18 กุมภาพันธ์ 2560

เกษตรกรไทย ก็รวยได้ ไม่แพ้เกษตรกรในญี่ปุ่น !! มารู้จักเกษตรกรเชียงใหม่ เจ้าพ่อมันฝรั่ง




(ภาพ - พื้นที่บริเวณบ้านของเกษตรกรผู้ปลูกพืชหมุนเวียน มันฝรั่ง - ข้าวโพด - ข้าว แห่ง อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีฐานะความเป็นอยู่ไม่แพ้เกษตรกญี่ปุ่น เลยทีเดียว)

วันนี้ ทีมงาน เกษตรอัจฉริยะ – Smart Farm จะพามารู้จัก คุณลุงบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือ พ.ศ.2553 ผู้ปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยพื้นที่กว่า 1500 ไร่



ดั้งเดิมคุณลุงและครอบครัว มีอาชีพเกษตรกร ทำนาข้าว และเริ่มปลูกมันฝรั่ง ตั้งแต่เด็กๆ ราวปี พ.ศ.2507 โดยมันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทยในสมัยนั้น เน้นการนำไปบริโภคสด เช่นการนำไปทำซุป ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นชาวต่างชาติ และทหารที่เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย ในยุคเริ่มแรก การปลูกมันฝรั่ง ให้ผลผลิตเพียงแค่ 2-3 ตันต่อไร่เนื่องจากการปลูกมันฝรั่ง ต้องปลูกในสภาวะอากาศหนาว เพื่อให้หัวมันฝรั่งสะสมอาหารได้มากๆ ดังนั้น ในฤดูอื่นๆ จะใช้พื้นที่เพื่อการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่นข้าว อ้อย เป็นการทำการเกษตรแบบหมุนเวียน

จากการสนับสนุน ค้นความ วิจัยอย่างต่อเนื่อง ของคุณลุงบุญศรี ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา ทำให้การปลูกมันฝรั่งเพิ่มผลผลิตเป็น 5-6 ตันต่อไร่ ใกล้เคียงกับการปลูกในต่างประเทศ

ตั้งแต่ พ.ศ.2532 เริ่มมีการตั้งโรงงานแปรรูปมันฝรั่งเป็นขนมขบเคี้ยว ภายใต้ยี่ห้อ เลย์ ของบริษัท เป๊บซี่-โค จำกัด ทำให้มีการขยายตลาดมันฝรั่งในประเทศไทย และรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก คุณลุงจึงหันมาปลูกมันฝรั่งเพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวของ เป๊บซี่-โค ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลออกไปนัก



ปัจจุบัน คุณลุงบุญศรี ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันฝรั่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร สำหรับเตรียมดิน ปลูก และเก็บเกี่ยว  และในส่วนของการพัฒนาระบบรดน้ำ การให้ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลงอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และคุ้มค่า

คุณลุงบุญศรี ใจเป็ง เล่าให้ฟังว่า “โดยทั่วไป การเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยนั้นมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ตันต่อไร่ แต่สำหรับที่อำเภอสันทราย เราได้พัฒนา เรียนรู้และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี จนสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงถึง 5 ตันต่อไร่ ทั้งนี้ นอกเหนือจากความใส่ใจและการให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ ดิน น้ำ อากาศ หัวพันธุ์ ปุ๋ย ตลอดจนเทคนิคและเทคโนโลยีการเพาะปลูกแล้ว อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและการเพิ่มผลผลิต คือ การปลูกพืชหมุนเวียนที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล อย่างมันฝรั่งเป็นพืชเมืองหนาว เราก็จะปลูกในช่วงหน้าหนาว จากนั้นเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเราก็หันมาปลูกข้าวโพดในช่วงหน้าร้อน และพอถึงหน้าฝนเราก็ปลูกข้าว เวียนกันไปแบบนี้แทนที่จะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งระบบการปลูกพืชหมุนเวียนนี้ช่วยสร้างความสมดุลและการปรับปรุงโครงสร้างของดิน  ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในพืช ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการทำเกษตรกรรมด้วย”

(ภาพขวามือ - ขอบพระคุณ น้องตั้ม นักข่าวเพจเกษตรอัจฉริยะ สำหรับภาพ และ ข้อมูล ครับ)