17 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 3


สินค้าเกษตร และ อาหาร เป็นหมวดสินค้าที่แม้จะมีจำนวนรายการน้อยกว่าของขวัญ ของตกแต่งมาก แต่ก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้แก่เกษตรกร และประชาชนในชนบท และยังเป็นกลุ่มอาชีพที่เทคโนโลยีระดับสูงเข้าไม่ถึง ในอดีตที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยงานเกษตรกรรม มักจะเป็นเทคโนโลยีพื้นๆ เช่น เครื่องจักรกล การชลประทาน การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดหนี้แก่เกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การนำนาโนเทคโนโลยีไทยทำมาช่วยงานทางด้านนี้ โดยเฉพาะเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มคุณค่าแก่สินค้าเกษตรจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่าง Polymer-Clay Nanocomposite ซึ่งมีคุณสมบัติลูกผสมระหว่างพลาสติกกับเซรามิกนั้น สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้ไปอยู่ทางพลาสติกมากๆ หรือไปอยู่ทางเซรามิกมากๆ ก็ได้ ทำให้สามารถนำไปใช้เป็นถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ สำหรับหีบห่อผลิตภัณฑ์เกษตรที่กันความชื้น เพื่อแทนที่ฟิล์มอลูมิเนียมที่มีราคาสูงกว่า อีกทั้งยังขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติกทั่วไปไม่ว่าจะให้เป็นถุง เป็นฟิล์ม เป็นกล่อง เป็นต้น กลุ่มวิจัยทางด้าน Polymer-Clay Nanocomposite ที่มีสูตรสำหรับนำนาโนวัสดุประเภทนี้ไปใช้ในงานประยุกต์ด้านต่างๆ ก็คือกลุ่มของ ผศ. ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกตัวอย่างหนึ่งคือการนำเอาจมูกอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการควบคุมคุณภาพอาหาร เช่น งานวิจัยของ ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ หน่วยวิจัยพอลิเมอร์ขั้นสูง ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์จำแนกข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งอาจช่วยในการระบุแหล่งผลิต เป็นการสร้างเอกลักษณ์แก่ข้าวหอมมะลิแบรนด์ต่างกัน เช่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ซึ่งต่างก็อ้างว่าข้าวหอมมะลิของตนอร่อยที่สุด


เครื่องดื่มประเภทสุราพื้นบ้าน สุรากลั่น สุราแช่ (สาโท) มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแต่โบร่ำโบราณเทียบเท่ากับเหล้าสาเกของญี่ปุ่น (ฝรั่งจึงเรียกเครื่องดื่มพวกนี้ว่า Spirits) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่ดี อาจสร้างมาตรฐานให้มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับเหล้าสาเกได้ จากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น ทั้งที่เป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์ และ กลุ่มชาวบ้าน ใน http://www.thaitambon.com/ นั้น มีผู้ผลิตไวน์จำนวน 76 ราย สุรากลั่น 47 ราย สุราแช่ 12 ราย มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ประกาศขายที่เป็นไวน์ 575 รายการ สุรา
108 รายการ และสุราแช่ 49 รายการ ดังนั้นการใส่เทคโนโลยีเข้าไปน่าจะคุ้มค่า เทคโนโลยีชั้นสูงสามารถนำมาช่วยสร้างมาตรฐาน แก่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เช่น การสร้างมาตรฐานเรื่องรสชาติของ สาโท ด้วยการใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการทำวิจัยอยู่ที่ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

08 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 2



หัตถกรรม ของตกแต่ง ของขวัญเป็นหมวดหมู่ที่มีรายการขึ้นทะเบียนไว้มากกว่าครึ่งของสินค้า OTOP และถ้าหากเข้าไปดูในเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดังอย่าง e-Bay ก็จะพบว่า ในบรรดาข้าวของต่างๆ ของคนไทยที่มีการประมูลขายกันใน e-Bay นั้น เกินครึ่งจะเป็นสินค้าประเภทของชำร่วย ของตกแต่ง และงานหัตถกรรมกันทั้งนั้น ซึ่งก็เป็นเพราะความมีชื่อเสียงในเรื่องงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย ดูเหมือนอาจไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใส่เทคโนโลยีเข้าไปอีก แต่ที่จริงแล้ว การใส่เทคโนโลยีไทยทำเข้าไปไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงนัก และอาจเพิ่มความโดดเด่น รวมทั้งคุณภาพของตัวสินค้าเข้าไป ทำให้สมราคาและน่าซื้อยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างนาโนเทคโนโลยีที่สามารถนำเข้ามาช่วยงานทางด้านนี้ เช่น จีโอพอลิเมอร์ (Geopolymer) (ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในรูปทางขวามือ) ซึ่งเป็นนาโนซีเมนต์ หรือ ซีเมนต์ที่มีโครงสร้างนาโน เป็นวัสดุเซรามิก ที่สามารถขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิห้อง เมื่อแข็งตัวแล้วจะคงความแข็งแรง ไม่ต้องนำไปเผาที่อุณหภูมิสูง เหมือนเซรามิกทั่วไป ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน วัตถุดิบของจีโอพอลิเมอร์ก็คือเถ้าลอย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จีโอพอลิเมอร์มีคุณสมบัติพิเศษหลายชนิด เช่น ทนร้อน ทนไฟ ทนแรงกระแทก ทนการกัดกร่อน ในต่างประเทศมีการนำเอาวัสดุชนิดนี้ไปทำงานทางด้านศิลปะบ้างแล้ว เนื่องจากมีพื้นผิวสวยงาม มีเอกลักษณ์ สามารถใส่สีธรรมชาติให้เกิดความสวยงามได้ กลุ่มวิจัยทางด้านจีโอพอลิเมอร์ของไทยอยู่ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


นอกจากจีโอพอลิเมอร์แล้ว ยังมีวัสดุชนิดอื่นๆ อีกที่มีคุณประโยชน์ต่อสินค้าประเภทนี้ ได้แก่ เส้นใยนาโนคาร์บอน ซึ่งมีความเหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เช่น อาจนำไปผสมกับเซรามิกเพื่อทำถ้วยชา กาแฟ หรือ ของตกแต่งอื่นๆ ทำให้ตกไม่แตก กลุ่มวิจัยทางด้านนี้ของไทยก็คือ ผศ. ดร. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ หน่วยวิจัยนาโนวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัสดุอีกชนิดที่มีชื่อเรียกว่า Polymer Clay ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือพลาสติก PVC ที่มีวัสดุแต่งเติมที่ทำให้มันมีความอ่อนนิ่ม เหมือนดินน้ำมันหรือ Clay นั่นเอง วัสดุชนิดนี้อาจไม่มีดินผสมอยู่เลย หรืออาจจะผสมดินเข้าไปด้วยก็ได้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษหรือสีสันต่างๆ จริงๆ วัสดุชนิดนี้มีขายในท้องตลาดอยู่แล้ว แต่อาจจะทำวิจัยเพื่อเพิ่มความแปลกใหม่เข้าไปในตัวสินค้าก็ได้ วัสดุนาโนชนิดสุดท้ายที่จะขอแนะนำคือ Polymer-Clay Nanocomposite ซึ่งตัวหลังนี้เป็นการเอาพอลิเมอร์กับอนุภาคดินมาผสมกันจริงๆ ทำให้วัสดุนี้มีสมบัติพิเศษคือ มีความยืดหยุ่นเหมือนพลาสติก แต่มีความแข็งเหมือนดิน ซึ่งงานประยุกต์ของมันน่าจะไปอยู่ในหมวดสินค้าที่จะพูดถึงในตอนต่อไปครับ .......

04 ธันวาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 1


ประเทศไทยมีความโดดเด่น ในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สปา รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีความจำเพาะทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้า ให้มีชื่อผูกติดกับท้องถิ่นได้ เกิดเป็นสินค้า OTOP ทั้งนี้รัฐบาลยุคนายกฯ ทักษิณ จึงมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้สินค้าเหล่านี้มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมทั้งต้องการให้คนไทยด้วยกัน หันมาบริโภคมากขึ้น แต่การควบคุมหรือเพิ่มคุณภาพสินค้า OTOP มีข้อจำกัดที่ว่า เทคโนโลยีที่ใช้ไม่ควรนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนแก่สินค้ามากเกินไป เพราะสินค้า OTOP โดยมากเป็นอุตสาหกรรมกึ่งครอบครัว ที่อาศัยภูมิปัญญาพื้นถิ่น ใช้เทคโนโลยีแบบชาวบ้าน (Appropriate Technology) ที่มีต้นทุนต่ำ ดังนั้นเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพที่เกิดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์คนไทยด้วยกันเอง น่าจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประเภทนี้ เทคโนโลยีไทยทำอาศัยความได้เปรียบตรงที่ แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีกับผู้ใช้อยู่ใกล้กัน ทำให้มีราคาถูก และประสิทธิภาพที่ปรับได้ตามการใช้งาน ประกอบกับชาวบ้านมักจะ “ยินดี” ที่จะลองเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกันเอง มากกว่าอุตสาหกรรมใหญ่ที่ยัง “เชื่อและนิยม” เทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ นาโนเทคโนโลยี ที่พัฒนาด้วยฝีมือคนไทย จะเดินพาเหรดเข้ามาช่วย พัฒนาสินค้าโอท็อบให้เป็น OTOP Version 2.0


จากหน้าเว็บไซต์ของ ThaiTambon.com จะพบว่ามีสินค้า OTOP ขึ้นทะเบียนไว้ถึง 66,000 รายการ โดยมีผลิตภัณฑ์หลักแบ่งตามกลุ่มใหญ่คือ ของขวัญ ของตกแต่งและหัตถกรรม (มีถึง 42,000 รายการ) อาหารและเครื่องดื่ม (12,400 รายการ) ผลิตผลการเกษตร (2,500 รายการ) ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (4,500 รายการ) เครื่องหนังและรองเท้า (1,400 รายการ) สิ่งทอ (1,200 รายการ) อัญมณี (750 รายการ) เฟอร์นิเจอร์ (550 รายการ) ของใช้ในบ้าน (500 รายการ) ใน series ของบทความ Nano OTOP นี้ ผมจะค่อยทยอย นำเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาส ความเป็นไปได้ ในการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเป็นนาโนเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อช่วยคนไทยด้วยกันครับ

01 ธันวาคม 2551

108-1009 (ร้อยแปด พันเก้า)


วันนี้ขอเก็บตกจากงานประชุมชานานาชาติเรื่องชาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต่ออีกนิดนะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอยู่ต่างจังหวัดทางภาคเหนือเกือบทั้งสัปดาห์เลยครับ เข้าร่วมงานประชุมแค่ 2 วันเท่านั้น ที่เหลือก็ตระเวณตามดอยต่างๆ ทั้งดอยสุเทพ สะเมิง ดอยตุง ดอยช้าง ดอยอินทนนท์ ในรูปทางด้านซ้ายนั้น เป็นรูปที่ผมถ่ายกับป้ายจราจร เป็นเส้นทางที่นำเราไปจุดสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งก็คือดอยอินทนนท์ไงล่ะครับ หลายๆคนที่เคยขึ้นดอยแห่งนี้ อาจจะลืมสังเกตป้ายจราจรที่ผมถ่ายมาให้ดูนี้ เค้าตั้งอยู่ที่สามแยกทางขึ้นดอยอินทนนท์ก่อนถึงไฟแดง พอผมไปถึงผมขอให้คนขับรถจอดเพื่อลงไปถ่ายรูป คนขับยังถามงงๆ ว่าถ่ายไปทำไม ผมบอกเค้าว่าป้ายแบบนี้มีแห่งเดียวในประเทศไทย เพราะมันอ่านว่า "ร้อยแปด พันเก้า" ไงครับ ผมจึงมักจะเรียกเส้นทางขึ้นดอยอิน (ขอเรียกสั้นๆนะครับ) ว่า เส้นทาง "ร้อยแปด พันเก้า" เพราะเราต้องใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 ก่อน จากนั้นจะแยกเข้าทางขวาเพื่อใช้ทางหลวงหมายเลข 1009 ต่อ จริงๆ เส้นทางนี้น่าเที่ยวมากๆ สมกับเป็นเส้นทางร้อยแปดพันเก้า ที่มีทั้งน้ำตกสวย ป่าดิบ โครงการหลวง พระธาตุ ชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ มหาวิทยาลัย สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ สถานีเรดาห์ รีสอร์ทต่างๆ ไปจนถึงสถานีตรวจวัดนิวตรอน โอ้โฮ ครบรสเลยครับ ด้วยความน่าเสน่หาของดอยอิน ผมมักจะแวะมาที่แห่งนี้ทุกๆปี ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว (แล้วก็ฤดูอกหักด้วย)


ด้วยการที่ภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นภูเขาน้อยใหญ่ สลับซับซ้อน สภาพภูมิอากาศท้องถิ่น หรือ micro-climate จะแตกต่างกันไปได้ค่อนข้างมาก ไม่เหมือนทางภาคกลาง หรือ ภาคอีสาน ที่ภูมิอากาศจะคล้ายๆกัน แต่ในภาคเหนือนี้ ดอยที่อยู่ถัดไปใกล้ๆกัน ก็จะมี micro-climate แตกต่างกันได้มาก หรือแม้แต่ไร่เดียวกัน อย่างไร่ชาอาจมีบริเวณที่ slope แตกต่างกัน มีทิศทางแตกต่างกัน ทำให้ได้แสงแดดไม่เท่ากัน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ที่ผิวดิน หรือในดิน อาจมีความแตกต่างกันได้ สภาพการรับน้ำก็แตกต่างกันได้มาก การทำไร่ชาของชาวเขาจึงเกิดสภาพที่ว่า บางไร่มีผลผลิตดี บางไร่ผลผลิตแย่ ทำให้การควบคุมคุณภาพของชาในบริเวณเดียวกันเพื่อที่จะสร้างแบรนด์ท้องถิ่นทำได้ยาก ด้วยความที่ลักษณะของ micro-environment ในพื้นที่เกษตรมีได้ "ร้อยแปด พันเก้า" นี่เอง ทีมงาน Smart Farm ของเราจึงตัดสินใจจะนำเทคโนโลยี Precision Agriculture ไปติดตั้งและทดลองภาคสนามที่ ไร่ชาดอยช้าง จ.เชียงราย เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปครับ

30 พฤศจิกายน 2551

Thailand Tea 2008 - Conference Report


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ด้วยรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเช้านี้เองครับ ทางเหนืออากาศค่อนข้างหนาวทั้งที่ดอยตุง แม่สาย เชียงราย เชียงแสน และดอยอินทนนท์ อากาศดี สูดหายใจสบายสุดปอดสุดๆ ลืมเรื่องร้ายๆในกรุงเทพฯไปหมดเลยครับ ผู้คนต่างจังหวัดก็ยังมีความสุขกันปกติ ไม่เห็นมีใครอยากดูข่าวเลย งงมากๆครับ


ในช่วงวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานั้น ผมและคณะวิจัยได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ International Conference on Tea Production and Tea Products ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ งานประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย ที่เกี่ยวกับชา มีผลงานเสนอทั้งในภาคบรรยายและโปสเตอร์จำนวน 23 เรื่อง ซึ่งถือว่าไม่มากครับ ผมเลยมีโอกาสได้ฟังและเข้าร่วมเกือบจะทุกผลงาน นอกจากผลงานทางวิชาการที่เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องชาแล้ว ที่ผมชอบมากก็คือมีสิ่งที่เรียกว่า Country Reports ซึ่งเป็นการเชิญผู้รู้เรื่องวงการชาของประเทศต่างๆ มาบรรยายสถานภาพการผลิตชา และตลาดชาในประเทศของตนเอง ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ได้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในตลาดชาของโลกน้อยมากๆครับ เจ้าใหญ่ที่ส่งออกมากที่สุดเป็น จีน และ อินเดีย แต่ที่น่ากลัวและกำลังมาแรงคือ เวียดนาม เกจิจากอินเดียที่มาพูดในงานนี้เขาฟันธงว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ประเทศเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลกแซงหน้าอินเดีย ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อครับ เพราะตลอดปีที่ผ่านมาผมได้นั่งเฝ้าดูสภาพภูมิอากาศของอินเดีย พบว่าได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นอย่างมาก มีสภาพฝนแล้งทั้งปีที่ผ่านมา


ในช่วงการประชุมทางผู้จัดได้มีการนำผู้เข้าร่วมประชุมไปดูงานบริษัทผลิตชาที่ดอยแม่สลอง และดอยช้าง ผมเองก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ปลูกชาของบริษัทชาดอยช้าง ซึ่งเท่าที่ทราบมานั้น ที่นี่เป็นเจ้าเดียวหรือไม่กี่เจ้าที่ทำการเพาะปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผมเกิดความสนใจที่จะนำระบบเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ไปทดลองใช้ในไร่ชาแห่งนี้ครับ ซึ่งทางเจ้าของสถานที่มีความสนใจในเทคโนโลยี Smart Farm มาก พวกเรากะว่าจะเดินทางขึ้นไปอีกทีในช่วงกลางเดือนธันวาคม เพื่อไปทำแผนที่ไร่และติดตั้งระบบครับ

18 พฤศจิกายน 2551

The World without Us - ถ้าโลกนี้ไม่มีเรา (ตอนที่ 2)


ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน อาจเคยได้ฟังเพลงที่แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ ร้องเอาไว้เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เพลงหวานๆ ที่มีชื่อว่า "โลกที่ไม่เท่ากัน" นี้มีเนื้อดังนี้ครับ

..... หากโลกนี้มีเราเพียงสองคน รักคงหลุดพ้นความวุ่นวาย ไม่มีกฏหมายมาตราใดลงโทษลงทัณฑ์รักสองเราหากโลกนี้มีเราเพียงสองคน เริ่มต้นลงท้ายคงด้วยดี แผ่นดินทุกที่ย่อมมีเสรีเพาะปลูกวิญญาณรักสองเรา แต่โลกใช่มีเพียงรักสองเรา ผู้คนยังมัวเมาและงมงาย ถือเผ่าถือพันธ์กันต่อไป กีดกั้นทำลายคนด้วยกัน หากโลกนี้มีเราเพียงสองคน คงไม่ถูกโค่นต้นไม้รักของเรา ชีวิตเธอและฉันไม่ยืนยาว โลกเป็นของเราแต่ไม่เท่ากัน

ส่วนอีกเพลงหนึ่ง เป็นของวงเฉลียง ร้องไว้ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นเพลงแจ๊สแต่มีชื่อที่แสนโรแมนติกว่า "ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน" มีเนื้อร้องดังนี้ครับ
.... ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน มองไปทางไหนก็สวยงาม มีเพียงเราสองเท่านั้นเองกับหวานใจ ดู ดู ดู ภูเขาทะเลกว้างฟ้าไกล ต่อให้ไกลแสนไกล จะไกลแสนไกล เราเป็นเจ้าของ เราคงจะรักกันทั้งวัน คงมีสวรรค์กันทั้งเดือนและทั้งปี ดู ดู ดู จะหันทางใดไม่เห็นมี ไม่มีผู้ใดไม่มีเลยแม้ใคร ขวางทางรักเรา สองเราชิด สองเราไม่เคยห่าง สองใจชิด สองใจไม่เคยต่าง สองเราเท่านั้นฉันเธอไม่มีใครอื่น ทั้งวันทั้งคืนฝนพรำฟ้าครืน แดดใส ไม่มีใครเลย เวลาเราหิวก็สองคน จะกินข้าวเหนียวก๋วยเตี๋ยวไก่จะซื้อใคร ดู ดู ดู ตัดเย็บกางเกงเล่าร้านใด จัดงานฉลองเลี้ยงใคร ไม่มีมาสักราย ก็เลี้ยงกันสองคน มองไปทางไหนไม่เห็นใคร มีเพียงเราสองคนเท่านั้นเอง เท่านั้นเอง ฮือ ..ฮือ..ฮือ.. จะร้องจะรำให้ครื้นเครง ดนตรีต้องเล่นเอง ฟังกันร้องเอง ประสานเสียงเองฮือ..ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย

นั่นเป็นจินตนาการของศิลปินครับ ที่มองว่าหากโลกนี้เหลือเพียงตัวเราและคนรัก มันก็คงมีความสุขดี คุณผู้อ่านหล่ะครับ เคยคิดแบบนี้ไหมครับ มนุษย์เราเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีอิทธิพลต่อโลกใบนี้สูงมาก อารยธรรมเราครองโลกเพียงแค่ 1 หมื่นปี ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ ไดโนเสาร์ครองโลกมากกว่าร้อยล้านปี ยังทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไม่ได้เท่านี้ แต่ถ้าหากวันนี้มนุษย์หายไปทั้งหมดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าเพียงเวลาไม่ถึง 20 ปี โลกก็จะกลับมาเป็นเหมือนเก่าได้ไม่ยากครับ ตอนหน้ามาคุยกันต่อครับ .......
(ภาพบน - จินตนาการของกรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ ในสภาพที่ถูกธรรมชาติกลืนกิน เพียงไม่กี่ปีหลังจากมนุษย์หายไปจากโลกนี้)

The World without Us - ถ้าโลกนี้ไม่มีเรา (ตอนที่ 1)


ผมเคยขับรถไปเที่ยวที่ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก โดยไต่เขาขึ้นไปจาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเส้นทางค่อนข้างลาดชัน ตอนที่ไต่เขาขึ้นไปนั้นแสงแดดดี อากาศก็แจ่มใสมากๆ ครับ แต่พอผ่านด่านเก็บเงินของอุทยานเข้าไปแล้ว เส้นทางที่เข้าไปนั้นร่มครึ้ม ปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ แม้ว่าถนนจะสามารถวิ่งได้ 2 เลน แต่ผมก็ต้องขับกลางๆ ถนน เหมือนกับจะขับได้แค่เลนเดียวเท่านั้น เพราะต้นไม้ใบหญ้าได้รุกเข้ามาเกาะกินพื้นถนน เนื่องจากทางขึ้นฝั่งหล่มสักนี้ไม่ใคร่จะมีใครอยากขับขึ้นเท่าไรนัก เส้นทางสายนี้จึงค่อนข้างเงียบเหงาวังเวงยิ่ง



ท่านผู้อ่านที่เคยได้ชมภาพยนตร์ I Am Legend ซึ่งนำแสดงโดยพระเอกยอดนิยม Will Smith ผมค่อนข้างเชื่อว่าหากได้ชม DVD ภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนนอน คืนนั้นถ้านอนไม่หลับ ก็ต้องอดไม่ได้ที่จะนอนคิดถึงความเป็นไปได้ในเรื่อง จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ วันดีคืนดีมนุษย์ได้หายไปทั้งหมด เส้นทางหล่มสัก-ภูหินร่องกล้า ที่ผมขับรถเข้าไปนั้น ก็ยังมีรถวิ่งผ่านไปมาบ้าง แต่ถ้าเส้นทางนี้ถูกปิดตายไปเลย ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ผมเชื่อว่าจะไม่เหลือร่องรอยของทางหลวงสายนั้น ตามท้องเรื่องของ I Am Legend นั้น หลังจากไวรัสได้ระบาดคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบทั้งโลก นครนิวยอร์คเหลือมนุษย์ปกติเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นคือ พันเอก Robert Neville (นำแสดงโดย Will Smith) กับ สุนัขพันธุ์อาเซเชียนที่ชื่อเจ้าแซม ผู้พันเนวิลล์ต้องใช้ชีวิตอย่างเปลี่ยวเหงากับสุนัขตัวเดียว ท่ามกลางซากปรักหักพังในมหานครนิวยอร์ค มหานครที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้ เมื่อไร้ซึ่งมนุษย์มาคอยดูแล มันก็ผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยมีสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัย พืชพรรณต่างๆก็ขึ้นเกะกะ กัดกร่อนโครงสร้างคอนกรีตต่างๆ ไปเรื่อยๆ สิ่งก่อสร้างของมนุษย์เมื่อขาดคนคอยดูแล ใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นก็เสื่อมโทรมไปเกือบจะจำสภาพเดิมไม่ได้ บ้านเมืองที่ไม่มีผู้คนอยู่ ก็ย่อมขาดการซ่อมแซมในสิ่งที่เสื่อมถอยไป ขาดการทำความสะอาด ขาดการ maintenance ขาดการทาสีใหม่ ขาดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของวัสดุ เวลาเพียง 3 ปีก็ทำให้เมืองเปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงครับ

15 พฤศจิกายน 2551

Wearable Farming Robot - ชุดหุ่นยนต์สวมใส่สำหรับชาวนา


อย่างที่ผมชอบพูดบ่อยๆ ล่ะครับว่านับวัน ศาสตร์ต่างๆจะเขยิบเข้ามาใกล้กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น การนำเอาหุ่นยนต์ไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายคนนั้นเกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า Bionics ซึ่งจะช่วยทำให้คนที่มีความบกพร่องทางกายภาพ สามารถใช้อวัยวะกลทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไปได้ ส่วนอีกศาสตร์หนึ่งที่มีชื่อว่า หุ่นยนต์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Robot) หรืออีกชื่อว่า Exoskeleton เป็นการนำหุ่นยนต์มาสวมใส่ให้แก่ผู้ที่มีร่างกายปกติ แต่ต้องการเพิ่มสมรรถนะทางร่างกายให้มากขึ้น ศาสตราจารย์ Shigeki Toyama แห่ง Tokyo University of Agriculture and Technology ได้พัฒนาหุ่นยนต์สวมใส่ได้สำหรับชาวนา เขาออกแบบมันขึ้นมาเพื่อให้ชาวนาญี่ปุ่นสูงอายุ สามารถทำงานต่างๆได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ เจ้าหุ่นสวมได้นี้จะมีเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ถี่ยิบเพื่อตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อมันรู้สึกว่าคนทำท่าจะยกของ มอเตอร์ของมันก็จะทำงานสอดคล้องไปกับทิศทางการเคลื่อนที่ของร่างกาย เพื่อที่จะช่วยยกของให้คนที่สวมใส่มัน นักศึกษาผู้หนึ่งที่ได้ลองสวมใส่เจ้าหุ่นนี้บอกว่า "เมื่อผมใส่เจ้าหุ่นนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีพละกำลังเพิ่มขึ้นมาเป็นกองเลยครับ อย่างถุงข้าวหนัก 20 กิโลกรัมเนี่ย ผมยกขึ้นสบายๆ โดยแทบไม่รู้สึกว่าหนักเลย" หุ่นยนต์สวมได้นี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา เพราะว่านอกจากมันจะช่วยเรื่องของการยกข้าวของแล้ว งานที่ต้องยกแขนนานๆ อย่างการตัดต่อกิ่ง หรือ สอยผลไม้ มันก็จะช่วยพยุงแขนให้อยู่ในท่านั้นได้นานๆ หรือหากเราต้องการดึงหัวมันออกจากดิน ก็ใช้แรงน้อยมากเพื่อทำงานดังกล่าว

14 พฤศจิกายน 2551

Agrobot - เมื่อหุ่นยนต์หัดทำไร่ทำนา


สวัสดีครับ ช่วงนี้คนที่มีบ้านอยู่ชานเมือง อาจจะเริ่มรู้สึกมีลมหนาวโชยๆมาสัมผัสผิวกาย ยามเช้ากันแล้วนะครับ ในเมืองเอง ช่วงเช้ากับเย็นก็เริ่มรู้สึกเย็นๆกันแล้ว หน้าหนาวส่วนใหญ่คนกรุงที่นิยมไปท่องเที่ยวใกล้ๆ ก็คงจะนึกถึงเขาใหญ่กันใช่ไหมครับ ช่วงนี้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง อากาศเริ่มเย็น ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ตอนเช้าอุณหภูมิ 20 เซลเซียสเองครับ เริ่มเทศกาลท่องเที่ยวในเขตเขาใหญ่กันแล้ว แต่ปีนี้ฝนลาฟ้าใสค่อนข้าง late คงจะได้เห็นทุ่งทานตะวันกันช้า อาจจะเริ่มธันวาคมนู่นหล่ะครับถึงจะเห็นดอกทานตะวันกัน

ในช่วงหน้าหนาวนี้ ผมไปทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นที่เขาใหญ่เกือบจะทุกอาฑิตย์ งานในไร่องุ่นนี่ใช้แรงงานค่อนข้างมากครับ ผมพอจะทราบมาว่าแรงงานภาคเกษตรของเราค่อนข้างจะมีปัญหาเริ่มขาดแคลนแล้วครับ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้ เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้นทุกทีๆ ตอนนี้ในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร หรือ Agrobot เช่น หุ่นยนต์เก็บเห็ด โดยใช้เทคโนโลยีกล้อง CCD เพื่อตรวจหาเห็ดแล้วทำการจำแนกขนาดว่าเก็บได้หรือยัง ถ้าเก็บได้มันก็จะใช้แขนกลดึงออกมา ซึ่งฝีมือในการจำแนกนั้นดีกว่ามนุษย์แล้ว แต่ความเร็วในการเก็บยังช้ากว่ามนุษย์เกือบเท่าตัว นอกจากนั้นยังมีหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการค้นหาและทำลายแมลงศัตรูพืช มันสามารถถอนวัชพืชได้ และทดสอบตัวอย่างดิน ซึ่งผลงานนี้พัฒนาขึ้นโดย Tony Grift แห่ง University of Illinois หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเดินตามแถวข้าวโพด จากแถวหนึ่งไปอีกแถวหนึ่งได้ด้วยตัวของมันเอง Grift บอกว่าเขาจะพยายามทำหุ่นยนต์ให้มีราคาถูก แต่ทำออกมาเยอะๆ แล้วให้หุ่นเหล่านี้ทำงานกับเป็นทีม โดยคุยกันผ่านเครือข่ายไร้สาย Grift บอกว่า "ผมกะว่าจะสร้างหุ่นยนต์แบบนี้ขึ้นมาสัก 10 ตัวหรือมากกว่านั้นครับ เอาให้เป็นระบบนิเวศน์ของหุ่นยนต์เลย ถ้าคุณลองมองไปที่ผึ้ง เวลาที่มันออกไปหาน้ำหวาน แล้วผึ้งตัวหนึ่งก็กลับมาบอกพวกเดียวกันว่าตามฉันมาสิ น้ำหวานอยู่ตรงโน้น แล้วมันก็ยกโขยงกันไป หุ่นยนต์ก็เหมือนกันครับ ถ้าตัวหนึ่งเดินไปเจอศัตรูพืชเข้าล่ะก็ มันจะตะโกนบอกตัวอื่นให้มาช่วยรุมทึ้งเลย"

07 พฤศจิกายน 2551

Intelligent Vending Machine - ตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะ (ตอนที่ 3)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ยังอยู่ญี่ปุ่นครับ แต่คืนพรุ่งนี้จะไปพักโรงแรมในสนามบินนาริตะ เพื่อเตรียมบินกลับเมืองไทยแล้วครับ เนื้อหาที่จะนำมาเล่าก็เลยยังวนเวียนอยู่แถวๆ นี้ครับ ตลอดเวลา 10 กว่ากันที่ผมอยู่ในญี่ปุ่น เวลาเดินทางไปไหน หากเห็นตู้หยอดเหรียญก็จะเข้าไปดู มันเป็นความเพลิดเหลินอย่างหนึ่งครับ เพราะไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน มันก็ตามเราไปทุกที่ หลายๆตู้ที่แวะไปดูก็จะเก็บรูปเอากลับไปดูที่เมืองไทย มาว่ากันต่อในเรื่องของตู้หยอดเหรียญที่ ยิ่งนานวันจะฉลาดล้ำขึ้นไปเรื่อยๆ บริษัท M-one Cafe พยายามเอาใจคอกาแฟที่ชอบดื่มกาแฟสด และรู้สึกหงุดหงิดกับรสชาติของกาแฟที่ออกมาจากตู้หยอดเหรียญ จริงๆแล้ว กาแฟหยอดตู้ก็สามารถเซิร์ฟในถ้วยกระดาษร้อนๆ และมีตัวเลือกได้ค่อนข้างมาก ทั้ง เอสเพรสโซ คาปูชิโน ลาเต้ แต่ M-one เขาอยากให้ตู้หยอดเหรียญสำหรับกาแฟมีความฉลาดข้ามขั้นไปเลย คือให้ผู้ซื้อมีอิสรภาพในการกำหนดรสชาติที่ตัวเองต้องการ เหมือนกับการปรุงเอง ซึ่งอิสรภาพที่ได้มานี้มากกว่าการไปนั่งสั่งกาแฟสดด้วยการปรุงจากมนุษย์ในร้านกาแฟเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้ซื้อสามารถควบคุมการปรุงได้จากการเฝ้าดูจอ LCD ที่ตู้โดยการใช้ Touch-screen สั่งเลือกสูตรกาแฟที่ตนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้นของกลิ่นรส ความหวาน ความมันของนม ถ้าจะดื่มกาแฟเย็นก็เลือกขนาดของก้อนน้ำแข็งที่ต้องการได้ เครื่องจะตัดน้ำแข็งในขนาดตามนั้นให้สดๆ เลยครับ ตอนนี้ตู้หยอดเหรียญจำนวนมาก นอกจากจะรับเหรียญแล้ว ยังสามารถใช้บัตรโดยสารสมาร์ทการ์ดมาแตะที่ตู้แทนการใช้เหรียญ ตู้ก็จะหักเงินในบัตรเอง โดยเฉพาะตู้หยอดเหรียญที่สถานีรถไฟไฟ้าทั้งหลาย ซึ่งหลายๆตู้ สามารถหักเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แค่นำไปแตะเท่านั้น เดี๋ยวนี้บริษัทโฆษณาสินค้าทั้งหลายก็นิยมโปรโมตสินค้า โดยการส่ง e-mail ไปเข้ามือมือลูกค้า เช่นให้เครื่องดื่มโค้กฟรี 1 กระป๋อง เพียงนำบาร์โค้ดที่ส่งไปทาง e-mail เอาไปให้ตู้หยอดเหรียญสแกน โดยหันหน้าจอมือถือไปทางเครื่องสแกน โค้กก็จะหล่นลงมาให้ดื่ม

04 พฤศจิกายน 2551

Intelligent Vending Machine - ตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)

ยังวนเวียนอยู่แถวญี่ปุ่นนะครับ ตู้หยอดเหรียญในญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1890 หรือเกือบ 120 ปีก่อนครับ ถึงวันนี้การพัฒนาตู้หยอดเหรียญก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มันมีความเฉลียวฉลาดและทำอะไรได้มากขึ้นเยอะเลยครับ บริษัท Fuji Electric ได้คิดค้นตู้หยอดเหรียญที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เพื่อทำความเย็นให้แก่สินค้าข้างใน ที่ด้านข้างของมันมีมอสเขียวๆขึ้นอยู่ เพื่อเป็นฉนวนความร้อนและเพิ่มความเขียวขจี แก่สภาพแวดล้อมตรงที่ตู้มันไปวางตั้งอยู่ อีกความฉลาดหนึ่งที่ตู้หยอดเหรียญยุคใหม่มีก็คือ ความสามารถในการเดาอายุของผู้หยอดเหรียญ ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับตู้หยอดเหรียญเพื่อซื้อบุหรี่ บริษัท Fujitaka ได้ประดิษฐ์ตู้หยอดเหรียญที่ใช้เทคโนโลยี Face Recognition เพื่อทำการประเมินอายุของผู้ซื้อบุหรี่ที่ตู้ ด้วยการใช้กล้องเก็บภาพหน้าของผู้หยอดเหรียญ แล้วทำการวิเคราะห์รูปทรงของใบหน้า ความเต่งตึงของผิวหน้า ลักษณะของเส้นรอบๆดวงตา แล้วทำการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของใบหน้าคน ในช่วงอายุต่างๆ ในฐานข้อมูลที่มีอยู่มากถึง 100,000 ใบหน้า ตู้นี้จะปฏิเสธการขายหากมันคิดว่าคนซื้อเป็นเยาวชน แล้วในกรณีที่ผู้ซื้อเกิดเป็นคนหน้าอ่อนกว่าอายุมากๆ ล่ะจะทำอย่างไร สำหรับกรณีที่ผู้ซื้อเป็นผู้ใหญ่แบบ Baby-Faced แล้วเครื่องปฏิเสธการขาย ก็ยังสามารถซื้อได้โดยนำบัตรประชาชนมาให้ตู้สแกน มันก็จะยอมขายให้ โดยเก็บข้อมูลความผิดพลาดในการคำนวณเอาไว้ด้วย เพื่อปรับปรุงความฉลาดของมันต่อไป แม้ว่าปัจจุบันความถูกต้องในการคำนวณของมันจะมีเพียง 90% เท่านั้น (ทุกๆ 100 คน มันจะเดาผิด 10 คน) แต่ในอนาคตพลังของซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์จะสูงขึ้น เพื่อลดข้อผิดพลาดให้ลดลงไปเรื่อยๆครับ บริษัทเดียวกันนี้ยังได้นำตู้หยอดเหรียญที่แนะนำที่กินข้าว ที่เที่ยว ให้แก่ผู้หยอดเหรียญที่มากดซื้อกาแฟทานด้วยครับ โดยใช้จอภาพแบบ Touch-Screen ให้ผู้ซื้อใช้เล่นแพนและซูมแผนที่ มันก็จะโฆษณาแนะนำว่ามีร้านไหนอร่อยแถวนี้ สามารถบอกเจ้าตู้ฉลาดนี้ว่าเราอยากทานอะไรเป็นพิเศษ มันจะโชว์แผนที่ให้ และพูดบอกเราว่าให้เดินไปทางไหน เลี้ยวตรงไหน

01 พฤศจิกายน 2551

Intelligent Vending Machine - ตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


ท่านผู้อ่านที่เคยอยู่อพาร์ทเมนท์คงจะคุ้นเคยกับเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญนะครับ เดี๋ยวนี้หาค่อนข้างง่าย เป็นความสะดวกสบายอย่างหนึ่งไปแล้วในเมืองไทย แต่เครื่องหยอดเหรียญเพื่อกดขนม หรือ เครื่องดื่มออกมานั้นอาจจะไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไรนักในบ้านเรา ผมก็เคยเห็นบ้างในมหาวิทยาลัยบ้านเรา แต่ที่ญี่ปุ่น เครื่องหยอดเหรียญเพื่อซื้อเครื่องดื่ม บุหรี่ ขนม หรือแม้แต่ของเล่น นั้นพบได้ทั่วไป เรียกว่าเดินออกจากโรงแรมไปซัก 1 ป้ายรถเมล์ ก็เจอเป็นสิบๆเครื่องแล้ว ตามลานจอดรถก็มี ปากซอยก็มี บนชานชาลารถไฟก็มี ออกไปเดินเล่นข้างๆท้องนาในชนบทก็ยังเจอเลยครับ แถมมีของแปลกๆ อย่างไข่ไก่ เป็นต้น บางทีผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่าบริษัทที่ติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญเหล่านี้จะจำได้ไหมว่าตนเองเอาเครื่องไปวางไว้ที่ไหนบ้าง แถมยังต้องไปคอยเอาของไปเติมด้วย ปรากฎว่าเครื่องเหล่านี้ในญี่ปุ่นเขาเชื่อมโยงกับเครือข่ายไร้สายหมดครับ ซึ่งมันจะส่งข้อมูลของสินค้าที่ขายดี ขายไม่ดี ไปยังศูนย์ข้อมูล ซึ่งมันก็จะแจ้งเตือนเมื่อสินค้าใกล้จะหมดด้วย ตู้หยอดเหรียญในญี่ปุ่นมีเยอะเสียจนเขามีการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการเกี่ยวกับตู้หยอดเหรียญโดยเฉพาะ อย่าง Vendex Japan มีบริษัทมาแสดงสินค้าในงานถึง 194 บริษัท จำนวน 822 บูธ ซึ่งมีผู้มาเที่ยวชมงานจำนวน 150,000 คน ทั้งๆที่เก็บค่าเข้าชมงานคนละ 500 บาท ว่ากันว่าในญี่ปุ่นตอนนี้มีตู้หยอดเหรียญจำนวน 5,405,300 ตู้ครับ หรือมีตู้หยอดเหรียญ 1 ตู้ต่อประชากร 23 คน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ครึ่งหนึ่งของ 5 ล้านกว่านี้เป็นตู้สำหรับกดเครื่องดื่มไร้อัลกอฮอล์ครับ ประมาณ 118,000 ตู้จะเป็นของแปลกที่ไม่น่าเอามาใส่ในตู้ ไม่ว่าจะเป็น มีดโกนหนวด ถุงเท้า ไข่ไก่ น่าทึ่งมากครับมี 5,500 ตู้ที่เป็นบะหมี่กระป๋อง เขาสำรวจออกมาพบว่า 22% ของคนตอบแบบสำรวจนั้นใช้ตู้หยอดเหรียญอย่างน้อยวันละครั้ง ทำให้รายได้ของตู้หยอดเหรียญทั้งหมดรวมทั้งปีมีมูลค่าถึง 7,000,000,000,000 เยน หรือ ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของรัฐบาลไทยใน 1 ปีเสียอีกครับ


ชีวิตในโลกอนาคตนั้น นับวันจักรกลที่มีความฉลาดจะยิ่งเข้ามาวนเวียนในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ วันหลังจะมาเล่าต่อนะครับ .....

25 ตุลาคม 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 5) - ดอกไม้ใช่ไร้หัวใจ


กลับมาเล่าต่อถึงความรู้ใหม่ๆ ที่นักวิจัยเพิ่งจะมาตื่นตัวเมื่อไม่กี่ปีมานี้นะครับว่า ต้นไม้นั้นก็มีระดับของการรับรู้มากกว่าที่เคยคิดกัน มันไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตเฉื่อยๆ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 10 ปีหลังนี้เริ่มไขปริศนาเรื่องนี้แล้วครับ ทั้งๆที่พระพุทธองค์ท่านอาจเคยค้นพบความลับข้อนี้กว่า 2,500 ปีมาแล้ว ตลอดชีวิตของพระตถาคต พระองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน โดยอาศัยโคนต้นไม้ ทรงให้ความเคารพแก่ต้นไม้โดยมีพระวินัยข้อห้ามไม่ให้ภิกษุรื้อถอน ตัด ต้นไม้ โดยปราศจากเหตุอันควร


ล่าสุดก็มีข่าวใน Science Daily ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2551 (รายงานในวารสาร Journal of Biological Chemistry) เกี่ยวกับดอก Red hibiscus หรือ ชบาแดง ที่สามารถจะเลือกคู่ครอง ด้วยการรับ หรือ ปฏิเสธเกสรตัวผู้ที่ล่องลอยมาตามลม หรือ มากับแมลง ซึ่งค้นพบโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ Bruce McClure หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "ต้นไม้ไม่ได้ใช้การมองเห็นเพื่อเลือกคู่ครองหรอกครับ มันใช้การสัมผัสระดับโมเลกุล เพื่อบอกว่า คู่ของมันเหมาะกับมันไหม" เขากล่าวต่อว่า "และคู่ที่มันอยากได้ มันก็ประกาศติดไว้บนเกสรตัวเมียนั่นแหล่ะครับ ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะเกิดอันตรกริยาเฉพาะกับโปรตีนของเกสรตัวผู้ที่มันอยากได้เป็นคู่ครอง" เมื่อโปรตีนที่เป็นคู่ที่ถูกต้องได้รับการยอมรับ กระบวนการปฏิสนธิจึงจะเริ่มขึ้น ความรู้ครั้งนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะว่าหากเรามีองค์ความรู้ในเรื่องของการผสมเกสร เราก็สามารถที่จะออกแบบพืช GMO ที่ไม่เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติได้ โดยการทำให้มันเป็นหมัน หรือ เกสรตัวผู้ของมันถูกปฏิเสธโดยเกสรตัวเมียของพืชตามธรรมชาติ ตอนนี้พืช GMO ถูกรังเกียจโดยสาธารณะก็เพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชของเรานั้น จริงๆยังมีน้อยครับ เมื่อเรารู้น้อยเราก็ควรจะรอให้เข้าใจก่อน เพราะว่า .... ต้นไม้ไม่ได้โง่ เราควรจะปฏิบัติต่อเขาให้ถูกต้องครับ .......

23 ตุลาคม 2551

International Conference on Tea Production and Tea


วันนี้ผมมีการประชุมหนึ่งมาแนะนำครับ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย การประชุมนี้มีชื่อว่า International Conference on Tea Production and Tea Products ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2551 นี้ครับ แต่กำหนดส่ง abstract ยังไม่หมดครับ จะหมดวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ยังพอมีเวลาเขียนส่ง การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันเกษตรใกล้เขตร้อนแห่งมลรัฐหูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 10 ปีของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยครับ ท่านที่เคยไปมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็คงจะทราบดีถึงความสวยงามของภูมิทัศน์ ทั้งสภาพภูมิประเทศ และ อาคารต่างๆในมหาวิทยาลัย สวยงามประดุจรีสอร์ทเชียวครับ เท่าที่ผมทราบ ผมไม่เคยได้เห็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องของชาในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากเลยสำหรับผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับชา ทั้งผู้ปลูก ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้สนับสนุนและส่งเสริมวิชาชีพทางด้านนี้ ตัวผมเองก็คิดจะไปร่วมงานนี้ โดยการส่งผลงานเกี่ยวกับ Electronic Nose หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ดมชา เพื่อควบคุมการผลิต และคุมคุณภาพการหมักใบชา อีกงานที่จะส่งไปก็คือการนำเทคโนโลยี Smart Farm ไปใช้ในไร่ชา


เนื้อหาของการประชุมจะมีการบรรยายโดยผู้แทนจาก EU เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของใบชา การรายงานสถานภาพเกี่ยวกับการผลิตชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชา จากผู้แทนของประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน และเวียดนาม การเสนอผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชาทั้งแบบ Oral และ Poster การเสวนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการทัวร์ไร่ชาที่ดอยแม่สลอง โรงงานผลิตชาในจังหวัดเชียงราย การเยี่ยมชมโครงการหลวงดอยตุง งานประชุมนี้จึงมีความน่าสนใจหลายๆอย่าง ที่ไม่รู้ว่าจะมีแบบนี้อีกครั้งเมื่อไหร่ ..... น่าไปจริงๆ ครับ ........


(ภาพบน - บรรยากาศของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสวยงามติดอันดับประเทศ)

21 ตุลาคม 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 3)


วันนี้มาคุยต่อนะครับถึงการเกษตรแนวใหม่ ซึ่งย้ายการผลิตพืชพรรณธัญญาหาร จากชนบท มาสู่ตึกสูงในเมือง ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากนี้ การเกษตรจะเป็นเรื่องของความแม่นยำ ไม่ต้องปล่อยให้ดินฟ้าอากาศมาเป็นผู้ตัดสินอีกต่อไปแล้วครับ ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เสนอแนวคิดนี้คงจะดีใจไม่น้อยครับ ที่กรรมการเมือง Las Vegas ได้ตัดสินใจที่จะก่อสร้างอาคารสำหรับทำ Vertical Farming ขึ้นที่มหานคร Las Vegas ด้วยงบประมาณสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหวังว่าการทำไร่บนตึกสูงนี้จะทำกำไรด้วยความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรได้ 72,000 คน และยังจะเป็นจุดท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งหากมองในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว การสร้าง Vertical Farm ในเมืองอย่าง Las Vegas ที่อยู่กลางทะเลทราย เป็นอะไรที่เข้าท่าเข้าทางมาก เพราะจะทำให้เมืองนี้สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหารได้ ทำให้ลดการขนส่งอาหารเข้ามาจากแหล่งอื่น อาคารสำหรับทำไร่แห่งนี้จะปลูกพืชกว่า 100 ชนิด ซึ่งรวมทั้งสตอเบอร์รี่ กล้วย ถั่วต่างๆ ซึ่งก็จะส่งพืชผลเหล่านั้นหล่อเลี้ยงโรงแรม และคาสิโนต่างๆ โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้วครับ ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการในปี ค.ศ. 2010

04 ตุลาคม 2551

เซลล์สุริยะสาหร่าย - Algae Solar Cell (ตอนที่ 3)



วันนี้ผมขอมาคุยให้ฟังต่อเรื่อง การผลิตพลังงานจากสาหร่าย กันอีกครั้งครับ เพราะกระแส Algae Solar Cell นี่มาแรงจริงๆ ครับ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการตื่นตัวเรื่องนี้มาก ถึงขนาดที่ว่ามีชมรมที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเผยแพร่วิธีการทำฟาร์มน้ำมันสาหร่าย แบบเปิดให้ดูหมด (ในภาษาไอทีเขาเรียกว่า Open Source ครับ) ชมรมนี้เรียกว่า algOS (algae Open Source) ชมรมนี้ต้องการให้ใครก็ได้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร คนทั่วไป บริษัท จากทั่วทั้งโลก มาร่วมกันเปิดเผยข้อมูลที่พอจะให้ได้ เพื่อมาสร้างสูตรการทำฟาร์มสาหร่ายเพื่อการผลิตน้ำมันร่วมกัน โดยอาศัยความได้เปรียบที่ว่า (1) สาหร่ายเป็นพืชที่ให้น้ำมันได้สูงมาก เป็นร้อยเท่าของถั่วเหลืองเลยครับ (2) สาหร่ายปลูกที่ไหนก็ได้ เพราะไม่ต้องอาศัยดิน ปลูกในท่อปลูกก็ได้ (3) สาหร่ายไม่ใช่อาหารของคน หรือ สัตว์ที่คนเลี้ยง ไม่เหมือน ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เนื่องจากตอนนี้บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาลงทุนทางด้านนี้ ทางชมรมนี้เขาก็กลัวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้จะถือครองสูตรการทำ แล้วอีกหน่อยก็จะควบคุมพลังงานสาหร่าย ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคต ชมรมนี้จึงต้องการสร้างอำนาจการต่อรอง ด้วยการทำสูตรที่เป็นสาธารณะ เพื่อให้เกษตรกร บริษัทขนาดกลาง ตลอดจนผู้สนใจจะก่อตั้งธุรกิจนี้ เอาไปทำเองก็ได้ การเลี้ยงสาหร่ายสามารถทำได้ทั้งในระดับใช้กันเองในชุมชน ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไปจนถึงการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยผมมองว่าการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจจะทำได้ไม่กี่แห่ง เพราะประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่พื้นดินเหมาะไปทำอาหารมากกว่า การทำฟาร์มสาหร่ายควรไปทำในที่ๆ ไม่ต้องใช้พื้นดินทำเกษตร เช่น ทะเลทราย หรือ บริเวณดินเค็ม ดินเสีย ที่ทำเกษตรไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่ค่อยมีหรอกครับในประเทศที่อุดมสมบูรณ์อย่างบ้านเรา algOS เขาพยายามทำคู่มือให้ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงการผลิตน้ำมันเลยครับ วันหลังผมจะมาคุยต่อนะครับ .....

27 กันยายน 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 4)


วันนี้มาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ ครั้งล่าสุดที่คุยเรื่องความฉลาดของต้นไม้ (ตอนที่ 3) นั้นคือวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ครับ ตอนแรกก็คิดว่าจะปิดประเด็นเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ที่ต้องมาคุยเรื่องนี้ต่ออีกก็เพราะว่าเมื่อต้นเดือนกันยายน 2551 นี้เอง ได้มีรายงานวิจัยในวารสาร Biogeoscience (T. Karl, A. Guenther, A. Turnipseed, E.G. Patton, K. Jardine. Chemical sensing of plant stress at the ecosystem scale. Biogeosciences, September 8, 2008) ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความฉลาดรู้รักษาตัวรอดของพืช โดยผู้รายงานนั้นเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สังกัดศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (National Center for Atmospheric Research เรียกย่อๆ ว่า NCAR) ซึ่งนำโดย Thomas Karl ซึ่งได้ค้นพบว่าต้นวอลนัทมีความสามารถในการปล่อยสารเคมีในกลุ่มเดียวกับยาแอสไพริน (ที่พวกเราทานแก้ลดไข้ ปวดหัว นั่นแหล่ะครับ) ออกมาเมื่อพวกมันมีอาการเครียด

การค้นพบโดยบังเอิญนี้เกิดขึ้นในขณะที่นักวิจัยได้เก็บไอระเหยอินทรีย์จากป่าวอลนัท เพื่อเอาไปตรวจสอบมลพิษของอาณาบริเวณนั้น เนื่องจากไอระเหยอินทรีย์เหล่านี้เมื่อมารวมกับไอเสียจากอุตสาหกรรม ก็จะบอกระดับมลภาวะแถวๆ นั้นได้ คณะวิจัยต้องตกตะลึงเมื่อพบไอโมเลกุลของสารประเภทแอสไพริน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อพืชเจอกับสภาวะอันตราย เช่น ฝนแล้ง อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ความร้อนหรือหนาวเย็นนอกฤดูกาล นักวิจัยได้เก็บไอระเหยนี้ที่ระดับความสูง 30 เมตรจากพื้นดิน แล้วพบว่าสารกลุ่มนี้ ที่ปล่อยออกมาจากป่าแห่งนี้ มีปริมาณสูงถึง 0.025 มิลลิกรัมต่อตารางฟุตต่อชั่วโมง คณะวิจัยมีเชื่อว่าสารกลุ่มแอสไพรินที่พืชปล่อยออกมานี้ ทำหน้าที่อย่างน้อย 2 ประการคือ ประการแรกมันช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืช ให้ตื่นตัวและเริ่มกระบวนการปกป้องตัวเอง ประการที่สอง สารที่ปล่อยออกมานั้นล่องลอยกินอาณาบริเวณ ซึ่งจะช่วยเตือนภัยแก่ญาติๆของมัน ซึ่งก็เป็นการสื่อสารส่งข่าวบอกกันและกันด้วย นักวิจัยหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าดูพืช ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรสามารถตรวจรู้ภัยคุกคามที่มีต่อพืชได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ความรู้สึกของพืชต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความเครียดของพืช ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรจะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้ว เช่น ใบแห้งตาย หรือมีหนอนกระจายทั้งไร่

24 กันยายน 2551

โรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่


เมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีเกษตรหญิงของเนเธอแลนด์ นาง Gerda Verburg ได้ออกมาประกาศว่า กระทรวงของเธอจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าโรงนี้จะนำขี้ไก่จำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณที่ไก่ทั้งประเทศอึออกมาทั้งหมด เพื่อมาปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งก็จะได้ไฟฟ้ามากถึง 36.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอจะหล่อเลี้ยงบ้านเรือนได้ถึง 90,000 หลัง ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานขี้ไก่นี้มีเยอะครับ ข้อหนึ่งก็คือมันให้พลังงานไฟฟ้าแบบเหมือนได้มาเปล่าๆ (ซึ่งไม่จริงหรอกครับ เพราะจริงๆแล้ว ก็มีต้นทุนในการขนส่งขี้ไก่มาป้อนโรงไฟฟ้า) ข้อสองของเสียที่เป็นขี้ไก่จากฟาร์มไก่ก็จะถูกกำจัดไปโดย แทนที่เกษตรกรจะเสียเงินเพื่อมาหาทางกำจัด ตรงข้ามจะได้เงินจากการขายขี้ไก่เพิ่มมาอีก ผมเคยไปเยี่ยมชมฟาร์มไก่ที่ จ.นครสวรรค์ เขามีปัญหาเรื่องขี้ไก่ที่อยากกำจัด โดยคิดจะทำก๊าซชีวมวล แต่ก็ต้องใช้เงินทุน แถมหากเป็นฟาร์มที่ไม่ใหญ่พอก็อาจมีขี้ไก่ไม่พอปั่นไฟ หรือถ้าปั่นไฟได้มากก็จะมีปัญหาว่าจะนำไฟฟ้าที่เหลือไปทำอะไร ข้อสาม การปั่นไฟจากขี้ไก่ ช่วยลดโลกร้อนได้ 2 ต่อครับ ต่อแรกคือการปั่นไฟแบบนี้ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงไม่นำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเผา ต่อที่สองคือ การปั่นไฟแบบนี้เป็นการนำก๊าซมีเธน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมาเผาเปลี่ยนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็เป็นก๊าซเรือนกระจกเหมือนกัน แต่คาร์บอนไดออกไซด์นี้พืชสามารถเปลี่ยนหมุนเวียนกลับมาได้ ในขณะที่มีเธนซึ่งเกิดจากการทำปศุสัตว์นั้น จะลอยอยู่ชั้นบนของบรรยากาศและไม่มีการหมุนเวียนในระบบนิเวศน์ ทำให้การทำปศุสัตว์เป็นอาชีพที่ทำให้โลกร้อนอันดับต้นๆของโลก


โรงไฟฟ้าพลังขี้ไก่ที่มีมูลค่าประมาณ 150 ล้านยูโรนี้ จะเปลี่ยนขี้ไก่ปีละ 440,000 ตัน ไปเป็นพลังงานได้ 270 ล้านหน่วย เศษของขี้ไก่ที่เหลือจากการเผาก๊าซมีเธนสามารถนำไปทำปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงไก่ และส่งออกไก่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงเวลาหรือยังครับที่คนไทยจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากขี้ไก่ ????

21 กันยายน 2551

Energy Farm & Micropower (ตอนที่ 2)


วันนี้มาเล่าต่อถึงแนวโน้มของการผลิตพลังงานใช้เองกันในบ้าน หรือ ชุมชน ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาแรงมาก ซึ่งทำให้ในขณะนี้การผลิตกระแสไฟฟ้าระดับชุมชน หรือ micropower มีกำลังผลิตทั่วโลกมากกว่า 16% ของไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ทั้งโลก (ข้อมูลจาก International Energy Agency ปี ค.ศ. 2006) แซงหน้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นไปแล้วครับ ประเทศสวีเดนถึงกับประกาศว่า ในปี ค.ศ. 2020 จะหยุดนำเข้าน้ำมันและก๊าซ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานแบบ Micropower และสร้าง Energy Farm ให้เพียงพอใช้งานในประเทศ ประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากที่สุดในโลก นั้นเริ่ม Micropower มาก่อนใครเลยครับ เพราะเขาทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ทำให้วันนี้เดนมาร์กเป็นประเทศที่เดือดร้อนจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 น้อยที่สุด ทุกวันนี้เดนมาร์กผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าไม่ถึง 33% ที่เหลือผลิตจากบ้านและชุมชนทั้งหมด เดนมาร์กเป็นประเทศที่จำนวนการใช้พลังงานต่อ GDP ต่ำที่สุดในโลก เดนมาร์กยังเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงมากครับ เขามีโครงการ Energy Internet คือทำให้พลังงานไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อโยงใยกันทั้งกลุ่มสแกนดิเนเวีย ในช่วงที่ลมพัดแรงตามชายฝั่งของเดนมาร์ก Wind Farm จะทำงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะส่งข้อมูลไปบอกเขื่อนพลังงานน้ำในประเทศนอร์เวย์ให้หยุดทำงาน เพื่อประหยัดน้ำเอาไว้ใช้ปั่นไฟในช่วงลมสงบ ระบบ Energy Internet ยังเชื่อม Solar Farm และเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบอื่นๆ เช่น Biomass ให้สามารถผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยจะใช้ Smart Meters เพื่อคิดค่าไฟฟ้าที่สอดคล้องกับต้นทุน ณ เวลานั้นๆ

18 กันยายน 2551

เซลล์สุริยะสาหร่าย - Algae Solar Cell (ตอนที่ 2)


ตอนนี้ทั่วโลกกำลังต่อต้านการนำเอาอาหารมาทำเป็นพลังงาน ทั้ง Ethanol จากข้าวโพดและอ้อย ทั้งปาล์มน้ำมัน หรือ แม้กระทั่งพืชที่เป็นอาหารไม่ได้ แต่การปลูกมันมากๆ ก็จะไปรังแกพื้นที่ปลูกอาหาร ผู้คนจึงมาถึงทางตันแล้วว่า ไม่มีทางเลือกอื่นอีกหรือ มีพืชพลังงานอะไรที่ไม่รังแกเกษตรกรรม คำตอบก็คือ มีครับ "สาหร่าย" นี่แหละ เพียงแต่การนำสาหร่ายมาผลิตพลังงานต้องทำแบบฉลาดนะครับ เพื่อไม่ให้มันไปกระทบเกษตรอาหาร ตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความก้าวหน้าด้านนี้ ถึงกับมีบริษัทจัดตั้งใหม่ที่เรียกว่า Start-Up เกิดกันมากมาย เจ้าเซลล์สุริยะสาหร่ายจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาฑิตย์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือ เอธานอล ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่าย โดยนักพันธุวิศวกรรมสามารถปรับเปลี่ยน ตกแต่งยีนของสาหร่ายเหล่านี้ จนกระทั่งได้พันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสาหร่ายมีอัตราการเติบโตที่เร็วมากๆ ประมาณ 30 เท่าของพืชทั่วไป มันจึงสามารถผลิตพลังงานได้เร็วกว่าพืชพลังงานทุกอย่างเลยครับ เนื่องจากสาหร่ายเหล่านี้กินคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นหากสร้างฟาร์มสาหร่ายใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาใช้เลี้ยงสาหร่าย เพื่อจะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลต่ออีกทอดหนึ่งครับ ไอเดียดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจในสหรัฐฯ โดยบริษัท Sunflower ซึ่งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ตกลงจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและป้อนคาร์บอนไดออกไซด์ให้ ฟาร์มสาหร่าย ซึ่งทุกๆ 1.8 ตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะผลิตสาหร่ายได้ 1 ตัน

17 กันยายน 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 2)


เรามาดูเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบเป็นอาคารสำหรับการทำไร่บนตึกกันนะครับ
  • เรื่องพลังงาน อาคารที่ใช้ทำไร่นั้นจะอาศัยพลังงานหมุนเวียนครับ แผง Solar Cell ที่อยู่เหนือยอดตึก ซึ่งสามารถที่จะหมุนตามดวงอาฑิตย์ได้ กังหันลมจะดักลมเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า พืชผักเหลือทิ้ง หรือ มูลสัตว์ที่เลี้ยงในอาคาร จะถูกนำมาทำพลังงานชีวมวล

  • รูปทรงของอาคาร ต้องเป็นทรงกระบอก เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กระจกของอาคารถูกเคลือบด้วย Titania เป็นกระจกที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ จะใสปิ๊งตลอดเวลา

  • อาคารทำไร่ จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ Smart Farm ซึ่งจะทำให้อาคารนี้ทำการเพาะปลูกพืช 24 ชั่วโมง ทั้งปีโดยไม่มีวันหยุด โดยจะมีเซ็นเซอร์ตรวจสภาพแวดล้อม ตรวจการเจริญเติบโตของพืช ตรวจจับแมลง ตรวจจับความสุก ซึ่งสามารถเฝ้าดูจากหน้าจอมอนิเตอร์ของฟาร์ม

  • พืชพรรณที่ปลูกสามารถปลูกได้เกือบทุกอย่าง ทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช สามารถเลี้ยงปลา ไก่ หมู ได้ ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ออกแบบให้อาคารทำไร่นี้ 1 อาคาร สามารถเลี้ยงประชากรได้ 50,000 คน พืชที่ปลูกนั้นจะไม่ใช้ดิน โดยการจุ๋มรากในน้ำ หรือ ในอากาศ (แล้วสเปรย์ความชื้นกับสารอาหารให้) ทำให้สามารถใช้พื้นที่ปลูกแบบ 3 มิติได้ คือสามารถเรียงแปลกปลูกซ้อนๆ กันได้ ต่างจากเกษตรแบบเก่าที่ทำการเพราะปลูกได้เพียง 2 มิติ

  • น้ำที่เกิดจากการคายน้ำของพืชจะมีความบริสุทธิ์สูง เราสามารถเก็บน้ำที่เกิดจากการคายน้ำโดยการใช้ Moisture Collector ซึ่งจะนำน้ำมารวมกัน บรรจุขวดขายได้ เป็นน้ำจากการคายน้ำของพืช ซึ่งจะมีแบรนด์ที่คนสนใจดื่ม ศาสตราจารย์ Dickson Despommier ประมาณว่าในปีหนึ่งๆ อาคารนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้ 300 ล้านลิตร
  • น้ำเสียต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมในอาคารนี้ สามารถกรอง และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อรดน้ำพืชได้ ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาทิ้งน้ำที่บำบัดแล้ว ลงแม่น้ำลำคลองไปเปล่าๆ วันละ 7 พันล้านลิตร การมีระบบหมุนเวียนน้ำ จะทำให้อาคารนี้ผลิตของเสียน้อยมาก และใช้น้ำจากการประปาน้อยลง

13 กันยายน 2551

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 1)

(คล๊กที่รูปเพื่อขยาย)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีก่อนนั้นได้ทิ้งมรดกให้โลกอย่างหนึ่งครับ นั่นคือการแบ่งแยกระหว่างสังคมเมือง กับ สังคมชนบท สังคมเมืองทำงานในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และงานที่ผลิตที่มีมูลค่าสูง ในขณะที่สังคมชนบทนั้นทำเกษตรกรรม แต่สิ่งนั้นจะไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้วล่ะครับ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง ไอที นาโนเทคโนโลยี วิศวกรรมเครื่องกล เทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรรมไฟฟ้า กำลังจะย้ายเกษตรกรรมจากชนบทเข้ามาทำในเมือง ศาสตร์ในการทำการเกษตรแนวใหม่ กำลังได้รับความสนใจจากเจ้าเมือง (City's Governor) ใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ ศาสตร์ที่ว่านั่นคือ เกษตรกรรมบนที่ (ตึก) สูง หรือ Vertical Farming ครับ

ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกแนวคิดของการเกษตรกรรมบนอาคารสูง ท่านเชื่อสุดเชื่อครับว่า การเกษตรแบบใหม่นี้คือทางรอดของมนุษยชาติ โดยกล่าวว่า "อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคนไปเป็น 9.5 พันล้าน แต่ตอนนี้เรากลับใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเกษตรไปแล้วถึง 80% เลยครับ ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อถึงตอนนั้น การเกษตรแบบเดิมจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างไร"

เกษตรแบบใหม่ จะเปลี่ยนการเกษตรจากที่เคยทำในแนวราบในชนบท มาเป็นการเกษตรแบบแนวดิ่งกลางเมืองใหญ่ Vertical Farming จะผลิตอาหารที่สังคมชนบทเคยผลิต ด้วยวิธีการที่ควบคุม พืชผลจะไม่ถูกรบกวนโดยสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พายุฝน ภัยแล้ง ดินเสีย การเกษตรแบบไม่ใช้ดินจะดันยอดผลผลิตขึ้นไปอีก 5-30 เท่า นอกเหนือไปจากนี้ Vertical Farming ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะประมาณกันว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลก 80% จะอาศัยในเมืองใหญ่ ดังนั้นการทำเกษตรกลางเมือง จะทำให้ไม่ต้องมีการขนส่งผลผลิตจากชนบทมาสู่เมือง ผลิตตรงไหน ก็บริโภคกันตรงนั้น อาคารที่ทำฟาร์มอาจมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายผลผลิตให้แก่คนเมืองไปในตัว ในเมื่อสังคมชนบทที่ทำการเกษตรไม่มีความจำเป็นแล้ว เราก็สามารถปล่อยพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการสร้างพท้นที่ป่าบนผืนเกษตรที่ทิ้งแล้ว เพื่อให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ศาสตราจารย์ Despommier คำนวณว่าจะต้องมีการสร้าง Vertical Farm สัก 150 อาคารเพื่อเลี้ยงคนนิวยอร์คทั้งเมือง โดยฟาร์มบนตึกนี้จะผลิตได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ โดยแทบจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากชนบทอีกต่อไป ไอเดียสุดเจ๋งของท่านกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ จนถึง ดูไบ ผมจะมาเล่าต่อในตอนต่อไปนะครับว่า ต้นแบบ Vertical Farm มีหน้าตาอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะประเทศที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างประเทศไทย ได้รับผลกระทบแน่ครับ .........

10 กันยายน 2551

Energy Farm & Micropower (ตอนที่ 1)


แนวโน้มใหญ่ๆของโลกในศตวรรษนี้ จะเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องของการย่อส่วน รถยนต์แห่งอนาคตจะเล็กลง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เล็กลงจนเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคลื่อนที่ จอภาพที่แบนและบางลงเรื่อยๆ แบตเตอรี่ที่ยิ่งวันยิ่งเล็กลง โรงงานในอนาคตจะเป็นโรงงานแบบตั้งโต๊ะ (Desktop Manufacturing) และอีกเรื่องสำคัญที่ผมยังไม่เคยพูดถึงเลยก็คือ โรงไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องของอดีตครับ การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแล้วส่งผ่านสายส่งไปตามบ้านเรือนและธุรกิจ ผ่านระบบกริด จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะในอนาคต ชุมชนต่างๆจะผลิตพลังงานใช้กันได้เอง หรือแม้แต่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังกริดเพื่อขาย


เรื่องของ Energy Farm กำลังกลายมาเป็นกระแสในช่วงนี้ ยุคที่โลกร้อนขึ้นๆ กับน้ำมันที่แพงขึ้นๆ ในประเทศเยอรมัน ณ เมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Freiamt ชุมชนแห่งนี้ได้ติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความสูงกว่า 80 เมตร มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 กังหันลมจำนวน 4 ตัวนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 1.8 เมกะวัตต์ต่อ 1 ตัวเชียวครับ นอกจากนั้นยังมีครัวเรือนอีกกว่า 270 หลังที่ติดตั้งเซลล์สุริยะเพื่อผลิตน้ำร้อนและไฟฟ้า แล้วยังมีโรงสีอีก 2 แห่ง กับโรงงานขนมปัง 1 แห่งที่มีกังหันน้ำที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำได้อีก 15 กิโลวัตต์ ยังไม่พอครับ เกษตรกรที่นั่นเขายังมีการผลิต Biogas จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันความร้อน ซึ่งความร้อนที่ปล่อยออกมา ยังส่งไปตามท่อเพื่อไปใช้อุ่นบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าเล็กๆนี้ ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนนี้ไม่เคยต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกเลยครับ และเมื่อปี ค.ศ. 2007 นี้ ชุมชนนี้ผลิตไฟฟ้าเหลือใช้ถึง 2.3 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) โดยใช้กันทั้งชุมชนจำนวน 12 ล้านหน่วย


นอกจาก Freiamt แล้ว ชุมชนอื่นๆ ทั่วโลกก็กำลังเกาะกระแสพลังงานพอเพียงนี้กันครับ วันหลังผมจะมาเล่าต่อ ........

05 กันยายน 2551

ร่วมกันแก้วิกฤตอาหารโลก


เรื่องวิกฤตข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ว่ากันว่ามันก็มีสัญญาณเตือน มีลางบอกเหตุมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่มีผู้นำประเทศไหนในโลกที่ใส่ใจ ถึงตอนนี้วิกฤตนี้ลามไปทั่วโลกแล้ว วิกฤตอาหารครั้งนี้มีสาเหตุหลักๆ 4 ประการคือ (1) การเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังผลิตลดต่ำลง อันเป็นสาเหตุมาจากไม่มีเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์ดีๆ ปุ๋ย รวมทั้งระบบชลประทาน (2) ปัญหาจากการอุดหนุนให้มีการปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็น Biofuel ทำให้พืชที่เป็นอาหารถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น Ethanol หรือ Biodiesel ก็แย่พอกันครับ ยกเว้นจะผลิตเพื่อใช้อย่างพอเพียงในชุมชน แต่ถ้าคิดจะทำระดับอุตสาหกรรม ถือว่าคิดผิดครับ (3) Climate Change ทำให้ความสามารถในการทำเกษตรลดต่ำลง (4) การบริโภคอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าการผลิตอาหาร โดยเฉพาะจีนและอินเดียมีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งมีการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นในประเทศเหล่านี้ ทำให้อาหารจำพวกธัญพืชถูกนำไปใช้ผลิตเนื้อสัตว์ โลกจึงขาดแคลนธัญพืชสำหรับให้มนุษย์กิน โดยเฉพาะในประเทศจนๆ อย่างแอฟริกา


วิธีแก้วิกฤตอาหารโลกอาจทำได้ 3 ทาง แต่ต้องทำพร้อมๆกันครับคือ (1) จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ชั้นดี ที่ทนแล้งทนโรคได้ (2) ยกเลิกการอุดหนุนการปลูกพืชพลังงานที่ทำร้ายเกษตรกรรมทั้งหมด (ฝรั่งถึงกับประณามโดยใช้คำพูดว่า Biofuel Nonsense เลยครับ) นั่นคือ ไม่เอาพืชอาหารไปทำเชื้อเพลิง ไม่ปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ปลูกพืชอาหาร รวมไปถึงไม่ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชพลังงาน (3) นำเทคโนโลยีไปช่วยเหลือเกษตรกรรมให้มากขึ้น เพื่อให้การเกษตรในยุต Climate Change มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ทำให้เกษตรมีความแม่นยำและทำนายได้มากขึ้น



(ภาพบน - ในฟิลิปปินส์ ทหารต้องเฝ้าโกดังเก็บข้าวอย่างเข้มข้น เพื่อมิให้ประเทศนี้เกิดกลียุค)

29 สิงหาคม 2551

Information Technology for Agriculture (ตอนที่ 2)


กลับมาจากโตเกียวแล้วครับ ไปญี่ปุ่นครั้งนี้เพื่อไปประเมินสถานภาพทางเทคโนโลยีไอทีที่นำมาใช้ทางเกษตร ของญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งกับไทย ในงาน World Conference on Agricultural Informatics and IT 2008 ซึ่งจากภาพรวมก็พบว่ายังไม่มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ที่มีสีสันฉูดฉาด สร้างความตื่นเต้นร้อนแรงมาแสดงในงาน นั่นอาจเป็นเพราะว่า สหรัฐอเมริกา กับ ออสเตรเลีย ไม่ได้มาร่วม เพราะว่าทางอเมริกาเขาก็มีการประชุมประจำปีของเขา ที่นั่นเรียกว่า Precision Agriculture ครับ เป็นศาสตร์ที่กว้างกว่า IT Agriculture มาก เพราะเชื่อมโยงเทคโนโลยีอื่นนอกเหนือ IT ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ ไปจนถึงนาโนเทคโนโลยี การประชุมที่โตเกียวครั้งนี้ จึงให้ภาพเพียงด้านเดียวของ Precision Agriculture เองครับ


ผมเป็นคนจากสาขานาโน พอเข้าไปเข้าร่วมประชุมในงานของทางเกษตร มันมีความรู้สึกหนึ่งเข้ามา นั่นคือ แต่ละคนแต่ละประเทศดูจะหวงๆ ศาสตร์ ความรู้ และเทคนิคของตัวเอง ขนาดการประชุมทางด้านนี้ยังแบ่งเป็นทวีปๆ อย่างชัดเจน เช่น อเมริกาก็มีของเขา ออสเตรเลีย ยุโรป และ เอเชีย ก็ชอบจัดงานแยกกัน ที่ผมพอจะอธิบายได้ก็คือ (1) การเกษตร เป็นเรื่องของ Geo-specific ครับ คือ แต่ละถิ่นปลูกพืชไม่เหมือนกัน ความสนใจจึงต้องกำหนดขอบเขตทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย (2) การเกษตรเป็นอะไรที่แต่ละประเทศหวงแหน เป็นอาชีพที่รัฐอุดหนุนไม่ให้ล้มตาย จึงต้องพยายามรักษาสถานภาพในการแข่งขันของตัวเองให้สูงอยู่เสมอ ถึงแม้ผู้ร่วมประชุมแต่ละท่านจะมีความเป็นนักวิชาการ แต่การเปิดเผยข้อมูล หรือ ความรู้ที่ตัวเองทำก็ค่อนข้างระมัดระวังครับ


สิ่งที่น่าจับตาของญี่ปุ่นก็คือ เขาได้พัฒนาเซ็นเซอร์ภาคสนาม (Field Server) ของเขาเอง ซึ่งประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์วัดแสง อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน กล้อง โดยเขาได้ตั้งบริษัทขึ้นมาชื่อว่า elab experience ตอนนี้เขาก็พยายามทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น เท่าที่ผมประเมินดูคิดว่าการทำตลาดในประเทศไทยเราไม่น่าง่าย อย่างไรก็ตามเขาพยายามแทรกซึมเข้ามาด้วยการร่วมงานวิจัยผ่านมหาวิทยาลัยบางแห่งของไทย ซึ่งก็มีนักศึกษาไทยทำงานร่วมอยู่กับเขาครับ ก็ยังพอมีเวลาหากประเทศไทยเราจะพัฒนาเทคโนโลยี Smart Farm ของตัวเอง เพื่อแข่งกับต่างประเทศครับ

26 สิงหาคม 2551

Information Technology for Agriculture


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ตอนนี้ผมอยู่กรุงโตเกียวครับ มาเข้าร่วมประชุม World Conference on Agricultural Informatics and IT 2008 วันพฤหัสบดีนี้ก็จะกลับกรุงเทพฯ แล้วครับ วันนี้พอดีพอมีเวลามาอัพเดตบล็อกสักหน่อย ก็ขอเล่าเรื่องความก้าวหน้าต่างๆ ที่ได้รับรู้มาจากการประชุมนะครับ งานนี้มีคนเข้าร่วมสักประมาณ 200 คนได้ครับ ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่เลยครับ หากไปเทียบกับงานประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ ที่เป็นงานฮ็อตฮิตของปี แล้วยิ่งงานนี้ซึ่งเป็น World Conference ที่เอางานประชุมย่อยๆ ของแต่ละสมาคมมาร่วมจัดในคราวเดียวกัน แต่ทำไมมีคนเข้าร่วมแค่ระดับ 200 คนเอง ยิ่งทำให้รู้สึก เอ... ทำไมคนทำวิจัยทางด้านนี้น้อยจัง ทั้งๆที่วิทยาการทางด้าน Information Technology for Agriculture นั้นนับวันจะยิ่งมีความสำคัญกับโลกมากขึ้นทุกที ยิ่งในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อน และพลังงานมีราคาแพง ทำให้การผลิตอาหารจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมลองมานั่งนึกดู แล้วจึงพบว่า .... อ๋อ ..... งานนี้มีแต่นัก IT มาเสนอผลงาน แต่ดันไม่ยักมีคนทางด้านเกษตร ที่เป็นผู้ใช้มาเลย คือ ..... มีแต่ developers มา แต่กลับไม่มี users มาครับ ผมจึงลองไป search ดูงานประชุมทางด้านเกษตรของโลกเรา จึงได้พบว่าโลกของเรามีงานประชุมทางด้านเกษตรน้อยมากๆ เพราะ..... เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ปีหนึ่งๆ เรามีงานประชุมทางด้านนาโนไม่รู้จักกี่งาน แต่งานประชุมทางด้านเกษตรทั้งโลกกลับมีแค่ 2-3 งานเท่านั้น น่าน้อยใจแทนคนในสาขาเกษตรนะครับ งานประชุมนี้มีคนไทยเข้าร่วมพอสมควรนะครับ เท่าที่ผมนับดูก็ประมาณ 15-20 คน อาจจะเป็นอันดับสอง หรือสาม รองจากคนญี่ปุ่น เลยนะครับ ก็ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรมนี่ครับ ถึงแม้งานนี้จะไม่ใหญ่โตอย่างที่ผมคิด แต่ผมก็ดีใจที่ได้มาประชุมงานนี้ เพราะได้พบว่างานทางด้านเกษตรแม่นยำสูงของเรา ไม่ได้แพ้ญี่ปุ่นเลยครับ งานของคนไทยที่ไปเสนอในที่ประชุมนี้ ฝรั่งเองก็ยังทึ่งครับ ดังนั้นบ้านเราอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีชั้นสูง มาใช้งานทางเกษตรให้มากขึ้น เพราะเราค่อนข้างได้เปรียบมากๆ ในเรื่องความหลากหลายของสินค้าเกษตรครับ

22 สิงหาคม 2551

ตาชั่งอัจฉริยะ - Intelligent Scales


หากท่านผู้อ่านเคยไปซูเปอร์มาเก็ต แล้วไปซื้อผัก/ผลไม้ที่ต้องนำมาชั่งหาน้ำหนัก กับ ราคาเอง ก็คงเคยมีประสบการณ์ที่สับสนกับปุ๋มกดมากมาย เพราะไม่รู้ว่าเจ้าปุ๋มกดเพื่อเลือกชนิดของผัก หรือ ผลไม้ ของเราอยู่ตรงไหน รู้สึกลายตาไปหมด แต่นักวิจัยแห่ง Fraunhofer Institute for Information and Data Processing (IITB) เขากำลังจะแก้เรื่องปวดหัวนี้ให้แล้วครับ โดยเขาได้พัฒนาตาชั่งอัจฉริยะที่สามารถจดจำ และรู้จักผัก หรือ ผลไม้ ที่มนุษย์นำมาชั่ง เมื่อมันไม่แน่ใจ มันก็จะขึ้นตัวเลือกมาถาม เฉพาะไม่กี่ตัวเลือกเท่านั้น เช่น มะเขือเทศชนิดอะไร ซึ่งเป็นความแตกต่างเล็กน้อย ที่เครื่องอาจไม่เข้าใจ เครื่องชั่งนี้ทำงานโดยการติดกล้องเอาไว้ที่ตาชั่ง เมื่อมีของมาวางชั่งน้ำหนัก ซอฟต์แวร์จะทำการประมวลผล เพื่อระลึกรู้ว่าของที่นำมาชั่งนั้นคืออะไร ถึงแม้จะมีถุงพลาสติกยับยู่ยี่ขวางอยู่ระหว่างกล้องกับผลไม้ก็ไม่เป็นปัญหา นักวิจัยได้พัฒนาให้เครื่องชั่งนี้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ ทำให้พนักงานซูเปอร์มาเก็ตสามารถเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่เจ้าตาชั่งนี้ มันสามารถเรียนรู้แม้ว่ากล้วยจะมาแบบห่ามๆ สุกแล้ว หรือ สุกแบบมีรอยช้ำสีน้ำตาลตามเปลือก ณ ขณะนี้ตาชั่งนี้ได้ถูกนำออกทดสอบในซูเปอร์มาเก็ต 300 แห่งทั่วเยอรมันครับ

21 สิงหาคม 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 3)


หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เฉื่อย และรู้จักสื่อสารกันเองนั้น นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ทำให้มนุษย์เราอาจจะต้องปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ด้วย ถึงแม้ผู้ใหญ่สมัยก่อนจะเคยสอนเราว่า ต้นไม้ไม่มีวิญญาณ การตัดต้นไม้ไม่บาป ไม่เหมือนฆ่าสัตว์ แต่ผมจำได้ว่าสมัยที่ผมบวชนั้น มีข้อห้ามในการถอนดึง หรือตัดต้นไม้ โดยไม่มีเหตุอันควร นั่นแสดงว่าพระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ควรปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ตลอดชีวิตของพระองค์ท่านนั้นได้อาศัยต้นไม้ตั้งแต่ ประสูติ ตรัสรู้ จนถึงวันปรินิพพาน

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าในหมู่ต้นไม้ด้วยกันนั้น พวกมันก็มีความเป็นญาติ และปฏิบัติต่อกันคล้ายๆ วงศาคณาญาติของมนุษย์ได้เช่นกัน มันช่วยเหลือกันเพื่อให้อยู่รอด Susan Dudley แห่งมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ในออนตาริโอ ได้สาธิตให้เห็นว่าต้นไม้สามารถระลึกรู้ญาติของมัน ถึงแม้ต้นไม้จะไม่มีระบบสมองในการจดจำ แต่มันกลับสามารถแยกแยะต้นไม้ที่เป็นพวกเดียวกันได้ เธอกล่าวว่า "ต้นไม้ก็มีสังคมของมันเหมือนกันค่ะ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเข้าใจ การสื่อสารพูดคุยของพวกมันเท่านั้นเอง"

ในการศึกษาของเธอนั้น ได้พบว่าต้นไม้ชนิดหนึ่ง (beach dwelling wildflower) ซึ่งมักขึ้นชุกชุมและก้าวร้าวไปยังดินแดนใหม่ๆรอบๆข้างถิ่นที่อยู่ของพวกมันเสมอ มันจะคุกคาม โดยการแย่งอาหารพืชชนิดอื่น จนกระทั่งเข้าไปครอบครองดินแดนต่างๆอย่างเต็มตัว แต่กลับปรากฏว่า เมื่อมันไปเจอพวกเดียวกัน หรือ ญาติห่างๆของมัน มันกลับสงบเสงี่ยม และยอมใช้ทรัพยากรในดินร่วมกันอย่างสันติ

16 สิงหาคม 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 2)


ตอนเด็กๆ เรามักถูกสอนมาตลอดว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้จิตใจ โรงเรียนพร่ำสอนเราว่าต้นไม้ไม่มีระบบประสาท มันไม่มีความรู้สึกนึกคิด เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอารมณ์ เป็น Passive Organisms แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ เริ่มมีความสนใจท่ามกลางหมู่นักวิจัยทั้งหลายแล้วล่ะครับว่า ความเชื่อดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ความสนใจในศาสตร์ของ Plant Communication ทำให้มีนักวิจัยเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น และเราก็เริ่มได้หลักฐานใหม่ๆ ที่บอกว่า ..... ต้นไม้ไม่ได้โง่ ..... มากขึ้นทุกที ๆ


Josef Stuefer แห่งมหาวิทยาลัย Radboud Nijmegen ได้ทำการศึกษาพบว่าต้นไม้มีการคุยกัน มันมีการสร้างเครือข่ายกัน เพื่อเตือนภัยให้แก่กันและกัน พืชจำพวกสตรอเบอรี กก อ้อ ถั่ว มีการคุยกันคล้ายกับระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านเส้นกิ่งก้านที่โยงใยไปทั่ว เขาได้สาธิตให้เห็นว่าหากพืชเหล่านี้เริ่มถูกโจมตีโดยหนอน มันจะส่งสัญญาณเตือนภัยให้แก่ต้นอื่นๆ ผ่านเส้นใยกิ่งก้านของมัน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เดวิสก็ค้นพบระบบเตือนภัยแบบนี้กับต้นยาสูบป่า และต้นไม้พวกโกฐจุฬาลัมพา (ไม่แน่ใจนะครับ ภาษาอังกฤษคือ Sagebrush) พวกเขาได้ทดลองขลิบใบ Sagebrush เพื่อเลียนแบบการที่ใบของมันถูกโจมตีโดยแมลง ซึ่งก็พบว่าเจ้าต้น Sagebrush เค้าปล่อยสารที่เรียกว่า methyl jasmonate ออกมา โมเลกุลกลิ่นนี้จะลอยไปกับลม ทำให้ต้นยาสูบทราบว่าเกิดการโจมตีโดยแมลงเข้าให้แล้ว พวกมันก็เลยเริ่มผลิตเอ็นไซม์ที่มีชื่อว่า PPO เพื่อทำให้ใบของพวกมันอร่อยน้อยลง แมลงจะได้ไม่อยากกิน

พวกเราเคยแต่ได้ยินใช่ไหมครับว่า พวกสัตว์ที่กำลังถูกฆ่าจะผลิตสารที่ก่อมะเร็งออกมาในตัวมัน ดังนั้นคนที่ทานเนื้อสัตว์มากๆ ก็จะได้รับสารนี้มากตามไปด้วย ตอนนี้เราเพิ่งรู้ว่าพืชก็ทำแบบนี้ได้เหมือนกันครับ

15 สิงหาคม 2551

ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 1)


เมื่อตอนผมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เคยสอนเราว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป ผมเคยถามกลับไปว่าแล้วตัดต้นไม้ล่ะ บาปมั้ย ผู้ใหญ่ตอบว่าไม่ ผมถามอีกว่าทำไม พวกเขาตอบว่าเพราะต้นไม้มันไม่มีวิญญาณ ผมถามต่ออีกว่ารู้ได้ยังไง พวกเขาไล่ให้ผมไปไกลๆ ซึ่งผมก็ได้ฝังใจตั้งแต่นั้นมาว่า ต้นไม้ไม่มีวิญญาณ ไม่มีจิตใจ แต่พวกมันมีชีวิต แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานหลายๆอย่าง ต้นไม้ไม่ได้โง่อย่างที่พวกเราเคยคิดกันแล้วล่ะครับ มันสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านกลไกทางกลิ่น หรือ โมเลกุลเคมี ซึ่งก็ยังไม่ทราบแน่ชัดนักว่าทำงานอย่างไร เมื่อเร็วๆนี้ได้มีรายงานในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science (PNAS) ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ถึงกับว่าต้นไม้สามารถควบคุมอากาศเองได้ โดยนักวิจัยที่ Scottish Association for Marine Science ได้ร่วมกับ University of Manchester ได้ศึกษาพบว่าพืชทะเลจำพวกหญ้าทะเล ที่อยู่รวมกันจำนวนมากๆ นั้น มีความสามารถในการสร้างวันที่มีเมฆมากให้แก่ชายทะเลที่มันอยู่อาศัย ที่มันชอบทำอย่างนั้น เพราะวันที่มีเมฆมากทำให้พวกมันอยู่กันอย่างสบายไม่ร้อนเกินไป เพราะหากมีแสงแดดส่องมากเกินไป พวกมันจะเสียความชื้น และรู้สึกเครียด ซึ่งพวกมันจะช่วยกันปล่อยแอโรซอลของไอโอไดด์ ซึ่งจะลอยขึ้นไปช่วยในการก่อตัวของไอน้ำให้เป็นเมฆ เหนือสถานที่ที่มันอาศัย ฟังแล้วก็อึ้งนะครับ วันหลังผมจะกลับมาเล่าถึงความฉลาดของพืชอีกนะครับ .......

11 สิงหาคม 2551

Virtual Fence - คอกอิเล็กทรอนิกส์


ใครที่ชอบขับรถไปเที่ยวชนบทต่างจังหวัด น่าจะมีประสบการณ์อย่างน้อยก็สักครั้ง ที่ต้องระวังฝูงวัวที่กำลังข้ามทางหลวง ไปหาที่เล็มหญ้าอร่อยๆกิน บ่อยๆ ที่เห็นฝูงวัวเหล่านั้นเล็มหญ้าริมทางหลวง แล้วเสียวไส้ กลัวพวกมันจะเดินขึ้นมาบนไหล่ทาง แต่ดูเหมือนว่าพวกมันจะรู้ว่าห้ามขึ้นไปบนทางหลวงนะ จริงๆ แล้ววัวเขารู้ว่าขอบเขตของการกินอยู่ที่ทางหลวง เพราะมันมีเส้นแบ่งชัดเจน แต่ถ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้างๆ ล่ะ มันจะรู้มั้ย แน่นอนถ้าปล่อยให้พวกมันกินหญ้าไปเรื่อยๆ มันก็เดินของมันไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจออกนอกอาณาเขตของฟาร์มได้ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการล้อมคอกฝูงวัว โดยใช้ Virtual Fencing ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไปติดบนหัววัว อุปกรณ์นี้ประกอบด้วย GPS เพื่อดูพิกัดที่วัวอยู่ แบตเตอรี โซลาร์เซลล์ Accelerometer กับ Magnetometer เพื่อดูทิศทางที่วัวกำลังเดินหรือมันกำลังเคลื่อนร่างกายอย่างไรอยู่ หากวัวกำลังจะออกนอกเขตรั้ว ขั้วไฟฟ้าที่จิ้มอยู่ที่ข้างแก้มจะปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นวัว ให้เดินกลับมา พร้อมกันนั้นที่หูของมันยังมีหูฟังเพื่อปล่อยเสียงเรียกพวกมัน หรือ บอกให้มันมารวมฝูงกัน เพื่อเดินกลับไปที่พัก อุปกรณ์ที่ติดกับวัวนี้ยังเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่าย เพื่อให้ติดต่อกันได้ นักวิจัยยังใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรวมฝูง การกินอาหาร ซึ่งจะมีประโยชน์ในศาสตร์ของ Swarm Computing หรือ การประมวลผลแบบฝูง


ต่อไปแบบนี้ก็คงมีให้ใช้กับมนุษย์ เหมือนกับในภาพยนตร์เรื่อง Fortress ไงครับ .......

10 สิงหาคม 2551

ไม้จะกลับมาเป็นวัสดุแห่งอนาคต - ตอนที่ 3


• อนุภาคนาโนเคลย์ (Nanoclays) หรือ ดินนาโน กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการนำมาทำวัสดุผสมคอมโพสิต (Nanocomposite) กับวัสดุอื่นๆ เช่น ผสมกับไม้ ผสมกับพลาสติก หรือแม้แต่ผสมกับเซรามิกส์ หรืออาจจะนำไม้มาผสมกับพลาสติกก็ได้ ซึ่งนับเป็นก้าวใหม่ของวัสดุผสมที่เราสามารถทำการวิศวกรรมวัสดุไปถึงระดับนาโนเมตร มหาวิทยาลัยป่าไม้แห่งปักกิ่งและวิทยาลัยป่าไม้แห่งคุนหมิงกำลังขมักเขม้นวิจัยและพัฒนาวัสดุผสมระหว่างไม้กับอนุภาคดิน มหาวิทยาลัยเซี้ยงไฮ้กำลังทำการพัฒนานาโนเซรามิกส์ที่ทำจากไม้ที่เป็นของเหลือทิ้ง มหาวิทยาลัยป่าไม้แห่ฮาบิน ศึกษาวัสดุเคลือบไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น บริษัท Polyone Asia ซึ่งเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ทางด้านพลาสติกรายใหญ่ให้แก่อุตสาหกรรม ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุผสมระหว่างอนุภาคดินกับพลาสติกที่ชื่อว่า Maxxam LST ที่มีน้ำหนักเบา เหนียว และทนทานต่อแรงอัด จากการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงของผู้เขียน ทำให้พบว่าในเวลานี้ ประเทศจีนมีงานวิจัยทางด้านวัสดุผสมระหว่างไม้กับพลาสติกนำหน้าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด เป็นไปได้ไหมว่าประเทศจีนกำลังคิดจะปฏิวัติอุตสาหกรรมพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนจากต้นน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยคงจะลำบากแน่ๆในอนาคต เนื่องจากเรามีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ถือว่าเข้มแข็ง แต่อ่อนแอมากๆ ทางด้านวิศวกรรมไม้ ลองนึกดูว่า ผลิตภัณฑ์ไม้ในปัจจุบันที่สร้างจากไม้เป็นแท่งๆ นั้นต่อไปสามารถผลิตได้ง่ายๆ ด้วยการฉีดเข้าไปในแม่แบบเช่นเดียวกับพลาสติก เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งคือ ผศ.ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็กำลังทำการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้อยู่


• บรรจุภัณฑ์ ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการบรรจุภัณฑ์ เพราะเกิดความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “บรรจุภัณฑ์ฉลาด” (Smart Packaging) อย่างกว้างขวาง โดยผลิตภัณฑ์ฉลาดนอกจากจะมีห่อหุ้ม ยังมีฟังก์ชันหน้าที่เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์ตรวจสอบความสด จอแสดงผล หน่วยความจำ และการประมวลผลที่ติดไปกับผลิตภัณฑ์ได้ กรรมวิธีในการเคลือบระดับนาโนก็สามารถนำมาใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น การเคลือบนาโนเคลย์บนผิวใยกระดาษเพื่อให้มีความสามารถในการกันอากาศและความชื้นเข้า-ออกจากหีบห่อ หรือทำให้หีบห่อมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น การเคลือบด้วยนาโนไททาเนียเพื่อให้หีบห่อมีความทนทานต่อการสึกกร่อนจากแสง UV
(ภาพบน - วัสดุผสมพลาสติกกับไม้ ความฉลาดทางวิศวกรรมที่สามารถนำไม้มาขึ้นรูปด้วยวิธีการเดียวกับการขึ้นรูปพลาสติก)

09 สิงหาคม 2551

เซลล์สุริยะสาหร่าย - Algae Solar Cell (ตอนที่ 1)


เชื้อเพลิงฟอซซิล หรือ น้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงที่น่ามหัศจรรย์ เพราะถูกและใช้ง่าย เบื้องหลังความสำเร็จของเศรษฐกิจทุนนิยม ก็มาจากการมีใช้อย่างเหลือเฟือของมันนี่เอง ที่ทำให้การผลิตสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ สามารถทำได้จำนวนมากๆ และสามารถแพร่หลายให้กระจัดกระจายไปใช้กันได้ทั่วโลก แทนที่จะผลิตที่ไหนใช้ที่นั่นเหมือนในอดีต เมื่อราคาของเชื้อเพลิงชนิดนี้แพงขึ้น เราจึงต้องหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ (Alternative Energy) มาใช้ แต่ไม่ว่าจะเป็น ไบโอดีเซล เอธานอล solar cell พลังงานลม พลังงานคลื่นทะเล อะไรต่ออะไรก็ดูเหมือนจะสู้น้ำมันไม่ได้ การตัดใจเลิกใช้น้ำมันมันช่างยากเย็นเสียจริง


ในจำนวนของพลังงานทางเลือกทั้งหมด เซลล์สุริยะอาจจะเป็นทางเลือกที่สะอาดและช่วยโลกให้หายร้อนได้มากที่สุด พวก Biofuels แม้จะเป็นพลังงานแบบ Carbon-neutral โดยทฤษฎี คือปล่อยคาร์บอนออกไปเท่ากับที่นำกลับมาใช้ แต่ในความเป็นจริง การเพาะปลูกพืชพลังงานไม่ว่าจะเป็นสบู่ดำ ปาล์มน้ำมัน เพื่อทำไบโอดีเซล หรือการนำข้าวโพด และ อ้อย มาทำเอธานอล ล้วนเป็นการเบียดเบียนพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับผลิตอาหาร และทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการบุกพื้นที่ป่าที่เป็น Carbon Reservoir อีกด้วย เท่ากับปล่อยคาร์บอนออกมามากกว่าที่เก็บเข้าไป แต่เซลล์สุริยะมีภาพลักษณ์ในทางลบตรงที่มีราคาแพง ผลิตไฟฟ้าได้ไม่มากพอที่จะกลบต้นทุนได้ ทำให้ปัจจุบันการนำเซลล์สุริยะมาใช้ดูเหมือนจะเน้นไปทาง การสร้างภาพลักษณ์ความเป็น Green Company ของผู้ใช้ มากกว่าจะใช้งานได้จริง

จากการที่พืช Biofuels ก็ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เซลล์สุริยะก็แพง ขณะนี้จึงเกิดทางเลือกใหม่คือการเก็บเกี่ยวแสงอาฑิตย์ด้วยสาหร่าย หรือ เซลล์สุริยะสาหร่าย จริงๆ เซลล์สุริยะชนิดนี้ไม่เหมือนกับ Solar Cell ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาฑิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ได้เลยนะครับ แต่มันเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นน้ำมัน ซึ่งนำไปแยกสกัดได้ง่ายกว่าสบู่ดำ หรือ ปาล์มน้ำมันมาก อีกทั้งการปลูกก็สามารถนำมาเรียงในท่อใสเป็นแผงๆ คล้าย Solar Cell ซึ่งสามารถ Scale Up เพื่อการพาณิชย์ได้ไม่ยาก วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่าความก้าวหน้า ณ ขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว ........

07 สิงหาคม 2551

ไม้จะกลับมาเป็นวัสดุแห่งอนาคต - ตอนที่ 2


ไม้ต้านทานปลวก/เชื้อรา อนุภาคนาโนอาจใช้ในการป้องกันเชื้อราหรือปลวกกัดกินไม้ บริษัท Nanophase
Technologies
พัฒนาเทคนิคในการอัดอนุภาคนาโนของซิงค์ออกไซด์ และโลหะต่างๆ เข้าไปในเนื้อไม้ ซึ่งนอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังป้องกันแสง UV ด้วย มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้จดสิทธิบัตรในการบรรจุยาฆ่าปลวกและเชื้อราเข้าไปในแค็บซูลจิ๋ว ที่ทำจากพอลิเมอร์โดยสามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ รวมไปถึงกระบวนการอัดอนุภาคนาโนเหล่านั้นเข้าไปในเนื้อไม้

ไม้ต้านทาน UV/การผุกร่อน นาโนเทคโนโลยีสามารถนำมาช่วยเคลือบผิวหรือทรีทเนื้อไม้ให้มีคุณสมบัติต้านทานแสง UV รวมไปถึงความชื้น อันเป็นสาเหตุแห่งการผุกร่อนของไม้ บริษัท BASF ของเยอรมันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วย อนุภาคนาโนที่สามารถพ่นแบบสเปรย์ลงไปบนพื้นผิวไม้ โดยมันจะเคลือบผิวและสร้างสภาพไม่ชอบน้ำขึ้นมา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิลพัฒนาเทคนิคในการเคลือบผิวไม้ด้วยอนุภาคนาโนและวัสดุอินทรีย์ที่สามารถดูดซับพลังงานจากแสง UV บริษัทในเยอรมันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์เป็นองค์ประกอบ เพื่อใช้เคลือบผิวไม้ที่มีสีอ่อน ให้ดูสดสวย และไม่ด่างดำ


ไม้ทนไฟ น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในการใช้ไม้ให้โตขึ้นไปอีก เนื่องจากสมบัติที่ติดไฟง่ายทำให้มันมีขีดจำกัดใน การใช้งานหลายๆ ด้าน ปัจจุบันการทำให้ไม้ทนไฟมักทำโดยการอัดหรือเคลือบสารเคมีต้านทานการติดไฟเข้าไป ซึ่งจะไป ช่วยลดการเกิดปฏิกริยาเคมีในเนื้อไม้เมื่อเกิดความร้อนสูง แต่นักวิจัยกำลังศึกษาการใส่ส่วนผสมของอนุภาคนาโนเคลย์ลงไป เพื่อต้านทานการติดไฟ โดยอาจทำได้โดยการเคลือบผิวหรือการอัดเข้าไปในรูพรุนจิ๋วซึ่งมักจะมีอยู่ในเนื้อไม้

(ภาพบน - นาโนเทคโนโลยีช่วยทำให้ไม้ สามารถทำหน้าที่เป็นวัสดุตกแต่ง Outdoor ได้อย่างสดใส ทนนาน)

06 สิงหาคม 2551

ไม้จะกลับมาเป็นวัสดุแห่งอนาคต - ตอนที่ 1


ในปี พ.ศ. 2548 หรือประมาณ 3 ปีมาแล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการอุตสาหกรรมป่าไม้ของโลก นั่นคือ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และ กลุ่มสหภาพยุโรป ต่างก็ริเริ่มจัดทำแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีด้านป่าไม้ขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ประเทศทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตจากอุตสาหกรรมป่าไม้ในอันดับต้นๆของโลก เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกามีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ 225 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเป็นเงินไทยประมาณ 9 ล้านล้านบาท) และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1.1 ล้านคน ส่วนในสหภาพยุโรปอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้มีมูลค่ากว่า 150 พันล้านยูโร มีการจ้างงานจำนวน 1.6 ล้านตำแหน่ง ปรากฏการณ์ตื่นตัวในการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างนาโนเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาวัสดุที่แสนจะเก่าแก่อย่างไม้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของปรากฏการณ์โลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นกระแสอนุรักษ์ที่บูมขึ้นทั่วโลกหลังจากที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐได้รับรางวัลออสการ์จากการผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “An Inconvenient Truth” อันมีเนื้อหาที่เปิดเผยหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าโลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งวิกฤตทางด้านภูมิอากาศ



จะว่าไปแล้ว ….ไม้ ….. เป็นวัสดุที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรีไซเคิลก็ได้ เพราะถึงแม้มันจะถูกเผาทำลาย หรือย่อยสลายไปแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวัฏจักรคาร์บอน (Carbon Cycle) นั่นคือการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับมาให้เป็นไม้อีก ไม้จึงเป็นวัสดุที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ ที่ปัจจุบันเป็นตัวการในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในปริมาณสูงถึง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์พยายามคิดค้นซีเมนต์แบบใหม่ โดยเฉพาะนาโนซีเมนต์ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ สำหรับวัสดุอย่างไม้นั้น นาโนเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้ปรับรูปโฉม เพื่อให้มันมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น สามารถใช้งานได้กว้างขวางขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าไปแทนที่วัสดุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น โลหะ พลาสติก เซรามิกส์ ซึ่งใช้พลังงานค่อนข้างมากในการผลิต (การใช้พลังงานมากในการผลิต ย่อมหมายถึงการต้องเผาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ให้มีความพิเศษ ด้วยนาโนเทคโนโลยี นอกจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หลากหลายไปใช้งานและช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานอีกด้วย เพราะพืชเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่และทรงประสิทธิภาพที่สุดในการดึงพลังงานจากแสงอาฑิตย์มาใช้งาน นาโนเทคโนโลยีอาจจะช่วยในการหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเซล์ของพืชมาใช้เก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาฑิตย์



ประเทศไทยเคยมีไม้อุดมสมบูรณ์ และส่งออกไม้สักอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันเราแทบไม่มีอุตสาหกรรมไม้เหลืออยู่เลย น่าเสียดายครับ ..... เพราะไม้กำลังจะกลายเป็นวัสดแห่งอนาคต .... ผมจะมาเล่าต่อครับว่าทำไม ........

(ภาพบน - ไม้ ... เป็นวัสดุที่มีโครงสร้างซับซ้อนไปจนถึงระดับนาโน (ภาพจาก Robert J. Moon, USDA Forest Products Laboratory))