03 สิงหาคม 2556

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 4)


ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตลอด 200 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เอาแหล่งคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้แผ่นดินออกมาเผาผลาญเพื่อผลิตพลังงาน ในเมื่อเรานำเอาคาร์บอนจากใต้ดินมาใช้ ทำไมเราถึงไม่อัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือจากการเผาผลาญนั้น กลับไปอยู่ใต้โลกเหมือนเดิม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดหรือนิยายวิทยาศาสตร์หรอกครับ บริษัทสไลป์เนอร์ (Sleipner) แห่งนอร์เวย์ได้ดำเนินการปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์กลับลงไปเก็บใต้ผิวโลกลึกลงไปกว่า 1 กิโลเมตร จำนวนกว่า 20,000 ตันทุกๆสัปดาห์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 แล้ว ซึ่งก็นับว่าคุ้มเพราะที่ประเทศนอร์เวย์นั้น ผู้ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจะต้องเสียภาษี 50 เหรียญสหรัฐทุกๆ 1 ตัน ตอนนี้แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหลายๆแหล่งทั่วโลก ต่างก็สนใจที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งก๊าซในทะเลจีนใต้ ออสเตรเลีย อลาสก้า เป็นต้น คาร์บอนไดออกไซด์สามารถที่จะอัดลงไปทั้งใต้ดิน ไปเก็บในเหมืองถ่านหินที่ปิดแล้ว แหล่งแร่ใต้ดินที่เลิกใช้ แหล่งน้ำมันและก๊าซที่ดูดออกมาหมดแล้ว


อีกวิธีหนึ่งทำได้โดยการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ท้องทะเล จะว่าไปศักยภาพของมหาสมุทรในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีสูงมาก ปัจจุบันนี้มหาสมุทรก็เก็บคาร์บอนไว้แล้วถึง 40,000 พันล้านตัน ในขณะที่ชั้นบรรยากาศเก็บคาร์บอนไว้เพียง 750 พันล้านตันเท่านั้น เราสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีทั้งหมดในชั้นบรรยากาศตอนนี้ ฝังไว้ในทะเลได้อย่างไม่มีปัญหาเลย วิธีการนั้นก็มีได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ทะเลลึก 3 กิโลเมตร ซึ่งภายใต้ความดันขนานนั้น คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ในรูปของเหลวที่จมดิ่งที่ท้องทะเล ซึ่งจะอยู่ได้หลายพันปี เทคโนโลยีอื่นๆ เช่นการปั๊มก๊าซลงไปปล่อยใต้ทะเลในระยะที่ไม่ลึกมากนัก เช่นสักไม่เกิน 1000 เมตร ก็สามารถทำได้ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีโอกาสปลดปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศได้