25 เมษายน 2552

Smart Grid - ระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)


เมื่อสักต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมานั้น บริษัท IBM ได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศผลกำไรดีเกินคาด ในขณะที่บริษัทดังๆ ในสหรัฐอเมริกา ถ้าไม่ประกาศขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือประสบภาวะขาดทุน ก็ต้องมีภาวะผลกำไรติดลบกันทั้งนั้น แต่ IBM กลับมีผลประกอบการดีกว่าเดิม มีการจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นที่เพิ่มขึ้น 3% น่าแปลกใจไหมครับว่า IBM ทำอะไร ทำไมถึงสวนกระแสชาวบ้าน ฟังข่าวต่อไปนี้แล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้นครับ ......

IBM ซึ่งเป็นบริษัทที่รู้จักกันดีว่าขายคอมพิวเตอร์ (อดีตนายก ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ก่อนจะมาร่ำรวยจากโทรศัพท์มือถือ) IBM เคยรุ่งเรืองมากกับการขายคอมพิวเตอร์ ในภายหลังได้ค่อยๆ ขยับไปดำเนินการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศทางด้านการเงิน การธนาคาร โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที แต่ตอนนี้ IBM กำลังจะเข้ามาดำเนินการในด้านพลังงานแล้วครับ IBM ทำการวิจัยเกี่ยวกับ Solar Cell แบบใหม่ที่เรียกว่า Copper-Indium-Gallium-Selenide (CIGS) อยู่ ซึ่งจะทำให้แผงเซลล์สุริยะถูกลง

ล่าสุด IBM ได้รับสัมปทานจากประเทศมอลต้า ให้ทำระบบ Smart Grid สำหรับไฟฟ้าและน้ำประปา โดยจะต้องทำการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟทั้งหมด 250,000 หน่วยให้เป็น Smart Meter ซึ่งจะทำให้ผู้จ่ายไฟฟ้า สามารถที่จะรู้การใช้ไฟฟ้าของบ้านแต่ละหลัง โดยไม่ต้องส่งพนักงานออกไปดู สามารถดูได้จากหน้าจอแบบเรียลไทม์ ซึ่งหากผู้ใช้ค้างชำระเกินกำหนด ผู้จ่ายไฟสามารถสั่งระงับการจ่ายไฟฟ้าจากระยะไกลได้ หรือสั่งให้มีการจ่ายไฟตามปกติได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปหน้าบ้านของผู้ใช้เลย การใช้ Smart Meter ทำให้ผู้จ่ายไฟรู้ภาวะความต้องการไฟฟ้าอย่างเรียลไทม์ มีการจัดการกระแสไฟฟ้าที่เกิดโอกาสล้มเหลวของโหลด หรือ หม้อแปลงระเบิดได้น้อยลงมาก ผู้ใช้สามารถรู้ค่าไฟฟ้าสะสมที่เกิดขึ้น การคิดค่าไฟฟ้าสามารถทำแบบฉลาดได้ คือค่าไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างกันให้มีราคาที่ต่างกันได้ เช่นช่วงหัวค่ำก็คิดแพงๆ หน่อย ดึกๆถึงเช้ามืดก็คิดแบบถูกๆ คนใช้ก็รู้ราคาและสามารถเช็คได้โดยตรงจาก web site เลย นอกจากนั้นอาจจะใช้ระบบ Pre-paid คล้ายๆ การเติมเงินของโทรศัพท์มือถือก็ย่อมได้ ลูกค้าอาจอาศัยช่วง Promotion ไปซื้อบัตรเติมเงิน เพื่อใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ราคาถูกๆ เช่น ช่วงหน้าฝนน้ำในเขื่อนเยอะก็ใช้เยอะได้ แต่ช่วงน้ำน้อยก็มี Promotion แบบอื่นๆ เช่น ให้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่คนใช้น้อย

ระบบ Smart Grid นี่ยังมีอะไรๆให้เล่นอีกเยอะครับ ต้องติดตามตอนต่อไป .......

Smart Grid - ระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


ช่วงที่น้ำมันถูกอย่างนี้ ทำเอาหลายๆคนที่ทำงานเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกเหี่ยวไปตามๆกัน แถมเจอลูกพ่วงจากพิษเศรษฐกิจโลก ทำให้หน่วยงานสนับสนุนทั้งหลายชะลอการให้ทุนวิจัยทางด้านนี้ไปกันหมดเลยครับ โดยเฉพาะประเทศไทยที่กระแสเรื่องนี้มันขึ้นๆ ลงๆ ตามราคาของน้ำมัน คนที่ทำงานด้านพลังงานทางเลือกต่างก็หวังว่าน้ำมันจะถูกอยู่ไม่นาน แต่ดูเหมือนว่าความคิดเช่นนั้นจะเป็นการมองโลกในแง่ดีมากกว่าครับ เพราะตอนนี้กำลังผลิตน้ำมันของโลกนั้นมากเกินความต้องการ อีกทั้งประเทศยักษ์ใหญ่ที่บริโภคน้ำมันกำลังหันหนีการพึ่งพิงน้ำมัน วันก่อนหน้านี้ผมได้กล่าวถึงแผนการใหญ่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่จะนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื่อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยาน ซึ่งอีกไม่กี่ปีต่อไปนี้ อเมริกาจะลดการใช้น้ำมันอากาศยานนำเข้าไปครึ่งหนึ่งเลยครับ มากพอที่จะทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงไปอีกหลายปี


แผนการที่จะปลดแอกตัวเองออกจากน้ำมันของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีแค่นี้ครับ การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ หรือ การใช้พลังงานอย่างฉลาดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงานลง เพียงไม่กี่วันที่ Barack Obama เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ออกมาแถลงแผนการที่จะใช้งบประมาณมูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน แผนการนี้ยังรวมไปถึงการปฏิวัติระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าให้ทันสมัย ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) ในบ้านทั้งหมด 40 ล้านหลังคาเรือน โครงการนี้จะช่วยทำให้การลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือกสามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้


ผมจะมาเล่าต่อนะครับว่า Smart Grid คืออะไร มีเทคโนโลยีอะไรที่เจ๋งๆ บ้าง ......

01 เมษายน 2552

Rice Planting Robot - หุ่นยนต์ปลูกข้าว


เมื่อปลายปี 2008 ผมได้ไปประชุมวิชาการ World Conference on Agricultural Informatics and IT 2008 ซึ่งใน session นิทรรศการนั้น ผมได้ไปสะดุดตาเข้ากับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งเข้า นั่นคือเจ้าหุ่นยนต์ดำนาปลูกข้าว (Rice Planting Robot) จริงๆแล้ว เครื่องปลูกข้าวไม่ใช่อะไรที่ใหม่หรอกครับ เพราะมีคนทำได้แล้ว แต่นวัตกรรมชิ้นนี้มีข้อต่างจากเครื่องพวกนั้นอย่างสำคัญตรงที่ มันทำงานได้เองโดยที่ไม่ต้องมีคนคอยควบคุม


การดำนาเพื่อปลูกข้าวนั้น เป็นงานหนักที่ต้องใช้ความอดทนสูง รวมไปถึงประสบการณ์ด้วยครับ ชาวนาจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในแต่ละแปลง เพื่อจัดวางตำแหน่งของต้นกล้า ให้อยู่เป็นแถวเป็นแนว งานที่ท้าทายนี้สามารถถ่ายทอดไปให้หุ่นยนต์จัดการได้แล้วครับ โดยทางศูนย์วิจัยเกษตรแห่งชาติญี่ปุ่น (National Agricultural Research Center) ได้พัฒนาหุ่นยนต์ปลูกข้าวขึ้นมาโดยไร้มนุษย์ควบคุม เจ้าหุ่นตัวนี้สามารถทำงานในนาข้าวโดยอาศัยการกำหนดตำแหน่งจาก GPS ผสมผสานกับการระบุทิศทางและความเร็วด้วยเซ็นเซอร์อย่างอื่นด้วย ทำให้มันสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ มันมีความสามารถในการดำนาได้ 1,000 ตารางเมตร ภายใน 20 นาที (หรือคิดเป็นพื้นที่ 250 ตารางวา) ดังนั้นหากให้มันทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน มันสามารถดำนาได้ทั้งหมด 20 ไร่ ซึ่งแน่นอนว่าเร็วกว่ามนุษย์มาก การเข้ามาของหุ่นยนต์ปลูกข้าวนั้น นับว่าถูกที่ถูกเวลา เพราะสังคมเกษตรกรรมของญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น เหลือแต่ผู้สูงวัย คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอยากทำงานด้านนี้แล้วครับ หุ่นยนต์พวกนี้นอกจากจะช่วยเกษตรกรผู้สูงวัยแล้ว มันยังดึงดูดให้คนหนุ่มสาวอยากเข้ามาทำงานเกษตรมากขึ้นด้วยครับ .........