พูดถึงประเทศเกษตรกรรมอย่างเรา มักจะถูกปรามาสว่าล้าหลัง ยากจน จนทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกหันไปพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม จนมีผลให้แหล่งผลิตอาหารของโลกลดน้อยถอยลง ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย เคยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลับถูกรุกรานโดยกิจกรรมอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ไปตั้งที่ไหนก็ได้ แต่กลับมาตั้งอยู่บนที่ดินสามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกได้ เกษตรสมัยใหม่จึงต้องหนีไปอยู่ในที่ใหม่ ที่ซึ่งผืนดินอาจไม่ดีที่สุด เทคโนโลยีสมัยใหม่จึงต้องเข้ามาช่วยทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือทำได้ไม่ดี ให้เป็นสิ่งที่ทำดีให้ได้ ช่วงนี้ศาสตร์ของการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาช่วยในเรื่องของการผลิตอาหารเลยกำลังฮอตฮิต ประเทศที่ทำเกษตรอยู่อย่างประเทศไทยก็เลยกระดี้กระด้ากับโอกาสทองที่จะมาถึง ในขณะที่ประเทศที่ทิ้งเกษตรกรรมไปนานแล้วอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็คิดจะกลับมาหาเกษตรอีก แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาอาหารโดยเฉพาะข้าว ยังไงก็จะมีแต่แพงขึ้น และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศที่ทิ้งเกษตรไปแล้วจะกลับมาเร่งผลิตอาหารได้อีก คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการผลิตอาหารที่เรียกกันว่า Food Science นั้น เมื่อก่อนก็คงเป็นเรื่องของเคมี หรือ ชีววิทยา ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตหรือสร้างสรรอาหาร ในบ้านเรา Food Science ก็เรียนกันแต่เรื่องของกระบวนการแปรรูปอาหาร ด้วยวิธีการต่างๆนานา การใช้จุลินทรีย์ การอบ การทอด การแปรรูปอาหาร แต่ว่าศาสตร์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาที่เรียกว่า Sciences for Food นี้กำลังจะทำให้ Food Science กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเลย เพราะศาสตร์ใหม่นี้จะเป็นเรื่องของแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรอาหาร ที่ไม่จำกัดอยู่แค่เคมีและชีววิทยาของอาหารเท่านั้น แต่จะไปถึงเรื่องใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในวงการผลิตอาหารซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น เกษตรกรรมแม่นยำสูง ไร่นาอัจฉริยะ ฟาร์มฉลาด บรรจุภัณฑ์ฉลาด ฉลากอัจฉริยะ หรือแม้แต่อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะทางได้ ซึ่งแน่นอน นักเทคโนโลยีหน้าใหม่ๆ ไม่ใช่นักเทคโนโลยีอาหารหน้าเดิมๆ ที่จะเข้ามาปฏิวัติวงการอาหาร ทำให้วงการอาหารโลกเปลี่ยนโฉมไปอย่างมากในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ล่ะครับ .................................