ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก ความรู้และวิทยาการด้าน Smart Farm และ เกษตรกรรมความแม่นยำสูง มาพบกับท่านที่นี่ ทุกวัน มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้เป็น ประเทศแห่งเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm Nation)
07 มีนาคม 2561
อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สะเทือน ! สตาร์ทอัพแห่เปิดฟาร์มแมลง ผลิตอาหารสัตว์ แทนที่ ปลาป่น ข้าวโพด
หน่วยงานควบคุมอาหารสัตว์สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้แมลงเป็นอาหารสัตว์ได้ ยุโรป แคนาดา แห่หนุนตาม อนาคตอาจแบนปลาป่น คาด โปรตีนจากแมลงจะช่วยลดการใช้ข้าวโพดและถั่วเหลืองทำอาหารสัตว์ .. เกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงรวมกลุ่มตั้งองค์กรผลักดันตลาดและกฎหมาย
.
วงการอาหารสัตว์เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงครับ จากเดิมที่ใช้วัตถุดิบประเภทโปรตีนสูงจากปลา แต่ในอนาคตอาจจะถูกกฎระเบียบใหม่ ให้เปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากแมลงแทนก็เป็นได้ .. จากตัวเลขที่น่าตกใจคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของปลาทะเลที่จับได้ในแต่ละปี หรือ ประมาณ 15 ล้านตัน ถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ปีก หมู หรือ ปลาที่เลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งวัตถุดิบพวกนี้มีราคาแพง แถมยังมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวว่า ทางประเทศตะวันตกได้ประณามการนำปลาป่นมาทำอาหารสัตว์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ที่ทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม และ ใช้แรงงานทาส
.
และพระเอกของวงการอาหารสัตว์ ที่จะมาช่วยกู้โลกก็คือ หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) ซึ่งอาหารของมันนั้น เป็นเศษอาหารเหลือทิ้งจากบ้านเรือน ภัตตาคาร โรงแรม ซูเปอร์มาเก็ต ในแต่ละปี อาหารที่ผลิตในสหรัฐอเมริกากว่าครึ่ง ถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ดังนั้น การนำหนอนแมลงวันลายมาเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็น โปรตีน เท่ากับว่า เราได้นำทรัพยากรที่ถูกทิ้ง เอากลับมาสร้างอาหารใหม่
.
ก่อนหน้านี้ ได้มีสตาร์ทอัพหัวใส ที่ชื่อว่า อะกรีโปรตีน (AgriProtein) ซึ่งก่อตั้งในประเทศแอฟริกาใต้ ได้ทดลองทำฟาร์มเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) โดยนำเศษอาหารต่างๆ ที่เหลือทิ้งจากภัตตาคาร นำมาเป็นอาหารให้หนอนแมลงวันลาย ปรากฎว่า หนอนแมลงวันลายเติบโตเร็วมาก ทั้งนี้ จากการทดลองนำไปให้ไก่กิน ปรากฎว่าไก่ชอบกินหนอนแมลงวัน มากกว่าอาหารไก่ที่มีส่วนผสมของปลาป่นเสียอีก และหนอนแมลงวันยังสามารถนำไปผสมเป็นอาหารหมูได้อีกด้วย ต่อมา สตาร์ทอัพแห่งนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากนักลงทุนในซิลิกอนวัลเลย์ ให้ไปเปิดฟาร์มเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย 20 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีที่ตั้งใกล้ๆ เมืองใหญ่ เพื่อจะได้สามารถรวบรวมเศษอาหาร มาใช้เป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงหนอน
.
ข้ามมาฝั่งยุโรป ก็ได้มี บริษัทโปรติกซ์ (Protix) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงทำให้วงการอาหารสัตว์ดีขึ้น ด้วยการเลิกใช้ปลาป่นแล้วหันมาใช้โปรตีนจากแมลงแทน สตาร์ทอัพแห่งนี้ได้รับเงินลงทุนกว่า 45 ล้านยูโร หรือ เกือบ 1,800 ล้านบาท เพื่อขยายกระบวนการผลิตหนอนแมลงวัน ซึ่งนำมาทำเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยที่ผ่านมาได้ผลิตอาหารหมู อาหารไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง โดยจะขยายกำลังผลิตเพื่อนำไปเป็นอาหารปลา ซึ่งขณะนี้ ฟาร์มเลี้ยงปลาในยุโรปกำลังเป็นที่นิยม และมีการเติบโตสูง นอกจากนั้น บริษัทโปรติกซ์ยังจะทำการคิดค้นวิจัย การผลิตโปรตีน ไขมัน และสารอาหารสำคัญ สำหรับใช้ในวงการอื่นๆ อีก เช่น อาหารมนุษย์ อาหารเสริมของพืช เป็นต้น
.
การผลิตหนอนแมลงวันนั้น จะใช้เศษอาหารซึ่งเก็บจากภัตตาคาร โรงแรม บ้านเรือน ซูเปอร์มาร์เก็ต นำมาเลี้ยงหนอนแมลงวัน ซึ่งนับว่าเป็นกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากๆ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจนะครับ มีแต่ได้กับได้ ...
(1) ต้นทุนต่ำ ใช้เศษอาหารมาเลี้ยงหนอน
(2) เกิดธุรกิจกำจัดและรวบรวมเศษอาหาร
(3) ได้หนอนที่เป็นอาหารสัตว์
(4) ได้ปุ๋ยอินทรีย์ เอาไปใช้ปลูกพืชได้อีก
(5) การอุตสาหกรรมต้นน้ำของอาหารสมัยใหม่ (สามารถผลิตสารอาหารความเข้มข้นสูงบางชนิด สำหรับทางเภสัชและการแพทย์)
.
อุตสาหกรรมแมลง กำลังคึกคัก ในประเทศตะวันตกทั้ง สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป .. โดยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เกษตรกรถึงกับรวมกลุ่มก่อตั้ง เครือข่ายพันธมิตรเกษตรกรรมแมลงแห่งอเมริกาเหนือ (THE NORTH AMERICAN COALITION FOR INSECT AGRICULTURE) โดยมีพันธกิจเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้มีความแข็งแกร่ง พัฒนาการเพาะเลี้ยง การแปรรูปให้ได้มาตรฐาน ผลักดันการยอมรับในแง่กฎหมาย พัฒนาการเข้าถึงตลาด ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมแมลงขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลก
.
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://psmag.com/news/bug-filled-future-of-feed
- Picture from http://www.cultivatekauai.com/category/black-soldier-fly-larvae/
- Picture from https://youtu.be/AdlBY71yQck
- Picture from http://www.pvenews.com/mediafiler/start/images?view=preview&fuid=img158/031215Protix-04.jpg