ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก ความรู้และวิทยาการด้าน Smart Farm และ เกษตรกรรมความแม่นยำสูง มาพบกับท่านที่นี่ ทุกวัน มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้เป็น ประเทศแห่งเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm Nation)
22 ธันวาคม 2555
BIG DATA - ยุคข้อมูลใหญ่มหึมา มาถึงแล้ว (ตอนที่ 2)
ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เชื่อมโยงกันทั้งโลก ทำให้การจะทำอะไรสักอย่างที่เมื่อก่อนเราคิดว่ามันง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เราคิดว่าถูกสำหรับสังคมเรา อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดในสังคมโลก ซึ่งหากเราจะฝืนเชื่อในแบบของเราต่อไปไม่แคร์ประเทศอื่นก็คงทำได้แต่ไม่ยั่งยืน แม้แต่ประเทศที่เคยปิดตัวเองและคิดว่าตัวเองสามารถอยู่ได้ไม่ต้องพึ่งใครอย่างพม่า สุดท้ายก็ต้องเปิดประเทศ อดีตนายกฯ ทักษิณของไทยถูกศาลอาญาประเทศไทยสั่งจำคุกดดีที่ดินรัชดาฯ กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเขาเองสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ทั่วโลกอย่างไม่จำกัด โดยตำรวจสากลไม่สนใจที่จะแตะต้องหรือนำตัวส่งกลับประเทศไทยแต่อย่างใด นั่นแสดงว่า โลกไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำตัดสินของศาลไทย แถมกลับมองเห็นว่าคำสั่งศาลไทยเป็นคำสั่งที่ไม่มีความหมายในเวทีโลก แต่เมื่อเทียบกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อจะเดินทางไปยังต่างประเทศ กลับถูกปฏิเสธไม่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็น เขมร บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอารเบีย รัสเซีย ยุทธการโลกล้อมประเทศไทยนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า คนในประเทศของเรานั้น มีศักยภาพในการเท่าทันพลวัตในมิติต่างๆ ของเวทีโลกอันซับซ้อนนี้หรือไม่
ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั้งโลกนี้ ทำให้ความเป็นตัวของตัวเองทางด้านวิถีชีวิตก็เป็นไปได้ยากมากๆ ทุกอย่างต้องไหล ต้องพลิ้วไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งโลก คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเข้าใจดีว่า ราคาทอง น้ำมัน และหุ้น มีความอ่อนไหวกับแทบจะทุกๆ เรื่องที่ไม่ได้เกิดในเมืองไทย เช่น ปัญหาหนี้ยุโรป ปัญหาหน้าผาการคลังในสหรัฐฯ ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่น ปัญหาเศรษฐกิจในจีน ในระยะหลังๆ มีกระแสเงินทุนไหลเข้าอาเซียนมาก ทำให้ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ของอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนเอาไม่อยู่ ถ้าคุณจะเล่นหุ้นสักตัวในตลาดหุ้น ก็จะพบว่าวัน ๆ คุณจะเจอกับข้อมูล Big Data จำนวนมหาศาลที่จะไหลเข้ามาเพื่อให้คุณวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะซื้อหรือจะขายหุ้นตัวนั้นดี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับบริษัทนั้น คุณจะต้องดูให้หมดทั้งเรื่องการเมือง แนวโน้มต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและในโลก
ผมยกตัวอย่าง ผมมีหุ้นตัวหนึ่ง เป็นบริษัที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและขายอาหารสัตว์ มาดูกันครับว่า ราคาของหุ้นตัวนี้จะขึ้นกับอะไรบ้าง
ผมซื้อหุ้นตัวนี้เพราะความที่ผมมีความหลงไหลเรื่องของเกษตรเป็นทุนอยู่แล้ว หุ้นตัวนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมันเป็นหุ้นเกษตรที่เติบโตเป็นวัฏจักร ราคาหุ้นตัวนี้ไม่แพง (ต่ำกว่า 10 บาท) ให้ปันผลปีละประมาณ 6-10% ซึ่งผมก็พอใจกับผลตอบแทนประมาณนี้ สำหรับหลายๆ คนมองว่าหุ้นตัวนี้น่าเบื่อ เพราะว่าราคามันไม่ไปไหนเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง เพราะบริษัทนี้มีกระแสเงินสดดี ไม่ค่อยมีหนี้ แถมมีกำไรสะสมเป็นพันล้าน ถึงแม้ผลประกอบการในปี 2555 นี้จะไม่เติบโตเนื่องมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบปีนี้มีราคาค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อนหน้า ทำให้ราคาข้าวโพดแพงมาก แต่ราคาอาหารสัตว์กลับไม่ได้ปรับขึ้น อย่างไรก็ดี จากการดูราคาข้าวโพดล่วงหน้า ส่งมอบในเดือนมีนาคม 2556 มีราคาถูกลงมาก อันเนื่องมาจากพายุแซนดี้ทำให้เกิดฝนตกมากในสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้จะมีผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ราคาส่งมอบลดต่ำลง ดังนั้น ในปีหน้าหุ้นตัวนี้น่าจะมีผลประกอบการดี ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินปันผลสูงขึ้น และเมื่อเงินปันผลสูงขึ้น นักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นตัวนี้ก็จะสนใจแล้วเข้ามาซื้อ ทำให้ราคาของหุ้นตัวนี้สูงขึ้นมาก ซึ่งก็จะทำให้ผมสามารถทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ได้ในปีหน้า
แค่นี้ก็น่าจะเป็นข่าวดี แต่ทว่า ... ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นเลยครับ เพราะอาหารสัตว์จะขายได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมีคนเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคมากหรือไม่ ซึ่งในที่นี้คือ หมู เมื่อมีคนเลี้ยงหมูมาก ก็จะใช้อาหารสัตว์มาก ซึ่งก็จะทำให้บริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่นี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ว่า เมื่อมีคนเลี้ยงหมูมาก ก็จะเกิด supply ขึ้นในตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาเนื้อหมูลดต่ำลง ซึ่งก็จะทำให้คนเลี้ยงหมูได้กำไรน้อยลง คนเลี้ยงหมูก็อาจจะพยายามลดต้นทุนด้วยการเลี้ยงหมูน้อยลง ใช้อาหารหมูจากบริษัทนี้น้อยลง โดยผสมอาหารจากธรรมชาติเข้าไปด้วย บริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่ก็อาจจะต้องลดราคาอาหารสัตว์ลงเพื่อจูงใจให้มีการซื้อมากขึ้น หรือหากคงราคาเดิมไว้ ก็จะมียอดขายลดลง แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน การที่คนเลี้ยงหมูมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่จะส่งผลดีต่อกิจการที่ผมซื้อหุ้นไว้เสมอไป ราคาของหุ้นตัวนี้ที่จะผมหวังจะทำกำไรให้ผมสูงๆ ได้ ก็จะขึ้นลงเป็นวัฏจักร ... แน่นอน ถ้าผมต้องการทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ ผมจะต้องทำการบ้านที่หนักหน่วง กับข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อราคาหุ้นตัวนี้ มันเป็นข้อมูลที่ใหญ่ เป็น Big Data จริงๆ
ในช่วงปลายปี 2555 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เงินทุนไหลเข้าเรียกว่า Fund Flow ไหลเข้ามาทางเอเชียเป็นประวัติการณ์ ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ของไทยไหลขึ้นอย่างน่าตกใจ ราคาหุ้นยกตัวแทบจะทั้งกระดาน แต่หุ้นเกษตรตัวนี้ของผมกลับไม่กระดิกไปไหน มันยังขึ้นๆ ลงๆ ตามปริมาณการซื้อขายไปมาเล็กๆ น้อยๆ นักลงทุนส่วนมากมองว่าหุ้นตัวนี้น่าเบื่อที่สุด แต่มันกลับเป็นหุ้นสุดเลิฟของผม และผมเชื่อว่ามันจะเป็นหุ้นที่ดีต่อไป และทำกำไรให้ผมได้อย่างยั่งยืน ......
BIG DATA - ยุคข้อมูลใหญ่มหึมา มาถึงแล้ว
เมื่อตอนเด็กๆ ผมเป็นแฟนละครขาประจำของซีรีย์ละครโทรทัศน์เรื่อง "พิภพมัจจุราช" เนื้อหาหลักของละครเรื่องนี้วนเวียนอยู่ในเรื่องการทำงานของ "กฎแห่งกรรม" โดยมีผู้คุ้มกฎคือท่านพญายม เมื่อมนุษย์คนใดก็ตามดวงถึงฆาต วิญญาณของเขาเหล่านั้นจะถูกนำมายังห้องตัดสิน จากนั้นท่านท้าวพญายมจะบัญชาให้เสนาบดีของท่านที่มีชื่อว่า "สุวรรณ" และ "สุวาลย์" ตรวจดูบันทึกกรรมว่าคนเหล่านั้นทำกรรมอะไรเอาไว้บ้าง และที่น่าทึ่งสำหรับผม (รวมทั้งเด็กๆ ที่มีอายุเท่าผมในสมัยนั้น) ก็คือ ท่านท้าวพญายมได้ REPLAY กิจกรรมต่างๆ ของเหล่ามนุษย์ที่กำลังถูกตัดสิน ผ่านจอทีวียักษ์ให้ผู้ถูกตัดสินได้เห็นว่าตัวเองทำอะไร หลังจากดูละครในแต่ละตอนจบ ผมจะมีคำถามมากมายที่ค้างคาใจ และผู้ใหญ่ในสมัยนั้นก็ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ เมื่อผมนำคำถามเหล่านี้ไปถามลุงป้าน้าอา ก็มักจะถูกไล่ให้ไปนอนหรือให้ไปเล่นไกลๆ คำถามที่ผมคาใจมากที่สุดคือ "มีคนอยู่เป็นล้านๆ คนทั่วโลก ใครจะเป็นคนจดบันทึกกรรมของเขาเหล่านั้น ในเมื่อท่านพญาผมมีลูกน้องเพียง 2 คน แล้วจะสามารถติดตามมนุษย์เป็นล้านๆ คนได้อย่างไร แล้วจะมีการผิดพลาดในการบันทึกบ้างไหม"
เมื่อผมโตขึ้นแล้วได้มีโอกาสศึกษาพระไตรปิฎก ผมจึงได้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครบันทึกกรรมให้เราหรอกครับ แต่กรรมทั้งหลายที่เรากระทำนั้นจะบันทึกลงไปในดวงจิตของเราเอง ในทุกขณะจิต ซึ่งมีความไวมาก ในช่วง 1 วินาที จิตมีการเกิดดับถึง หนึ่งล้านล้านครั้ง หรือ สิบยกกำลังสิบสองเลยครับ นั้นคือ จิตมีสภาพเป็นควอนตัม ไม่มีความต่อเนื่อง มีอายุเพียงพิโควินาที (picosecond) เท่านั้น การกระทำของเราในทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว จะถูกบันทึกในจิตของเรานี่เอง ซึ่งข้อมูลจะมีมากมายมหาศาล สิ่งไหนก็ตามที่เราทำบ่อยๆ จิตก็จะบันทึกลงไป กลายเป็นอุปนิสัยหรืออัตลักษณ์ของเราไป เช่น ถ้าเราเป็นคนชอบมองโลกบวก เป็นคนสรวลเสเฮฮา ไม่คิดร้ายต่อใคร เราก็จะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ นับชาติไม่ถ้วน ถ้าเราเป็นคนขี้โกรธ ชอบมองโลกในแง่ร้าย มองเห็นแต่สิ่งไม่ดีของคนอื่น เราก็จะเป็นอย่างนั้นข้ามภพข้ามชาติ การจะไปเปลี่ยนแปลงสภาพจิตแบบนั้นทำได้ แต่คงได้ใช้เวลามาก เราจึงมักเห็นคนที่พยายามกลับใจเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นแบบตรงข้าม มักจะทำไม่ค่อยสำเร็จ เพราะสิ่งที่บันทึกในจิตเขามันมากมายกว่าข้อมูลใหม่ที่บันทึกลงไป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองอาจจะต้องใช้เวลาหลายภพหลายชาติกันเลยครับ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น "การสร้างบารมี" ซึ่งจะสั่งสมทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่เราต้องการ เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้
แล้วที่ผมพูดมาเกี่ยวอะไรกับหัวข้อ BIG DATA หรือครับ ? คำตอบคือ ... เกี่ยวสิครับ
โลกปัจจุบัน กำลังมีความสนใจในเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่เราต้องการเก็บบันทึกเอาไว้ทุกแง่ ทุกมุม ของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน กิจกรรมต่างๆ ที่เรากระทำ สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ การจราจร พฤติกรรมประชากร ความเคลื่อนไหวของสังคม เหตุการณ์ต่างๆ เพราะข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำมาสกัด วิเคราะห์ ประมวลผล และสังเคราะห์ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากมาย เช่นเดียวกับ ข้อมูลที่ลูกน้องของท่านพญายมได้บันทึกกรรม การกระทำของมนุษย์เอาไว้หมด เพื่อนำมาใช้ในภายหลัง ในอนาคต รถยนต์ที่เราซื้อมาขับ มันจะเก็บข้อมูลการขับขี่ของเรา พฤติกรรมการขับขี่ สไตล์เพลงที่เราเปิดฟัง รูปแบบการเข้าเติมน้ำมันของเรา แล้วมันจะส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังศูนย์บริการ รถยนต์จะเตือนเราให้เข้าศูนย์เมื่อถึงเวลา ช่างจะทำการบำรุงรักษาอะไหล่ต่างๆ โดยสามารถรู้ล่วงหน้าว่าต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง
BIG DATA กำลังแทรกซึมไปทุกหย่อมหญ้า เรามีข้อมูลสภาพอากาศ จากเครื่องตรวจวัดจำนวนมากมายบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ทั้งดาวเทียม เรดาร์ บอลลูนและอากาศยานตรวจอากาศ ทุ่นลอยในมหาสมุทร ข้อมูลใหญ่ๆ จำนวนมหาศาลนี้ได้นำมาสู่การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำรายชั่วโมง ในด้านพันธุศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์พยายามถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อทำแผนที่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบยาใหม่ๆ และที่กำลังมาแรงที่สุดสำหรับวิทยาศาสตร์ในเวลานี้คือ การทำแผนที่สมองของมนุษย์ เพื่อที่จะเข้าใจรายละเอียดการทำงานของ ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของมนุษย์
BIG DATA จะยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่เราเริ่มมีอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลจำนวนมากขึ้น กระจายมากขึ้น โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่พวกเราใช้กันอยู่นี้ มันสามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งและเวลาที่เราใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งเราอาจไม่รู้ว่ามันได้ส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับไปที่สถานีฐาน และข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้ที่ไหนสักแห่ง นอกจากนั้นโทรศัพท์บางชนิดยังมีเซ็นเซอร์ชนิดพิเศษสำหรับตรวจหาอาวุธนิวเคลียร์ และมันจะส่งข้อมูลไปยังเพนทากอนหากมันตรวจพบสัญญาณของการแผ่รังสี รูปภาพที่เราถ่ายได้และอัพโหลดขึ้นไปบน Facebook จะเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลที่เพนทากอนสามารถเข้ามา search หาความหมายของรูป และนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์พวก RFID (Radio-frequency identification) ที่เก็บข้อมูลสินค้า ซึ่งมันจะบันทึกข้อมูลการเดินทางของสินค้าจากจุดผลิต ไปยังจุดใช้งาน ที่สามารถใช้ติดตามพฤติกรรมการบริโภค หรือแม้กระทั่งติดตามหาผู้ก่อการร้ายก็ได้ ปัจจุบันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ที่มีความสามารถในด้านเซ็นเซอร์ ซึ่งจะเก็บข้อมูลและส่งเข้าฐานข้อมูล BIG DATA
BIG DATA กำลังคืบคลานเข้ามารายล้อมชีวิตของพวกเรา และวันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็น Big Brother ที่คอยดูแล และควบคุมวิถีชีวิตของเรา .....
Labels:
ambient intelligence,
Sensor Networks
01 ธันวาคม 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 6)
ถ้าผมมีเงินลงทุนสักก้อนเพื่อทำธุรกิจ ผมจะไม่ลังเลเลยที่จะทำธุรกิจทางด้านเกษตรและอาหาร ถึงแม้ว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพของคนจน ทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย แต่หากเราลองคิดดูกันเล่นๆ ว่า ในอีก 18 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ. 2030 โลกเราจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรล้นหลามถึง 9,000 ล้านคน ประเทศไทยจะต้องผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นนับจากวันนี้ไป เท่ากับมีประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเทศ อนาคตของประเทศไทย และอนาคตของโลกคือเกษตรกรรมครับ ไม่ใช่ การท่องเที่ยวและบริการ เพราะถึงวันนั้น เราอาจจะปิดประเทศ ไม่อยากให้ใครเข้ามาในประเทศเรามากกว่านี้แล้วก็ได้ แต่เราต้องการส่งออกอาหารไปเลี้ยงคนเหล่านั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของเรา
แล้วแนวโน้มของเกษตรกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะทำง่ายขึ้นหรือยากขึ้น ผมขอแบ่งเกษตรกรรมออกเป็น 2 ชนิดนะครับ
(1) Outdoor Agriculture หรือ เกษตรกลางแจ้ง เป็นการทำเกษตรที่เก่าแก่และทำมาตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มมีอารยธรรม การเกษตรแบบนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้า อากาศ ที่ไม่อาจควบคุมได้ (ในอนาคต เราอาจมีเทคโนโลยีที่ควบคุมดินฟ้าอากาศได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเบี่ยงเบนวิถีพายุ) การทำการเกษตรแบบนี้ในอนาคตจะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่า Climate-Smart Agriculture หรือ เกษตรกรรมที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ เป็นการเกษตรที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตเราจะต้องรู้ทันสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามาในพื้นที่ไร่นาของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับกิจกรรมในไร่ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น
(2) Indoor Agriculture หรือ เกษตรในร่ม เป็นการเกษตรที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเกษตรแบบนี้ สามารถเราสามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูก หรือ สัตว์ที่เลี้ยงได้ ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรรมแบบนี้จะเริ่มเข้าไปอยู่ในเมือง ในรูปแบบที่เรียกว่า Urban Agriculture หรือ เกษตรกรรมในเมือง หรือแม้แต่ Vertical Farming ซึ่งเป็นการทำไร่ทำนาบนอาคารสูง ข้อดีของการเกษตรแบบนี้คือ การผลิตจะอยู่ใกล้กับการบริโภค ก่อให้เกิดการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หากเกษตรกรรมแบบนี้ถูกพัฒนาให้เข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบแรกได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบเชิงบวกมากมายมหาศาล พื้นที่เกษตรกรรมแบบกลางแจ้งจะถูกปล่อยกลับคืนให้เป็นของธรรมชาติ เกิดเป็นป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน มนุษย์จะถูกโยกย้ายจากสังคมชนบทให้เข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างตรงเป้า เพราะว่าเกษตรกรรมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยทั้งหมด มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกัน ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม
แม้ว่าในระยะยาว เกษตรกรรมจะดูดีมีอนาคต แต่ในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะปัจจุบัน การเกษตรของประเทศเราถูกรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้าน ทั้งในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจนยากจะคาดเดา ทั้งในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของดิน และ สภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นภาคส่วนที่มีการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง คนหนุ่มสาวสนใจมาทำการเกษตรน้อยลง สังคมเกษตรจึงเริ่มกลายมาเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานด่างด้าวก็มีไม่มากนักที่สนใจมาใช้แรงงานในการทำไร่ทำนา ทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะต้องเริ่มคิดถึงเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งผมมองว่าเทคโนโลยี 3 ประเภทนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้
(1) Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ความเป็นไปของสภาพแวดล้อมในไร่ และสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง ลม ฝน ความชื้นในดิน พายุที่กำลังจะเข้า การระบาดของแมลง การเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมในไร่ที่ถูกต้อง
(2) Operational Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในไร่นาทำได้อย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากข้อ (1) เช่น รถไถหยอดปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงความต้องการของพืช การระบาดของแมลง ซึ่งเก็บได้จากเซ็นเซอร์ตรวจวัดในข้อ (1) เป็นต้น
(3) Business Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรคาดเดาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในไร่นาของตนเอง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลในข้อ (1) และ (2) รวมไปถึงข้อมูลตลาด supply & demand ของสินค้าเกษตรในอนาคต
วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ วันหลังผมจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกครับ
Labels:
agritronics,
precision agriculture,
smart farm
22 พฤศจิกายน 2555
ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture
เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ประเทศในเอเชียของเรา ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก แต่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศในแถบนี้กลับยังล้าหลัง เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้นยกระดับการพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหาร มากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศเอเชียเริ่มประสบปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ทางการเกษตรเริ่มมีจำกัดขึ้นเรื่อยๆ การบริหารน้ำเพื่อการเกษตรขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามารุมเร้า ทำให้ประเทศทางเอเชียไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไปได้ ความสนใจในเรื่องของ Precision Agriculture เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดประชาคมวิจัยทางด้านนี้ในกลุ่มประเทศทางด้านนี้ครับ โดยนักวิจัยเหล่านี้ก็จะมาประชุมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการกันปีละครั้ง
ในปี ค.ศ. 2013 นี้นักวิจัยทางด้าน Precision Agriculture จึงได้มีดำริที่จะให้มีการจัดประชุมวิชาการประจำปีที่มีชื่อว่า ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ งานนี้ผมอยากไปมากๆ แต่คิดว่าอาจไม่ได้ไปเพราะคิดว่าจะไปประชุมอีกงานที่เกี่ยวกับจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดที่เกาหลีเหมือนกันในช่วงวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2556 ถ้าจะไปทั้ง 2 งานก็ต้องโต๋เต๋ อยู่แถวเกาหลีเกือบ 2 สัปดาห์ ดูท่าทางแล้วจะคิดถึงบ้านเสียก่อนหน่ะครับ
เนื้อหาของการประชุม ACPA 2013 ก็ได้แก่
Data collection and variability
Data processing and decision making support system
Site-specific crop and field management practices
Profitability, environmental effects of Precision Agriculture
Use of information technology (e.g., traceability)
Sensors and control systems
Education and on farm research
Precision horticulture and livestock management
Emerging technologies
02 กันยายน 2555
9th European Conference on Precision Agriculture
ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกอย่างไร มนุษยชาติต้องการการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีเกษตรครั้งใหญ่ ถ้าอยากจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกจำนวนมหึมานี้
เทคโนโลยีหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นความหวังของมนุษยชาติในการฝ่าวิกฤตด้านอาหาร ก็คือ เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และ สภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นา มีความแตกต่างกัน ในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ มีผลให้การเกิดผลผลิต แตกต่างกันได้ ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับ สภาพที่แตกต่างนั้น จะทำให้สามารถสร้างผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เกษตรแม่นยำสูงจึงเป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากร ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแล อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น การหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การไถพรวนดิน การรดน้ำ การคัดเลือกผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเกษตรแม่นยำสูงในโลกเราตอนนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีการจัดการประชุมทางด้านเกษตรแม่นยำสูงอย่างสม่ำเสมอ ในปีหน้า ค.ศ. 2013 นี้ ทางยุโรปจะมีการจัดการประชุมวิชาการที่มีชื่อว่า 9th European Conference on Precision Agriculture ณ เมือง Lleida แคว้นคาตาลันยา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 7 - 11 กรกฎาคม 2556 จริงๆ ก็ยังอีกนานครับ แต่เค้ามีกำหนดส่งบทคัดย่อในเวลาใกล้ๆ นี่เอง คือภายใน 30 กันยายน 2555
สำหรับหัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่
Soil and crop proximal sensors
Remote sensing applications in precision agriculture
Spatial variability and mapping
Variable-rate application equipment
GNSS, guidance systems and machinery
Robotics and new technologies
Management, modelling and decision support systems
Precision crop protection
Advances in precision fructiculture/ viticulture/ citriculture/ oliviculture and horticulture in general
Advances in precision irrigation
Experimental designs and data analyses
Economics and sustainability of precision agriculture
Emerging issues in precision agriculture (energy, life cycle analysis, carbon and water footprint, etc.)
Practical adoption of precision agriculture
Education and training in precision agriculture
Labels:
agritronics,
conference,
Europe,
precision agriculture,
smart farm
30 สิงหาคม 2555
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 1)
ไม่เป็นที่สงสัยกันอีกแล้วนะครับว่า Global Warming เกิดขึ้นจริงหรือไม่ คงเหลือคนจำนวนน้อยแล้วล่ะครับที่ยังไม่เชื่อเรื่องนี้ ซึ่งก็รวมไปถึงประธานาธิบดีบุชกับเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ข่าวร้ายก็คือว่าเราอาจจะไม่สามารถหยุดมันได้แล้วครับ หากยังทำอะไรกันแบบเล็กๆ ไม่เต็มที่ เช่น ลดการใช้น้ำมันหันไปใช้ Biofuel เพราะผ่านมา 10 ปีแล้วที่เรามี Kyoto Protocol แต่ปริมาณการปล่อย CO2 ก็ไม่ได้ลดลงเลย น้ำแข็งที่ขั้นโลกเหนือจะละลายจนไม่เหลือหลอในช่วงหน้าร้อนในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า แต่เดี๋ยวก่อน ......ยังครับ .......ยังมีหวังที่จะหยุดโลกร้อน แต่เราต้องทำอะไรแบบใหญ่ๆ หนักๆ นั่นก็คือใช้การวิศวกรรมโลก หรือ Geoengineering หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Planetary Engineering ซึ่งหากเราคิดจะทำกันจริงๆ ก็จะกลายเป็นอภิมหาโปรเจคต์เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กระทำโดยสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่มีโลกใบนี้ขึ้นมาเลยล่ะครับ
Geoengineering เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ ในอดีตแนวคิดของ Geoengineering เกิดขึ้นเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันจะไปตั้งรกรากในอวกาศ เช่น ดาวอังคาร ซึ่งมีการเสนอวิธีการต่างๆมากมายครับ เพื่อเปลี่ยนสภาพของดาวอังคารให้สามารถอยู่ได้ เช่น การสร้างพื้นผิวต่าง (Terraforming) การสร้างทะเลสาบ การปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอุณหภูมิของดาวเคราะห์ ซึ่งทำเพื่อให้เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย แล้วก็สร้างนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา (Ecopoiesis) นาซ่าได้แอบดำเนินโครงการวิจัยลับๆ เกี่ยวกับการทำ Geoengineering เพื่อสร้างโลกใหม่บนดาวอังคาร ทำให้ดาวอังคารกลายเป็นโลกของสิ่งมีชีวิตให้ได้ ฟังดูเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ใช่ไหมครับ .... แต่เดี๋ยวก่อนครับ .... ตอนนี้ดาวเคราะห์ที่อาจจะได้ทดสอบเทคโนโลยี Geoengineering นี้ไม่ใช่ดาวอังคารแล้วครับ แต่จะเป็นโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นี่เองครับ ..... เดิมพันคือการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของเราเลยทีเดียว วันหลังผมจะมาเล่าต่อนะครับ ......
Labels:
Climate Change,
crisis,
geoengineering
21 สิงหาคม 2555
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 2)
ต้องขอบคุณสตีฟ จ๊อปส์ ที่ทำให้มีสมาร์ทโฟนถือกำเนิดขึ้นในโลก ไม่เพียงแต่เท่านั้น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนได้มีส่วนทำให้เทคโนโลยีที่เคยถูกจัดให้เป็นยุทโธปกรณ์ขั้นสูง ซึ่งปกติมีใช้เฉพาะในกองทัพที่รวยที่สุดในโลก กลายมาเป็นของเล่นที่มีขายตามเว็บ เทคโนโลยีนั้นก็คือ อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) ซึ่งผมขอเรียกมันสั้นๆ ว่า drone นะครับ
Drone คืออากาศยานที่สามารถบินขึ้นบินลงเพื่อไปปฎิบัติงานตามภารกิจที่เราตั้งโปรแกรมไว้ drone เป็นชื่อทั่วๆ ไปสำหรับเรียกอากาศยานที่ไม่ต้องใช้นักบินควบคุม ดังนั้น เครื่องบินไร้คนขับอย่าง Global Hawk มูลค่า 4,000 ล้านบาท หรือ เครื่องบินขับเองได้ที่ทำด้วยโฟนของเด็กๆ ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าราคา 15,000 บาท ก็เรียกว่า drone เหมือนกัน อากาศยานทั้ง 2 แบบนี้ต่างทำหน้าที่คล้ายๆ กันคือ บินขึ้นไปบนอากาศ บินไปยังจุดที่ตั้งเอาไว้ ปฏิบัติงานที่รับมอบหมาย แล้วบินกลับ ทั้งคู่มีระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ (autopilots) มีกล้องความละเอียดสูง (แน่นอน Global Hawk มีกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่ามาก) และระบบสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดิน ถึงแม้เครื่องบินแบบแรกจะบินได้สูงเกือบ 20 กิโลเมตร และนานถึง 32 ชั่วโมง ในขณะที่แบบหลังบินได้สูงเพียง 100-200 เมตร และนานเพียงชั่วโมงเดียว แต่ด้วยราคาที่ห่างกับลิบลับ ทำให้ drone แบบที่สองกำลังจะครองโลก !!!
ที่ผมพูดว่าต้องขอบคุณสตีฟ จ๊อปส์ ก็เพราะการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ได้ทำให้เรื่องของสมองกลฝังตัว (embedded computing) มีขนาดที่เล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น กินพลังงานน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ drone ขนาดเล็ก มีความสามารถมากขึ้น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนยังทำให้เกิดการพัฒนาแบตเตอรีที่มีขนาดเบาอย่างลิเธียมพอลิเมอร์ ทำให้ drone ขนาดเล็กบินได้นานขึ้น การรวมเอาเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้าไปในสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็น GPS เซ็นเซอร์วัดความเฉื่อย กล้องวีดิโอขนาดเล็ก ทำให้เกิดการพัฒนาวงจรเซ็นเซอร์รวมที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อเอาไปใส่ใน drone ขนาดเล็ก เราก็จะได้ระบบบังคับการบินที่ทำงานได้ไม่แพ้ UAV ขนาดใหญ่ของกองทัพสหรัฐฯ เลยครับ ยิ่งสมาร์ทโฟนพัฒนาไปมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็น drone ขนาดเล็กพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ขนาดที่ว่านักเทคโนโลยีทางด้านนี้ ได้ลงความเห็นว่า drone จะเป็นเทคโนโลยีแรกในโลกที่อุตสากรรมของเล่น กับ อุตสาหกรรมกลาโหม ทำของออกมาแข่งกัน
เพราะตอนนี้ มีบริษัทเกิดใหม่มากมาย ที่เริ่มผลิต drone ขนาดเล็กและขนาดกลางออกมาขายแข่งกับทหาร ซึ่งความสามารถในการบินของ drone เหล่านี้สามารถเอาไปทำประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การกีฬา สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ ต่อต้านการก่อการร้าย หรือ แม้กระทั่งใช้แอบดูพฤติกรรมของคนรัก
แต่ที่ผมถูกใจมากที่สุดคือ การนำมาใช้ในทางเกษตร เพราะเจ้า drone เหล่านี้มีราคาไม่แพง เราสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้มันทำงานเป็นฝูง (swarm) เพื่อตรวจหาแมลง ทำแผนที่ผลผลิต เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อม ถ่ายรูปมุมสูง พ่นปุ๋ยและยา เป็นต้น
อีกไม่นาน เราจะเริ่มเห็นฝูง drone บินฉวัดเฉวียนเหนือไร่นาแล้วครับ ....
Labels:
agritronics,
robot farming,
smart farm,
UAV
16 สิงหาคม 2555
Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 11)
วันนี้ขอกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับแมลงสักหน่อยนะครับ เนื่องจากช่วงนี้ที่ห้องแล็ปมีการทำการทดลองเกี่ยวกับแมลงพอดี ช่วงนี้ก็เลยกลับมาอินเรื่องนี้สักนิดนึง
ในระยะหลังๆ นี้แมลงเป็นที่สนใจในทางวิศวกรรมศาสตร์มากครับ หน่วยงานให้ทุนวิจัยด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันในชื่อว่า DARPA ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ในการบังคับให้เจ้าแมลงมาทำงานเป็นทหารให้กองทัพสหรัฐฯ ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้ทยอยนำรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่ได้รับทุน มาเล่าสู่กันฟังไปพอสมควรแล้ว วันนี้ขอมาเล่าเกี่ยวกับประโยชน์ในการศึกษาวิธีการบินของแมลงกันหน่อยนะครับ เพราะความรู้ที่ได้จากการศึกษาว่าแมลงทำการบินอย่างไรนี้ จะมีประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องของการสร้างหุ่นยนต์บินได้ หรือ อากาศยานอื่นๆ รวมไปถึง แม้แต่รถยนต์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนได้เอง เป็นต้น
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีรายงานวิจัยในวารสาร Proceeding of the National Academy of Science (Andrew K. Dickerson, Peter G. Shankles, Nihar M. Madhavan, and David L. Hu, Mosquitoes survive raindrop collisions by virtue of their low mass, Proceeding of the National Academy of Science, doi:10.1073/pnas.1205446109) ซึ่งได้ไขข้อข้องใจที่มีมานานแล้ว เกี่ยวกับคำถามที่ว่า ทำไมยุงและแมลงบางชนิดสามารถบินลุยฝนได้โดยไม่เป็นอะไร ตัวผมเองก็เคยเอาน้ำจากฝักบัวสาดไปที่ยุง และที่น่าแปลกใจคือ หลายต่อหลายครั้ง ที่เจ้ายุงสามารถบินออกมาโดยไม่เป็นอะไรเลย อะไรทำให้มันคงกระพันชาตรี ทั้งๆ ที่น้ำฝนที่ตกลงมามีขนาดของมวลหนักกว่ามันถึง 50 เท่า และมีความเร็วกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็จะเหมือนการที่คนเราเดินฝ่ารถปิกอัพขนาด 3 ตันที่ตกลงมาจากท้องฟ้า นั่นเลยครับ
นักวิทยาศาสตร์พบว่า การที่ยุงมีน้ำหนักเบาแต่กลับมีกระดองที่แข็งแรง (exoskeleton หรือเปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายของแมลง) จะทำให้มันสามารถทนทานต่อเม็ดฝนได้ เมื่อฝนตกลงมาใส่ตัวมัน มันจะผ่อนตัวลงไปกับเม็ดฝน ทำให้พลังงานจลน์ของเม็ดฝนไม่ได้ถ่ายทอดไปสู่ตัวมัน จึงไม่เกิดการกระแทกที่ทำให้บาดเจ็บ จากนั้นในช่วงเวลาที่มันกำลังร่วงลงมากับเม็ดฝน มันจะค่อยๆ ผลักตัวเองบินออกมาจากเม็ดฝนให้ได้ อันตรายอย่างเดียวของมันก็คือ หากมันบินต่ำเกินไปแล้วถูกเม็ดฝน มันอาจจะบินออกมาไม่ทันหากเม็ดฝนพามันตกกระทบพื้น จากความรู้ที่ได้นี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะนำไปออกแบบอากาศยานขนาดจิ๋ว หรือ MAV ได้ (Micro-aerial Vehicle) ซึ่งปัจจุบัน หัวข้อวิจัยนี้กำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลก
นอกจากนั้นยังมีนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเดร็กเซล (Drexel University) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Natinal Science Foundation หรือ NSF)ได้ศึกษาหลักอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) หรือการไหลของอากาศผ่านปีกของแมลงเต่าทอง เพื่อทำให้แมลงสามารถยกตัวขึ้นได้ ซึ่งความรู้ที่ได้นี้จะช่วยในการสร้างอากาศยานในอนาคตที่สามารถลอยขึ้นและลงจอดได้แบบแมลง
แมลงเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการการบินที่น่าทึ่ง ครั้งหน้าที่คุณเห็นมันบินผ่านมา อย่าลืมลองสังเกตมันด้วยนะครับ แล้วคุณอาจจะค้นพบบางสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับมันก็ได้ .....
13 สิงหาคม 2555
Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 13)
บ่ายวันหนึ่งเมื่อประมาณ 2555 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี เข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ แล้วประทับ ณ แท่นบรรทมระหว่างต้นสาละคู่ เพื่อเตรียมเสด็จสู่มหาปรินิพพาน พระอานนท์ได้ทูลเชิญเสด็จเพื่อไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ แทนที่จะเป็นในป่าใกล้เมืองเล็กๆ เพื่อให้สมฐานะและพระเกียรติแก่พระศาสดาของโลก พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเ เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน"
ระยะหลังๆ มานี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา แต่อาจมีความรู้สึกนึกคิด จนถึงขั้นมีปัญญาสามารถแก้ปัญหาได้ นานมาแล้ว ที่วิทยาศาสตร์บอกว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทื่อๆ นอกจากจะเคลื่อนที่ไปมาไหนไม่ได้แล้ว ยังไร้ซึ่งประสาทสัมผัส และระบบรับรู้ ไม่มีความรู้สึก อารมณ์ และความฉลาด แต่ผลการวิจัยใหม่ๆ ที่เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ กลับชี้ให้เห็นว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิด
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีรายงานวิจัยที่เปิดเผยเกี่ยวกับความสามารถในการฝึกได้ของพืชครับ ซึ่งสิ่งที่ทำให้พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฝึกฝนได้ก็คือ "ความจำ" นั่นเอง รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา-ลินคอร์น (University of Nebraska-Lincoln) ประเทศสหรัฐอเมริกา (รายละเอียดเพื่อการอ้างอิงคือ Yong Ding, Michael Fromm, Zoya Avramova. Multiple exposures to drought 'train' transcriptional responses in Arabidopsis. Nature Communications, 2012; 3: 740 DOI: 10.1038/ncomms1732) ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่าพืชมีความสามารถในการจดจำคืนวันแห่งความแห้งแล้ง และมันสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อปรับตัว ทำให้มันมีความสามารถในการที่จะอดทน และเอาตัวรอดจากความแห้งแล้งที่อาจจะผ่านเข้ามาอีกในอนาคต
นักวิจัยได้เปรียบเทียบระหว่างพืชที่ถูกฝึกให้เจอภัยแล้งจำลองหลายๆ ครั้ง กับพืชที่ไม่เคยฝึกเลย พบว่าพืชที่เคยถูกฝึก เมื่อเจอกับภัยแล้ง มันจะจดจำสภาวะที่มันเคยเจอได้ มันจะปรับตัวได้เร็วกว่า ทำให้มันไม่สูญเสียน้ำได้ง่าย จากการศึกษากลไกการทำงานในระดับโมเลกุล ทำให้พบว่า ปฏิกริยาเคมีต่างๆ ในพืชที่ถูกฝึกเอาไว้ เมื่อมันเจอภัยแล้งของจริง มันจะมีสภาพคล้ายๆ กับช่วงที่มันได้ฝึก องค์ความรู้ที่ได้นี้ อาจจะทำให้สักวันหนึ่ง เราสามารถที่จะทำวิศวกรรมเพื่อให้ได้พืชที่ต้องการน้ำน้อย และสามารถให้ผลผลิตได้แม้จะประสบกับสภาวะภัยแล้งน้ำก็ตาม อย่างไรก็ตาม นี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เรายังต้องแสวงหาความรู้อีกมากว่าความสามารถของพืชมีอะไรอีกบ้าง
ในตอนบ่ายของวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อประมาณ 2555 ปีที่แล้วนั้นเอง เหนือขึ้นไปจากแท่นบรรทมของพระพุทธองค์ ต้นสาละทั้งคู่ได้ออกดอกสะพรั่งเต็มต้น โปรยดอกตกถูกพระพุทธสรีระประหนึ่งจะถวายบูชาแด่พระพุทธองค์ ซึ่งเป็นการผิดปรกติ เพราะเวลานั้นไม่ใช่เวลาที่ต้นสาละจะออกดอก พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสต่อพระอานนท์ว่า "ดูก่อน อานนท์ เราสรรเสริญการบูชาเช่นนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นการบูชาอันประเสริฐ เป็นการดีถ้าหากพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยให้สมควรแก่ธรรมที่เราได้ตรัสไว้แล้วนั้น เราสรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด"
Labels:
natural intelligence,
plant communication
12 สิงหาคม 2555
Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 12)
เรื่องของภูมิปัญญาในพืช หรือ Plant Intelligence ผ่านมาถึงตอนที่ 12 แล้วนะครับ เรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ และผมเชื่อว่า วิทยาศาสตร์ในทศวรรษต่อไป จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพืชออกมาเรื่อยๆ เราจะได้พบกับความรู้ใหม่ ความน่าประหลาดใจเกี่ยวกับพืชอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และความรู้นี้แหล่ะครับ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายๆอย่าง ทั้งทางด้าน อาหาร เกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังจะมีประโยชน์ในด้านเทคโนโลยีบางอย่างที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อน
มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Plant Cell (รายละเอียดเต็มคือ Magdalena Szechyska-Hebda, Jerzy Kruk, Magdalena Górecka, Barbara Karpiska and Stanisaw Karpiski, "Evidence for Light Wavelength-Specific Photoelectrophysiological Signaling and Memory of Excess Light Episodes in Arabidopsis", Plant Cell (2010), DOI:10.1105/tpc.109.069302) ที่เปิดเผยว่าพืชก็มีระบบประสาทเหมือนกับสัตว์ โดยพืขจะอาศัยการส่งข้อมูลผ่านเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า bundle sheath cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่หุ้มอยู่รอบขอบผนังท่อลำเลียงอาหารของพืช ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าเซลล์ชนิดนี้ทำหน้าที่ตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ ไม่เคยคิดว่าเซลล์เหล่านี้จะทำหน้าที่พิเศษขึ้นมาอีกอย่าง นั่นก็คือ เป็นเซลล์ที่ใช้ส่งสัญญาณ/ข้อมูล ไปทั่วต้นพืช เฉกเช่นเซลล์ประสาทของสัตว์
นักวิจัยได้ทดลองฉายแสงไปที่ใบของต้นพืชทดลองเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น แสงที่ความยาวคลื่นดังกล่าว สามารถใช้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืชได้ ซึ่งพืชจะเข้าใจว่าตอนนี้ กำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่อาจมีศัตรูพืชแล้ว นักวิจัยพบว่าหลังจากส่องแสงไปที่ใบพืชเพียงแค่ใบเดียว แล้วตรวจวัดภูมิคุ้มกันของพืชทั่วลำต้น ผลก็คือ พบว่าพืชได้เปิดใช้ระบบภูมิคุ้มกันทั่วลำต้นแล้ว นั่นแสดงว่าพืชมีการส่งข้อมูลจากใบไม้ที่ถูกแสงกระตุ้น ไปยังใบไม้ใบอื่น และเซลล์อื่นๆ ทั่วทั้งลำต้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าน่าจะผ่านเซลล์ bundle sheath cell นี้เอง เนื่องจากสามารถตรวจพบสัญญาณไฟฟ้าที่เซลล์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นคลื่นสัญญาณคล้ายกับเซลล์ประสาทของสัตว์
นักวิจัยกำลังสงสัยว่าพืชอาจมีการเรียนรู้และจดจำ ลักษณะและความจำเพาะของฤดูกาลต่างๆ เมื่อข้อมูลสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป มันจะสามารถตรวจพบและเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ...
Labels:
natural intelligence,
plant communication
04 สิงหาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 6)
ตอนเด็กๆ ผมเคยครุ่นคิดว่า การที่คนเรารับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นการไปคร่าชีวิตผู้อื่น เพื่อที่จะนำเนื้อหนังของเขามาดำรงชีพนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นจะต้องเจ็บปวดทรมานก่อนสิ้นลม โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างวัว ผมเคยเห็นมันร้องไห้กับตาตนเอง มันทุรนทุรายเพื่อหนีไม่ให้คนมาจับมันขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์
นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยการทรมานชีวิตสัตว์ กำลังขวนขวายทำวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) ซึ่งจะเป็นการได้เนื้อสัตว์มาจากการเพาะเลี้ยง เฉกเช่นเดียวกับการปลูกพืชให้ได้ผลผลิต การปลูกเนื้อสัตว์สามารถทำได้ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่มีความสามารถในการยืด-หดตัว ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง และมีชั้นไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน องค์ประกอบง่ายๆ เหล่านี้ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า อีกไม่นาน เราน่าจะปลูกเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในเชิงพาณิชย์ได้
การปลูกเซลล์กล้ามเนื้อจะทำในของเหลวที่มีสารอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส เกลือแร่ และ ซีรั่มซึ่งเลียนแบบสารละลายของเลือด นักวิจัยต้องใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อเหล่านั้นเติบโต เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ที่ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันตอนนี้ คือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการใช้ฮอร์โมน ศาสตราจารย์ มาร์ค โพสต์ (Professor Mark Post) แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอน์โฮเฟน (Eindhoven University of Technology) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดิมท่านเป็นหมอทางด้านหลอดเลือดหัวใจ (Angiogenesis) แล้วพลิกผันมาเป็นนักวิจัยชั้นนำทางด้านการปลูกสัตว์ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งคอนซอร์เทียมขึ้นมา เพื่อจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อไก่กำลังเป็นที่สนใจในสหภาพยุโรป ศาสตราจารย์ โพสต์ ท่านได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าไม่น่าเกิน 10 ปี เราจะสามารถผลิตเนื้อไก่แบบนักเก็ตส์ ได้"
หากคำกล่าวของศาสตราจารย์ โพสต์ เป็นจริง อีก 10 ปี เราจะเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป เนื้อไก่จริงจะเริ่มถูกกีดกัน ด้วยข้อหาทรมานสัตว์ ไก่ส่งออกของไทยที่มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี (พ.ศ. 2551) คงจะหาอนาคตไม่เจอ ...........
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 6)
ตอนเด็กๆ ผมเคยครุ่นคิดว่า การที่คนเรารับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นการไปคร่าชีวิตผู้อื่น เพื่อที่จะนำเนื้อหนังของเขามาดำรงชีพนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นจะต้องเจ็บปวดทรมานก่อนสิ้นลม โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างวัว ผมเคยเห็นมันร้องไห้กับตาตนเอง มันทุรนทุรายเพื่อหนีไม่ให้คนมาจับมันขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์
นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยการทรมานชีวิตสัตว์ กำลังขวนขวายทำวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) ซึ่งจะเป็นการได้เนื้อสัตว์มาจากการเพาะเลี้ยง เฉกเช่นเดียวกับการปลูกพืชให้ได้ผลผลิต การปลูกเนื้อสัตว์สามารถทำได้ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่มีความสามารถในการยืด-หดตัว ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง และมีชั้นไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน องค์ประกอบง่ายๆ เหล่านี้ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า อีกไม่นาน เราน่าจะปลูกเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในเชิงพาณิชย์ได้
การปลูกเซลล์กล้ามเนื้อจะทำในของเหลวที่มีสารอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส เกลือแร่ และ ซีรั่มซึ่งเลียนแบบสารละลายของเลือด นักวิจัยต้องใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อเหล่านั้นเติบโต เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ที่ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันตอนนี้ คือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการใช้ฮอร์โมน ศาสตราจารย์ มาร์ค โพสต์ (Professor Mark Post) แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอน์โฮเฟน (Eindhoven University of Technology) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดิมท่านเป็นหมอทางด้านหลอดเลือดหัวใจ (Angiogenesis) แล้วพลิกผันมาเป็นนักวิจัยชั้นนำทางด้านการปลูกสัตว์ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งคอนซอร์เทียมขึ้นมา เพื่อจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อไก่กำลังเป็นที่สนใจในสหภาพยุโรป ศาสตราจารย์ โพสต์ ท่านได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าไม่น่าเกิน 10 ปี เราจะสามารถผลิตเนื้อไก่แบบนักเก็ตส์ ได้"
หากคำกล่าวของศาสตราจารย์ โพสต์ เป็นจริง อีก 10 ปี เราจะเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป เนื้อไก่จริงจะเริ่มถูกกีดกัน ด้วยข้อหาทรมานสัตว์ ไก่ส่งออกของไทยที่มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี (พ.ศ. 2551) คงจะหาอนาคตไม่เจอ ...........
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
03 สิงหาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 5)
การที่คนเราหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ (จริงๆ) กันน้อยลง แล้วหันไปทานเนื้อสัตว์ปลูก (in vitro meat) แทนในอนาคต นอกจากจะเป็นเรื่องดีในแง่ของความเป็นสัตว์ประเสริฐของมนุษย์เรา ที่จะได้เผื่อแผ่ความเมตตากรุณาให้แก่สัตว์อื่น จริงๆ แล้ว การบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง นอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราแล้ว มันยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของโลกด้วยครับ
นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า วัวตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง ผายลมเอาก๊าซมีเธนออกมาปีละ 180 กิโลกรัม ซึ่งก๊าซมีเธนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลกได้ดีกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า การผลิตเนื้อวัวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนักมังสวิรัติแล้ว มันใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าเป็น 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า แถมยังใช้สารเคมีมากกว่าอีก 6 เท่า จากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN's FAO) พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งหมด 18% ซึ่งมากกว่ารถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน รวมกันเสียอีก ดังนั้น เพียงแค่เราเปลี่ยนจากทานเนื้อ 1 กิโลกรัม มาเป็นเต้าหู้ 1 กิโลกรัม เราจะช่วยโลกนี้ได้มากแค่ไหน
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ลองชั่งใจดูนะครับระหว่างการกินเนื้อวัว เนื้อหมู หรือ เนื้อไก่ อะไรจะดีกว่ากันสำหรับโลกใบนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยพบว่า การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมนั้นใช้พื้นที่มากกว่าการผลิตเนื้อไก่ถึง 7 เท่า และมากกว่าเนื้อหมู 15 เท่า ดังนั้นผู้ที่ถือสัตยาธิษฐานกับพระโพธิสัตว์กวนอิม ว่าจะไม่รับประทานเนื้อวัว จึงถือเป็นการลดโลกร้อนอย่างอัตโนมัติครับ ........
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
02 สิงหาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 4)
ช่วงที่ผมไม่สบาย ผมมีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่อยากทานเนื้อสัตว์เลย อยากกินแต่ผักผลไม้ นี่ก็เป็นสิ่งบ่งชี้หนึ่งที่แสดงว่า ผักและผลไม้ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการมากกว่าเนื้อสัตว์ เวลาคนเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องการฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เลย ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แถมกลับพบว่ามีสุขภาพดีกว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์เสียอีก แต่ถ้าเรายังไม่อาจที่จะเลิกทานเนื้อสัตว์ได้ มีทางเลือกอื่นๆ ไหม ที่จะเป็นการเบียดเบียนชีวิตอื่นให้น้อยลง ???
ในช่วงกลางปี 2008 องค์กรคุ้มครองสิทธิสัตว์ที่เรียกตัวเองว่า People for the Ethical Treatment of Animals หรือ Peta ได้ออกมาประกาศจะให้รางวัลมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่นักวิจัยที่สามารถพัฒนากระบวนการปลูกเนื้อสัตว์ หรือ In Vitro Meat ที่สามารถไปถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีเงื่อนไขก็คือ
(1) เนื้อสัตว์ที่ปลูกได้ต้องเป็นเนื้อไก่ ซึ่งจะต้องมีรสชาติและรูปกาย (Texture) ไม่ต่างจากเนื้อไก่ของจริง โดยคนที่นิยมทานเนื้อสัตว์ กับ คนที่เป็นมังสวิรัติ ต้องทานแล้วถูกปาก
(2) เนื้อไก่ที่ปลูกขึ้นมานี้ ต้องผลิตในจำนวนที่มากพอจะขายได้ ด้วยราคาที่แข่งขันได้กับเนื้อไก่ของจริง (ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทย)
(3) ขณะนี้ทาง Peta ได้ทำการฝึกนักชิมประมาณ 10 คน เตรียมความพร้อมเพื่อจะชิมเนื้อไก่ที่เกิดจากการปลูก โดยจะใช้มาตรฐานการชิมเนื้อไก่ที่ได้รับการยอมรับ
(2) เนื้อไก่ที่ปลูกขึ้นมานี้ ต้องผลิตในจำนวนที่มากพอจะขายได้ ด้วยราคาที่แข่งขันได้กับเนื้อไก่ของจริง (ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทย)
(3) ขณะนี้ทาง Peta ได้ทำการฝึกนักชิมประมาณ 10 คน เตรียมความพร้อมเพื่อจะชิมเนื้อไก่ที่เกิดจากการปลูก โดยจะใช้มาตรฐานการชิมเนื้อไก่ที่ได้รับการยอมรับ
ทาง Peta ได้กำหนด Deadline เอาไว้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2012 ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการกำหนดวันที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีไปสักนิด เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ความก้าวหน้าในศาสตร์ของการปลูกสัตว์ในขณะนี้ ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนนักวิจัยที่เข้ามาทำงานในด้านนี้น้อยมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เมื่อพิจารณาขนาดของอุตสากรรมนี้ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด
แน่นอนครับ หากการปลูกสัตว์หรือ In vitro meat ทำได้เมื่อไหร่ ประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับต้นๆ ของโลกอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะทางอียู จะกีดกันเนื้อไก่แท้ของเรา และโปรโมตให้เนื้อไก่ที่ผลิตจากการปลูกให้ขายดิบขายดีอย่างแน่นอน .....
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
31 กรกฎาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 3)
ใกล้เข้าพรรษาแล้ว หลายๆท่านคงคิดถึงเรื่องทำบุญกัน ผมมีเพื่อนหลายคนครับที่พยายามจะงดดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ในระหว่างเข้าพรรษา ช่วงนี้บรรยากาศออกแนวพุทธ พุทธ ผมเลยขอคุยต่อในเรื่องของแนวโน้มใหม่ ที่เราอาจจะมีโอกาสทำบาปน้อยลงจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงเรื่องการ "ปลูกเนื้อสัตว์" หรือ in vitro meat ซึ่งจะทำให้เราปลูกสัตว์ได้เหมือนปลูกพืช ซึ่งเราจะสามารถปลูกน่องไก่ ตับหมู เนื้อสันนอก เนื้อสันใน เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ผมเคยพูดถึงเรื่องการทำไร่ในอาคารสูง ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นอนาคตของเกษตรกรรม เพราะการผลิตพืชอาหาร จะย้ายจากชนบทมาสู่เมือง เป็นการนำสถานที่ผลิตมาอยู่ใจกลางสถานที่บริโภค เขาวิจัยออกมาแล้วครับว่า การอยู่ในเมืองมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและทรัพยาการมากกว่าการกระจายกันอยู่ในชนบท ถ้ามนุษย์ทั้งหมดย้ายเข้ามาอยู่รวมกันในเมือง เราสามารถคืนพื้นที่การเกษตรกลับสู่ธรรมชาติ ปล่อยให้ป่ากลับสู่สภาพเดิมของมัน การทำไร่ในอาคารสูงสามารถที่จะทำในจุดที่มีการบริโภค เช่น บนอาคารมีการผลิตพืชผักแล้วขายในซูเปอร์มาเก็ตชั้นล่างได้เลย หากนำเทคโนโลยีการทำไร่ในอาคารสูง มารวมกับเทคโนโลยีปลูกสัตว์ เราก็จะได้ระบบเกษตรกรรมในเมือง (Urban Agriculture) ที่สมบูรณ์แบบครับ มีทั้งการผลิตพืชและสัตว์ในเมือง เมืองจะเป็น Sustainable City ไม่ต้องพึ่งพาชนบทอีกต่อไป
อีกหน่อย วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา จะไม่มีรถติดแล้วครับ เพราะไม่ต้องมีใครกลับบ้านไปทำบุญแล้ว ในเมื่อชนบทไม่มีคนอยู่แล้ว ทุกที่ที่ไม่ใช่เมืองจะเป็นป่า และ อุทยานแห่งชาติ จะว่าไปแล้วในสมัยก่อน การตั้งอาณาจักรก็จะรวมกันอยู่ในชุมชนใหญ่ๆ เป็นนครและหัวเมืองเท่านั้น ไม่มีใครอยู่ในชนบทหรอกครับ เพิ่งจะไม่นานมานี้ ที่การทำเกษตรเพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้นทำให้มนุษย์ไปบุกป่า และอาศัยอยู่ในชนบทมากขึ้น แต่ในอนาคตเราจะเลิกอยู่ในชนบท แล้วกลับมารวมกันอยู่เป็นเมืองใหญ่ เหมือนเดิมอีกครั้ง ...... ผมฝันถึงวันนั้นครับ .....
(ภาพบน - วัวเป็นสัตว์ที่น่ารักไม่ต่างอะไรจากหมีแพนด้า แต่เนื้อของมันก็อร่อย .... เมื่อไหร่เราจะเลิกเบียดเบียนพวกมันได้เสียที .....)
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
24 กรกฎาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 2)
เหตุผลหนึ่งในการที่คนเราทานมังสวิรัติ ก็เพื่อจะเลิกเบียดเบียนชีวิตสัตว์ที่ต้องตกเป็นอาหารให้แก่มนุษย์เรา สัตว์เหล่านั้นไม่เพียงแต่ต้องเจ็บปวด ณ เวลาที่โดนฆ่าเพื่อนำมาทำอาหารเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์แบบโรงเรือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังเป็นการทรมานพวกมันตั้งแต่เกิดจนตาย ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ขนาด 25 x 100 เมตร มีไก่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหนาแน่นนับหมื่นตัว หมูก็อยู่อย่างแออัดไม่แพ้กัน สัตว์เหล่านี้ไม่เคยได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน มันตื่นขึ้นมากินอาหารที่ไหลผ่านมาด้วยระบบอัตโนมัติ ขับถ่ายแล้วก็นอน รอวันที่จะถูกนำไปประหาร
พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สัมมาอาชีวะก็เป็นมรรคข้อหนึ่ง นั่นคือ การมีอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างที่ทำกันในปัจจุบันเป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ยังต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จึงอาจจะไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่สมบูรณ์ แต่ในอนาคตการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะเป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเราจะไม่เลี้ยงสัตว์ แต่จะใช้การ "ปลูกสัตว์" แทนครับ
ในต่างประเทศได้มีการก่อตั้งองค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า In Vitro Meat Consortium โดยจะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ต่อไป เราจะได้ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาทำอาหาร แต่เราจะใช้การปลูกเนื้อเยื่อ โดยการนำเซลล์กล้ามเนื้อของสัตว์ที่เราอยากกินมาเลี้ยง ด้วยการป้อนสารโปรตีนเข้าไป เซลล์ที่จะใช้เริ่มกระบวนการก็มักจะเป็นสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะต้องทำให้มีระบบเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์เหล่านี้ เพื่อให้เซลล์มีการเติบโตเสมือนมันอยู่ในสัตว์จริงๆ ซึ่งก็มีคนพยายามจดสิทธิบัตรในเรื่องนี้แล้วด้วยครับ
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
21 กรกฎาคม 2555
The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 1)
จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมเคยสงสัย และถามผู้ใหญ่ว่าทำไมคนเราถึงต้องกินสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ทำไมคนเราถึงต้องพรากชีวิตอื่นเพื่อเป็นอาหารให้ตัวเองอยู่รอด ทำไมเรากินหญ้าแบบวัวไม่ได้ เวลาผมเดินผ่านร้านข้าวหน้าเป็ดหรือข้าวมันไก่ เห็นเขาเอาเป็ดไก่ทั้งตัวมาแขวนเอาหัวลง ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่ถ้ามีสิ่งมีชีวิตที่เจริญกว่าพวกเรา เช่น มนุษย์ต่างดาว มาบุกยึดโลก มนุษย์ต่างดาวพวกนั้นอาจจะกินพวกเราเป็นอาหาร แล้วก็เอาพวกเรามาแขวนโชว์หน้าร้านอาหารแบบนี้บ้าง หรือ เราอาจจะโดนจับใส่ในเข่งแล้วมีมนุษย์ต่างดาวมาชี้ว่าวันนี้จะเอาคนไหนไปกินเป็นอาหารดี ......
ในระยะหลังๆ ได้เริ่มมีความสนใจที่จะผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ (จะได้ไม่ต้องฆ่าสัตว์) หรือหากต้องฆ่าสัตว์ก็ขอให้สัตว์ไม่ทรมาน ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น กันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ จะว่าไปแล้วระบบปศุสัตว์หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันมีข้อเสียหลายอย่างครับ เช่น (1) การเลี้ยงสัตว์ทำในคอกหรือโรงเรือนแออัด ทำให้สัตว์ทรมาน (2) มีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะสัตว์อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด (3) มีการใช้ยาปฏิชีวนะค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องการให้เกิดโรคในข้อ 2 ยาพวกนั้นเหลือมาให้พวกเรานี่แหล่ะครับ รับประทานกัน (4) ฟาร์มเหล่านี้สร้างมลภาวะทางกลิ่นต่อชุมชนอาศัยที่อยู่ใกล้เคียง
ก่อนหน้านี้ ผมได้ออกไปปฏิบัติงานวิจัยภาคสนามที่ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ฟาร์มแห่งนี้เริ่มมีปัญหากับชุมชนรอบข้างฟาร์ม เนื่องมาจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเรื่องของกลิ่นขี้หมู ทางฟาร์มต้องการให้นำ Electronic Nose ไปใช้ศึกษาการลดกลิ่นขี้หมูในฟาร์ม เนื่องจากเราเคยมีผลการทดลองวัดกลิ่นขี้หมูจากฟาร์มหมูที่ จ. ปราจีนบุรีมาก่อน ซึ่งมีผลการทดลองที่ค่อนข้างน่าพอใจว่า Electronic Nose น่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัด "การเหม็น" ของกลิ่นขี้หมูได้ เนื่องจากเรื่องของกลิ่นขี้หมูนี้ คนที่บอกว่าเหม็น อีกคนอาจบอกว่า "พอทนได้" ก็ได้ ดังนั้นเวลาจะเจรจาความกันมันเลยไม่เคยลงตัวเสียที
โดยปกติ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์บก ประเภท หมู เป็ด ไก่ นัก ชอบกินอาหารทะเล โดยเฉพาะปลา มากกว่าครับ การที่ผมได้ไปเห็นเนื้อหมูจากแหล่งกำเนิด คือ ฟาร์มหมู เลยยิ่งทำให้ผมไม่อยากกินหมูเข้าไปใหญ่ มานั่งนึกดูว่า เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต เราสามารถที่จะ "ปลูก" เนื้อสัตว์ขึ้นมาเหมือนกับเราปลูกพืช ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อครับว่า เทคโนโลยีในการปลูกสัตว์อาจเป็นอนาคตของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็ได้ครับ
Labels:
animal farm,
chicken,
cow,
food crisis,
pig,
trend
20 กรกฎาคม 2555
Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 11)
เรื่องของพืช เป็นอะไรที่วิทยาศาสตร์ในยุคนี้เริ่มกลับมาค้นหาเชิงลึก ดังที่ผมชอบที่จะนำเรื่องความฉลาดของพืชมาเล่าให้ท่านฟังบ่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ว่าพืชมี "ปัญญา" รู้จักแก้ปัญหา มันสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ มันมีระบบสังคม แค่นี้สำหรับบางคนก็แปลกใจแล้วครับ ว่าพืชคุยกันสื่อสารกันได้ด้วยเหรอ แล้วถ้าผมจะบอกท่านผู้อ่านต่อไปอีกว่า พืชก็สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยนะ ท่านผู้อ่านคงจะยิ่งประหลาดใจ หาว่าผมพูดเล่น ....
ท่านผู้อ่านที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Avatar จะสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยากครับ เราจะเห็นว่าชาวนาวีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้ชีวิตแอบอิงกับต้นไม้ ตั้งแต่การอยู่อาศัยเป็นนิคมบนต้นไม้ใหญ่ อาหารการกิน ยารักษาโรค แม้แต่การเลือกคู่ครอง ยังต้องไปแสดงบทรักใต้ต้นไม้ที่เป็นจิตวิญญาณของชนเผ่าที่มีชื่อว่า Eywa ต้นไม้ต้นนี้มีรากอากาศ ที่มีปลายประสาทมากมาย ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมต่อกับปลายประสาทของชนเผ่า Navi ได้ ชนเผ่านี้จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต้นไม้ต้นนี้ได้ แม้กระทั่งหากมีใครต้องหมดอายุขัยที่จะต้องตายไป ร่างของเขานั้นจะถูกนำไปไว้ใต้ต้นไม้นี้ เพื่อให้ปลายประสาทของต้นไม้มาต่อเชื่อมกับสมองของคนที่จะตาย เพื่อที่ข้อมูล ความรู้ ปัญญาต่างๆ ของคนผู้นั้นจะถูกถ่ายเทไปที่ต้นไม้ องค์ความรู้ที่สะสมมาของผู้ที่จากไปก็จะไม่สูญหายไปไหน แค่นี้ยังไม่พอครับ .... ต้นไม้ต้นนี้ยังเชื่อมกับต้นไม้อื่นๆ ผ่านปลายประสาทที่ราก โยงใยกันเป็นเครือข่ายที่ไม่รู้จบ ทำให้ต้นไม้ทั้งหมดของดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า แพนดอรา นี้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายประมวลผลที่ซับซ้อนมากครับ
แล้วตอนหน้า ผมจะนำรายงานการวิจัยฉบับหนึ่ง ที่ค้นพบว่า พันธุกรรมของมนุษย์ มีส่วนเชื่่อมโยงกับต้นไม้ เหมือนกับว่า เรากับต้นไม้ ก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากครับ ....
Labels:
natural intelligence,
plant communication
17 กรกฎาคม 2555
Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 10)
เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย มิให้พระภิกษุสงฆ์ตัดถอนต้นไม้โดยไม่มีเหตุอันควร ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ใช้ต้นไม้เป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และปรินิพพาน
นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจความน่าทึ่งของต้นไม้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ที่ผ่านมา ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนธรรมดา ไม่มีเรื่องของความฉลาดเลย แต่หลักฐานใหม่ๆ กลับปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต้นไม้อาจมีระบบสื่อสาร และระบบทางสังคม ที่ใช้ช่องทางที่แตกต่างจากพวกเราอย่างสิ้นเชิง ดังที่ผมได้นำมาเล่าให้ฟังในบทความเป็นตอนๆ ก่อนหน้านี้
ความน่าทึ่งเกี่ยวกับพืชในตอนนี้ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ฟังก็คือ "ต้นสน" ซึ่งเป็นพืชที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 300 ล้านปี มันผ่านช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนตัวของทวีปเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว จากนั้นได้ผ่านมาอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ จนกระทั่งเกิดการชนของอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด มันก็ยังอยู่รอดมาได้ สนเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วโลก เฉพาะในแคว้นแยมแลนด์ (Jamtland) ของสวีเดนที่เดียว ก็มีมวลรวมของต้นสนมากกว่าน้ำหนักของมนุษย์รวมกันทั้งโลกอีกครับ
สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งของสนก็คือ มันมีดีเอ็นเอ (DNA) ยาวกว่ามนุษย์ถึง 7 เท่า ซึ่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าในโครโมโซม 12 คู่ที่เก็บดีเอ็นเอเหล่านั้น มียีนอยู่กี่ตัว อาจจะเพราะด้วยขนาดอันมหึมาของรหัสพันธุกรรมของมัน จึงยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มไหนอยากจะไขปริศนานี้ เพราะอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับความรู้ในเรื่องนี้
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะให้ทุน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของสน ทั้งนี้เพราะ สน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของสวีเดน เปรียบเช่น ข้าว ของเมืองไทยเราเลยครับ ศาสตราจารย์โอเว นิลสัน (Professor Ove Nilsson) ซึ่งเป็นประธานของโครงการนี้ได้กล่าวว่า "การมีแผนที่พันธุกรรมอย่างสมบูรณ์ของต้นสน จะปฏิวัติงานวิจัยเกี่ยวกับสนของประเทศสวีเดนเลยเชียวครับ และมันจะทำให้ต่อไปภายภาคหน้า เราจะนำต้นสนมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ผมเคยเขียนเรื่อง นาโนวนศาสตร์ (Nanoforestry) และเคยพูดไว้ว่า ต้นไม้กำลังจะกลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ที่จะมาแทนปิโตรเคมีในอนาคตครับ .....
Labels:
natural intelligence,
plant communication
16 กรกฎาคม 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 5)
ช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหารได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก อย่างชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย หลายๆ คนพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในคณะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า เหตุผลของการ "แพงทั้งแผ่นดิน" นั้นเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการค้ากำไรเกินควรของบริษัท ปตท. มานานแล้ว ได้ออกมาประณามบริษัทนี้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ปตท. เป็นสาเหตุทำให้ข้าวของแพง เพราะทำให้ต้นทุนพลังงานแพง
เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งเวลานั้นมีการคาดการณ์กันว่าราคาของอาหารจะถีบตัวสูงขึ้น และประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางด้านอาหาร อาจจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารก็ได้ในอนาคต เนื่องจากศักยภาพในการผลิตอาหารที่ลดลงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ อาหารได้กลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่กองทุนข้ามชาติ ให้ความสนใจเพื่อปั่นราคาทำกำไรแทนน้ำมัน ทำให้วิกฤติที่กำลังกลายเป็นโอกาสของคนไม่มีกลุ่ม อาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ลามสร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งโลก
ก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกว่า ประเทศที่ส่งออกพลังงานและเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะต้องการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารมากขึ้น ประเทศในตะวันออกกลางกำลังขะมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชในสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ในขณะที่ประเทศยุโรปกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการตื่นตัวครั้งใหญ่ ถึงขั้นจะปฏิรูประบบอาหารกันขนานใหญ่เลยครับ นายแฟรงค์ ดี ลูคัส (Frank D. Lucas) ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติ (2012 Farm Bill) ของรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ผลงานของคณะกรรมาธิการด้านเกษตร รวมไปถึงการร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จะกระทบวิถีชีวิตของชาวอเมริกันทุกคนเลยล่ะครับ เราจะสร้างความมั่นใจให้ได้ ว่าเกษตรกรอเมริกันจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พวกเขาต้องการ ในการผลิตอาหารแบบยั่งยืน โดยเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เทียบเท่ากับการป้องกันประเทศนี้"
เป็นที่รู้กันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบของธุรกิจเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่เน้นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ที่เน้นการใช้เทคโนโยี เครื่องจักรกล สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบริษัททางด้านเกษตรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซีพี เบทาโกร พยายามจะนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศของเราซึ่งเป็นการเกษตรแบบครอบครัว ที่เน้นการทำกินในพื้นที่เล็กๆ แบบพอเพียง มาเป็นเกษตรอุตสากรรม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกษตรแบบอุตสาหกรรมได้ตกเป็นจำเลย เป็นตัวการในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายแหล่งน้ำและผืนป่า ทำให้ในระยะหลังๆ มานี้ ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปการเกษตรเสียใหม่ เพื่อหวนคืนกลับมาสู่เกษตรแบบพอเพียง ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลง มีครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำมาหากินแบบวิถีเกษตรกรมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะหยุดความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม และทำให้ระบบผลิตอาหารมีความมั่นคงมากขึ้น
ร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2012 นี้ จะเน้นวิถีเกษตรกรมากขึ้น โดยส่งเสริมเกษตรกรรมแบบครอบครัว เกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบประณีต ที่เน้นความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นหลัก เกษตรกรเจ้าเล็กๆ จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้เงินงู้ดอกเบี้ยต่ำ ได้ค่าชดเชยต่างๆ เพื่อคืนที่ดินบางส่วนให้กลับสู่ธรรมชาติ ป่าชุมชนจะได้รับการรื้อฟื้นเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว คละแซมไปกับพื้นที่เกษตรกรรม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าบางชนิดที่อาจปรับตัวอยู่กับชุมชนเกษตรได้ กฏหมายฉบับนี้จะสนับสนุนให้มีการนำงบประมาณมาใช้เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และปรับพื้นที่เกษตรกรรมเสียใหม่ เกษตรกรรายเล็กๆ จะได้รับเงินและเทคโนโลยี พร้อมความหวังว่าจะเป็นรากฐานความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ระบบอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต มุ่งสู่อาหารที่รู้ที่ไปที่มา อาหารที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกลับมาได้รับความนิยม และเป็นพื้นฐานของชุมชมทำเองกินเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะกลับมาในอนาคต
Labels:
agritronics,
precision agriculture,
smart farm
15 กรกฎาคม 2555
Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 10)
ผมเขียนบทความเรื่องแมลงชีวกล ตอนแรก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 และผมก็ทยอยเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จากที่ได้ติดตามดูความคืบหน้ามาเป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น ได้มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากครับ หลายมหาวิทยาลัยสามารถที่จะควบคุมการบินของแมลง โดยการฝังวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในสมองแมลงแล้ว รวมทั้งยังมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ซึ่งผมจะนำมาเล่าเพิ่มเติมให้ฟังในวันนี้
โครงการวิจัยแมลงชีวกลนี้ เกิดจากแนวคิดของ DARPA (หน่วยงานให้ทุนวิจัยของเพนทากอน) ที่ต้องการจะนำแมลงมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการทหาร โดยการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าไปที่ตัวแมลง แล้วทำให้แมลงทำงานแบบที่สั่งได้ เป็นชีวิตกึ่งจักรกล DARPA ต้องการเอาแมลงชีวกลนี้ไปใช้เพื่อ
(1) การลาดตระเวณในเมือง เพื่อสืบราชการลับและเก็บข้อมูล โดยแมลงอาจติดตั้งกล้องขนาดจิ๋ว ไมโครโฟน แล้วส่งเข้าไปหาข่าว บันทึกภาพและการสนทนาของเป้าหมาย และเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมโดยสามารถเล็ดลอดเข้าไปในเคหสถานของเป้าหมายได้ง่าย
(2) แทรกซึมเข้าไปในฐานที่ตั้งของข้าศึก โดยหน่วยรบพิเศษสามารถปล่อยฝูงแมลงชีวกลนี้เข้าไปในฐานที่มั่นของข้าศึก เพื่อสืบทราบตำแหน่งยุทโธปกรณ์หลัก การวางกำลังของข้าศึก และเก็บข้อมูลอื่นๆ
(3) ตามหาเป้าหมายที่ต้องการ เช่น การหาตำแหน่งที่แน่นอนของพลซุ่มยิงฝ่ายศัตรู หาตำแหน่งของหัวหน้าผู้ก่อการร้าย หรือ เก็บภาพจุดที่จะเข้าจู่โจม โดยเฉพาะสงครามในสภาพที่เป็นเมือง
(4) ใช้บรรทุกสัมภาระซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์ หรือ สารเคมี หรือ สารชีวภาพ เพื่อภารกิจบางอย่าง
(5) ใช้ไปเก็บตัวอย่างในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตัวอย่างดิน ตัวอย่างน้ำ
โดยงานวิจัยด้านแมลงชีวกลนี้ เท่าที่ผู้อ่านได้สำรวจเปเปอร์ต่างๆ พบว่าไม่มีประเทศไหนในโลก นอกจากสหรัฐอเมริกาที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอันที่จริง ความก้าวหน้าในการวิจัยเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้เทคโนโลยีแมลงกึ่งจักรกลแล้ว องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาแมลงยังสามารถต่อยอดไปยังศาสตร์อื่นๆ ได้อีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน หุ่นยนต์ศาสตร์ ประสาทวิทยา หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคสมอง หลายคนคิดว่าแมลงเป็นสัตว์ที่กระจอก ดูง่ายไม่ซับซ้อน และคงคิดว่าถ้าเรารู้จักแมลงดีแล้ว คงจะต่อยอดสูงขึ้นไปเพื่อทำอะไรกับสัตว์ใหญ่ๆ แต่แท้จริงแล้ว แมลงมีความซับซ้อนไม่แพ้สัตว์ใหญ่เลย แถมแมลงหลายชนิดยังมีพฤติกรรมแบบฝูงที่ซับซ้อน และฉลาดอีกต่างหากด้วย
ความที่แมลงเป็นสัตว์เล็ก ทำให้การจะนำอุปกรณ์จิ๋วไปติดไว้กับแมลง ก็จะมีปัญหาเรื่องพลังงานที่จะใช้สำหรับอุปกรณ์นั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบตเตอรีขนาดจิ๋ว ที่มีความจุสูงแต่น้ำหนักเบา นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคส เวสเทอร์น รีเสริฟ (Case Western Reserve University) ได้ศึกษาวิธีการนำพลังงานในตัวแมลงมาใช้ เพราะเมื่อแมลงกินอาหารเข้าไป มันก็จะย่อยให้ได้น้ำตาล ซึ่งเป็นสารให้พลังงานในการดำรงชีพของมัน ดังนั้นการนำเอาสารพลังงานของมันมาใช้จึงนับเป็นแนวคิดที่ฉลาดมากๆ ครับ จากผลงานวิจัยที่เปิดเผยในวารสาร Journal of the American Chemical Society (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Michelle Rasmussen, Roy E. Ritzmann, Irene Lee, Alan J. Pollack and Daniel Scherson, "An Implantable Biofuel Cell for a Live Insect", Journal of the American Chemical Society 2012, 134(3), pp 1458-1460) นักวิจัยได้ทำการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปตัวของแมลงสาบ ซึ่งสามารถวัดกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกมาได้ประมาณ 60 ไมโครแอมป์ต่อตารางเซ็นติเมตร โดยมีความต่างศักย์ 0.2 โวลต์ กระแสปริมาณนี้ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็เพียงพอสำหรับการป้อนให้แก่อุปกรณ์ขนาดจิ๋ว ซึ่งอาจพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต โดยอาจจะประจุกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเข้าเก็บไว้ในแบตเตอรีขนาดจิ๋วตลอดเวลา แล้วค่อยนำออกมาใช้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งการเสียบขั้วไฟฟ้าเพื่อไปดักจับอิเล็กตรอนจากตัวของแมลงสาบเพื่อนำออกมาใช้นี้ แมลงสาบก็ไม่ได้เจ็บและรำคาญแต่อย่างใดครับ เพราะระบบไหลเวียนเลือดของมันนั้น ไม่เหมือนกับมนุษย์เรา มันไม่ได้เป็นเส้นเลือดแบบของเรา แต่เป็นช่องเปิดที่มีของเหลวไหลผ่านได้ง่าย
เล่าต่อในตอนหน้านะครับ ....
Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 9)
ในภาพยนตร์อะนิเมชันเรื่อง G-Force เราจะได้เห็นแมลงวันตัวหนึ่งที่มีชื่อว่าเจ้าหน้าที่มูช มันเป็นแมลงวันที่ติดตั้งกล้องวีดิโอ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เจ้าหน้าที่มูชทำหน้าที่ตรวจการณ์หน้า เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้สามารถเห็นภาพมุมสูง และภาพในระยะไกลได้ ถึงแม้เจ้าหน้าที่มูชจะไม่มีบทพูดในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่บทบาทของเจ้าหน้าที่มูชก็ทำให้ผมประทับใจเกือบจะที่สุดแล้ว ในจำนวนเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบราชการลับ
ก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าให้ฟังถึงโครงการ Hi-MEMS ซึ่ง DARPA เป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนทุนวิจัย โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแมลงกึ่งหุ่นยนต์ที่สามารถบินเข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจ ตามความต้องการของกำลังรบ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้รับงบก้อนดังกล่าว และกำลังขยันขันแข็งเพื่อพัฒนาแมลงชีวกล เพื่อให้ทำงานได้ตามความต้องการของกองทัพ จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่ DARPA จะมาสนใจศาสตร์ทางด้านแมลงกึ่งจักรกลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ทำการศึกษาวิจัยแมลงชีวกลอย่างเงียบๆ มาพักหนึ่งแล้ว ภายใต้แนวคิดหลักทางด้านวิศวกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติในนามของ Laboratory for Intelligent Machine Systems หรือ LIMS พวกเขาจึงเป็นพวกที่ทำจริง และรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องแมลงกึ่งจักรกลเหล่านี้
ทิม ไรส์แมน (Tim Reissman) นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่ง LIMS กล่าวว่า "แมลงทหารเหรอครับ ผมว่าตอนนี้มันยังตัวใหญ่เกินไปครับ คงต้องรอให้เราสามารถเล่นกับแมลงตัวที่เล็กลงกว่านี้ แล้วก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดบนตัวมันที่เล็กกว่านี้" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านนี้ แม้จะเจ๋งในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กองทัพต้องการ ลองคิดเล่นๆ สิครับว่า ถ้ามีเจ้าแมลงขนาดสักฝ่ามือนึง บินผ่านเข้ามาในบ้านคุณ บนหลังของมันแบกน้ำหนักกล้องวีดิโอ เซ็นเซอร์ต่างๆ อุปกรณ์ส่งวิทยุ และแบตเตอรี มันพยายามจะมาสปายว่าคุณทำอะไรอยู่ คุณก็คงไม่เซ่อพอที่จะปล่อยให้มันหลุดรอดออกไปทางประตูแน่ๆ
และที่คอร์เนลนี่เอง ศาสตราจารย์ Ephrahim Garcia หัวหน้าห้องปฏิบัติการ LIMS ดังกล่าว ได้เน้นการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องพลังงานของแมลงชีวกล ด้วยการพยายามนำเอาพลังงานจากการเคลื่อนที่ของแมลง มาใช้ป้อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนแมลง คณะวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำมาจากวัสดุ piezoelectric material ที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเมื่อปีกแมลงมีการเคลื่อนที่ ก็จะทำให้เกิดการสั่นของวัสดุชนิดนี้ ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ศาสตราจารย์ Garcia หวังว่า เขาจะสามารถสร้างแมลงชีวกล ที่ติดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง GPS เซ็นเซอร์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องมีแบตเตอรีบนตัวแมลงเลย ...
วันนี้ผมมานอนที่ไร่องุ่นครับ ข้างนอกมืดมากๆ มีเพียงจุดที่ผมนั่งทำงานและพักหลับนอนอยู่นี้ ที่มีแสงไฟ เหล่าแมลงพากันบินมาชุมนุมตรงที่เรานั่งอยู่ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องแมลงหลงไฟ ก็อาจเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องแก้ เพื่อให้มันอยากปฏิบัติภารกิจมากกว่าบินตามไฟ ...
21 มิถุนายน 2555
Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 8)
เมื่อสัก 2-3 เดือนก่อน ผมได้อ่านเจอบทความเกี่ยวกับความวิตกกังวลในภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผึ้งหลายชนิดอาจจะสูญพันธุ์ ส่งผลให้การเกษตรในอนาคตจะเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพืชพันธุ์หลายชนิด อาศัยผึ้งช่วยในการผสมเกสร ซึ่งในช่วงนั้น มีบทความหรือข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยมาก ทั้งในเน็ต หรือในนิตยสารที่ผมรับประจำอย่าง Newsweek และ Time ก็พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมก็อ่านผ่านๆ ตา ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก
จริงๆ แล้ว เรื่องของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิดเมื่อโลกร้อนขึ้น นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่สำหรับผม เชื่อว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกอะไรที่สัตว์ที่แข่งขันไม่ได้จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด แม้แต่มนุษย์อย่างพวกเราเอง วันหนึ่งก็ต้องมีสัตว์อื่นขึ้นมาแทนที่ ดังนั้น การอนุรักษ์หรือพยายามรักษาไม่ให้สัตว์ชนิดไหนสูญพันธุ์ สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีเหตุผลนัก ออกจะใช้อารมณ์เสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผึ้งแล้ว การสูญพันธุ์ของมันจะมีผลต่อมนุษย์ค่อนข้างมาก จนเราอาจต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้
นักวิทยาศาสตร์กำลังมองหาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ ผึ้งอาจจะสูญพันธุ์ การอนุรักษ์อาจไม่ได้ผล ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เทคโนโลยีหนึ่งที่คิดว่าเป็นไปได้คือการพัฒนาหุ่นยนต์ผึ้งออกมา หรือทำผึ้งชีวกล ที่ทำงานเหมือนผึ้งจริงๆ
ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ โรเบิร์ต วู้ด (Robert Wood) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กำลังพัฒนาฝูงหุ่นยนต์ผึ้งที่มีชื่อเรียกว่า Robobee โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาชีววิทยา และ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ รวมไปถึงภาควิชาคอมพิวเตอร์ ด้วยความสำคัญของแนวคิดนี้ ทางมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนทุนวิจัยที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 35 ล้านบาท เป้าหมายก็คือ จะต้องสร้างฝูงหุ่นยนต์ผึ้งที่สามารถทำงานทดแทนผึ้งให้ได้ภายใน 5 ปี โดยเจ้าหุ่นยนต์ผึ้งนี้จะทำงานประสานกันเป็นฝูง โดยเกษตรกรจะวางรังของมันเอาไว้ในเรือกสวนไร่นา มันมีเซ็นเซอร์ที่จะตรวจหาดอกไม้ และมีกล้องขนาดเล็กเพื่อทำแผนที่ของไร่สวน จากนั้นมันจะถ่ายทอดแผนที่ให้แก่ หุ่นยนต์ผึ้งตัวที่ใหญ่กว่า มีแบตเตอรีใหญ่กว่า เพื่อบินออกไปทำการผสมเกสร
13 พฤษภาคม 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 4)
เวลาพูดถึงเรื่องโลกร้อน อุตสาหกรรมต่างๆ มักตกเป็นจำเลย แต่จริงๆ แล้วเรื่องภาวะโลกร้อนนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การเสื่อมถอยทางด้านสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากปัจจัยผสมผสาน รวมกันหลายๆ อย่าง ด้านหนึ่งที่เรามักจะลืมไปก็คือ การทำเกษตรแบบเก่าๆ นี่แหล่ะที่เป็นสาเหตุร่วมแห่งความเสื่อมถอยนั้น นับแต่อดีตที่ผ่านมา ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกย่ำยีจากเกษตรกรรมที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพ ทุกๆ ปีมีคนเกิดขึ้นบนโลก 70 ล้านคน และคนที่เกิดใหม่ ต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื้อและผักที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราต้องทำการเกษตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะเลี้ยงเด็กที่เกิดใหม่ หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เราต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ 2 เท่า หรือ อาจจะต้อง 3 เท่า ให้ได้ในอีก 30-40 ข้างหน้า ... เห็นไหมครับว่า เกษตรคืออนาคต หรือ อนาคตคือเกษตร ซึ่งเป็นความอยู่รอดของมนุษย์เลยทีเดียว .... แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า .... วันนี้เรายังไม่รู้จะทำยังไงกันเลยครับ
ปัจจุบันนี้ พื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์บนผิวโลกที่ไม่ใช่น้ำ และไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 60 เท่าของพื้นที่ที่เป็นเมืองและหมู่บ้าน ที่มนุษย์อาศัยอยู่ นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งสิ้นสุดเป็นต้นมา ไม่เคยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงผิวโลกได้ยิ่งใหญ่กว่าเกษตรกรรม ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าหากเราต้องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มอาหารให้ได้อีก 2-3 เท่า พื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเกษตรกรรม มนุษย์เราก็คงไม่พ้นการบุกรุกพื้นที่ที่เหลืออยู่ ซึ่งเมื่อหักพื้นที่แห้งแล้งและทะเลทรายออกแล้ว ก็เหลือแต่พื้นที่ป่าเขตร้อนเท่านั้นแหล่ะครับ
มาดูเรื่องการใช้น้ำกันบ้างครับ ปัจจุบันทั้งโลกใช้น้ำจืดกันทั้งหมด 4,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี (เท่ากับน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งหมด 400 เขื่อน) โดย 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับการรดน้ำพืชผลต้นไม้ต่างๆ ในทางเกษตร น้ำเหล่านี้ถูกดึงจากแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบต่างๆ มีการสร้างเขื่อนที่บิดเบือนการไหลของน้ำ ดูอย่างแม่น้ำโขงของเราก็ได้ครับ ไม่มีใครทำนายได้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะมา เมื่อไหร่น้ำจะแห้ง เมื่อไหร่น้ำจะท่วม การใช้สารเคมีต่างๆ ในการเกษตร ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ได้ปลดปล่อยสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสะอาดลดลงทุกวันด้วย สารเคมีเหล่านี้ได้ไหลออกทะเลทำให้สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของเราพลอยมีปัญหาไปด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนโดยตรงนะครับ เชื่อมั้ยครับว่าเกษตรกรรมของเราเนี่ย รับผิดชอบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยครับ มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกันเสียอีก ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม
ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องมีการปฏิวัติเกษตรกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตร ให้มีการเพิ่มผลผลิตแบบจุดพลุ โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ปัจจุบันนี้ พื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์บนผิวโลกที่ไม่ใช่น้ำ และไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 60 เท่าของพื้นที่ที่เป็นเมืองและหมู่บ้าน ที่มนุษย์อาศัยอยู่ นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งสิ้นสุดเป็นต้นมา ไม่เคยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงผิวโลกได้ยิ่งใหญ่กว่าเกษตรกรรม ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าหากเราต้องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มอาหารให้ได้อีก 2-3 เท่า พื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเกษตรกรรม มนุษย์เราก็คงไม่พ้นการบุกรุกพื้นที่ที่เหลืออยู่ ซึ่งเมื่อหักพื้นที่แห้งแล้งและทะเลทรายออกแล้ว ก็เหลือแต่พื้นที่ป่าเขตร้อนเท่านั้นแหล่ะครับ
มาดูเรื่องการใช้น้ำกันบ้างครับ ปัจจุบันทั้งโลกใช้น้ำจืดกันทั้งหมด 4,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี (เท่ากับน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งหมด 400 เขื่อน) โดย 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับการรดน้ำพืชผลต้นไม้ต่างๆ ในทางเกษตร น้ำเหล่านี้ถูกดึงจากแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบต่างๆ มีการสร้างเขื่อนที่บิดเบือนการไหลของน้ำ ดูอย่างแม่น้ำโขงของเราก็ได้ครับ ไม่มีใครทำนายได้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะมา เมื่อไหร่น้ำจะแห้ง เมื่อไหร่น้ำจะท่วม การใช้สารเคมีต่างๆ ในการเกษตร ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ได้ปลดปล่อยสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสะอาดลดลงทุกวันด้วย สารเคมีเหล่านี้ได้ไหลออกทะเลทำให้สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของเราพลอยมีปัญหาไปด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนโดยตรงนะครับ เชื่อมั้ยครับว่าเกษตรกรรมของเราเนี่ย รับผิดชอบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยครับ มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกันเสียอีก ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม
ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องมีการปฏิวัติเกษตรกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตร ให้มีการเพิ่มผลผลิตแบบจุดพลุ โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
Labels:
agritronics,
precision agriculture,
smart farm
Water Monitoring Sensor Networks - เครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำ (ตอนที่ 3)
3 ใน 4 ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ และนับวันพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยน้ำนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมนุษย์เราอาศัยอยู่บนบกที่นับวันทรัพยากรบนพื้นดินจะร่อยหลอหมดไปเรื่อยๆ ในอนาคต ทรัพยากรธรรมชาติในน้ำจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเราจะเริ่มใช้ชีวิตในน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาได้สอนให้เรารู้ว่า เรามีความใกล้ชิดกับน้ำมากแค่ไหน และต่อแต่นี้ เราต้องรู้จักจัดการน้ำไม่อย่างนั้น น้ำก็จะจัดการเรา
การที่จะจัดการน้ำได้ เราต้องสามารถติดตามข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำให้ได้อย่างใกล้ชิด ต้องสามารถ monitor หรือตรวจวัดข้อมูลน้ำได้อย่างเวลาจริง (real time) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แหล่งทุนวิจัยในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าสูง เช่น สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ได้ให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำอย่างขนานใหญ่ เช่น ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอร์คลีย์ (University of California Berkeley) มหาวิทยาลัยฟอริด้า สหรัฐอเมริกา ส่วนในสหภาพยุโรปก็มี มหาวิทยาลัยวาเลนเซีย แห่งสเปน และบริษัท CSEM ในสวิสเซอร์แลนด์ เป็นแกนนำในการพัฒนา ส่วนประเทศที่ต้องอยู่กับน้ำค่อนข้างมากอย่าง เนเธอร์แลนด์ เขาก็มีการสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมาต่างหาก นำโดยมหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) รวมทั้งฮ่องกงก็มีงานวิจัยโดย Hong Kong University of Science and Technology (HKUST)
จะว่าไป ประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศที่ใช้ชีวิตกับน้ำ หรือเกี่ยวข้องกับน้ำไม่แพ้ชาวดัทช์ หรือ ชาวฮ่องกง ตั้งแต่นี้ต่อไป เราต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยง พร้อมเดิมพันมูลค่าสูง ว่าปีนี้น้ำจะแล้งหรือน้ำจะท่วม หรือจะมีทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน แต่เรากลับไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำเท่าไหร่เลยครับ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และล้าสมัย เพราะเครื่องมือที่ทันสมัยยังอยู่ในขั้นของการวิจัยและยังไม่นำออกขาย ดังนั้น หากเราอยากมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวัดน้ำ เราก็จะต้องพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังไม่สายที่นักเทคโนโลยีจะมาให้ความสนใจเรื่องนี้ ไม่ต้องห่วงครับ เพราะในอนาคต พวกเราจะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำมากขึ้น ๆ เรื่อยๆ
เมื่อตอนผมเป็นเด็ก ทุกปิดเทอมใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ของผมจะพาผมไปส่งที่บ้านคุณย่า ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แล้วท่านจะมารับผมกลับตอนใกล้ๆ เปิดเทอม บ้านคุณย่าของผมเป็นครอบครัวชาวประมง มีเรืออวนลากที่จะออกไปรอนแรมในทะเลได้หลายๆ วัน ภาพกุ้งหอยปูปลาที่ติดมากับอวนเป็นภาพที่เจนตา คุณย่าผมเคยพูดว่าท่านมีที่ในทะเลหลายร้อยหลายพันไร่ ที่บนบกไม่ค่อยมีหรอก ท่านถามผมว่า "เอามั้ย ท่านจะยกที่ในทะเลให้" ผมคิดในใจว่า ตลกล่ะ ที่ในทะเลเนี่ยนะเป็นเจ้าของได้ด้วยเหรอ แล้วจะเอาไปทำอะไรได้ .... แต่ ..... ท่านผู้อ่านเชื่อไหมหล่ะครับว่า ทุกวันนี้ ที่ในทะเลมีเจ้าของกันหมดแล้วนะครับ ถึงจะยังไม่มีการทำรังวัดกันอย่างชัดเจนโดยกรมที่ดิน แต่หลายๆ แห่งนอกชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยนั้น ถูกจับจองหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ปลา กุ้ง หอย ที่เรารับประทานกัน มีจำนวนมากที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในกระชังที่เลี้ยงกันในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารและการกำจัดของเสีย ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่นอกแนวชายฝั่ง นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดน้ำ หากถูกนำมาใช้กับฟาร์มเพาะเลี้ยง ก็จะทำให้ฟาร์มเหล่านั้นกลายเป็น Smart Farm หรือ Smart Aquaculture ได้ เพราะจะทำให้เจ้าของฟาร์มรู้สภาพแวดล้อมในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความเค็มของน้ำ ค่า pH ค่าอ็อกซิเจนในน้ำ กระแสการไหลของน้ำ ความหนาแน่นของปลาในน้ำ รวมไปถึงการมาของคลื่นและพายุ ซึ่งจะมีผลต่อการเพาะเลี้ยงได้ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งขึ้นมาสู่บ้านเจ้าของฟาร์มบนชายฝั่งได้
Water Monitoring Sensor Networks ถือเป็นเทคโนโลยีเอนกประสงค์ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งในยามสงบ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเลนอกชายฝั่ง แม่น้ำ ทะเลสาบ บึง แหล่งน้ำประปา หรือการตรวจวัดน้ำในแหล่งบำบัดน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ในยามที่เกิดภัยพิบัติ เราสามารถปล่อยมันออกไปเก็บข้อมูลการไหลของน้ำ ระดับความลึกของน้ำ ความเป็นพิษ เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 45 วันที่ผมติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ได้ ผมได้ก่อร่างสร้างไอเดียนี้ขึ้นมาในช่วง 45 วันนี้เอง และผมหวังว่าโครงการ Water Monitoring Sensor Networks น่าได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคนที่โดนน้ำล้อมเหมือนกัน .....
Labels:
crisis,
remote sensing,
Sensor Networks,
water
01 เมษายน 2555
Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 7)
แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่ง มันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผมแอบหลงใหลความเจ๋งของมันมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเรียนปริญญาตรีผมเกือบจะไปเรียนทางด้านนี้แล้วครับ แต่ก็ไม่ได้เรียน เพราะหลักสูตรชีววิทยาเมืองไทยทำได้น่าเบื่อมากครับ ผมเลยโชคดีที่ไม่ได้เรียนเรื่องนี้ แต่อย่างว่าแหล่ะครับ ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของชีววิทยา ในที่สุดผมก็ได้กลับมาหาชีววิทยาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ชีววิทยาไม่ได้น่าเบื่ออีกต่อไป .......
กลุ่มวิจัยหนึ่งที่เกาะติดในเรื่องความแก่งของแมลงมานาน 30 ปี ก็คือกลุ่มของ ศาสตราจารย์ เรียวเฮอิ คันซากิ (Professor Ryohei Kanzaki) สังกัดศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า มหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University's Research Center for Advanced Science and Technology) ก่อนหน้านี้ ท่านสนใจที่จะศึกษาสมองมนุษย์ เพื่อที่จะหาทางรักษาสมองที่ถูกทำลายโดยโรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุ เพื่อที่จะเข้าใจสมองมนุษย์ ท่านได้ย่อขนาดของการศึกษาลงมาที่แมลง ทำไปทำมา ท่านเลยกลายมาเป็นกลุ่มแนวหน้าในศาสตร์ของแมลงชีวกลในตอนนี้ไปแล้ว
สมองคนเรานั้นมีเซลล์ประสาทประมาณ 1,000 ล้านเซลล์ ในขณะที่แมลงมีเพียงประมาณ 100,000 เซลล์เท่านั้น แต่สมองกระจิดริ๊ดของมันก็ทำอะไรได้หลายอย่าง แมลงไหมตัวผู้สามารถสะกดรอยตามตามตัวเมีย ได้จากระยะทางไกลเป็นกิโลเมตร โดยอาศัยการตามกลิ่นฟีโรโมน สมองน้อยๆของมันช่วยในการควบคุมการบินผาดโผนตามจับแมลงตัวอื่นๆกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบินของมันนั้น ต้องยอมรับว่าคนเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ เพื่อจะสร้างอากาศยานที่มีความสามารถแบบนั้น ศาสตราจารย์คันซากิกล่าวอย่างมีความหวังว่า "ในอนาคตผมคิดว่า เราจะสามารถสร้างสมองของแมลงจากวงจรอิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งนี่อาจจะเป็นก้าวแรกในการนำวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไปใส่ในสมองมนุษย์ก็ได้ครับ
ศาสตราจารย์คันซากิประสบความสำเร็จในการดัดแปรพันธุกรรมของแมลงไหม ทำให้มันตอบสนองต่อแสงแทนการตอบสนองต่อกลิ่น หรือตอบสนองต่อกลิ่นของแมลงพันธุ์อื่น ซึ่งในอนาคตอาจจะใช้แมลงชีวกลนี้ในการสืบหายาเสพติด หรือวัตถุระเบิดได้ ท่านได้ทำการทดลองเอาแมลงมายืนอยู่บนลูกกลิ้งที่สามารถหมุนอย่างอิสระได้ ซึ่งจะไปควบคุมการขับเคลื่อนของรถ (เหมือนกับเอาแมลงไปขับรถ แต่เป็นรถสำหรับแมลง) หากแมลงทำขาขยับจะเดินไปทางไหน รถก็จะขยับไปทางนั้น ปรากฎว่าสักพักแมลงจะเรียนรู้ในการบังคับรถได้
อาจารย์คันซากิ ยังกล่าวต่อด้วยประกายความคิดที่น่าตื่นเต้นว่า "ลองนึกถึงคนเราเองสิครับ เวลาเราเดินด้วยขาสองข้าง ก็ทำได้เพียงประมาณ 5-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่พอขึ้นไปขับรถ เราสามารถบังคับมันให้วิ่งไปได้เร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันน่าทึ่งนะครับ ที่เราสามารถเร่ง เบรค และขับรถหลบหลีกสิ่งต่างๆ ได้ที่ความเร็วขนาดนั้น สมองของเราได้เปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา ผมคิดว่าแมลงก็น่าจะทำอย่างนั้นได้ เราน่าจะทำให้สมองของมันบังคับยานพาหนะที่เหมาะสมกับพวกมันได้ มันคงไม่น่าสนใจหรอกครับ หากเราสร้างแมลงหนอนหุ่นยนต์ที่คลานช้าๆเหมือนหนอนตัวจริง เพราะฉะนั้น ที่เราควรทำคือสร้างของปลอมที่ทำได้ดีกว่าของจริงต่างหาก"
17 มีนาคม 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 3)
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับ Precision Agriculture ในเวลานั้นคำๆ นี้ยังไม่มีคำแปลภาษาไทย ผมเลยตั้งชื่อว่าเป็นเกษตรแม่นยำสูง และก็ใช้มาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการเลยครับ ตอนที่ผมเริ่มโครงการวิจัยนั้นใหม่ๆ มีคนบอกกับผมว่า "ทำไปทำไม เมืองไทยปลูกอะไรก็ขึ้น" หลายๆ คนหัวเราะขำกับแนวความคิด ที่จะนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยไปใช้กับการทำไร่ทำนา แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผม มันน่าตลกมากกว่ามั้ยล่ะ ที่อาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเกษตรกรรม กลับตกอยู่ในสภาพที่ Low Tech ขาดการพัฒนาได้อย่างไม่น่าเชื่อขนาดนี้ ทุกวันนี้เรายังคงปล่อยให้ดินฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่กำหนดชะตากรรมของเกษตรกร จริงเหรอที่ "เมืองไทยปลูกอะไรก็ขึ้น" วลีนี้ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่เหรอกับสภาพความจริงที่เรากำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูก ภูมิอากาศวิปริตผิดไปจากเดิม พื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ผิดที่ผิดทาง
เจอคำปรามาสแบบนั้น ผมก็เลยต้องเดินทางตระเวณไปทั่ว เพื่อหาพืชที่เมืองไทยปลูกไม่ขึ้น หรือถ้าขึ้นก็ขึ้นไม่ดี ออกลูกไม่งามหรือไม่อร่อย จนวันหนึ่งผมขับรถไปทางเขาใหญ่ ไปเจอกับไร่องุ่นสำหรับทำไวน์ ผมได้เข้าไปขอชิมไวน์ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ จิบแรกที่ผมสัมผัสรสชาติของไวน์ที่นั่น ผมถึงกับร้อง "โอ้ว ... พระเจ้า เมืองไทยทำไวน์ได้ดีขนาดนี้เลยหรือนั่น" และจิบนั้นเอง ทำให้ผมรู้ว่า ผมเจอกับพืชที่ปลูกยากในเมืองไทยเอาเข้าแล้ว นี่แหล่ะ คือสนามทดลองของผมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเกษตรกรรมไทยในอนาคต
4 ปีที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์ ณ ไร่องุ่นกราน มอนเต้ ด้วยความอนุเคราะห์จากคุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เจ้าของไร่ และคุณนิกกี้ โลหิตนาวี ลูกสาว ที่เป็นไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย ที่จบปริญญาตรีทางด้านการทำไวน์ โดยตรงมาจากแดนจิงโจ้ ทำให้ผมมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ตรงของการเป็นชาวไร่ ผมและลูกศิษย์ได้พัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์หลายชนิด ที่จะทำให้การทำไร่ทำนา เป็นสิ่งที่สนุกสนานมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำนายได้มากขึ้น และเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบันเรื่องของเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) เป็นสิ่งที่เริ่มเป็นที่สนใจในเมืองไทย หน่วยงานรัฐระดับชาติเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้ บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เริ่มมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของคนเหล่านี้ก็ยังจำกัดในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตรงหน้า คนเหล่านี้ยังมองว่าเกษตรกรรมเป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความรู้น้อย เทคโนโลยีสูงๆ ไม่มีความจำเป็น ทั้งๆ ที่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมแท้ๆ เขายังมีการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรที่สูงกว่าเราอย่างเทียบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกพืชในอาคารสูง (Vertical Farming) การปลูกเนื้อสัตว์ (In vitro Meat Production) เพื่อเป็นอาหารโดยไม่ต้องมีการฆ่าสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ (Smart Aquaculture) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ในอนาคต ทั้งๆ ที่ประเทศเราได้ขึ้นชื่อว่าครัวของโลก
เกษตรกรรมแม่นยำสูง จะปฏิวัติรูปแบบการทำไร่ทำนา จากเดิมที่เป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ มาเป็นเรื่องของข้อมูลและสารสนเทศ เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งทั่วไร่นา จะทำให้เกษตรกรรู้สภาพแวดล้อม ปัจจัยการเพาะปลูก จากที่ไหนก็ได้บนโลก เกษตรกรจะรู้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน แร่ธาตุที่มีมากเกินหรือขาดแคลน สภาพดินฟ้าอากาศตลอด 24 ชั่วโมง การเจริญเติบโตของพืชแบบเรียลไทม์ ทำให้การให้น้ำ รดปุ๋ย กำจัดแมลง สามารถทำได้พอดีกับความต้องการของสถานการณ์
งานเกษตรกรรมในอนาคตจะมีความสนุกสนาน เหมือนการเล่นเกมส์ หนุ่มสาวจะกลับมามองอาชีพนี้อีกครั้ง นี่หล่ะครับ สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคต ....
Labels:
เขาใหญ่,
agritronics,
precision agriculture,
smart farm,
Vineyard
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)