้ายฐานการผลิตสมาร์ตโฟน Pixel จากจีนมายังเวียดนาม
Nintendo ผู้ผลิตเครื่องเล่นเกม และเกม ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม Samsung ประกาศปิดโรงงานสมาร์ตโฟนในจีน ก่อนที่จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันนั้น เวียดนามเป็นฐานผลิตสมาร์ตโฟนของ Samsung กว่า 60% อีกด้วย

- ในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา Start-up ด้านเทคโนโลยีของเวียดนามดึงดูดการลงทุนแซงหน้าสิงคโปร์เป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนเงินทุนไหลเข้าสู่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 18 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมากกว่าการลงทุนด้านเดียวกันในสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17 ของภูมิภาค

- นครโฮจิมินห์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในเวียดนาม มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าสูงมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจังของเวียดนามเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี กลับเห็นผลที่ชัดเจนจนสามารถทะยานขึ้นเป็นเบอร์สองด้านการดึงดูดการลงทุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย

- มาดูอันดับโลกทางด้านดัชนีนวัตกรรมล่าสุดในปี 2019 ไทย ติดอันดับที่ 43 ดูเหมือนดีขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่อันดับ 48 แต่จริงๆ แล้ว คะแนนต่ำลง ในขณะที่เวียดนาม ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อยู่ที่อันดับ 71 ได้ไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่อันดับ 42 แซงไทยไปอย่างฉิวเฉียด


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook - https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter - https://twitter.com/teerakiat_kerd/
📲 YouTube Channel - "Dr. Teerakiat Kerdcharoen"
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://globthailand.com/vietnam-23032020/
- Data from https://www.bangkokbanksme.com/en/techstartup-vietnam-asian
- Data from https://www.wipo.int/global_innovation_index/en/2019/
- Data from https://www.longtunman.com/19606
- Data from https://www.longtunman.com/16455
- Data from https://www.longtunman.com/16762
- Data from https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/87623-news-12.html
- Data from https://brandinside.asia/imf-warns-global-economy-suffer-since-the-1930-th-economic-contraction-lowest-in-asean5-economy/

14 เมษายน 2563

สิงคโปร์บรรจุ เกษตรกรรมเป็นวาระชาติ หวั่นวิกฤตแบบโควิด เกิดขึ้นอีก



วิกฤตโควิด จะทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยนำเข้าอาหาร หันมาสนใจทำการเกษตรมากขึ้น แม้ว่าการทำเกษตรเองจะมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้า แต่เพราะบทเรียนที่ประเทศส่งออกอาหารทั้งหลาย ระงับการส่งออก อีกทั้งขึ้นราคาอาหารในระหว่างวิกฤต ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงทุนทำเกษตรอย่างจริงจัง

- ปัจจุบัน สิงคโปร์ผลิตอาหารได้เองเพียง 10% ของที่บริโภค นโยบาย "30 by 30" เป็นเป้าหมายที่จะทำให้สิงคโปร์ลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยผลิตอาหารได้เอง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030

- ขณะนี้ สิงคโปร์มีฟาร์มผักจำนวน 77 แห่ง โดยเป็นโรงงานปลูกพืชผักในร่ม 25 แห่ง และฟาร์มผักบนหลังคา (rooftop) 2 แห่ง ซึ่งผลิตผักได้ 14% ของการบริโภคทั้งหมด

- สิงคโปร์มีฟาร์มไก่ไข่ ที่มีกำลังผลิต 26% ของความต้องการในประเทศ มีฟาร์มปลา 22 แห่ง โดยเป็นฟาร์มในทะเล 110 แห่ง และฟาร์มบนบก 12 แห่ง มีกำลังผลิต 10% ของความต้องการในประเทศ

- สิงคโปร์ได้จัดตั้ง Agri-Food Innovation Park เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพทางด้านเกษตรและอาหาร มีบริษัทเทคโนโลยีอาหารเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สตาร์ทอัพที่ผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based meat) สตาร์ทอัพปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) สตาร์ทอัพผลิตนมด้วยการปลูกเซลล์ สตาร์ทอัพเพาะเลี้ยงแมลง เป็นต้น



- ล่าสุดสิงคโปร์เร่งแผนปฏิบัติการเกษตร ให้เป็นวาระเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะเปิดฟาร์มปลูกผักบนหลังคาอาคารจอดรถยนต์ เพิ่มอีก 16 แห่ง ในเดือนหน้าและถัดไป นอกจากนี้ ยังมีการเร่งสำรวจอาคารร้าง และ อาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อแปลงเป็นพื้นที่เกษตร

- สิงคโปร์จะเพิ่มฟาร์มเลี้ยงปลา โดยทำฟาร์มเลี้ยงปลาแบบแนวดิ่ง (Vertical fish farm) โดยจะมีการสร้างอาคารเลี้ยงปลาขนาด 8 ชั้น ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตปลาได้เป็น 8 เท่าของฟาร์มปกติ นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังจะเปิดฟาร์มลอยน้ำ (Floating farm) ให้มากขึ้นในน่านน้ำสากล

- สิงคโปร์จะเน้นการทำเกษตรแบบ #เกษตรอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง (internet of things) เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูง ใช้ทรัพยากรอย่างแม่นยำ โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีเกษตรในเมือง (Urban farming) และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีผลพลอยได้คือ ส่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รวมทั้งไทย



🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.straitstimes.com/lifestyle/food/grow-local
- Data from https://www.todayonline.com/8days/eatanddrink/newsandopening/24-singaporean-fresh-food-producers-get-veggies-eggs-fish-chicken
- Data from https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-singapore-farming/singapore-ramps-up-rooftop-farming-plans-as-virus-upends-supply-chains-idUSKBN21Q0QY
- Data from https://www.thestar.com.my/opinion/columnists/on-the-beat/2020/04/12/food-for-thought
- Data from https://www.was.org/articles/The-Singapore-Aquaculture-Industry-Contributing-to-Singapores-Food-Security.aspx#.XpKgAMgzaUk

09 เมษายน 2563

โลกหลังวิกฤตโควิด มหาวิทยาลัยจะร่วง หรือ รอด



หลายปีที่ผ่านมา วิกฤตมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนฝีใกล้จะแตก ไม่ว่าจะเป็น เด็กเข้าเรียนน้อยลง ปริญญาที่ด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีดิสรัปชันเข้ามาคุกคาม โดยมีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ มาเป็นคู่แข่ง คราวนี้ พอมีเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดเกิดขึ้น ฝีที่พุพองดังกล่าว ก็ถึงคราวระเบิดในทันใด

- การระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เกิดห้องเรียนร้างกันทั้งโลก อาคารต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยแข่งกันสร้าง กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไร้ประโยชน์ในทันใด เมื่อการเรียนการสอนถูกยกไปไว้ในโลกออนไลน์ วิกฤตนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า จริงๆ มหาวิทยาลัยก็สอนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องของบมาสร้างตึกกันมากมาย

- วิกฤตโควิด ทำให้เราได้รู้ว่า ใครมีความสำคัญต่อองค์กร ใครไม่มีความสำคัญต่อองค์กร ในโลกยุคหลังวิกฤตโควิด ตำแหน่งจำนวนมากในมหาวิทยาลัยจะหายไป จะเหลือแต่ตำแหน่งงานที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น

- วิกฤตครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขนาดเล็กจะรอดก็ด้วยการรวมตัวกัน แล้วแชร์คอร์สออนไลน์กัน ช่วยกันสอนด้วยกลุ่มอาจารย์ที่มาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็ก กลายเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในโลกออนไลน์

- นอกจากการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปแล้ว การสอบและวัดผล จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หมดยุคเอาเด็กมานั่งทำข้อสอบในห้องสอบ และจับเวลาแล้ว หลายๆ มหาวิทยาลัยมีการตรวจรองเท้าและเครื่องแต่งกายระหว่างสอบ ภาพโบราณเหล่านี้จะหายไปในอนาคต เมื่อการสอบวัดผลไปอยู่ในโลกออนไลน์

- ในเรื่องของงบประมาณ วิกฤตโควิดจะสร้างแรงกดดันเรื่องงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก การเรียนการสอนออนไลน์ทำให้ค่าใช้จ่ายควรจะถูกลง นักศึกษาจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอม ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องคอยดูแลรักษาอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่มีเงินที่จะอุดหนุนมหาวิทยาลัย เพราะต้องเอาไปกู้วิกฤตเศรษฐกิจ

- วิกฤตโควิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธุรกิจจำนวนมากจะหายไป ในขณะที่จะเกิดธุรกิจใหม่จำนวนมาก ตำแหน่งงานจำนวนมากจะล้าสมัย ในขณะที่เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ ในโลกหลังโควิดระบาด คำถามจึงเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยจะมีส่วนอย่างไรในการพัฒนาแรงงานแห่งอนาคต
.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.mckinsey.com/industries/public-sector/our-insights/coronavirus-and-the-campus-how-can-us-higher-education-organize-to-respond
- Data from https://www.theguardian.com/education/2020/mar/31/covid-19-is-our-best-chance-to-change-universities-for-good
- Data from https://www.insidehighered.com/digital-learning/blogs/learning-innovation/teaching-and-learning-after-covid-19
- Data from https://www.mackinac.org/higher-education-and-the-covid-19-pandemic
- Data from https://www.insidehighered.com/blogs/learning-innovation/5-reason-stop-doing-timed-online-exams-during-covid-19
- Data from https://edscoop.com/covid-19-forcing-rapid-technological-transformation-higher-ed/

02 เมษายน 2563

วิกฤตโควิด ทำให้โดรน และ หุ่นยนต์เกษตร เมืองจีน ขายดีขึ้น มุ่งสู่ประเทศเกษตรอัจฉริยะ



โลกหลังวิกฤตไวรัสโคโรนาจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่มีวันหวนคืน หลายธุรกิจจะหายไป และมีธุรกิจดาวรุ่งมากมายเกิดขึ้น หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจะมาแน่ๆ คือ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษ์มากขึ้น ทั้งในที่ทำงาน โรงงาน และสถานที่ต่างๆ ทำให้เราทำงานที่บ้านได้ง่ายขึ้น

- XAG บริษัทโดรนของจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดในเมืองจีนอย่างหนัก ได้ทำให้บริษัทขายโดรนเกษตรได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้ขายโดรนเกษตรออกไป 4 พันเครื่อง

- บริษัทYifei Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย โดรนและหุ่นยนต์เกษตร เสริมด้วยว่าบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นจริงๆ และคาดว่ารายได้จะเติบโตเป็น 4 เท่าในปีนี้

- นอกจากโดรนและหุ่นยนต์เกษตรแล้ว ยังมีรายงานอีกด้วยว่า ฟาร์มบริษัท และเกษตรกรรายใหญ่ทั่วเมืองจีน ยังได้ซื้ออุปกรณ์การเกษตรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้ขาดแคลนแรงงานในฟาร์ม ดังนั้น จักรกลที่สามารถทำงานและควบคุมได้จากระยะไกล คือ คำตอบ 



- วิกฤตโควิด จึงเป็นตัวเร่งให้เป้าหมายการปฏิรูปภาคเกษตรให้ทันสมัย ของรัฐบาลจีนบรรลุผลได้เร็วยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรของจีนประมาณการว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีนนี้ ตลาดโดรนเกษตรจะเติบโตกว่า 30,000 ลำ

- นักวิเคราะห์เชื่อว่า วิกฤตโควิดจะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่แบบโดดเดี่ยวได้ยากยิ่งขึ้น จะมีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ในรูปสหกรณ์หรือบรรษัทมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูง และ แข่งขันได้

- ปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะของเมืองจีน มีมูลค่าประมาณ 8.8 แสนล้านบาท ลองคิดดูนะครับว่า มันใหญ่ขนาดไหน


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://www.cnbc.com/2020/03/10/chinese-agriculture-drone-makers-see-demand-rise-amid-coronavirus-outbreak.html