ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก ความรู้และวิทยาการด้าน Smart Farm และ เกษตรกรรมความแม่นยำสูง มาพบกับท่านที่นี่ ทุกวัน มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้เป็น ประเทศแห่งเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm Nation)
13 สิงหาคม 2555
Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 13)
บ่ายวันหนึ่งเมื่อประมาณ 2555 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี เข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ แล้วประทับ ณ แท่นบรรทมระหว่างต้นสาละคู่ เพื่อเตรียมเสด็จสู่มหาปรินิพพาน พระอานนท์ได้ทูลเชิญเสด็จเพื่อไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ แทนที่จะเป็นในป่าใกล้เมืองเล็กๆ เพื่อให้สมฐานะและพระเกียรติแก่พระศาสดาของโลก พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเ เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน"
ระยะหลังๆ มานี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา แต่อาจมีความรู้สึกนึกคิด จนถึงขั้นมีปัญญาสามารถแก้ปัญหาได้ นานมาแล้ว ที่วิทยาศาสตร์บอกว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทื่อๆ นอกจากจะเคลื่อนที่ไปมาไหนไม่ได้แล้ว ยังไร้ซึ่งประสาทสัมผัส และระบบรับรู้ ไม่มีความรู้สึก อารมณ์ และความฉลาด แต่ผลการวิจัยใหม่ๆ ที่เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ กลับชี้ให้เห็นว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิด
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีรายงานวิจัยที่เปิดเผยเกี่ยวกับความสามารถในการฝึกได้ของพืชครับ ซึ่งสิ่งที่ทำให้พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฝึกฝนได้ก็คือ "ความจำ" นั่นเอง รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา-ลินคอร์น (University of Nebraska-Lincoln) ประเทศสหรัฐอเมริกา (รายละเอียดเพื่อการอ้างอิงคือ Yong Ding, Michael Fromm, Zoya Avramova. Multiple exposures to drought 'train' transcriptional responses in Arabidopsis. Nature Communications, 2012; 3: 740 DOI: 10.1038/ncomms1732) ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่าพืชมีความสามารถในการจดจำคืนวันแห่งความแห้งแล้ง และมันสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อปรับตัว ทำให้มันมีความสามารถในการที่จะอดทน และเอาตัวรอดจากความแห้งแล้งที่อาจจะผ่านเข้ามาอีกในอนาคต
นักวิจัยได้เปรียบเทียบระหว่างพืชที่ถูกฝึกให้เจอภัยแล้งจำลองหลายๆ ครั้ง กับพืชที่ไม่เคยฝึกเลย พบว่าพืชที่เคยถูกฝึก เมื่อเจอกับภัยแล้ง มันจะจดจำสภาวะที่มันเคยเจอได้ มันจะปรับตัวได้เร็วกว่า ทำให้มันไม่สูญเสียน้ำได้ง่าย จากการศึกษากลไกการทำงานในระดับโมเลกุล ทำให้พบว่า ปฏิกริยาเคมีต่างๆ ในพืชที่ถูกฝึกเอาไว้ เมื่อมันเจอภัยแล้งของจริง มันจะมีสภาพคล้ายๆ กับช่วงที่มันได้ฝึก องค์ความรู้ที่ได้นี้ อาจจะทำให้สักวันหนึ่ง เราสามารถที่จะทำวิศวกรรมเพื่อให้ได้พืชที่ต้องการน้ำน้อย และสามารถให้ผลผลิตได้แม้จะประสบกับสภาวะภัยแล้งน้ำก็ตาม อย่างไรก็ตาม นี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เรายังต้องแสวงหาความรู้อีกมากว่าความสามารถของพืชมีอะไรอีกบ้าง
ในตอนบ่ายของวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อประมาณ 2555 ปีที่แล้วนั้นเอง เหนือขึ้นไปจากแท่นบรรทมของพระพุทธองค์ ต้นสาละทั้งคู่ได้ออกดอกสะพรั่งเต็มต้น โปรยดอกตกถูกพระพุทธสรีระประหนึ่งจะถวายบูชาแด่พระพุทธองค์ ซึ่งเป็นการผิดปรกติ เพราะเวลานั้นไม่ใช่เวลาที่ต้นสาละจะออกดอก พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสต่อพระอานนท์ว่า "ดูก่อน อานนท์ เราสรรเสริญการบูชาเช่นนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นการบูชาอันประเสริฐ เป็นการดีถ้าหากพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยให้สมควรแก่ธรรมที่เราได้ตรัสไว้แล้วนั้น เราสรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด"
Labels:
natural intelligence,
plant communication