ช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหารได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก อย่างชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย หลายๆ คนพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในคณะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า เหตุผลของการ "แพงทั้งแผ่นดิน" นั้นเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการค้ากำไรเกินควรของบริษัท ปตท. มานานแล้ว ได้ออกมาประณามบริษัทนี้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ปตท. เป็นสาเหตุทำให้ข้าวของแพง เพราะทำให้ต้นทุนพลังงานแพง
เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งเวลานั้นมีการคาดการณ์กันว่าราคาของอาหารจะถีบตัวสูงขึ้น และประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางด้านอาหาร อาจจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารก็ได้ในอนาคต เนื่องจากศักยภาพในการผลิตอาหารที่ลดลงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ อาหารได้กลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่กองทุนข้ามชาติ ให้ความสนใจเพื่อปั่นราคาทำกำไรแทนน้ำมัน ทำให้วิกฤติที่กำลังกลายเป็นโอกาสของคนไม่มีกลุ่ม อาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ลามสร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งโลก
ก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกว่า ประเทศที่ส่งออกพลังงานและเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะต้องการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารมากขึ้น ประเทศในตะวันออกกลางกำลังขะมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชในสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ในขณะที่ประเทศยุโรปกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการตื่นตัวครั้งใหญ่ ถึงขั้นจะปฏิรูประบบอาหารกันขนานใหญ่เลยครับ นายแฟรงค์ ดี ลูคัส (Frank D. Lucas) ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติ (2012 Farm Bill) ของรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ผลงานของคณะกรรมาธิการด้านเกษตร รวมไปถึงการร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จะกระทบวิถีชีวิตของชาวอเมริกันทุกคนเลยล่ะครับ เราจะสร้างความมั่นใจให้ได้ ว่าเกษตรกรอเมริกันจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พวกเขาต้องการ ในการผลิตอาหารแบบยั่งยืน โดยเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เทียบเท่ากับการป้องกันประเทศนี้"
เป็นที่รู้กันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบของธุรกิจเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่เน้นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ที่เน้นการใช้เทคโนโยี เครื่องจักรกล สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบริษัททางด้านเกษตรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซีพี เบทาโกร พยายามจะนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศของเราซึ่งเป็นการเกษตรแบบครอบครัว ที่เน้นการทำกินในพื้นที่เล็กๆ แบบพอเพียง มาเป็นเกษตรอุตสากรรม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกษตรแบบอุตสาหกรรมได้ตกเป็นจำเลย เป็นตัวการในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายแหล่งน้ำและผืนป่า ทำให้ในระยะหลังๆ มานี้ ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปการเกษตรเสียใหม่ เพื่อหวนคืนกลับมาสู่เกษตรแบบพอเพียง ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลง มีครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำมาหากินแบบวิถีเกษตรกรมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะหยุดความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม และทำให้ระบบผลิตอาหารมีความมั่นคงมากขึ้น
ร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2012 นี้ จะเน้นวิถีเกษตรกรมากขึ้น โดยส่งเสริมเกษตรกรรมแบบครอบครัว เกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบประณีต ที่เน้นความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นหลัก เกษตรกรเจ้าเล็กๆ จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้เงินงู้ดอกเบี้ยต่ำ ได้ค่าชดเชยต่างๆ เพื่อคืนที่ดินบางส่วนให้กลับสู่ธรรมชาติ ป่าชุมชนจะได้รับการรื้อฟื้นเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว คละแซมไปกับพื้นที่เกษตรกรรม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าบางชนิดที่อาจปรับตัวอยู่กับชุมชนเกษตรได้ กฏหมายฉบับนี้จะสนับสนุนให้มีการนำงบประมาณมาใช้เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และปรับพื้นที่เกษตรกรรมเสียใหม่ เกษตรกรรายเล็กๆ จะได้รับเงินและเทคโนโลยี พร้อมความหวังว่าจะเป็นรากฐานความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ระบบอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต มุ่งสู่อาหารที่รู้ที่ไปที่มา อาหารที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกลับมาได้รับความนิยม และเป็นพื้นฐานของชุมชมทำเองกินเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะกลับมาในอนาคต