18 พฤศจิกายน 2557

Dandelion - เมื่อวัชพืชไร้ค่า กลายมาเป็นพืชไร่ผลิตยาง


 แดนดิไลน์ (Dandelion) เป็นวัชพืขที่มักขึ้นในที่รกร้าง แห้งแล้ง และปลูกอะไรไม่ได้ ตอนนี้ กำลังเป็นที่ฮือฮาในประเทศตะวันตกว่าจะสามารถทำการเพาะปลูกในระดับเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อนำน้ำยางของมันมาใช้ทดแทนยางพารา ทั้งนี้บริษัทคอนทิเนลทัล (Continental) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับ 1 ของโลก ได้ประกาศว่าจะนำยางรถยนต์ที่ทำจากต้นแดนดิไลน์ นี้ออกมาทดสอบบนท้องถนนภายใน 3-4 ปีนี้ ในขณะที่บริษัทบริดจ์สโตน (Bridgestone) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก จะผลิตยางรถยนต์จากพืชอีกชนิดหนึ่ง (ซึ่งเด๋วผมจะนำมาพูดในวันหลังครับ) ภายในปี ค.ศ. 2020 หรืออีก 5-6 ปีข้างหน้า

วันนี้เรามาดูกรรมวิธีแยกน้ำยางออกจากวัชพืชแดนดิไลน์กันครับ

- ต้นแดนดิไลน์สามารถปลูกแบบพืชไร่ ต่างจากต้นยางบ้านเรา ดังนั้น การไถ การหว่าน การเก็บผลผลิต สามารถใช้เครื่องจักรได้ทั้งหมด โดยปรับแต่งเครื่องจักรกลที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานได้ทันที โดยมันจะดึงต้นแดนดิไลน์ออกมา ตัดส่วนใบออก และเก็บแต่ส่วนรากไปใช้ประโยชน์

- เมื่อเครื่องจักรกลดึงต้นแดนดิไลน์ออกมา เกษตรกรจะนำไปผ่านน้ำร้อนเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออก

- นำรากไปบด เพื่อลอกผิวของรากออก

- นำรากที่ลอกผิวออกแล้วไปจุ่มในน้ำร้อน น้ำยางจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ

- นำแผ่นยางที่ลอยขึ้นมาออกจะได้ยางที่มีความบริสุทธิ์ 95% พร้อมนำไปผ่านกระบวนการอื่นๆ ต่อไป

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถผลิตยางรถปิกอัพได้ 100 เส้น

Credit :
- Picture from http://www.dogonews.com/2014/9/14/tire-makers-turn-to-the-humble-dandelion-for-rubber

12 พฤศจิกายน 2557

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 6)




แม้เกษตรกรรมจะไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทยอีกต่อไป แต่ภาคเกษตรก็ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงปากท้องประเทศ เป็นภาคส่วนที่มีฐานประชากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และน่าจะยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ใน AEC จะพยายามแข่งขันกันเพื่อให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ต่างคนต่างมุ่งพัฒนาเพื่อไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่สามารถทิ้งรากเหง้าของเราได้ ด้วยความที่ประเทศไทยมีที่ตั้งที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะจะทำไร่ ทำนา ทำสวน ดังนั้นอย่างไรเสีย เราก็จะยังคงโดดเด่นในเรื่องเกษตรต่อไปอีกนาน ทางที่ดีเราควรจะนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเอง หรือต่อยอดจากคนอื่น มาเสริมสร้างเกษตรกรรมของเราให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเองยิ่งมีความได้เปรียบ และมีความโดดเด่นในสินค้าเกษตรอาหารมากยิ่งขึ้น


แนวคิดหนึ่งที่ทีมวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีทางการทหารมาใช้ในทางการเกษตร เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นไร่นา ทหารเค้ามี 3 เหล่าทัพคือทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ผมก็คิดจะพัฒนาฝูงหุ่นยนต์การเกษตรนี้ให้มี 3 ทัพเหมือนกัน โดยที่จะนำมาเล่าในบทความตอนนี้ จะเป็นหุ่นยนต์ลาดตระเวณทั้ง 3 เหล่าทัพเลย ซึ่งจะเข้ากับหัวข้อ Spy Technology for Farming 

(1) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพบก
เจ้าหุ่นทัพบกนี้ จะวิ่งออกทำงานกันเป็นฝูง เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติต่างๆ ในไร่ หรือ สุ่มตัวอย่างๆ ในไร่  ไม่ว่าจะเป็นความชื้นในอากาศเหนือผิวดิน ความชื้นในดิน สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของพืช ลักษณะใบ สภาพผลผลิต และภัยคุกคามต่างๆ โรคพืช วัชพืช และแมลง หัวใจของกองทัพบกคือเซ็นเซอร์หลากหลายชนิดที่ติดตั้งบนหุ่นยนต์ ความสามารถในการสื่อสารและทำงานเป็นฝูงที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการที่มันต้องทำงานได้ด้วยตนเอง (autonomous) ซึ่งทำให้หุ่นยนต์ต้องมีพลังงานเพียงพอที่จะทำงานทั่วไร่ โดยจะต้องมีสถานีให้แวะเติมพลังงาน เมื่อหุ่นยนต์มีแบตเตอรีอ่อน หุ่นยนต์สามารถแวะมาเติมพลังงานได้ ซึ่งหากแบตเตอรีมีไฟไม่เพียงพอ หุ่นยนต์จะหยุดทำงานชั่วคราวในพิกัดที่เหมาะสม เพื่อชาร์จไฟจากแสงอาทิตย์ให้เพียงพอที่จะเดินทางมายังสถานีเติมพลังงานได้

(2) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพเรือ
เจ้าหุ่นทัพเรือนี้ จะถูกปล่อยให้ลอยออกไปตรวจตราและเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นความขุ่น ความลึก ปริมาณออกซิเจนในน้ำ ค่า pH ความเค็ม ปริมาณอินทรีย์สาร ก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมันไปปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบเหนือเขื่อน บึงต่าง ทะเลชายฝั่ง หรือแม้แต่ในพื้นที่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเจ้าหุ่นทัพเรือสามารถจะลอยไปตามพิกัดต่างๆ ที่กำหนด ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมันจะทำงานเป็นเครือข่าย ส่งข้อมูลแบบไร้สายมายังคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตามคุณภาพของน้ำได้อย่างเรียลไทม์

(3) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพอากาศ
เจ้าหุ่นทัพอากาศนี้ มีหน้าที่ตรวจตราทางอากาศ ซึ่งสำหรับการเกษตรจะมีประโยชน์หลายอย่างเลยครับ เช่น การถ่ายภาพสภาพความอุดมสมบูรณ์ของต้นพืช สภาพผลผลิตต่างๆ โดยหากมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่เหมาะสม มันก็สามารถจะตรวจตราหาความผิดปกติในไร่นาได้ จากการที่มันมีต้นทุนที่ต่ำมากๆ ทำให้การบินขึ้นของมันทำได้บ่อยครั้ง และสามารถเก็บภาพของไร่นาได้มากเท่าที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะเก็บข้อมูลสภาพการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณกว้างเพื่อเปรียบเทียบทั้งไร่ได้ง่ายขึ้น เจ้าหุ่นทัพอากาศยังสามารถใช้สนับสนุนทัพบก และทัพเรือได้เป็นอย่างดี เช่น เราอาจจะดัดแปลงให้หุ่นยนต์ทัพบก หรือ หุ่นยนต์ทัพเรือสามารถปล่อยเจ้าหุ่นทัพอากาศจากพิกัดใดๆ ก็ได้ แล้วให้บินกลับมาลงบนหุ่นยนต์แม่  ทำให้เราสามารถมีข้อมูลทั้งบนบก ในน้ำ และทางอากาศของพื้นที่การเกษตรได้ครบถ้วน 

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการทหาร เมื่อนำมาปรับใช้สำหรับการเกษตร มันก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้มากมายจริงๆ ครับ

08 กันยายน 2557

Cocoa Crisis - เมื่อโลกถึงยุคโกโก้ขาดแคลน



เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่บ้านผมได้ซื้อช็อคโกแล็ตเข้าบ้านมาเยอะมาก ทั้งใช้แจกและกินเอง สิ่งที่ผมสังเกตคือ ราคาช็อคโกแล็ตได้ขยับขึ้นไปสูงมากๆ ครับ ทั้งนี้เพราะว่า โกโก้เป็นสิ่งที่กำลังจะขาดแคลน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตโกโก้ใน 2 ประเทศผู้ผลิตหลักคือ ไอวอรี่โคสต์ กับ กานา ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกาลดลงเป็นอย่างมาก มีของอินโดนีเซียนี่หล่ะครับ ที่มันเพิ่มขึ้น

เมื่อโลกบริโภคช็อคโกแล็ตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตโกโก้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบลดลง ของก็ขาดล่ะสิครับ .... ในปี 2557 นี้ เราจะอยู่ในวงรอบที่ขาดแคลนโกโก้มากที่สุดในรอบ 50 ปีเลยครับ ประเทศไทยใช้โกโก้ทั้งหมดปีละ 21,000 ตัน แต่ละปลูกได้แค่ปีละ 200 ตัน

โกโก้ .... จึงเป็นพืชที่มีโอกาส ในช่วงเวลาที่ทองตก แต่ ราคาโกโก้ขึ้นครับ

(Credit - Picture from Reuters)
 

01 กันยายน 2557

คนยิ่งรวย ยิ่งกินน้ำตาลเยอะ



ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ในเรื่องของการบริโภคน้ำตาลก็คือ ยิ่งประเทศเจริญขึ้นก็มีแนวโน้มจะบริโภคน้ำตาลมากขึ้น อยากให้ดูจีน กับ อินเดีย ที่ยังกินน้ำตาลน้อยกว่าคนไทยมาก ถ้า 2 ประเทศกินน้ำตาลเท่ากับคนไทย .... น้ำตาลจะขาดแคลนขึ้นมาทันที ... เห็นอนาคตของอ้อยไหมครับ ?

ทั้งนี้ เพราะในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง คนจะบริโภคอาหารทานเล่น ที่นอกเหนือจากอาหารหลัก ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ เค้ก ขนมต่างๆ ล้วนมีองค์ประกอบของน้ำตาลทั้งนั้นครับ

เปรียบเทียบการบริโภคน้ำตาลของประชากร ประเทศต่าง (ข้อมูลเลือกมา ไม่ใช่อันดับ)
ในปี ค.ศ. 2008 (กิโลกรัม)

เฉลี่ยทั้งโลก 18.8
ไทย 28.9
เวียดนาม 10.6
ฟิลิปปินส์ 22.0
อินโดนีเซีย 11.7
อินเดีย 17.2
จีน 6.60
ญี่ปุ่น 16.5
สหรัฐฯ 30.4
สหราชอาณาจักร 32.1
สวีเดน 34.2
เยอรมัน 35.2
บราซิล 36.6
ฝรั่งเศส 36.9
รัสเซีย 38.2
นิวซีแลนด์ 50.2
สวิตเซอร์แลนด์ 51.5

Credit :
- Data from http://www.helgilibrary.com/indicators/index/sugar-consumption-per-capita
- Picture from http://www.mlevinco.com/sugar-cane/
- Picture from http://www.bubblews.com/news/2096259-sugar-cubes-and-telephones — กับ Teerakiat Kerdcharoen

31 สิงหาคม 2557

ไอบีเอ็ม บุกเบิกโลกแห่งอาหารดิจิตอล



ไอบีเอ็ม (IBM) วิจัยและพัฒนาอาหารแนวใหม่ หรือ การปรุงอาหารแบบจิตสัมผัส (Cognitive Cooking) โดยให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เรียนรู้สูตรอาหารในโลกทั้งหมด คอมพิวเตอร์จะประมวลผลว่าวัตถุดิบอะไร จากที่ไหน เอามาทำอะไรได้บ้าง มันจะประมวลผลโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหาร ว่าทำไมคนถึงเอาวัตถุดิบอันนี้ มาอยู่กับอันนั้น ... แล้วมันก็จะแนะนำเมนูอาหารใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งคนน่าจะกินแล้วถูกปาก ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้ทดลองสูตรอาหารใหม่ โดยการส่งรถขายอาหารที่เรียกว่า Food Truck ออกไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐ เพื่อเก็บข้อมูลว่าเมื่อคนกินแล้วจะรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่

ในอนาคต ... ไอบีเอ็มต้องการจะเข้าไปเป็นผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ระบบไอทีในการจัดส่งวัตถุดิบ การบริหารร้านอาหาร บริหารเครือข่ายโลจิสติกส์ ไปจนถึงการสร้างอาหารประดิษฐ์ชนิดใหม่สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งในอนาคต เนื่องจากไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก และในสมัยที่เกิดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ PC ไอบีเอ็มเองก็เป็นผู้ให้สิทธิ์การผลิตคอมพิวเตอร์แก่บริษัทต่างๆ ... ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่ออุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ยุคของการผลิตแบบ 3 มิติ เกิดเครื่องพิมพ์อาหารแบบต่างๆ เกิดขึ้น ไอบีเอ็มก็จะครอบครองสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเครื่องพิมพ์ สูตรหมึกในการพิมพ์อาหาร (Food Ink) เครื่องกำเนิดรสชาติ (Favor Machine) ต่างๆ 

นับว่า เค้าคิดไกลจริงๆ นะครับ

Credit :
- Picture from http://payload.cargocollective.com/1/0/31063/386201/food_800.jpg
- Picture from http://blog.ice.edu/wp-content/uploads/2014/03/FoodTruck-PR-Photo-550x367.jpg

27 สิงหาคม 2557

เครื่องเลี้ยงแมลง - อนาคตแหล่งโปรตีนโลก



ความคิดสร้างสรรค์ที่น่ายกย่องเรื่องหนึ่งของคนอีสานคือ การรู้จักนำแมลงมาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหนอนรถด่วน ไข่มดแดง จิ้งหรีด ด้วงมะพร้าว ตัวอ่อนผึ้ง ตั๊กแตน เป็นต้น สหประชาชาติถึงกับรณรงค์ให้ประชากรโลกหันมากินแมลงกันเยอะๆ เพราะแมลงเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีแมลงอยู่ตั้ง 1,900 ชนิดที่มนุษย์สามารถรับประทานได้ การเพาะเลี้ยงแมลงยังช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์พวก หมู ไก่ วัว มีการประเมินกันว่าในปี ค.ศ. 2050 โลกต้องการอาหารเนื้อสัตว์เพิ่มอีก 50% แล้วจะไปเอาเนื้อสัตว์จำนวนนี้มาจากไหนหล่ะครับ ก็ต้องแมลงนี่แหล่ะ โลกจึงต้องการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างจริงจัง ..... ท่านผู้อ่านอาจจะตกใจ ถ้าผมจะบอกว่า ในภาคอีสานของเราเองนั้น มีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ถึง 20,000 ฟาร์ม และมีการผลิตแมลงสำหรับรับประทานมากถึงปีละ 7,500 ตันเลยทีเดียวครับ น่าสนใจมากครับ เราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ผลิตแมลงส่งออกระดับโลกในไม่ช้านี้ก็ได้

ในช่วงหลังๆ นี้ ฝรั่งเริ่มมาสนใจในเรื่องของการบริโภคแมลงอย่างจริงจังมากขึ้น จนเกิดแนวคิดในเรื่องของการสร้างเครื่องเลี้ยงแมลงขึ้นมา เพื่อผลิตแมลงใช้บริโภคเองในบ้าน โดยต้องการให้เครื่องนี้เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากหม้อหุ้งข้าวอัตโนมัติ ซึ่งไม่นานมานี้เอง นักออกแบบสาวชาวออสเตรียชื่อ แคทรีนา อุงเกอร์ (Katharina Unger) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนแมลงที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Farm 432 โดยเครื่องนี้ทำงานแบบอัตโนมัติในการเลี้ยงตัวอ่อนแมลงชนิดหนึ่ง วิธีการทำงานคือ เราจะใส่ไข่ของแมลงเป้าหมายลงไปในช่องๆ หนึ่ง เหมือนใส่น้ำยาซักผ้าลงไปในเครื่องซักผ้าแหล่ะครับ จากนั้นเครื่องจะทำงานในการปรับสภาพอุณหภูมิและความชื้น ไข่จะฟักเป็นตัวแมลง แมลงจะผสมพันธุ์ และกินอาหารต่างๆ ที่เราจะป้อนเข้าไปในช่องวัตถุดิบ จากนั้นแมลงจะวางไข่ และไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะไต่ขึ้นไปในช่องไต่ แล้วตกลงไปในถ้วยเก็บ เราก็เอาตัวอ่อนนั่นแหล่ะครับไปทำเป็นอาหารได้เลย โดยอาจจะแบ่งตัวอ่อนส่วนหนึ่ง นำกลับมาป้อนใส่เครื่องเพื่อผลิตตัวอ่อนแมลงไว้กินในมื้อต่อไป แคทรีนาบอกว่า เจ้าเครื่องที่เธอออกแบบนี้สามารถเปลี่ยนไข่ของแมลง 1 กรัม ให้เป็นอาหาร 2.4 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 432 ชั่วโมง ไม่เลวเลยใช่มั้ยครับ

เห็นหรือยังครับว่า แนวคิดใหม่ๆ กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ของการผลิตและบริโภคอาหาร เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ .... ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังครับ กับการเข้ามาของ Digital Food !!!

(Credit - Picture from http://www.dailymail.co.uk/)

25 สิงหาคม 2557

The Future of Rubber - อนาคตของยางพารา



เราควรจะลงทุนปลูกยางหรือไม่ ช่วงนี้ หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยางพาราก็ลงเอาๆ จนราคาถูกน่าซื้อ แต่ ... จริงๆ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับยางพาราหรือไม่ ... มาลองดูผลวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพานิชย์ กันครับว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ยางไทยจะเป็นอย่างไร

- จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV คำถามคือ การขยายพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทยลดลงหรือไม่ ?

- จากการวิเคราะห์พบว่า ผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต

- คาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน ดังนั้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

- ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022

- ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพาราเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา 

- จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLM แรงงานกรีดยางในภาคใต้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศ CLM โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่กรีดยางในประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นราว 2.6 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อกรีดยางในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการกรีดยาง อาจจะกลับไปในประเทศของตน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาแรงงานไว้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้แรงงานกรีดยางเพิ่มขึ้น

Credit - คุณ เกียรติศักดิ์ คำสี (ผู้เขียนบทความ) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB
ที่มา http://scbeic.com/THA/document/note_20131030_rubber/

16 กุมภาพันธ์ 2557

ไทยแลนด์ แดนแห่งความหวาน


ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความหวานจริงๆ ครับ คนไทยกินน้ำตาลกันคนละ 38 กิโลกรัมต่อคน ต่อปี มากกว่า คนอเมริกัน คนยุโรป คนอินเดีย และคนจีนครับ ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือ 23 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ครับ

ประเทศไทยปลูกและได้ผลผลิตอ้อยมากเป็นอันดับ 4 ของโลก มีผลผลิต (ค.ศ. 2011) ปีละ 96 ล้านตัน (ปัจจุบันเกิน 100 ล้านตันแล้ว) บราซิลผลิตได้อันดับ 1 ของโลก เท่ากับ 734 ล้านตัน รองลงมาคือ อินเดีย เท่ากับ 342 ล้านตัน และ จีน เท่ากับ 115 ล้านตัน

ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้เป็นอันดับ 5 ของโลก (ค.ศ. 2011) เท่ากับ 11.3 ล้านตัน รองจาก บราซิล (39 ล้านตัน) อินเดีย (27.8 ล้านตัน) อียู (18.5 ล้านตัน) จีน (12.2 ล้านตัน)

ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลได้เป็นอันดับ 2 ของโลก (ค.ศ. 2011) เท่ากับ 8.5 ล้านตัน รองจากบราซิล (27.6 ล้านตัน)
คนไทยดื่มโคคาโคล่า (ค.ศ. 2012) เท่ากับ 26.7 ลิตร ต่อคนต่อปี ค่าเฉลี่ยของทั้งโลก เท่ากับ 22.2 ลิตร ต่อคนต่อปี

(Credit - Picture fromhttp://www.wisegeek.com/http://glossi.com/)

05 กุมภาพันธ์ 2557

Creative Economy กับเกษตรไทย



เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว เราจะค่อนข้างได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บ่อยมาก นัยว่าในมุมมองของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น คิดว่าคนไทยเราน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างดี เศรษฐกิจแบบนี้จึงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า Knowledge-Based Economy หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ในยุคก่อนหน้าสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ในที่สุด พวกเราเองคงจะรู้ตัวว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตความรู้ขึ้นใช้เอง เนื่องจากสังคมของเรายังอ่อนแอ ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโดยทั่วไป เขามักจะวัดกันที่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสิทธิบัตร ซึ่งเรายังแพ้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

Creative Economy วางจุดโฟกัสที่ตัวผู้ผลิตสินค้าว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลิตสิ่งที่เป็นของใหม่ๆ มีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง Creative Economy ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายถึง "แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)"

ดังนั้น ความหมายของ Creative Economy ในมุมมองของไทย คือการเน้นความเป็นไทย อันได้แก่ ความสามารถด้านศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรม จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ และอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาจากสมัยโบราณ ไม่ใช่ Creative Economy ที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็น Creative Economy ที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรร ที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องครับ เพียงแต่ สินค้าที่เราคิดว่า creative ต่างๆ นี้ มันสามารถที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้จริงหรือไม่ ? ตลาดต่างๆ นอกประเทศไทยจะพึงพอใจสินค้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเรามากเพียงใด เราจะแข่งกับสินค้าอารมณ์จากเกาหลีได้หรือไม่

ในมุมมองของผม ผมฝันถึง Creative Economy ที่อาศัยสินค้าเกษตรเป็นฐานครับ เพราะเรามีสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวที่มีจุดเด่น เอกลักษณ์ และน่าจะผสมผสานความเป็นไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟอะราบิก้า ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน มะม่วง และผลไม้หลากชนิด สมุนไพรไทย อาหารไทยอย่าง ต้มยำกุ้ง และ ผัดไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

มาร่วมกันสร้าง Creative Economy ในภาคเกษตรกันครับ

(Credit - Picture fromhttp://www.elearneasy.com/http://www.liveinternet.ru/http://nenuno.co.uk/)