03 มีนาคม 2556

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 5)




เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้ทยอยสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อมาประกอบเป็นอากาศยานจิ๋ว (Micro Air Vehicle หรือ MAV) ซึ่งจริงๆ ก็คืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV หรือเรียกกันทั่วไปว่า drone) แบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่มันมีขนาดที่เล็กลงไปมากๆ ในปีที่ผ่านมากระแสในเรื่องของ drone นี่ถือว่าจุดพลุกันดังระเบิดเถิดเถิง ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นกิจกรรม drone ในภาคพลเรือนอย่างแท้จริง เกิดธุรกิจที่ขาย drone สำหรับพลเรือนอย่างเป็นจริงเป็นจัง สามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ อย่างของผมที่สั่งไปนี่ สั่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืนวันอาทิตย์ ตอนบ่ายวันพฤหัสบดีของก็มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พอเช้าวันศุกร์ บริษัท FedEx ก็นัดขอเอาของเข้ามาส่งเลย เด็กๆ ในแล็ปดีใจกันใหญ่ เอาของออกมาประกอบแล้วเอาออกไปลองบินเล่นที่สนามหญ้าของคณะวิทยาศาสตร์ในอีกวันต่อมา ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างสั่งชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน และการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การเก็บภาพ การเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็จะสามารถนำไปใช้ทดลองปฏิบัติงานที่ไร่ได้ โดยทางทีมวิจัยจะมีการดัดแปลงตัว drone รวมทั้งการพัฒนาเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งเข้าไปที่ตัว drone นี้ เพื่อให้เหมาะกับการปฏิบัติภารกิจทางด้านการเกษตร

สมาคมระบบอากาศยานไร้คนขับนานาชาติ (Association for Unmanned Vehicle Systems International หรือ AUVSI) คาดหมายว่าตลาดของ drone ในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มเคลื่อนย้ายจากการทหารและการป้องกันประเทศ กลับมาใช้งานในประเทศมากขึ้น ถึงแม้กองทัพอากาศในสหรัฐฯ ในอนาคตจะมีเป้าหมายที่จะเป็นกองทัพแห่งเครื่องบินไร้นักบินก็ตาม จำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นนอกกองทัพจะมีมากมายเหลือคณานับในภาคประชาชน จนทำให้ตลาดเชิงพาณิชย์ของภาคพลเรือนน่าเร้าใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตมากกว่า โดยตลาดในปีนี้น่าจะเริ่มจากความต้องการในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจหน่วยต่างๆ รวมทั้งตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตระเวณชายแดน แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ทาง AUVSI มั่นใจเป็นอย่างมากว่า ผู้ใช้ที่จะมีอัตราการเติบโตในการใช้ drone มากที่สุด น่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา จากการสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการใช้งาน drone อย่างเป็นทางการโดย FAA (องค์การบริหารการบิน) พบว่าในปี ค.ศ. 2012 มีผู้มาขอและได้ใบอนุญาตในการใช้งาน drone ซึ่งเป็นองค์กรตำรวจจำนวน 17 หน่วยงาน และ  มหาวิทยาลัย 21 หน่วยงาน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตที่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต้องการนำไปใช้ทางด้านการเกษตร

ข้อมูลจากทางญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเดียวกัน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 2010 มีการนำ drone ไปใช้ในการพ่นยาและสารเคมีทางการเกษตรในญี่ปุ่นจำนวน 2,300 ลำ ทำให้ตัวเลขการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการพ่นสารเคมีในญี่ปุ่นที่เคยมีมากถึง 1,328 เฮกตาร์ในปี 1995 ลดเหลือเพียง 57 เฮกตาร์ในปี 2011 โดยมีจำนวนการใช้ drone เพื่อทำงานแทนมากถึง 1,000 เฮกตาร์ บริษัท CropCam ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำตลาดเครื่องบินเล็ก drone สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศในไร่นาด้วยสนนราคา 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งขายดิบขายดีมาก แม้แต่ข้างบ้านเราคือประเทศมาเลเซียก็เป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้น่าคิดว่า การใช้งาน drone ทางด้านการเกษตรในประเทศมาเลเซียน่าจะกำลังเติบโต drone ของบริษัทนี้มีน้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม มีความยาวของลำตัว 4 ฟุต ความยาวปีก 8 ฟุต แต่บริษัทบอกว่าเครื่องบิน drone ตัวนี้สามารถที่บินสู่อากาศด้วยการปล่อยด้วยมือ ไม่ต้องใช้รันเวย์แต่อย่างใด สามารถบินได้สูงตั้งแต่ 400 จนถึง 2,200 ฟุต ได้นานถึง 55 นาที วัตถุประสงค์หลักของ drone ตัวนี้จะเน้นไปที่การถ่ายภาพทางอากาศสำหรับใช้งานทางด้านการเกษตร สำหรับผมแล้ว ด้วยภารกิจที่ทำได้เพียงอย่างเดียว กับเงินที่ต้องลงทุนเป็นแสนๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ดังนั้น ทีมวิจัยของเราจึงสนใจเทคโนโลยีแบบเครื่องบินปีกหมุนมากกว่า ซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก

ในไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า เราจะต้องเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคม AEC การเกษตรถือว่าเป็นด้านหนึ่งที่ประเทศมีความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน drone เพื่อการเกษตรจึงเป็นความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามพัฒนาให้ถึงจุดที่เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่ประเทศใน AEC ได้

02 มีนาคม 2556

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 4)



สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคตก็คือ จะมีอากาศยานขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Air Vehicle หรือ MAV บินว่อนไปทั่วในเรือกสวน ไร่นา ฟาร์มเกษตรต่างๆ เจ้า MAV นี้จะบินสำรวจทำแผนที่ เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในไร่ ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ลม ความชื้น สารเคมี แมลง สภาพผลผลิต และอื่นๆ มันจะทำงานกันเป็นฝูง บินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม เกษตรกรเพียงแค่หยิบ Tablet ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์แจก แล้วมากำหนดโคออร์ดิเนตบนแผนที่ว่า วันนี้จะให้เจ้า MAV บินไปเก็บข้อมูลที่บริเวณใดบ้าง โดยเจ้า MAV จะทำหน้าที่ของมัน เมื่อมันได้ข้อมูลแล้ว มันจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) กลับมายัง Data Server ของไร่ จากนั้นเครื่องเซิฟเวอร์ในไร่ จะส่งข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (อาจจะเป็นระบบ 3G ของ AIS หรือสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตของ CAT Telecom ก็แล้วแต่) ไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งข้อมูลทางด้านการเกษตรของไร่ จะถูกแชร์ต่อให้เกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือคนละจังหวัดก็ได้ ที่สนใจในพืชชนิดเดียวกัน ผ่านทาง Facebook, Twitter, Dropbox และอื่นๆ รวมไปถึง Agri-Net ซึ่งอาจจะมีขึ้นในอนาคต (ผมอาจจะทำก็ได้นะครับ ถ้าไม่มีใครทำ)

อ้าว ... ผมกำลังฝันกลางวันอีกแล้วหรอเนี่ย (จริงๆ ตอนนี้ ตอนที่ผมเขียนอยู่นี้เป็นช่วงหัวค่ำนะครับ) แต่ ... อย่าเพิ่งดูถูกนะครับ สิ่งที่ผมฝันนี้ มันต้องเกิดขึ้นแน่นอนครับ แต่จะเมื่อไหร่ละก็ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่นานหรอกครับเพราะจริงๆ แล้ว ใครจะเชื่อละครับว่า ตอนนี้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicles หรือ drone ซึ่งมีราคานับร้อยล้านบาท จะถูกก๊อปปี้มาผลิตขายได้ในราคาประมาณหมื่นกว่าบาทแล้วครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน drone พวกนี้จะบินว่อนไปทั่ว เรียกว่ายุคที่ "ใครๆ ก็บินได้" ของจริงมาถึงแล้ว

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีที่ถือเป็นกุญแจหลักของเจ้า MAV หรือ drone ก็คือระบบ autopilot (ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ) ซึ่งปัจจุบันระบบนี้มีใช้ในเครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เครื่องบินสามารถบินได้เอง โดยไม่ต้องควบคุมจากนักบินเลยก็ได้ เครื่องบินสามารถบินขึ้นเอง รักษาการบิน และบินลงได้เอง เพียงแต่ตามกฎการบินพาณิชย์นาวีในปัจจุบันนี้ มีข้อบังคับห้ามนักบินใช้ระบบนี้สำหรับบินขึ้น เท่านั้น

ระบบ autopilot นี้ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์วัดความเร็ว ความดันอากาศ ความเฉื่อย มิติทิศทาง สนามแม่เหล็ก ความเร่ง และพิกัด (GPS) ซึ่งในปัจจุบันนี้ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทั้งหมดไปอยู่รวมกันในชิพเพียงชิพเดียวก็ได้ ด้วยสนนราคาเพียง 600 บาทเท่านั้น อะไรจะขนาดนั้น สมองกลของ drone ขนาดเล็กในปัจจุบันก็เอามาจากพวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายล่ะครับ ทำให้นักเทคโนโลยีทางด้านนี้ต่างเรียกเจ้า MAV หรือ drone ขนาดเล็กเหล่านี้ว่า สมาร์ทโฟนบินได้ 

อีกไม่นานครับ เจ้าสมาร์ทโฟนบินได้ จะขึ้นไปวาดลวดลายบนท้องฟ้า เพื่อนำพาเกษตรไทยให้เป็นเจ้าอาเซียน

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 3)



(ภาพจาก www.petapixel.com)

พอผมพูดเกี่ยวกับเรื่อง UAV หรือ drone สำหรับการเกษตรไปสักสัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าตื่นเต้นออกมาแล้วครับ เพราะเมื่อ 2-3 วันก่อน บริษัท Rotary Robotics ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการทางด้านวิศวกรรมอากาศยานอัตโนมัติ ซึ่งก็รวมถึง drone ด้วยได้ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนา drone ราคาถูกสำหรับประชาชนทั่วไป สนนราคาที่ตั้งใจไว้คือ 100 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,100 บาท) ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Drones for Peace แต่ในระยะแรก ราคาที่พอทำได้คือที่ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 8000 บาท) ซึ่งผมคิดว่าราคาแค่นี้ถือว่าถูกมากๆ แล้วกับสิ่งที่มันทำได้

drone ของ Rotary Robotics บินที่ความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมันจะทำการบินแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยการปรับแต่งเส้นทางการบินด้วย app บนสมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน หรือ แอนดรอยด์ ซึ่งหน้าที่หลักของ drone ประเภทนี้คือการบินขึ้นไปถ่ายภาพ ลองคิดดูสิครับว่า ด้วยเงินไม่ถึงหมื่นบาท เราจะมี drone ส่วนตัว ซึ่งสามารถบินขึ้นไปทำแผนที่ทางอากาศของพื้นที่ที่เราสนใจได้ น่าทึ่งแค่ไหนล่ะครับ ที่อีกไม่นานเราจะมีหุ่นยนต์บินได้ ขึ้นไปบินถ่ายภาพไร่นาของเรา โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ใส่เส้นทางการบินตามแผนที่ Google Map ให้มัน แล้วก็ปล่อยให้มันบินขึ้นไปถ่ายภาพ ซึ่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีประโยชน์มากแล้วครับ เพราะอย่างน้อย เราก็จะได้ภาพมุมสูงของเรือกสวนไร่นาของเรา ซึ่งหากเราถ่ายภาพในช่วงต่างๆ ของการเพาะปลูก ก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบให้ได้เห็นข้อมูลบางอย่าง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการเก็บภาพบ่อยๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี ก็จะยิ่งทำให้ข้อมูลมีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ไม่แน่นะครับ เลือกตั้งคราวหน้า นอกจากเด็ก ป. 1 จะได้ Tablet กันคนละเครื่องแล้ว เกษตรกรทุกคนอาจจะได้รับแจก drone กันคนละลำด้วยก็ได้ครับ .......