ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก ความรู้และวิทยาการด้าน Smart Farm และ เกษตรกรรมความแม่นยำสูง มาพบกับท่านที่นี่ ทุกวัน มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้เป็น ประเทศแห่งเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm Nation)
12 พฤศจิกายน 2557
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 6)
แม้เกษตรกรรมจะไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทยอีกต่อไป แต่ภาคเกษตรก็ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงปากท้องประเทศ เป็นภาคส่วนที่มีฐานประชากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และน่าจะยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ใน AEC จะพยายามแข่งขันกันเพื่อให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ต่างคนต่างมุ่งพัฒนาเพื่อไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่สามารถทิ้งรากเหง้าของเราได้ ด้วยความที่ประเทศไทยมีที่ตั้งที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะจะทำไร่ ทำนา ทำสวน ดังนั้นอย่างไรเสีย เราก็จะยังคงโดดเด่นในเรื่องเกษตรต่อไปอีกนาน ทางที่ดีเราควรจะนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเอง หรือต่อยอดจากคนอื่น มาเสริมสร้างเกษตรกรรมของเราให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเองยิ่งมีความได้เปรียบ และมีความโดดเด่นในสินค้าเกษตรอาหารมากยิ่งขึ้น
แนวคิดหนึ่งที่ทีมวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีทางการทหารมาใช้ในทางการเกษตร เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นไร่นา ทหารเค้ามี 3 เหล่าทัพคือทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ผมก็คิดจะพัฒนาฝูงหุ่นยนต์การเกษตรนี้ให้มี 3 ทัพเหมือนกัน โดยที่จะนำมาเล่าในบทความตอนนี้ จะเป็นหุ่นยนต์ลาดตระเวณทั้ง 3 เหล่าทัพเลย ซึ่งจะเข้ากับหัวข้อ Spy Technology for Farming
(1) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพบก
เจ้าหุ่นทัพบกนี้ จะวิ่งออกทำงานกันเป็นฝูง เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติต่างๆ ในไร่ หรือ สุ่มตัวอย่างๆ ในไร่ ไม่ว่าจะเป็นความชื้นในอากาศเหนือผิวดิน ความชื้นในดิน สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของพืช ลักษณะใบ สภาพผลผลิต และภัยคุกคามต่างๆ โรคพืช วัชพืช และแมลง หัวใจของกองทัพบกคือเซ็นเซอร์หลากหลายชนิดที่ติดตั้งบนหุ่นยนต์ ความสามารถในการสื่อสารและทำงานเป็นฝูงที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการที่มันต้องทำงานได้ด้วยตนเอง (autonomous) ซึ่งทำให้หุ่นยนต์ต้องมีพลังงานเพียงพอที่จะทำงานทั่วไร่ โดยจะต้องมีสถานีให้แวะเติมพลังงาน เมื่อหุ่นยนต์มีแบตเตอรีอ่อน หุ่นยนต์สามารถแวะมาเติมพลังงานได้ ซึ่งหากแบตเตอรีมีไฟไม่เพียงพอ หุ่นยนต์จะหยุดทำงานชั่วคราวในพิกัดที่เหมาะสม เพื่อชาร์จไฟจากแสงอาทิตย์ให้เพียงพอที่จะเดินทางมายังสถานีเติมพลังงานได้
(2) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพเรือ
เจ้าหุ่นทัพเรือนี้ จะถูกปล่อยให้ลอยออกไปตรวจตราและเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นความขุ่น ความลึก ปริมาณออกซิเจนในน้ำ ค่า pH ความเค็ม ปริมาณอินทรีย์สาร ก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมันไปปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบเหนือเขื่อน บึงต่าง ทะเลชายฝั่ง หรือแม้แต่ในพื้นที่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเจ้าหุ่นทัพเรือสามารถจะลอยไปตามพิกัดต่างๆ ที่กำหนด ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมันจะทำงานเป็นเครือข่าย ส่งข้อมูลแบบไร้สายมายังคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตามคุณภาพของน้ำได้อย่างเรียลไทม์
(3) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพอากาศ
เจ้าหุ่นทัพอากาศนี้ มีหน้าที่ตรวจตราทางอากาศ ซึ่งสำหรับการเกษตรจะมีประโยชน์หลายอย่างเลยครับ เช่น การถ่ายภาพสภาพความอุดมสมบูรณ์ของต้นพืช สภาพผลผลิตต่างๆ โดยหากมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่เหมาะสม มันก็สามารถจะตรวจตราหาความผิดปกติในไร่นาได้ จากการที่มันมีต้นทุนที่ต่ำมากๆ ทำให้การบินขึ้นของมันทำได้บ่อยครั้ง และสามารถเก็บภาพของไร่นาได้มากเท่าที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะเก็บข้อมูลสภาพการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณกว้างเพื่อเปรียบเทียบทั้งไร่ได้ง่ายขึ้น เจ้าหุ่นทัพอากาศยังสามารถใช้สนับสนุนทัพบก และทัพเรือได้เป็นอย่างดี เช่น เราอาจจะดัดแปลงให้หุ่นยนต์ทัพบก หรือ หุ่นยนต์ทัพเรือสามารถปล่อยเจ้าหุ่นทัพอากาศจากพิกัดใดๆ ก็ได้ แล้วให้บินกลับมาลงบนหุ่นยนต์แม่ ทำให้เราสามารถมีข้อมูลทั้งบนบก ในน้ำ และทางอากาศของพื้นที่การเกษตรได้ครบถ้วน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการทหาร เมื่อนำมาปรับใช้สำหรับการเกษตร มันก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้มากมายจริงๆ ครับ
Labels:
agritronics,
drone,
robot farming,
smart farm,
UAV