19 ธันวาคม 2552

โลกร้อนคุกคามเกษตรกรรม


เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งที่น่าตกใจเกิดขึ้น ข่าวนั้นก็คือ มีการทดลองเดินเรือข้ามขั้วโลกเหนือ จากท่าเรือพาณิชย์ในยุโรปตะวันตก มายังเอเชียตะวันออก นัยว่าการทดลองนี้ทำเพื่อพิสูจน์ว่าการเดินเรือจากทวีปยุโรปมายังเอเชีย โดยไม่ต้องผ่านคลองสุเอซ และ ประเทศสิงคโปร์นั้น เป็นสิ่งที่กำลังจะเป็นไปได้ เนื่องจากน้ำแข็งทางขั้วโลกได้เริ่มละลาย ทำให้สิ่งกีดขวางการเดินเรือจะเริ่มหมดไป ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต การเดินเรือจากเอเชียตะวันนออก ไปยังยุโรปจะทำได้เร็วขึ้น 2 เท่าตัว โดยผ่านทางขั้วโลกเหนือ เรื่องนี้ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมก็อดตกใจไม่ได้ว่าโลกเราร้อนได้ขนาดนี้แล้วหรือ .......

และเมื่อเร็วๆนี้เอง ได้มีรายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Chemical Ecology โดย ดร. รอส เกลียโดว์ (Ros Gleadow) แห่งมหาวิทยาลัยโมแนช ออสเตรเลีย (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Gleadow RM, Edwards E. and Evans JR (2009) Changes in nutritional value of cyanogenic Trifolium repens at elevated CO2. Journal Chemical Ecology 35, 476–47) ซึ่งได้ระบุว่าการที่บรรยากาศโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นผลดีต่อพืชเลย ถึงแม้พืชจะใช้ก๊าซนี้ในการสังเคราะห์แสงก็เถอะ ผมอ่านดูทีแรกก็รู้สึกแปลกใจมากเลยครับ สงสัยอยู่เหมือนกันว่า อ้าว .... ก็พืชใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง แต่พอมีเยอะๆ กลับไม่ชอบ มานึกถึงตอนที่ผมไปเฝ้าไข้อยู่ที่โรงพยาบาล เคยลองเปิดเอาอ๊อกซิเจนของคนไข้มาลองหายใจดูเล่นๆ พบว่าแสบจมูกเหมือนกัน นั่นเพราะมีอ๊อกซิเจนเข้มข้นเกินไป ซึ่งแทนที่จะดีกลับไม่ดี
ในรายงานวิจัยของ ดร. เกลียโดว์ นั้นเธอได้บอกถึงเหตุผลของการที่คาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นสูงขึ้น กลับไม่เป็นผลดีต่อพืชว่า เพราะเมื่อมีก๊าซนี้สูง พืชจะผลิตสาร Cynanogenic Glycosides ซึ่งสามารถแตกตัวได้ Hydrogen Cyanide ซึ่งเป็นพิษ ซึ่งสัตว์ที่มากินพืชก็จะได้รับสารพิษนี้ ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าพืชอย่างมันสำปะหลังจะมีผลผลิตต่ำลงในบรรยากาศก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้น นักวิจัยยังได้เรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพืชทนร้อน สำหรับทดแทนพันธุ์เดิมซึ่งผลผลิตนับวันจะยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการรายงานว่า ผลผลิตข้าวจะตกต่ำลง 10% ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่ร้อนขึ้นในช่วงเวลากลางคืน

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่งานวิจัยพื้นฐานทางด้านการเกษตรของเรากลับไม่ค่อยมีใครทำเท่าไหร่ครับ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องการเกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) แล้วล่ะครับ .......

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 2)


เทคโนโลยีที่ถูกมองว่าจะเป็นอนาคตของเกษตรกรรมก็คือ เกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรทั้ง น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช สารอาหารต่างๆ ทั้งเคมีและอินทรีย์ ให้แก่พืชตามความต้องการของพืชจริงๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และก็ให้แก่พืชแต่ละต้น ตามความจริง ไม่ใช่ให้เฉลี่ยเท่าๆกันตลอดทั้งไร่อย่างที่ทำกันอยู่ เรื่อง Precision Agriculture นี้ผมนำมาเสนออยู่บ่อยๆ ท่านผู้อ่านก็คงจะคุ้นหูกันอยู่แล้ว จริงๆ แล้วเทคโนโลยีตัวนี้จะใกล้ความจริงมากกว่าเทคโนโลยีที่กล่าวถึงในตอนแรกคือ Indoor Farming เสียอีก เพราะ Precision Agriculture สามารถทำได้ทั้งไร่นาใหญ่และเล็ก ทำกับพืชชนิดใดก็ได้ ทำได้ทั้งในที่สูงที่ราบ แนวคิดหลักก็คือ การใช้ทรัพยากรตามความจำเป็น


สิ่งที่สำคัญในการทำเกษตรกรรมแม่นยำสูงก็คือ การรู้ว่าสภาพล้อมรอบต้นพืช รวมทั้งต้นพืชเองเป็นอย่างไร เช่น รู้ว่าดินในแต่ละบริเวณของไร่ต่างกันอย่างไร ตรงไหนมี NPK มากน้อยอย่างไร จะได้ให้ปุ๋ยตามจริง ตามการขาดแร่ธาตุของดินบริเวณนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง การรู้ว่าดินแต่ละบริเวณมีความชื้นแตกต่างกันอย่างไร ตรงไหนชื้นมาก ตรงไหนชื้นน้อย จะได้ให้น้ำได้ถูกต้อง การรู้ว่าพืชแต่ละบริเวณมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างไร แตกต่างกันไหม จะได้ให้สารอาหารตามความจำเป็น การรู้ว่าบริเวณไหนต้องการยาปราบวัชพืชมากน้อยต่างกันอย่างไร จะได้ไม่ให้ยามากเกินไป

การรู้ความแตกต่างของแต่ละบริเวณคือจุดสำคัญของเกษตรแม่นยำสูง ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายในไร่นา ที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากนั้นต้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างแผนที่ (Grid Soil Mapping) ซึ่งแผนที่เหล่านี้จะถูกนำไปสู่การปฏิบัติด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่น รถแทร็กเตอร์ระบบ GPS หรือการใช้หุ่นยนต์ เป็นต้น