31 พฤษภาคม 2560

มาแล้ว "เกษตรกรโซลาร์" (Solar Farmers) - เมื่อเกษตรกรสหรัฐแห่ทำโซลาร์ฟาร์ม !!



เวลาเราพูดถึงโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) เราก็จะหมายถึงโรงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ .. ผมเคยสงสัยมานานแล้วเหมือนกันว่า ทำไมไม่เรียกว่าโซลาร์แพลนท์ (Solar Plant) ก็ในเมื่อเจ้าของโซลาร์ฟาร์มไม่ใช่เกษตรกร (Farmer) ซะหน่อย 

แต่ว่า ต่อไปนี้ เจ้าของโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) จะเป็นเกษตรกร (Farmer) แล้วครับ เพราะตอนนี้ เกษตรกรสหรัฐหันมาเอาดีทางผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กลายมาเป็น "เกษตรกรโซลาร์" หรือ Solar Farmers อย่างแท้จริง !!

.
ว่ากันว่า ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เกษตรกรมากกว่า 1 ใน 4 ติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในไร่นา โดยกระแสนี้กำลังแพร่ระบาดไปยังรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ เกษตรกรส่วนใหญ่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานใช้ภายในไร่ ไม่ว่าจะเป็นการทำความร้อน การทำความเย็น ปั๊มน้ำ ไปจนถึงผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ชุมชนข้างเคียง ... แถมเกษตรกรบางราย เลิกทำเกษตรไปเลยก็มี แล้วหันมาขายไฟฟ้าอย่างเดียวเลยก็มี .. ฟาร์มครอบครัวแห่งหนึ่งในรัฐเมน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐติดตั้งระบบทำความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้ .. ไร่องุ่น ไร่อัลมอนด์ในแคลิฟอร์เนีย ส่วนใหญ่ หันมาติดโซลาร์ฟาร์มเพื่อนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ ไร่องุ่นหลายแห่งติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำของตนเอง ซึ่งทั้งประหยัดพื้นที่ และ ลดการระเหยของน้ำไปในตัวอีกด้วย


.
ปัจจุบัน เกษตรกรในรัฐนอร์ทแคโรไลนา และ แคลิฟอร์เนีย ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วมากถึง 2,866 และ 10,577 เมกะวัตต์ ตามลำดับ !!
.
ในมลรัฐไอโอวานั้น เกษตรกรได้ตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีชื่อว่า Farmers Electric Cooperative ซึ่งมีรูปแบบเป็นสหกรณ์ผลิตไฟฟ้า คล้ายๆ กับในเมืองไทยที่กำลังพยายามผลักดันอยู่ เพียงแต่ของเขานั้นมีการเชื่อมระบบผลิตหลายๆ แบบทั้งจากแบบตั้งพื้น บนหลังคาฟาร์ม ซึ่งรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากมันทำเงินได้ดี และ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็อายุมากขึ้น
.
ใน ปี ค.ศ. 2015 กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรจำนวน 280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,500 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในฟาร์มเกษตร
.
เชื่อว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ของเกษตรกร จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเรื่องดี โดยการผลิตพลังงานสะอาดจะช่วยหักล้างค่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเกษตร รายได้จากการขายไฟฟ้าของเกษตรกรยังช่วยรักษาเสถียรภาพทางด้านรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรอีกด้วย เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงราคาผลผลิตตกต่ำ ... และนี่ก็คือ ยุคของเกษตรกรโซลาร์ (Smart Farmers) อย่างเต็มตัว ที่สามารถผลิตได้ทั้ง อาหาร และ พลังงาน
.

อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/

Credit : Many Thanks to ....
- Data and Picture from https://www.greenbiz.com/article/cultivating-coexistence-agriculture-and-solar-farms
- Picture from http://www.solaripedia.com/13/147/1369/shafer_solar_vineyard.html
- Picture from http://www.fwi.co.uk/business/scheme-offers-farmers-chance-to-cash-in-rental-income.htm

24 พฤษภาคม 2560

นี่หรือเกษตรกรแห่งอนาคต ? แต่งตัวดี ใส่สูทผูกไทด์ เก็บผักชิลล์ ชิลล์



แนวคิดของเกษตรในร่ม (Indoor Agriculture) การทำฟาร์มแนวดิ่งในอาคาร (Vertical Farm) นั้นเกิดมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีการสร้างกันจริงๆ ในเชิงพาณิชย์ เพราะถูกมองว่าไม่คุ้มค่า .. มีแต่แนวคิด หรือ คนออกแบบมาสวยๆ เก๋ๆ เพื่อทำประกวดกัน หรือไม่ก็ใช้โฆษณาเพื่อหวังบางอย่าง จนกระทั่งใน 1-2 ปีมานี้เองครับ ที่เกิดกระแสบูมโครงการก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักแนวดิ่ง กันอย่างมากมาย และกำลังเป็นเทรนด์ที่ร้อนแรงสุดๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในปีนี้ เริ่มมีการก่อสร้างเรือนปลูกผักแนวดิ่งในหลาย ๆ เมือง แข่งกันเลยทีเดียว ... และในปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาถึงกับจัดโชว์สถาปัตยกรรมเกษตรแนวดิ่งในงาน เวิลด์เอ็กซ์โป ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี กันเลยครับ
..
คนไทยเราอาจจะมองว่ามันไม่ค่อยเข้าท่าหรือไม่คุ้ม ... แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์บอกว่า เมืองใหญ่ทุกเมืองในโลกนี้ อีกหน่อยก็จะมีฟาร์มแนวดิ่งกันเต็มไปหมดครับ !! เมื่อไม่นานมานี้ นครเซี่ยงไฮ้ ก็มีการวางแผนที่จะสร้างคอมเพล็กซ์สำหรับเกษตรกรรมในร่มขนาดใหญ่ในเมืองด้วยนะครับ
..
Vertical Farm หรือ ฟาร์มแนวดิ่ง เป็นแนวคิดในการทำไร่ทำนาในแนวตั้ง โดยใช้พื้นที่บนอาคารสูง และที่สำคัญเป็นการทำการเกษตรในเมือง ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ผู้ที่บุกเบิกแนวคิดนี้คือ ศาสตราจารย์ ดิกสัน เดสพอมเมียร์ (Dickson Despommier) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย .
การทำไร่บนตึกสูงนี้ มีข้อดีหลายอย่างและสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ดังต่อไปนี้ครับ
.
- ในอนาคตอีกไม่นาน ประชากรของโลกส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมือง ประมาณกันว่าในปี ค.ศ. 2050 ประชากร 80% ของโลก (ประมาณ 9 พันล้านคน) จะอาศัยอยู่ในเมือง
.
- แต่การเกษตรในปัจจุบันกระทำกันในพื้นที่ชนบท ห่างไกลจากเมือง นั่นหมายถึงต้องมีการขนส่งมาถึงผู้บริโภค ทำให้ต้องใช้พลังงานมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน หนทาง) ไปกับจำนวนประชากรที่เบาบาง ที่ต้องทำหน้าที่แรงงานในภาคเกษตร


- การย้ายไร่นามาอยู่บนอาคารในเมือง เป็นการผลิตที่ใกล้ผู้บริโภค เป็นการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมให้มีการรบกวนต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เราสามารถคืนผืนดินสู่ธรรมชาติ คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลับกลายเป็นผืนป่าอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Storage) ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เมื่อมีผืนป่า สัตว์ป่าก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง
.
- จะเกิดแรงงานในภาคเกษตรรูปแบบใหม่ ในกระบวนการผลิตอาหารในเมือง จะเกิดฟาร์มเกษตรบนอาคารขึ้นมากมายในเมือง เพื่อเลี้ยงประชากรในเมือง
.
- เราสามารถปลูกพืชได้ทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป หากเรายังทำเกษตรแบบเดิม ก็มีแต่จะต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรในแนวราบ เพื่อจะหล่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลก ทั้งนี้โลกของเราแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ทำการเกษตรได้อีกแล้ว นอกเสียจากจะต้องยอมสูญเสียผืนป่าเขตร้อนอันมีค่า (ตัวอย่าง ป่าอะเมซอน และ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร)
.
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แนวคิดของ Vertical Farm ได้มีการนำไปปฏิบัติทั้งในขั้นของการทดลอง หรือ แม้แต่ในเชิงการค้า เช่น ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน หรือในประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้าของความคิดเอง ในประเทศสิงคโปร์เองนั้น มีแนวคิดที่ จะทำให้เกิด Vertical Farm ทั่วทั้งเกาะเลยทีเดียว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประเทศ
..
รอชมกันต่อไปครับผม
..
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to .....
- Picture from http://architizer.com/blog/pasona-hq-urban-farming-kono-designs/#.UVYgGL9uGM
- Picture from http://eandt.theiet.org/magazine/2015/12/farming-in-cities.cfm
- Picture from https://www.pinterest.com/pin/506655026799634699/

21 พฤษภาคม 2560

ฟิลิปปินส์ สร้างต้นแบบ "นาข้าวอัจฉริยะ (Smart Paddy)" ให้ชาวนาเรียนรู้ วิธีปลูกข้าวแห่งอนาคต




ฟิลิปปินส์ สร้างต้นแบบ "นาข้าวอัจฉริยะ (Smart Paddy)" ให้ชาวนาเรียนรู้ วิธีปลูกข้าวแห่งอนาคต

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประชาชนชอบกินข้าวมากๆ แถมต้องนำเข้าข้าวปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย เพราะมีปัญหาปลูกไม่พอ แต่เขาก็ขยันขันแข็งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการปลูกข้าวมาตลอด ถึงกับมีสถาบันวิจัยข้าวระดับนานาชาติ ตั้งอยู่ในประเทศเลยทีเดียว .. เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันวิจัยข้าวแห่งฟิลิปปินส์ (The Philippine Rice Research Institute หรือ PhilRice) ได้จัดทำโครงการการปลูกข้าวแห่งอนาคต (FutureRice) โดยสถาปนาพื้นที่ทั้งหมด 5 เฮกตาร์ หรือ 31.25 ไร่ ให้เป็นต้นแบบนาข้าวอัจฉริยะ เพื่อที่ชาวนาฟิลิปปินส์จะได้เข้ามาเรียนรู้ เทคโนโลยีต่างๆ แล้วเอากลับไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง ฟาร์มแห่งนี้จะสาธิตการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม การใช้ App บนสมาร์ทโฟน และจักรกลการเกษตร ดูแลพื้นที่เพาะปลูก การใช้พลังงานหมุนเวียนในการเกษตร การใช้ปุ๋ยและยาธรรมชาติ เป็นต้น เป้าหมายคือต้องการให้คนรุ่นใหม่สนใจเกษตรมากขึ้น และ เป็นการสาธิตเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติว่าสามารถทำได้
..
มาดูกันว่า เขามีอะไรดีๆ สาธิตบ้างครับ (คร่าวๆ นะครับ ใครอยากรู้ละเอียดมาก ก็ไปอ่านฉบับเต็มตามลิงค์ข้างล่างครับ)

- ปลูกพืชหลายๆ ชนิด ... ชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าว แต่กลับต้องซื้อผักกิน ดังนั้น ต้องปลูกสิ่งที่เรากินในชีวิตประจำวันด้วย รวมทั้งพืชหมุนเวียนบำรุงดิน ที่ทำรายได้ ที่ว่างตามคันนาจะปล่อยไว้ทำไม เอามาปลูกอะไรซะนะ

- มีแหล่งน้ำของตนเอง กักตุนน้ำตอนมีน้ำเยอะๆ เลี้ยงปลาไปด้วย อีกหน่อยอาจจะใส่โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าไปในตัว

- มีแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้ใช้สูบน้ำให้แสงสว่างในไร่นา FutureRice ยังได้พัฒนาเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากฟางข้าวแบบเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นแบบด้วย

- เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าว ต่อเข้ากับ App บนสมาร์ทโฟน เตือนชาวนาเมื่อต้องสูบน้ำเข้านา โดยสามารถสั่งเครื่องสูบน้ำจากสมาร์ทโฟนได้

- สถานีตรวจวัดอากาศในไร่นา เพื่อเกษตรกรจะได้นำมาวิเคราะห์ผลผลิต และช่วยเตือนภัย

- App บนสมาร์ทโฟน ให้เกษตรกรใช้ดูแลไร่นา และ รับข้อมูลที่มีประโยชน์ในการเพาะปลูกจากหน่วยงานรัฐ
- จักรกลเกษตร 

- พันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ ที่หลากหลาย มีทั้งพันธุ์อร่อย พันธุ์ทนแล้ง ทนน้ำท่วม เกษตรกรเลือกตามความเหมาะสมและเป้าหมาย

- ฟาร์มที่ทนน้ำท่วม ... ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ไต้ฝุ่นเข้า แล้วถ้าน้ำท่วมหล่ะ จะทำไง ก็ต้องทำฟาร์มที่ลอยน้ำได้สิครับ

- ปุ๋ยและยาธรรมชาติ ใช้วิธีธรรมชาติช่วยดูแลฟาร์ม เช่น พันธุ์ไม้ไล่แมลง เป็ดไล่ทุ่ง ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลงมากเลย






.
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data and Picture from https://www.facebook.com/FutureRice/
- Data from http://www.rappler.com/nation/91746-philippine-future-farm-philrice

16 พฤษภาคม 2560

อสังหาฯ 4.0 - เมื่อหมู่บ้านจัดสรร และ คอนโดมิเนียม ทำ "ฟาร์มเกษตร" เอง สร้างงาน สร้างอาหาร ให้ลูกบ้าน



เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาที่จัดโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังเจ้าหนึ่ง โดยในสัมมนานั้น บริษัทนี้ได้เปิดเผยว่า กำลังมองหาธุรกิจใหม่ๆ และความแปลกใหม่เพื่อมาสร้างความน่าอยู่ให้แก่สังคมคอนโดมิเนียม และ หมู่บ้านจัดสรร ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่บริษัทนี้กำลังสนใจอยู่ก็คือ "ฟาร์มแนวดิ่ง" (Vertical Farm) ซึ่งบริษัทกำลังมองหาเทคโนโลยี และ โมเดลทางธุรกิจ เพื่อจัดตั้งฟาร์มเกษตรในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียม และหมู่บ้านจัดสรร แถมยังบอกว่า "ต่อไป ... สโมสรของหมู่บ้าน จะมีฟาร์มเกษตร เราจะปลูกผักเอง โดยลูกบ้านเป็นผู้ดูแล หรือ ผู้สูงวัยในหมู่บ้านอาจจะเข้ามาช่วยดูแลให้โดยมีค่าตอบแทน ซึ่งก็จะทำให้ผู้สูงวัยมีรายได้ และมีความสุขจากการทำฟาร์ม ทำสวน"
.
จะว่าไป .. จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในสหรัฐอเมริกาเองนั้น หมู่บ้านจัดสรรหลายๆ แห่งได้มีการนำเรื่องของฟาร์มเกษตรในหมู่บ้านจัดสรรมาเป็นจุดขายของโครงการมาสักพักแล้ว และตอนนี้ กระแสนี้ก็ได้ระบาดมาถึงคอนโดมิเนียมกลางนครนิวยอร์ค แล้วด้วยครับ
.
อย่างเช่นหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งที่มีมูลค่าโครงการถึง 34,000 ล้านบาท ในรัฐเท็กซัส ได้ว่าจ้างให้เกษตรกรมาช่วยพัฒนาฟาร์มในโครงการให้เกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการเริ่มสร้างบ้าน ซึ่งโครงการนี้จะมีบ้านมากถึง 3,200 หลังในโครงการ .. หมู่บ้านจัดสรรชื่อ วิลโลส์ฟอร์ด (Willowsford) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งมีลูกบ้าน 2,130 หลัง ได้จัดสรรเนื้อที่มากถึง 5,000 ไร่ เพื่อเป็นฟาร์มเกษตร และ พื้นที่สีเขียว แถมยังกันพื้นที่ 700 กว่าไร่ เพื่อทำสวนผลไม้ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ และ แพะให้นม นี่กะจะไม่ซื้อกินข้างนอกเลยหรอนั่น ?

.
นักวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์ชี้ว่า นี่แหล่ะคืออนาคตของหมู่บ้านจัดสรร ที่สามารถผลิตอาหารออร์แกนิก ที่สะอาด ปลอดภัย และใกล้กับผู้บริโภค เป็นสวัสดิการต้นทุนต่ำ ที่หมู่บ้านจัดสรรทุกหมู่บ้านควรจะมี ซึ่งหลายๆ หมู่บ้านนอกจากผลิตเพื่อทานกันเองในหมู่บ้านแล้ว ยังส่งขายไปยังห้างสรรพสินค้า และ ภัตตาคารต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ อีกด้วย
.
กระแสนี้ ยังได้ลุกลามเข้ามาสู่หมู่บ้านจัดสรร และ คอนโดมิเนียมในเมือง อย่างเช่น หมู่บ้านแคนเนอรี (Cannery) ซึ่งอยู่ในเมืองเดวิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีจำนวนบ้าน 547 หลัง ได้จัดพื้นที่ฟาร์มในหมู่บ้านเอาไว้ 15 ไร่ โดยได้จ้างเกษตรกรมาดูแลเต็มเวลา เพื่อผลิตผลไม้ และ ผัก ปลอดภัยขายให้คนในหมู่บ้าน ... ส่วน คอนโดมิเนียมที่มีชื่อ 550 แวนเดอบิลท์ อะเวนิว (550 Vanderbilt Avenue) ในมหานครนิวยอร์ค นั้นได้มีการจัดสรรพื้นที่บนหลังคาอาหาร 1,600 ตารางฟุตสำหรับทำฟาร์มเกษตร โดยจัดพื้นที่ 3 x 10 ฟุต เพื่อให้สมาชิกของคอนโดที่สนใจ สามารถปลูกพืชที่ต้องการ ซึ่งก็มีลูกบ้านมาปลูกผักไว้กินเอง และส่งภัตตาคารที่อยู่ในคอนโด
.
อีกไม่นาน กระแสนี้คงจะระบาดมาถึงเมืองไทย .. และเมื่อนั้น หมู่บ้านจัดสรรต่างๆ ก็จะมีอาหารออร์แกนิก ไว้เลี้ยงตัวเองอย่างสบายกันเสียที
.

อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/

Credit : Many Thanks to ....
- Data and Picture from https://www.wsj.com/articles/farm-to-condo-movement-stakes-its-claim-to-brooklyn-rooftop-1491391801
- Data from https://www.bloomberg.com/news/articles/2015-02-26/to-lure-homebuyers-developers-use-farms-vegetable-gardens
- Picture from http://www.businessinsider.com/brooklyn-apartment-complex-rooftop-farm-550-vanderbilt-2017-5

12 พฤษภาคม 2560

เกษตรกรตุรกี ปลูกกล้วยในโรงเรือน - เปลี่ยนตัวเองจากผู้นำเข้า เป็นผู้ส่งออก .. ญี่ปุ่นพร้อมเอาอย่างบ้าง



กล้วยเป็นพืชเขตร้อนก็จริง แต่ประเทศที่อยู่ในเขตหนาวหลายๆ ประเทศก็อยากจะปลูก เพราะความนิยมในการรับประทานผลไม้ชนิดนี้นั้น ดึงดูดเม็ดเงินให้แก่ประเทศผู้ปลูกเป็นอย่างมาก ตุรกีก็เป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่ประชาชนชอบกินกล้วยเป็นอย่างมากครับ แต่ก็พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อจะปลูกกล้วยให้ได้ ซึ่งทางตอนใต้ของประเทศก็มีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิในฤดูหนาวก็มีโอากสติดลบได้เหมือนกัน ทำให้ผลผลิตของกล้วยไม่สูงมากนัก

.

จนกระทั่งเกษตรกรในตุรกีเริ่มหันมาปลูกกล้วยในโรงเรือน ทำให้ผลผลิตกล้วยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยครับ ก่อนหน้านี้ตุรกีมีผลผลิตกล้วยเพียงปีละ 18,000 ตัน แต่หลังจากมีการเริ่มปลูกกล้วยในโรงเรือนเมื่อปี ค.ศ. 2000 ทำให้ผลผลิตกล้วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 64,000 ตัน และอีก 8 ปีต่อมาพุ่งกระฉูดไปอยู่ที่ 200,000 ตัน แล้วก็เพิ่มมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2016 มีผลผลิตมากถึง 306,000 ตัน

..
จากการที่ราคากล้วยนั้นถีบตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรที่เคยปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน เปลี่ยนมาปลูกกล้วยกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถทำผลผลิตได้มากถึง 4 ตันต่อไร่ เลยทีเดียวครับ 
..
ถึงแม้จะมีผลผลิตค่อนข้างมากแล้ว เมื่อคิดว่าเขาเป็นประเทศเขตหนาว .. เกษตรกรตุรกีก็ยังไม่พอใจกับตัวเลขแค่นี้ครับ อย่างเช่นในเขตเมืองอันตัลยา (Antalya) ของตุรกีนั้น เกษตรกรมองว่า แค่เมืองนี้เมืองเดียว ควรจะปลูกกล้วยให้ได้ปีละ 750,000 ตัน ทั้งนี้ทางรัฐจึงเตรียมการสร้างเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการปลูกกล้วยในเขตนี้กันเลยทีเดียว เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร
..
ความฝันของประเทศผู้นำเข้ากล้วยหอมอย่างตุรกี ที่พยายามผันตัวเป็นผู้ส่งออกใกล้ความจริงแล้ว และประเทศที่อยากจะทำเช่นเดียวกันต่อไปอย่าง ญี่ปุ่น ก็มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน !!
..

อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from http://www.hortidaily.com/article/27521/Turkey-Greenhouse-bananas-replace-tomatoes
- Data from http://www.hortidaily.com/article/19883/Turkish-greenhouse-growers-go-bananas
- Data from http://frozenfruitsvegetables.com/greenhouse-contruction.html
- Data from http://www.freshplaza.com/article/149777/Turkish-banana-growing-goes-undercover
- Data from http://www.freshplaza.com/article/170318/Turkey-banana-production-grew-13-pro

08 พฤษภาคม 2560

ใครเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี เตรียมรวย ! กระแสโลก ไม่กินแล้ว ไก่ขังกรง !!



กระแสไม่กินไข่จากไก่ที่ถูกขังในกรงเล็กๆ กำลังโหมกระพือในประเทศสหรัฐอเมริกาครับ เมื่อปีที่แล้ว แมคโดนัลด์ ประกาศดังๆ ฟังชัดๆ ว่า จะค่อยๆ ทยอยลดการใช้ไข่ไก่ จากการเลี้ยงแบบขังในกรงแคบๆ แบบคอนโดไปเรื่อยๆ จนเลิกใช้ไปเลยในปี ค.ศ. 2025 โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน ห้างขายเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังอย่าง อีเกีย (IKEA) บอกว่าปีหน้าจะเลิกใช้ไข่ไก่แบบขังกรงให้หมดในร้านอาหารของห้าง ซึ่งปีหนึ่งๆ อีเกียขายอาหารได้ไม่น้อยนะครับ มูลค่าทั้งปีเฉพาะอาหารกว่า 7 หมื่นล้านบาท
..
ปีที่แล้ว เซเว่นอีเลฟเว่นในอเมริกา ก็ออกมาประกาศจะเลิกใช้ไข่ไก่ อันเนื่องมาจากไก่ไข่มักจะโดนขังกรง โดยหันไปใช้ไข่ไก่ที่ทำมาจากพืชแทน ซึ่งก็ทยอยนำไข่ที่สังเคราะห์จากโปรตีนพืช จากบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ แฮมพ์ตัน ครีก (Hampton Creek) มาใช้ทั่วอเมริกา
..
แฟรนไชส์ ร้านอาหารที่ออกมาร่วมขบวนจะเลิกใช้ไข่ไก่ จากไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบขังกรงเล็กๆ ตอนนี้มีเยอะมากครับ เช่น แมคโดนัลด์ (McDonald’s), เบอร์เกอร์คิง (Burger King), แครกเกอร์ บาร์เรล (Cracker Barrel), เรด โรบิน (Red Robin), ทาโกเบล (Taco Bell), ไอน์สไตน์ บราเธอร์ (Einstein Brothers), วอลกรีนส์ (Walgreens), วอลมาร์ท (Walmart) และ ซับเวย์ (Subway) ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มร้านอาหารที่มีเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งนั้นเลยนะครับ ... ใครเลี้ยงไก่แบบออร์แกนิก เตรียมรวยเละครับพี่น้องแบบนี้
.
ไม่ใช่แค่เพียงไก่ต้องเลี้ยงแบบปล่อยอิสระเท่านั้น แต่มันก็ควรมีความสุขด้วย โฮลฟู้ดส์มาร์เก็ต (Whole Foods Market) ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าออร์แกนิก และเป็นเจ้าแรกๆ ที่ไม่ขายไข่ไก่แบบขังกรงมาตั้งแต่ 13 ปีก่อนแล้ว ได้ออกมาประกาศว่าทางห้างจะเพิ่มความสุขให้ไก่เข้าไปอีก เพื่อสร้างความแตกต่างว่าไข่ที่ห้างขายนั้น ไม่ใช่แค่ไม่ขังกรง แต่มันยังมีความสุขกว่าไก่ที่อื่นอีกนะ (เอาเข้าไป ฮ่า ฮ่า) เช่น ไก่ไม่ขังกรงของบางเจ้า ก็ไม่ได้ปล่อยไก่ให้วิ่งเล่นได้เยอะแยะ แต่ของโฮลฟู้ดส์มาร์เก็ตนั้น ไก่จะมีที่วิ่งเล่น สนามหญ้า หรือแม้แต่ที่กำบังแดดที่ไก่สามารถใช้หลบแดด และกระโดดเล่นได้

นับเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทย ที่เริ่มนิยมมาเลี้ยงไก่แบบมีความสุข ซึ่งอีกไม่นานกระแสนี้ ก็คงโหมกระพือข้ามทวีปมาสู่ยุโรป และ เมืองไทยในที่สุดครับ
..
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/

Credit : Many Thanks to ....
- Data from http://www.huffingtonpost.com/entry/mcdonalds-cage-free_us_58016687e4b0162c043c348d
- Data from http://www.forbes.com/sites/geoffwilliams/2016/09/29/seaworld-ikea-even-companies-not-known-for-food-are-promising-to-sell-cage-free-eggs/#2b05aca8192c
- Data from http://www.organicauthority.com/are-the-new-whole-foods-market-egg-standards-really-helping-hens/
- Picture from https://www.thespruce.com/make-chicken-or-poultry-feed-3016558
- Picture from https://thetruthaboutag.wordpress.com/2015/03/28/the-truth-about-free-range-chickens/

07 พฤษภาคม 2560

เตรียมรับ .. อนาคตส่งออกเกษตรไม่ง่าย ? เมื่อผู้นำเข้าอาหาร ต่างอยากเป็นครัวโลก !!



เตรียมรับ .. อนาคตส่งออกเกษตรไม่ง่าย ? เมื่อผู้นำเข้าอาหาร ต่างอยากเป็นครัวโลก !!

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เราเคยส่งออกอาหารไปขาย เริ่มออกอาหาร งอแง มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มาจำกัดจำเขี่ยอาหารที่นำเข้าจากประเทศไทย นอกจากเรื่อง แรงงานทาส และ มาตรการคว่ำบาตรในเรื่องประชาธิปไตยแล้ว เกษตรไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อีกมากมายครับ โดยเฉพาะในประเด็นของเทคโนโลยี

เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ

- สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอกอีกต่อไป และ ตั้งใจจะเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกอาหาร ไปเลี้ยงพลเมืองโลกที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

- อุตสาหกรรมไอทีของอเมริกาสนใจลงทุนในเรื่องของเกษตร และ อาหารมากขึ้นอย่างชัดเจน กูเกิ้ล ไอบีเอ็ม ออรอเคิล เพย์พาล อเมซอน อินสตาแกรม และ ทวิตเตอร์ ลงทุนภาคเกษตรและอาหาร

- บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และ หน่วยงานรัฐ ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกันจัดตั้งสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อการเกษตรและอาหาร (Sciene, Technology, Engineering and Mathematics for Food and Agriculture Council) เพื่อรณรงค์สนับสนุน
ให้เยาวชนในสหรัฐฯ หันมาเรียนเกษตรกันมากขึ้น

- อาหรับเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีในการปลูกพืชในทะเลทราย มีการค้นคว้าวิจัยการปลูกข้าว ผักต่างๆ ในโรงเรือน ขณะนี้ภาคเกษตรของอาหรับเติบโตเร็วมาก อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

- ยุโรป วิจัยการผลิตเนื้อไก่ด้วยวิธีการปลูก และเริ่มกำหนดมาตรฐานเนื้อไก่ให้สูงขึ้นเพื่อรองรับสินค้าของตัวเอง กีดกันเนื้อไก่ที่มาตรฐานต่ำกว่า รวมไปถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัพเพื่อสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Novel Foods)

- อเมริกา และ แคนาดา ออกกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อกีดกันเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเลี้ยงในฟาร์มที่สัตว์ไม่มีความสุข ฟาร์มที่เลี้ยงแบบแออัดยัดเยียด มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนาเนื้อสัตว์ชนืดใหม่ เช่น เนื้อสัตว์เทียมผลิตจากโปรตีนพืช เนื้อสัตว์ที่เกิดจากวิธีการปลูก (in vitro meat)

- ญี่ปุ่นส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ ตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกอาหารมูลค่าสูง มีการทดลองปลูกพืชหลายชนิดเพื่อทดแทนการนำเข้า มีบริษัทที่เริ่มทดลองการปลูกกล้วยหอมเองแล้ว


- สิงคโปร์วิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมในเมือง และได้เปิดฟาร์มผักแนวดิ่งเชิงพานิชย์เป็นแห่งแรกในโลก

- ฮ่องกงวิจัยและพัฒนา การทำฟาร์มสัตว์น้ำในอาคาร และได้เปิดฟาร์มเลี้ยงปลาเก๋าเชิงพาณิชย์ในอาคารสูง

- เกาหลีใต้ สร้างเมืองนวัตกรรมอาหาร ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาหารป้อนเอเชียตะวันออก รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการเลี้ยงและแปรรูปแมลง เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต

- จีนออกไปพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศทางแอฟริกา (อเมริกาก็ไปด้วย) เพื่อปั้นภาคเกษตร

- อินเดียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาหารแห่งสุขภาพ อาหารที่มีฤทธิ์ทางยา ของโลก

เกษตรไทยจะไปต่ออย่างไร ... อยู่ที่คนรุ่นใหม่แล้วครับ ว่าเราจะทำแบบเดิมๆ หรือ ก้าวออกไปจากกรอบเก่า สู่ความท้าทายใหม่ๆ
..
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to .....
- Data from http://blog.stemconnector.org/report-food-and-ag-industries-educational-institutions-need-new-talent-meet-
demand-stem-fields
- Data from AgTech Funding Report 2015 : Midyear Report (by AgFunder.com)
- Data from Behind the Brand Report
- Data from http://www.tradingeconomics.com/thailand/gdp
- Data from http://www.manager.co.th/ibizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000152637
- Picture from http://asia.nikkei.com/Business/Companies/Sharp-to-sell-high-tech-strawberry-factories-in-UAE
- Picture from http://popupcity.net/trend-8-urban-farming-becomes-serious-business/

03 พฤษภาคม 2560

ไม่ง้อนำเข้า ! รัสเซียใช้ปัญญาประดิษฐ์ ดูแลฟาร์มสตรอเบอรีแนวตั้ง ปลูกในร่ม เก็บขายได้ทั้งปี



ไม่ง้อนำเข้า ! รัสเซียใช้ปัญญาประดิษฐ์ ดูแลฟาร์มสตรอเบอรีแนวตั้ง ปลูกในร่ม เก็บขายได้ทั้งปี

เกษตรกรรมกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วครับพี่น้อง .. เมื่อก่อนเกษตรอยู่ในชนบท แต่ก็กำลังย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง .. เมื่อก่อนเกษตรเกษตรอยู่กลางแจ้ง แต่ก็กำลังย้ายเข้าไปอยู่ในร่ม ทำให้ตอนนี้ ประเทศที่มีเทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบในร่ม สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศ
.
ญี่ปุ่น วางแผนปลูกกล้วยหอมในโรงเรือนเอาไว้กินเอง .. ในขณะที่รัสเซียนั้น สามารถปลูกสตรอเบอรีแบบอุตสาหกรรม ในฟาร์มแนวตั้ง มีพอกินได้ตลอดปีโดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป
.
ผู้สื่อข่าวเกษตรอัจฉริยะ รายงานว่า บริษัทฟิโบนัซซี (Fibonacci) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติรัสเซียได้พัฒนาระบบปลูกสตรอเบอรีในร่มแบบแนวตั้ง โดยระบบปลูกที่ตั้งชื่อว่า BerryFarm800 นี้สามารถปลูกสตรอเบอรีได้ตลอดทั้งปี คือ เก็บเกี่ยวได้ปีละ 6 ครั้งเลยทีเดียว โดยการปลูกแบบเป็นชั้นๆ เรียงกันแนวตั้งนั้นทำให้ประหยัดพื้นที่มาก ด้วยกระบะปลูก 800 ส่วนนี้ ซึ่งมีต้นสตรอเบอรีอยู่ 76,800 ต้น สามารถผลิตสตรอเบอรีได้มากถึงเดือนละ 15 ตัน เลยทีเดียวครับพี่น้อง ... โดยฟาร์มปลูกสตรอเบอรีนี้ใช้คนงานเพียง 5 คนก็เกินพอแล้ว เพราะระบบปลูกทุกอย่างควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์

.
บริษัทนี้ รับติดตั้งระบบปลูกสตรอเบอรีทั่วรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียไม่ต้องนำเข้าสตรอเบอรีอีกต่อไป โดยเมื่อสั่งไปติดตั้งแล้ว ก็รอขายผลสตรอเบอรีใน 2 เดือนถัดไปได้เลยนะจ๊ะ โดยระบบนี้สามารถนำไปติดตั้งในโกดัง หรือ อาคารร้าง ที่มีอยู่แล้วได้เลย .. นอกจากนี้ บริษัทนี้เขายังบอกว่า เขารับติดตั้งทั่วโลกเลยครับผม
..
อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ ... https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
Credit : Many Thanks to ....
- Data and Picture from http://agro.fibonacci.farm/
- Data and Picture from http://www.agronet.bg/agro/18767-1a9204e68eda843bdfded0978b630741.html