27 กันยายน 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 4)


วันนี้มาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ ครั้งล่าสุดที่คุยเรื่องความฉลาดของต้นไม้ (ตอนที่ 3) นั้นคือวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ครับ ตอนแรกก็คิดว่าจะปิดประเด็นเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ที่ต้องมาคุยเรื่องนี้ต่ออีกก็เพราะว่าเมื่อต้นเดือนกันยายน 2551 นี้เอง ได้มีรายงานวิจัยในวารสาร Biogeoscience (T. Karl, A. Guenther, A. Turnipseed, E.G. Patton, K. Jardine. Chemical sensing of plant stress at the ecosystem scale. Biogeosciences, September 8, 2008) ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความฉลาดรู้รักษาตัวรอดของพืช โดยผู้รายงานนั้นเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สังกัดศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (National Center for Atmospheric Research เรียกย่อๆ ว่า NCAR) ซึ่งนำโดย Thomas Karl ซึ่งได้ค้นพบว่าต้นวอลนัทมีความสามารถในการปล่อยสารเคมีในกลุ่มเดียวกับยาแอสไพริน (ที่พวกเราทานแก้ลดไข้ ปวดหัว นั่นแหล่ะครับ) ออกมาเมื่อพวกมันมีอาการเครียด

การค้นพบโดยบังเอิญนี้เกิดขึ้นในขณะที่นักวิจัยได้เก็บไอระเหยอินทรีย์จากป่าวอลนัท เพื่อเอาไปตรวจสอบมลพิษของอาณาบริเวณนั้น เนื่องจากไอระเหยอินทรีย์เหล่านี้เมื่อมารวมกับไอเสียจากอุตสาหกรรม ก็จะบอกระดับมลภาวะแถวๆ นั้นได้ คณะวิจัยต้องตกตะลึงเมื่อพบไอโมเลกุลของสารประเภทแอสไพริน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อพืชเจอกับสภาวะอันตราย เช่น ฝนแล้ง อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ความร้อนหรือหนาวเย็นนอกฤดูกาล นักวิจัยได้เก็บไอระเหยนี้ที่ระดับความสูง 30 เมตรจากพื้นดิน แล้วพบว่าสารกลุ่มนี้ ที่ปล่อยออกมาจากป่าแห่งนี้ มีปริมาณสูงถึง 0.025 มิลลิกรัมต่อตารางฟุตต่อชั่วโมง คณะวิจัยมีเชื่อว่าสารกลุ่มแอสไพรินที่พืชปล่อยออกมานี้ ทำหน้าที่อย่างน้อย 2 ประการคือ ประการแรกมันช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืช ให้ตื่นตัวและเริ่มกระบวนการปกป้องตัวเอง ประการที่สอง สารที่ปล่อยออกมานั้นล่องลอยกินอาณาบริเวณ ซึ่งจะช่วยเตือนภัยแก่ญาติๆของมัน ซึ่งก็เป็นการสื่อสารส่งข่าวบอกกันและกันด้วย นักวิจัยหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าดูพืช ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรสามารถตรวจรู้ภัยคุกคามที่มีต่อพืชได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ความรู้สึกของพืชต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความเครียดของพืช ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรจะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้ว เช่น ใบแห้งตาย หรือมีหนอนกระจายทั้งไร่

24 กันยายน 2551

โรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่


เมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีเกษตรหญิงของเนเธอแลนด์ นาง Gerda Verburg ได้ออกมาประกาศว่า กระทรวงของเธอจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าโรงนี้จะนำขี้ไก่จำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณที่ไก่ทั้งประเทศอึออกมาทั้งหมด เพื่อมาปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งก็จะได้ไฟฟ้ามากถึง 36.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอจะหล่อเลี้ยงบ้านเรือนได้ถึง 90,000 หลัง ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานขี้ไก่นี้มีเยอะครับ ข้อหนึ่งก็คือมันให้พลังงานไฟฟ้าแบบเหมือนได้มาเปล่าๆ (ซึ่งไม่จริงหรอกครับ เพราะจริงๆแล้ว ก็มีต้นทุนในการขนส่งขี้ไก่มาป้อนโรงไฟฟ้า) ข้อสองของเสียที่เป็นขี้ไก่จากฟาร์มไก่ก็จะถูกกำจัดไปโดย แทนที่เกษตรกรจะเสียเงินเพื่อมาหาทางกำจัด ตรงข้ามจะได้เงินจากการขายขี้ไก่เพิ่มมาอีก ผมเคยไปเยี่ยมชมฟาร์มไก่ที่ จ.นครสวรรค์ เขามีปัญหาเรื่องขี้ไก่ที่อยากกำจัด โดยคิดจะทำก๊าซชีวมวล แต่ก็ต้องใช้เงินทุน แถมหากเป็นฟาร์มที่ไม่ใหญ่พอก็อาจมีขี้ไก่ไม่พอปั่นไฟ หรือถ้าปั่นไฟได้มากก็จะมีปัญหาว่าจะนำไฟฟ้าที่เหลือไปทำอะไร ข้อสาม การปั่นไฟจากขี้ไก่ ช่วยลดโลกร้อนได้ 2 ต่อครับ ต่อแรกคือการปั่นไฟแบบนี้ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงไม่นำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเผา ต่อที่สองคือ การปั่นไฟแบบนี้เป็นการนำก๊าซมีเธน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมาเผาเปลี่ยนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็เป็นก๊าซเรือนกระจกเหมือนกัน แต่คาร์บอนไดออกไซด์นี้พืชสามารถเปลี่ยนหมุนเวียนกลับมาได้ ในขณะที่มีเธนซึ่งเกิดจากการทำปศุสัตว์นั้น จะลอยอยู่ชั้นบนของบรรยากาศและไม่มีการหมุนเวียนในระบบนิเวศน์ ทำให้การทำปศุสัตว์เป็นอาชีพที่ทำให้โลกร้อนอันดับต้นๆของโลก


โรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่ที่มีมูลค่าประมาณ 150 ล้านยูโรนี้ จะเปลี่ยนขี้ไก่ปีละ 440,000 ตัน ไปเป็นพลังงานได้ 270 ล้านหน่วย เศษของขี้ไก่ที่เหลือจากการเผาก๊าซมีเธนสามารถนำไปทำปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงไก่ และส่งออกไก่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงเวลาหรือยังครับที่คนไทยจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากขี้ไก่ ????

21 กันยายน 2551

Energy Farm & Micropower (ตอนที่ 2)


วันนี้มาเล่าต่อถึงแนวโน้มของการผลิตพลังงานใช้เองกันในบ้าน หรือ ชุมชน ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาแรงมาก ซึ่งทำให้ในขณะนี้การผลิตกระแสไฟฟ้าระดับชุมชน หรือ micropower มีกำลังผลิตทั่วโลกมากกว่า 16% ของไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ทั้งโลก (ข้อมูลจาก International Energy Agency ปี ค.ศ. 2006) แซงหน้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นไปแล้วครับ ประเทศสวีเดนถึงกับประกาศว่า ในปี ค.ศ. 2020 จะหยุดนำเข้าน้ำมันและก๊าซ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานแบบ Micropower และสร้าง Energy Farm ให้เพียงพอใช้งานในประเทศ ประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากที่สุดในโลก นั้นเริ่ม Micropower มาก่อนใครเลยครับ เพราะเขาทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ทำให้วันนี้เดนมาร์กเป็นประเทศที่เดือดร้อนจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 น้อยที่สุด ทุกวันนี้เดนมาร์กผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าไม่ถึง 33% ที่เหลือผลิตจากบ้านและชุมชนทั้งหมด เดนมาร์กเป็นประเทศที่จำนวนการใช้พลังงานต่อ GDP ต่ำที่สุดในโลก เดนมาร์กยังเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงมากครับ เขามีโครงการ Energy Internet คือทำให้พลังงานไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อโยงใยกันทั้งกลุ่มสแกนดิเนเวีย ในช่วงที่ลมพัดแรงตามชายฝั่งของเดนมาร์ก Wind Farm จะทำงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะส่งข้อมูลไปบอกเขื่อนพลังงานน้ำในประเทศนอร์เวย์ให้หยุดทำงาน เพื่อประหยัดน้ำเอาไว้ใช้ปั่นไฟในช่วงลมสงบ ระบบ Energy Internet ยังเชื่อม Solar Farm และเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบอื่นๆ เช่น Biomass ให้สามารถผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยจะใช้ Smart Meters เพื่อคิดค่าไฟฟ้าที่สอดคล้องกับต้นทุน ณ เวลานั้นๆ

18 กันยายน 2551

เซลล์สุริยะสาหร่าย - Algae Solar Cell (ตอนที่ 2)


ตอนนี้ทั่วโลกกำลังต่อต้านการนำเอาอาหารมาทำเป็นพลังงาน ทั้ง Ethanol จากข้าวโพดและอ้อย ทั้งปาล์มน้ำมัน หรือ แม้กระทั่งพืชที่เป็นอาหารไม่ได้ แต่การปลูกมันมากๆ ก็จะไปรังแกพื้นที่ปลูกอาหาร ผู้คนจึงมาถึงทางตันแล้วว่า ไม่มีทางเลือกอื่นอีกหรือ มีพืชพลังงานอะไรที่ไม่รังแกเกษตรกรรม คำตอบก็คือ มีครับ "สาหร่าย" นี่แหละ เพียงแต่การนำสาหร่ายมาผลิตพลังงานต้องทำแบบฉลาดนะครับ เพื่อไม่ให้มันไปกระทบเกษตรอาหาร ตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความก้าวหน้าด้านนี้ ถึงกับมีบริษัทจัดตั้งใหม่ที่เรียกว่า Start-Up เกิดกันมากมาย เจ้าเซลล์สุริยะสาหร่ายจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาฑิตย์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือ เอธานอล ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่าย โดยนักพันธุวิศวกรรมสามารถปรับเปลี่ยน ตกแต่งยีนของสาหร่ายเหล่านี้ จนกระทั่งได้พันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสาหร่ายมีอัตราการเติบโตที่เร็วมากๆ ประมาณ 30 เท่าของพืชทั่วไป มันจึงสามารถผลิตพลังงานได้เร็วกว่าพืชพลังงานทุกอย่างเลยครับ เนื่องจากสาหร่ายเหล่านี้กินคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นหากสร้างฟาร์มสาหร่ายใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาใช้เลี้ยงสาหร่าย เพื่อจะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลต่ออีกทอดหนึ่งครับ ไอเดียดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจในสหรัฐฯ โดยบริษัท Sunflower ซึ่งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ตกลงจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและป้อนคาร์บอนไดออกไซด์ให้ ฟาร์มสาหร่าย ซึ่งทุกๆ 1.8 ตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะผลิตสาหร่ายได้ 1 ตัน

17 กันยายน 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 2)


เรามาดูเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบเป็นอาคารสำหรับการทำไร่บนตึกกันนะครับ
  • เรื่องพลังงาน อาคารที่ใช้ทำไร่นั้นจะอาศัยพลังงานหมุนเวียนครับ แผง Solar Cell ที่อยู่เหนือยอดตึก ซึ่งสามารถที่จะหมุนตามดวงอาฑิตย์ได้ กังหันลมจะดักลมเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า พืชผักเหลือทิ้ง หรือ มูลสัตว์ที่เลี้ยงในอาคาร จะถูกนำมาทำพลังงานชีวมวล

  • รูปทรงของอาคาร ต้องเป็นทรงกระบอก เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กระจกของอาคารถูกเคลือบด้วย Titania เป็นกระจกที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ จะใสปิ๊งตลอดเวลา

  • อาคารทำไร่ จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ Smart Farm ซึ่งจะทำให้อาคารนี้ทำการเพาะปลูกพืช 24 ชั่วโมง ทั้งปีโดยไม่มีวันหยุด โดยจะมีเซ็นเซอร์ตรวจสภาพแวดล้อม ตรวจการเจริญเติบโตของพืช ตรวจจับแมลง ตรวจจับความสุก ซึ่งสามารถเฝ้าดูจากหน้าจอมอนิเตอร์ของฟาร์ม

  • พืชพรรณที่ปลูกสามารถปลูกได้เกือบทุกอย่าง ทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช สามารถเลี้ยงปลา ไก่ หมู ได้ ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ออกแบบให้อาคารทำไร่นี้ 1 อาคาร สามารถเลี้ยงประชากรได้ 50,000 คน พืชที่ปลูกนั้นจะไม่ใช้ดิน โดยการจุ๋มรากในน้ำ หรือ ในอากาศ (แล้วสเปรย์ความชื้นกับสารอาหารให้) ทำให้สามารถใช้พื้นที่ปลูกแบบ 3 มิติได้ คือสามารถเรียงแปลกปลูกซ้อนๆ กันได้ ต่างจากเกษตรแบบเก่าที่ทำการเพราะปลูกได้เพียง 2 มิติ

  • น้ำที่เกิดจากการคายน้ำของพืชจะมีความบริสุทธิ์สูง เราสามารถเก็บน้ำที่เกิดจากการคายน้ำโดยการใช้ Moisture Collector ซึ่งจะนำน้ำมารวมกัน บรรจุขวดขายได้ เป็นน้ำจากการคายน้ำของพืช ซึ่งจะมีแบรนด์ที่คนสนใจดื่ม ศาสตราจารย์ Dickson Despommier ประมาณว่าในปีหนึ่งๆ อาคารนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้ 300 ล้านลิตร
  • น้ำเสียต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมในอาคารนี้ สามารถกรอง และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อรดน้ำพืชได้ ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาทิ้งน้ำที่บำบัดแล้ว ลงแม่น้ำลำคลองไปเปล่าๆ วันละ 7 พันล้านลิตร การมีระบบหมุนเวียนน้ำ จะทำให้อาคารนี้ผลิตของเสียน้อยมาก และใช้น้ำจากการประปาน้อยลง

13 กันยายน 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 1)

(คล๊กที่รูปเพื่อขยาย)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีก่อนนั้นได้ทิ้งมรดกให้โลกอย่างหนึ่งครับ นั่นคือการแบ่งแยกระหว่างสังคมเมือง กับ สังคมชนบท สังคมเมืองทำงานในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และงานที่ผลิตที่มีมูลค่าสูง ในขณะที่สังคมชนบทนั้นทำเกษตรกรรม แต่สิ่งนั้นจะไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้วล่ะครับ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง ไอที นาโนเทคโนโลยี วิศวกรรมเครื่องกล เทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรรมไฟฟ้า กำลังจะย้ายเกษตรกรรมจากชนบทเข้ามาทำในเมือง ศาสตร์ในการทำการเกษตรแนวใหม่ กำลังได้รับความสนใจจากเจ้าเมือง (City's Governor) ใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ ศาสตร์ที่ว่านั่นคือ เกษตรกรรมบนที่ (ตึก) สูง หรือ Vertical Farming ครับ

ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกแนวคิดของการเกษตรกรรมบนอาคารสูง ท่านเชื่อสุดเชื่อครับว่า การเกษตรแบบใหม่นี้คือทางรอดของมนุษยชาติ โดยกล่าวว่า "อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคนไปเป็น 9.5 พันล้าน แต่ตอนนี้เรากลับใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเกษตรไปแล้วถึง 80% เลยครับ ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อถึงตอนนั้น การเกษตรแบบเดิมจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างไร"

เกษตรแบบใหม่ จะเปลี่ยนการเกษตรจากที่เคยทำในแนวราบในชนบท มาเป็นการเกษตรแบบแนวดิ่งกลางเมืองใหญ่ Vertical Farming จะผลิตอาหารที่สังคมชนบทเคยผลิต ด้วยวิธีการที่ควบคุม พืชผลจะไม่ถูกรบกวนโดยสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พายุฝน ภัยแล้ง ดินเสีย การเกษตรแบบไม่ใช้ดินจะดันยอดผลผลิตขึ้นไปอีก 5-30 เท่า นอกเหนือไปจากนี้ Vertical Farming ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะประมาณกันว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลก 80% จะอาศัยในเมืองใหญ่ ดังนั้นการทำเกษตรกลางเมือง จะทำให้ไม่ต้องมีการขนส่งผลผลิตจากชนบทมาสู่เมือง ผลิตตรงไหน ก็บริโภคกันตรงนั้น อาคารที่ทำฟาร์มอาจมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายผลผลิตให้แก่คนเมืองไปในตัว ในเมื่อสังคมชนบทที่ทำการเกษตรไม่มีความจำเป็นแล้ว เราก็สามารถปล่อยพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการสร้างพท้นที่ป่าบนผืนเกษตรที่ทิ้งแล้ว เพื่อให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ศาสตราจารย์ Despommier คำนวณว่าจะต้องมีการสร้าง Vertical Farm สัก 150 อาคารเพื่อเลี้ยงคนนิวยอร์คทั้งเมือง โดยฟาร์มบนตึกนี้จะผลิตได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ โดยแทบจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากชนบทอีกต่อไป ไอเดียสุดเจ๋งของท่านกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ จนถึง ดูไบ ผมจะมาเล่าต่อในตอนต่อไปนะครับว่า ต้นแบบ Vertical Farm มีหน้าตาอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะประเทศที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างประเทศไทย ได้รับผลกระทบแน่ครับ .........

10 กันยายน 2551

Energy Farm & Micropower (ตอนที่ 1)


แนวโน้มใหญ่ๆของโลกในศตวรรษนี้ จะเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องของการย่อส่วน รถยนต์แห่งอนาคตจะเล็กลง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เล็กลงจนเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคลื่อนที่ จอภาพที่แบนและบางลงเรื่อยๆ แบตเตอรี่ที่ยิ่งวันยิ่งเล็กลง โรงงานในอนาคตจะเป็นโรงงานแบบตั้งโต๊ะ (Desktop Manufacturing) และอีกเรื่องสำคัญที่ผมยังไม่เคยพูดถึงเลยก็คือ โรงไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องของอดีตครับ การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแล้วส่งผ่านสายส่งไปตามบ้านเรือนและธุรกิจ ผ่านระบบกริด จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะในอนาคต ชุมชนต่างๆจะผลิตพลังงานใช้กันได้เอง หรือแม้แต่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังกริดเพื่อขาย


เรื่องของ Energy Farm กำลังกลายมาเป็นกระแสในช่วงนี้ ยุคที่โลกร้อนขึ้นๆ กับน้ำมันที่แพงขึ้นๆ ในประเทศเยอรมัน ณ เมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Freiamt ชุมชนแห่งนี้ได้ติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความสูงกว่า 80 เมตร มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 กังหันลมจำนวน 4 ตัวนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 1.8 เมกะวัตต์ต่อ 1 ตัวเชียวครับ นอกจากนั้นยังมีครัวเรือนอีกกว่า 270 หลังที่ติดตั้งเซลล์สุริยะเพื่อผลิตน้ำร้อนและไฟฟ้า แล้วยังมีโรงสีอีก 2 แห่ง กับโรงงานขนมปัง 1 แห่งที่มีกังหันน้ำที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำได้อีก 15 กิโลวัตต์ ยังไม่พอครับ เกษตรกรที่นั่นเขายังมีการผลิต Biogas จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันความร้อน ซึ่งความร้อนที่ปล่อยออกมา ยังส่งไปตามท่อเพื่อไปใช้อุ่นบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าเล็กๆนี้ ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนนี้ไม่เคยต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกเลยครับ และเมื่อปี ค.ศ. 2007 นี้ ชุมชนนี้ผลิตไฟฟ้าเหลือใช้ถึง 2.3 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) โดยใช้กันทั้งชุมชนจำนวน 12 ล้านหน่วย


นอกจาก Freiamt แล้ว ชุมชนอื่นๆ ทั่วโลกก็กำลังเกาะกระแสพลังงานพอเพียงนี้กันครับ วันหลังผมจะมาเล่าต่อ ........

05 กันยายน 2551

ร่วมกันแก้วิกฤตอาหารโลก


เรื่องวิกฤตข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ว่ากันว่ามันก็มีสัญญาณเตือน มีลางบอกเหตุมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่มีผู้นำประเทศไหนในโลกที่ใส่ใจ ถึงตอนนี้วิกฤตนี้ลามไปทั่วโลกแล้ว วิกฤตอาหารครั้งนี้มีสาเหตุหลักๆ 4 ประการคือ (1) การเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังผลิตลดต่ำลง อันเป็นสาเหตุมาจากไม่มีเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์ดีๆ ปุ๋ย รวมทั้งระบบชลประทาน (2) ปัญหาจากการอุดหนุนให้มีการปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็น Biofuel ทำให้พืชที่เป็นอาหารถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น Ethanol หรือ Biodiesel ก็แย่พอกันครับ ยกเว้นจะผลิตเพื่อใช้อย่างพอเพียงในชุมชน แต่ถ้าคิดจะทำระดับอุตสาหกรรม ถือว่าคิดผิดครับ (3) Climate Change ทำให้ความสามารถในการทำเกษตรลดต่ำลง (4) การบริโภคอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าการผลิตอาหาร โดยเฉพาะจีนและอินเดียมีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งมีการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นในประเทศเหล่านี้ ทำให้อาหารจำพวกธัญพืชถูกนำไปใช้ผลิตเนื้อสัตว์ โลกจึงขาดแคลนธัญพืชสำหรับให้มนุษย์กิน โดยเฉพาะในประเทศจนๆ อย่างแอฟริกา


วิธีแก้วิกฤตอาหารโลกอาจทำได้ 3 ทาง แต่ต้องทำพร้อมๆกันครับคือ (1) จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ชั้นดี ที่ทนแล้งทนโรคได้ (2) ยกเลิกการอุดหนุนการปลูกพืชพลังงานที่ทำร้ายเกษตรกรรมทั้งหมด (ฝรั่งถึงกับประณามโดยใช้คำพูดว่า Biofuel Nonsense เลยครับ) นั่นคือ ไม่เอาพืชอาหารไปทำเชื้อเพลิง ไม่ปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ปลูกพืชอาหาร รวมไปถึงไม่ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชพลังงาน (3) นำเทคโนโลยีไปช่วยเหลือเกษตรกรรมให้มากขึ้น เพื่อให้การเกษตรในยุต Climate Change มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ทำให้เกษตรมีความแม่นยำและทำนายได้มากขึ้น



(ภาพบน - ในฟิลิปปินส์ ทหารต้องเฝ้าโกดังเก็บข้าวอย่างเข้มข้น เพื่อมิให้ประเทศนี้เกิดกลียุค)