27 ตุลาคม 2556

ไทยต้องเพิ่มศักยภาพการเกษตรทางน้ำ และ Smart Aquaculture


ประเทศไทยเราประกาศตัวเป็นครัวโลก เป็นฮับอาหารทะเล ซึ่งการจะเป็นอย่างนั้นได้ เกษตรทางบกก็คงไม่พอแน่นอนครับ เราต้องทำการเกษตรในน้ำให้เด่นด้วย 

วันนี้เราลองมาดูสถิติเกี่ยวกับการผลิตสัตว์น้ำของประเทศไทยกันครับ ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ล่าสุด แต่ก็พอจะเห็นอะไร

- ประเทศไทยเน้นการผลิตสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก มากกว่าการบริโภคในประเทศ ดังนั้น เราจึงเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และมีประสบการณ์ยาวนานด้านตลาดต่างประเทศ แต่ก็กำลังจะเผชิญคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามครับ

- จะเห็นว่าประเทศไทยเน้นการผลิตสัตว์น้ำเค็มครับ เรามีกำลังผลิตใกล้เคียงกับ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่มีพื้นที่ติดน้ำมากกว่าเรา ถือว่าเราเก่งเกินตัวเลยครับ

- แต่เราผลิตสัตว์น้ำจืดได้น้อยอย่างน่าตกใจ เราแพ้เวียดนามที่มีพื้นที่น้อยกว่าเรา (แสดงว่า เราต้องทำสัตว์น้ำจืดให้มากขึ้นมั้ย ?)

- และเมื่อมาดูตัวเลขการทำฟาร์ม เราทำฟาร์มสัตว์น้ำเพียง 25.2% นอกนั้นจับจากธรรมชาติ (ตัวเลขค่อนข้างเก่าคือ พ.ศ. 2547 ซึ่งตอนนี้เราน่าจะทำฟาร์มมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก) ซึ่งในอนาคต ผมคิดว่าตัวเลขมันจะกลับกัน เพราะปลาในทะเลจะมีน้อยลง

วันหลัง ผมจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอาชีพไฮเทคนะครับ

(Credit - Picture from ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย และhttp://coursewares.mju.ac.th/)

25 ตุลาคม 2556

Malaysia Smart Paddy - โครงการนาข้าวอัจฉริยะ มาเลเซีย



(Credit - Picture from Malaysian National Paddy Precision Farming Project)

"ประเทศไทย ปลูกอะไรก็ขึ้น จะทำ smart farm ไปทำไม" เป็นคำพูดที่ผมมักจะได้ยินนักวิชาการทางด้านเกษตรพูดดูหมิ่นแนวคิดของ smart farm ทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน แทนที่ผมจะได้นำแนวคิดของเกษตรอัจฉริยะมาใช้กับนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของไทย แต่ผมกลับต้องไปทำ smart farm กับองุ่น พืชที่ปลูกและดูแลยากกว่ามากๆ เพราะนักวิชาการเหล่านั้น "ไม่อนุญาต" ให้เราทำกับสิ่งที่ "ปลูกอะไรก็ขึ้น"

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศักยภาพในการ "ปลูกอะไรก็ขึ้น" กำลังจะสูญเสียไป ประเทศไทยกำลังผจญกับการแข่งขันรอบด้าน เวียดนามกำลังพัฒนาข้าวหอมเพื่อมาแข่งขันกับเรา รวมไปถึงกาแฟที่ทุกวันนี้ ทั้งกาแฟของลาวและเวียดนาม บุกถล่มร้านกาแฟในเมืองไทยกันเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียออกกฎเหล็กเพื่อมาควบคุมทุเรียนไทย อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเอาทุเรียนมาแข่งกับไทยให้ได้

จะเห็นว่า ถ้าเรายังอยู่กับที่ ... มีแต่ ตาย กับ ตาย ครับพี่น้อง !!!

วันนี้ผมจะพาไปดูโครงการนาข้าวอัจฉริยะในประเทศมาเลเซียครับ ไปดูกันครับว่า เพื่อนบ้านเค้าทำนาแบบใหม่กันอย่างไร โครงการนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่าง มาช่วยในการทำนา ผมขออธิบายตามรูปภาพนะครับ ทีนี้ขอให้มองไปที่มุมขวาบนของภาพก่อนครับ

- Soil Sampling ก่อนการทำนาในรอบต่อไป จะมีการตรวจสอบตัวอย่างดินกันก่อนครับ ค่าที่ตรวจสอบจะมี pH, ค่าการนำไฟฟ้า (เพื่อรู้ปริมาณไอออนต่างๆ) ค่าปริมาณของอินทรีย์วัตถุในดิน โดยการใช้รถไถที่ดัดแปลงให้สามารถอ่านค่าตัวอย่างดินได้แบบ ณ ตำแหน่งและเวลาจริงกันเลยทีเดียวครับ ไม่ต้องนำตัวอย่างดินกลับไปทำที่แล็ป

- Soil Mapping จากข้างบน เมื่อเราสามารถตรวจสอบตัวอย่างดินได้ ณ สถานที่และเวลาจริง แบบขับรถไถไปตรวจสอบไป (On-the-go Measurement) เราก็สามารถได้ค่าพารามิเตอร์ของดิน ณ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งก็จะกลายเป็น แผนที่ดินดิจิตอล ที่ทำให้เราทราบว่า ดินในไร่นาของเรามันเหมือนกัน หรือ ต่างกันอย่างไร

- แผนที่ดินดิจิตอลนี้เองครับ จะทำให้เราสามารถดูแลดินแบบแตกต่างกันได้ ตรงไหนไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ยเยอะๆ หน่อย ตรงไหนดินมันดีกว่าที่อื่น ก็ใส่น้อยหน่อย โดยเราสามารถโปรแกรมใส่รถไถที่จะออกไปรถปุ๋ยครับ เจ้ารถไถนี้จะนำเอาแผนที่เหล่านี้มาใช้อย่างอัตโนมัติ

- Plant Growth Monitoring ในระหว่างที่พืชเติบโต เราจะมีการตรวจวัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ กัน เช่น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเติบโต หรือใช้ภาพถ่ายทางอากาศจาก UAV ทำให้เราทราบว่า ตกลงที่เราให้ปุ๋ยแก่ดินไปแตกต่างกันตามตำแหน่งต่างๆ กันนั้น มันเป็นไปอย่างที่เราคิดมั้ย

- Variation Rate Application คือการที่เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไป หากมันยังไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราก็ยังสามารถดูแลให้ปุ๋ย น้ำ ตามความแตกต่างที่เราวัดได้ ซึ่งก็อาจจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามในไร่นา เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน เซ็นเซอร์ตรวจวัดความสูงของต้นข้าว เซ็นเซอร์ตรวจวัดคลอโรฟิล เป็นต้น เรายังสามารถดูแลการกำจัดศัตรูพืช ตามสภาพที่เราตรวจวัดได้อีกด้วย

- Yield Mapping ท้ายสุด เมื่อมาถึงการเก็บเกี่ยว เราจะไม่เก็บเกี่ยวแบบธรรมดาอีกต่อไป แต่เราจะตรวจวัดว่า แปลงไหน ตรงไหน พิกัดที่เท่าไหร่ ให้ผลผลิตมากน้อยอย่างไร แล้วนำค่าผลผลิตที่ตรวจวัดได้นั้นมาทำแผนที่ผลผลิตแบบดิจิตอล เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงโมเดล และ สมมติฐานต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปนั้นดีขึ้นครับ

ตอนนี้ ผมเองก็เสนอโครงการนาข้าวอัจฉริยะไปที่สภาวิจัยแห่งชาติอยู่ครับ ถ้าได้รับการสนับสนุน จะนำมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ หวังว่า เรายังไม่ได้ตามหลังมาเลเซียไกลเกินไป เผื่อจะได้ไล่ทันบ้างครับ


19 ตุลาคม 2556

อนาคตของอ้อย



(Credit - Picture from http://www.wisegeek.com/)

ในจำนวนหุ้นเกษตรนั้น หุ้นที่ผมชอบมากที่สุดคือหุ้นน้ำตาล เพราะผมมีความเชื่อว่าหุ้นตัวนี้จะไม่ทำร้ายผมอย่างแน่นอนครับ ในพอร์ตหุ้นของลูกชายผมคือน้องโมเลกุล มีหุ้นอยู่ 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่งเป็นหุ้นน้ำตาล เขาจะเอาเงินในกระปุกออมสินทะยอยสะสมหุ้นตัวนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยเวลานับ 10 ปีครับ

อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย ราคาน้ำตาลเบอร์ 11 ที่จะส่งมอบ (Futures) ในเดือน มี.ค. 2557 ตกต่ำลงไปเหลือปอนด์ละ 17 เซ็นต์ ในเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ทำเอาหุ้นน้ำตาลของผมต่ำติดฟลอร์

แต่แล้ว ..... ในช่วงไม่มีสัปดาห์ที่ผ่าน มันกลับเริ่มทะยานกลับขึ้นอย่างรวดเร็วครับ  ผมจึงเชื่อว่า จุดต่ำสุดของราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ได้ผ่านไปแล้ว

วันนี้ ผมขอนำตัวเลขบางอย่างเกี่ยวกับน้ำตาลมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

- น้ำตาลที่ผลิตได้ในโลกเรานี้ 70% มาจากอ้อย อีก 30% มาจากบีท

- อ้อยเป็นพืชที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด คือ 8% ในขณะที่ข้าวโพดทำได้เพียง 1%

- อ้อยจึงเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตเอธานอล

- บราซิลผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลกคือ 35.75 ล้านตัน (ฤดูกาล 2011/2012) อินเดีย 28.3 อียู 16.74 จีน 11.84 และไทย 10.17 

- ถึงแม้ไทยจะผลิตน้ำตาลได้อันดับ 5 ของโลก แต่เราส่งออกอันดับ 2 เลยครับ เหมือนข้าวนั่นแหล่ะครับ ที่เราไม่ใช่ผู้ผลิตอันดับหนึ่ง แต่เราส่งออกเยอะกว่าเพื่อนไงครับ

- โลกมีแต่จะบริโภคน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 166 ล้านตันในปี 2012 ไปเป็น 203 ล้านตันในปี 2021 โดยคนเอเชียจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการกินน้ำตาลเลยครับ โดยจะเพิ่มจาก 75 เป็น 97 ล้านตันต่อปี

- ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับ Top Tree ในการส่งออกน้ำตาล โดยจะมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มจาก 11% ไปเป็น 14% ในอีก 8 ปีข้างหน้า (ไม่รู้ฝรั่งรู้ได้ไง ว่าเรากำลังจะขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย โดยนโยบายการจัดทำโซนนิ่งเกษตรกรรม)

เห็นอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้พูดได้ยังไงล่ะครับว่า อนาคตของอ้อยนั้นดีแน่

11 ตุลาคม 2556

ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมาร์ทฟาร์ม


(Picture from Fujitsu)

เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2556 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานการแสดงทางการค้า (Trade Fair) ที่มีชื่อว่า CEATEC Japan 2013 ในงานนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปติดตามความก้าวหน้าของระบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งบริษัท Fujitsu พัฒนาขึ้นและได้นำมาออกแสดงในงาน CEATEC Japan แทบจะทุกปี โดยเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็เคยเข้าไปดูงาน CEATEC Japan มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2007 นู่นเลยครับ ในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสไปเห็นบริษัท Fujitsu เสนอแนวคิดเรื่องสมาร์ทฟาร์มขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งผมก็ได้นำแนวคิดหลายๆ อย่างจากการไปเห็นในนิทรรศการนั่นแหล่ะครับ เอากลับมาทำ พูดอย่างไม่อายเลยครับว่า การไปดูงานแบบ expo หรือ trade fair เนี่ย มันช่วยจุดประกายความคิดเราได้เยอะ หลายๆ เรื่อง เราแค่ไปดูๆ แล้วเอากลับมาทำต่อยอดได้เลย 

หลังจากกลับมาจาก CEATEC Japan 2007 ผมก็ได้ลองนำแนวคิดหลายๆ อย่างของ Fujitsu กลับมาทำ ผ่านไปจากปี 2007 ก็อยากจะกลับไปดูว่า Fujitsu ทำอะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วเวลาที่ผ่านมาตั้ง 6 ปี สิ่งที่ Fujitsu ทำ กับ สิ่งที่ผมได้ทำ มันมีพัฒนาการต่างกันเยอะมั้ย ... ไม่น่าเชื่อครับ พอกลับมาดูอีกที ปรากฎว่า พัฒนาการของสมาร์ทฟาร์มของ Fujitsu กับที่ผมทำและวางแผนจะทำ มันกลับมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งๆ ที่ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยติดตามงานของ Fujitsu อีกเลย

นั่นแสดงว่า แนวโน้มของการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มในโลกนี้ มันกำลังไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือ

(1) เรื่องของการติดตามข้อมูลและกิจกรรมในไร่ ด้วยเซ็นเซอร์ (Field Sensors) ต่างๆ รวมไปถึงการใช้จักรกล หุ่นยนต์ และเครื่องทุ่นแรงที่มีระบบอัจฉริยะ

(2) เรื่องของ mobile devices ที่เข้ามามีส่วนในการทำไร่ทำนา การบันทึกและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ

(3) เรื่องของระบบ Cloud Computing ที่จะทำให้พารามิเตอร์ในการเพาะปลูก ปัจจัยการผลิต สภาพผลผลิต เชื่อมโยงกันหมด จากไร่นาไปสู่โรงงานแปรรูป และผู้จัดส่งอาหาร ไปถึงผู้บริโภค รวมถึงการเชื่อมโยงเซอร์วิสอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด

เมื่อการเพาะปลูกเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด พารามิเตอร์ ตัวแปร ต่างๆ สามารถที่จะนำมาเชื่อมโยงกันด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ และอัลกอริทึมต่างๆ ทำให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ราคาพืชผล จาก demand-supply ได้

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากงาน CEATEC Japan 2013 ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของระบบอัจฉริยะมันมาถึงจุดที่ใกล้ความเป็นจริงมากๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Smart City, Smart Car, Smart Home, Smart Healthcare และนั่น ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ Smart Farm เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ครับ ....