25 ตุลาคม 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 5) - ดอกไม้ใช่ไร้หัวใจ


กลับมาเล่าต่อถึงความรู้ใหม่ๆ ที่นักวิจัยเพิ่งจะมาตื่นตัวเมื่อไม่กี่ปีมานี้นะครับว่า ต้นไม้นั้นก็มีระดับของการรับรู้มากกว่าที่เคยคิดกัน มันไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตเฉื่อยๆ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 10 ปีหลังนี้เริ่มไขปริศนาเรื่องนี้แล้วครับ ทั้งๆที่พระพุทธองค์ท่านอาจเคยค้นพบความลับข้อนี้กว่า 2,500 ปีมาแล้ว ตลอดชีวิตของพระตถาคต พระองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน โดยอาศัยโคนต้นไม้ ทรงให้ความเคารพแก่ต้นไม้โดยมีพระวินัยข้อห้ามไม่ให้ภิกษุรื้อถอน ตัด ต้นไม้ โดยปราศจากเหตุอันควร


ล่าสุดก็มีข่าวใน Science Daily ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2551 (รายงานในวารสาร Journal of Biological Chemistry) เกี่ยวกับดอก Red hibiscus หรือ ชบาแดง ที่สามารถจะเลือกคู่ครอง ด้วยการรับ หรือ ปฏิเสธเกสรตัวผู้ที่ล่องลอยมาตามลม หรือ มากับแมลง ซึ่งค้นพบโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ Bruce McClure หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "ต้นไม้ไม่ได้ใช้การมองเห็นเพื่อเลือกคู่ครองหรอกครับ มันใช้การสัมผัสระดับโมเลกุล เพื่อบอกว่า คู่ของมันเหมาะกับมันไหม" เขากล่าวต่อว่า "และคู่ที่มันอยากได้ มันก็ประกาศติดไว้บนเกสรตัวเมียนั่นแหล่ะครับ ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะเกิดอันตรกริยาเฉพาะกับโปรตีนของเกสรตัวผู้ที่มันอยากได้เป็นคู่ครอง" เมื่อโปรตีนที่เป็นคู่ที่ถูกต้องได้รับการยอมรับ กระบวนการปฏิสนธิจึงจะเริ่มขึ้น ความรู้ครั้งนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะว่าหากเรามีองค์ความรู้ในเรื่องของการผสมเกสร เราก็สามารถที่จะออกแบบพืช GMO ที่ไม่เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติได้ โดยการทำให้มันเป็นหมัน หรือ เกสรตัวผู้ของมันถูกปฏิเสธโดยเกสรตัวเมียของพืชตามธรรมชาติ ตอนนี้พืช GMO ถูกรังเกียจโดยสาธารณะก็เพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชของเรานั้น จริงๆยังมีน้อยครับ เมื่อเรารู้น้อยเราก็ควรจะรอให้เข้าใจก่อน เพราะว่า .... ต้นไม้ไม่ได้โง่ เราควรจะปฏิบัติต่อเขาให้ถูกต้องครับ .......

23 ตุลาคม 2551

International Conference on Tea Production and Tea


วันนี้ผมมีการประชุมหนึ่งมาแนะนำครับ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย การประชุมนี้มีชื่อว่า International Conference on Tea Production and Tea Products ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2551 นี้ครับ แต่กำหนดส่ง abstract ยังไม่หมดครับ จะหมดวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ยังพอมีเวลาเขียนส่ง การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันเกษตรใกล้เขตร้อนแห่งมลรัฐหูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 10 ปีของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยครับ ท่านที่เคยไปมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็คงจะทราบดีถึงความสวยงามของภูมิทัศน์ ทั้งสภาพภูมิประเทศ และ อาคารต่างๆในมหาวิทยาลัย สวยงามประดุจรีสอร์ทเชียวครับ เท่าที่ผมทราบ ผมไม่เคยได้เห็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องของชาในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากเลยสำหรับผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับชา ทั้งผู้ปลูก ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้สนับสนุนและส่งเสริมวิชาชีพทางด้านนี้ ตัวผมเองก็คิดจะไปร่วมงานนี้ โดยการส่งผลงานเกี่ยวกับ Electronic Nose หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ดมชา เพื่อควบคุมการผลิต และคุมคุณภาพการหมักใบชา อีกงานที่จะส่งไปก็คือการนำเทคโนโลยี Smart Farm ไปใช้ในไร่ชา


เนื้อหาของการประชุมจะมีการบรรยายโดยผู้แทนจาก EU เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของใบชา การรายงานสถานภาพเกี่ยวกับการผลิตชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชา จากผู้แทนของประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน และเวียดนาม การเสนอผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชาทั้งแบบ Oral และ Poster การเสวนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการทัวร์ไร่ชาที่ดอยแม่สลอง โรงงานผลิตชาในจังหวัดเชียงราย การเยี่ยมชมโครงการหลวงดอยตุง งานประชุมนี้จึงมีความน่าสนใจหลายๆอย่าง ที่ไม่รู้ว่าจะมีแบบนี้อีกครั้งเมื่อไหร่ ..... น่าไปจริงๆ ครับ ........


(ภาพบน - บรรยากาศของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสวยงามติดอันดับประเทศ)

21 ตุลาคม 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 3)


วันนี้มาคุยต่อนะครับถึงการเกษตรแนวใหม่ ซึ่งย้ายการผลิตพืชพรรณธัญญาหาร จากชนบท มาสู่ตึกสูงในเมือง ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากนี้ การเกษตรจะเป็นเรื่องของความแม่นยำ ไม่ต้องปล่อยให้ดินฟ้าอากาศมาเป็นผู้ตัดสินอีกต่อไปแล้วครับ ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เสนอแนวคิดนี้คงจะดีใจไม่น้อยครับ ที่กรรมการเมือง Las Vegas ได้ตัดสินใจที่จะก่อสร้างอาคารสำหรับทำ Vertical Farming ขึ้นที่มหานคร Las Vegas ด้วยงบประมาณสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหวังว่าการทำไร่บนตึกสูงนี้จะทำกำไรด้วยความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรได้ 72,000 คน และยังจะเป็นจุดท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งหากมองในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว การสร้าง Vertical Farm ในเมืองอย่าง Las Vegas ที่อยู่กลางทะเลทราย เป็นอะไรที่เข้าท่าเข้าทางมาก เพราะจะทำให้เมืองนี้สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหารได้ ทำให้ลดการขนส่งอาหารเข้ามาจากแหล่งอื่น อาคารสำหรับทำไร่แห่งนี้จะปลูกพืชกว่า 100 ชนิด ซึ่งรวมทั้งสตอเบอร์รี่ กล้วย ถั่วต่างๆ ซึ่งก็จะส่งพืชผลเหล่านั้นหล่อเลี้ยงโรงแรม และคาสิโนต่างๆ โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้วครับ ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการในปี ค.ศ. 2010

04 ตุลาคม 2551

เซลล์สุริยะสาหร่าย - Algae Solar Cell (ตอนที่ 3)



วันนี้ผมขอมาคุยให้ฟังต่อเรื่อง การผลิตพลังงานจากสาหร่าย กันอีกครั้งครับ เพราะกระแส Algae Solar Cell นี่มาแรงจริงๆ ครับ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการตื่นตัวเรื่องนี้มาก ถึงขนาดที่ว่ามีชมรมที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเผยแพร่วิธีการทำฟาร์มน้ำมันสาหร่าย แบบเปิดให้ดูหมด (ในภาษาไอทีเขาเรียกว่า Open Source ครับ) ชมรมนี้เรียกว่า algOS (algae Open Source) ชมรมนี้ต้องการให้ใครก็ได้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร คนทั่วไป บริษัท จากทั่วทั้งโลก มาร่วมกันเปิดเผยข้อมูลที่พอจะให้ได้ เพื่อมาสร้างสูตรการทำฟาร์มสาหร่ายเพื่อการผลิตน้ำมันร่วมกัน โดยอาศัยความได้เปรียบที่ว่า (1) สาหร่ายเป็นพืชที่ให้น้ำมันได้สูงมาก เป็นร้อยเท่าของถั่วเหลืองเลยครับ (2) สาหร่ายปลูกที่ไหนก็ได้ เพราะไม่ต้องอาศัยดิน ปลูกในท่อปลูกก็ได้ (3) สาหร่ายไม่ใช่อาหารของคน หรือ สัตว์ที่คนเลี้ยง ไม่เหมือน ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เนื่องจากตอนนี้บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาลงทุนทางด้านนี้ ทางชมรมนี้เขาก็กลัวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้จะถือครองสูตรการทำ แล้วอีกหน่อยก็จะควบคุมพลังงานสาหร่าย ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคต ชมรมนี้จึงต้องการสร้างอำนาจการต่อรอง ด้วยการทำสูตรที่เป็นสาธารณะ เพื่อให้เกษตรกร บริษัทขนาดกลาง ตลอดจนผู้สนใจจะก่อตั้งธุรกิจนี้ เอาไปทำเองก็ได้ การเลี้ยงสาหร่ายสามารถทำได้ทั้งในระดับใช้กันเองในชุมชน ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไปจนถึงการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยผมมองว่าการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจจะทำได้ไม่กี่แห่ง เพราะประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่พื้นดินเหมาะไปทำอาหารมากกว่า การทำฟาร์มสาหร่ายควรไปทำในที่ๆ ไม่ต้องใช้พื้นดินทำเกษตร เช่น ทะเลทราย หรือ บริเวณดินเค็ม ดินเสีย ที่ทำเกษตรไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่ค่อยมีหรอกครับในประเทศที่อุดมสมบูรณ์อย่างบ้านเรา algOS เขาพยายามทำคู่มือให้ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงการผลิตน้ำมันเลยครับ วันหลังผมจะมาคุยต่อนะครับ .....