07 พฤษภาคม 2561

เกษตรกรมาเลย์ตื่น ! ทิ้งสวนปาล์ม แห่ปลูกทุเรียน - หลังกระแส มูซัง คิง เริ่มฮิตในจีน




ยุคบูมทุเรียน .. เกษตรกร มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน พม่า หันมาปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
.
เกษตรกรสวนปาล์มทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ในมาเลเซีย .. ทยอยเปลี่ยนสวนปาล์มมาเป็นสวนทุเรียน จากที่มาเลเซีย เคยเปลี่ยนจากปลูกยางพารา มาปลูกปาล์ม จนกลายเป็นมหาอำนาจน้ำมันปาล์ม .. วันนี้ เมื่อกระแสฮิตทุเรียนระเบิดระเบ้อในเมืองจีน ประกอบกับ คนจีนเริ่มให้ความสนใจทุเรียนมาเลย์ "มูซังคิง" ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ด้วยราคาอันจูงใจ .. ในภายภาคหน้า เวลาเราเดินทางไปลงสนามบินกัวลาลัมเปอร์ เราอาจจะได้เห็นสวนทุเรียน กว้างใหญ่ไพศาล สุดลูกหู ลูกตา ก็เป็นได้
.
เมื่อพูดถึงรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มูซังคิง ในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี เป็นอย่างน้อย มากเป็น 9 เท่า เทียบกับ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ทำให้เกษตรกรรายเล็ก รายน้อย ของมาเลเซียเริ่มตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยถึงแม้นักวิจารณ์จะบอกว่า ถ้าแห่ปลูกกันมาก ราคาก็อาจจะตกก็ได้ .. แต่เกษตรกรต่างก็คิดว่า ก็ยังดีกว่าปลูกปาล์มในตอนนี้แหล่ะ โดยเฉพาะมาเลเซียมีพื้นที่ที่เป็นที่ลาดชันค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะเหมาะกับทุเรียน มากกว่าปาล์ม ด้วยซ้ำ



จากสถิติการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศจีนนั้น ในปี ค.ศ. 2016 จีนนำเข้าทุเรียนสด มากถึง 612,063 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งเมืองไทยเรานั้น ได้ส่วนแบ่งตรงนี้ไปมากกว่า 99% ในขณะที่มาเลเซียนั้น ส่งทุเรียนไปเมืองจีน ในรูปทุเรียนแช่แข็ง เป็นหลัก แล้วก็ยังส่งไม่มากนัก เมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเพียง 14,000 ตัน เท่านั้น .. อย่างไรก็ตาม มาเลเซียกำลังพยายามดำเนินการ เพื่อให้สามารถส่งทุเรียนสด เข้าเมืองจีนโดยตรงได้ (ปัจจุบันต้องส่งผ่าน ไทย และ ฮ่องกง)
.
อย่างไรก็ตาม การหันมาปลูกทุเรียน ก็เป็นเรื่องท้าทายของเกษตรกรมาเลย์ ทุเรียนต้องการดูแลเอาใจใส่มากกว่าปาล์มเยอะ พื้นที่ห่างกันแค่ 50 เมตร ก็มีผลทำให้ทุเรียนที่ออกมามีคุณภาพต่างกันแล้ว ทำให้ในสวนเดียวกัน ก็ยากที่จะทำให้ทุเรียนมีรสชาติเหมือนกันได้ .. ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ปลูกที่ต่างพื้นที่กัน ก็ผลิตทุเรียนที่อร่อยแตกต่างกันอย่างแน่นอน
.


นอกจากกระแสตื่นตัวแห่ปลูกทุเรียน จะระบาดในประเทศมาเลเซียแล้ว ยังเชื่อกันว่า เกษตรกรในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน พม่า ก็เริ่มตื่นตัวหันมาปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เกษตรกรมาเลย์ ก็จะต้องเตรียมรับมือการแข่งขันต่างๆ ด้วย ซึ่งเชื่อว่า เทคโนโลยีในการเพาะปลูกจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำ ซึ่งถ้ามองในจุดนี้แล้ว ประเทศที่อาจเข้ามาเป็นคู่แข่งเรื่องทุเรียนในอนาคต ก็อาจเป็น ออสเตรเลีย ก็เป็นได้ ?!?! เพราะในอดีตที่ผ่านมา ออสเตรเลียก็ผันตัวเองมาเป็นประเทศผู้ปลูกผลไม้ส่งออก ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง กล้วย มะละกอ .. และออสเตรเลีย ก็เริ่มหันมาสนใจปลูกทุเรียน แล้ว !!
.


อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from http://www.theedgemarkets.com/article/choosing-between-oil-palm-and-durian-trees
- Data from http://worldnews.easybranches.com/regions/asia/a-durian-economy-malaysia-is-banking-on-it-562101
- Data from http://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2140226/14000-tonnes-durians-exported-malaysia-last-year
- Data from http://www.freshplaza.com/article/192096/Great-potential-for-refrigerated-Malaysian-Musang-King-durians-in-China
- Data from https://www.thestar.com.my/news/nation/2018/03/23/liow-were-working-to-export-durians-directly-to-china/
- Data from http://www.scmp.com/news/hong-kong/economy/article/2122620/how-chinas-soaring-appetite-malaysian-durians-causing-spike