30 พฤศจิกายน 2551

Thailand Tea 2008 - Conference Report


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ด้วยรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเช้านี้เองครับ ทางเหนืออากาศค่อนข้างหนาวทั้งที่ดอยตุง แม่สาย เชียงราย เชียงแสน และดอยอินทนนท์ อากาศดี สูดหายใจสบายสุดปอดสุดๆ ลืมเรื่องร้ายๆในกรุงเทพฯไปหมดเลยครับ ผู้คนต่างจังหวัดก็ยังมีความสุขกันปกติ ไม่เห็นมีใครอยากดูข่าวเลย งงมากๆครับ


ในช่วงวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานั้น ผมและคณะวิจัยได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ International Conference on Tea Production and Tea Products ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ งานประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย ที่เกี่ยวกับชา มีผลงานเสนอทั้งในภาคบรรยายและโปสเตอร์จำนวน 23 เรื่อง ซึ่งถือว่าไม่มากครับ ผมเลยมีโอกาสได้ฟังและเข้าร่วมเกือบจะทุกผลงาน นอกจากผลงานทางวิชาการที่เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องชาแล้ว ที่ผมชอบมากก็คือมีสิ่งที่เรียกว่า Country Reports ซึ่งเป็นการเชิญผู้รู้เรื่องวงการชาของประเทศต่างๆ มาบรรยายสถานภาพการผลิตชา และตลาดชาในประเทศของตนเอง ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ได้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในตลาดชาของโลกน้อยมากๆครับ เจ้าใหญ่ที่ส่งออกมากที่สุดเป็น จีน และ อินเดีย แต่ที่น่ากลัวและกำลังมาแรงคือ เวียดนาม เกจิจากอินเดียที่มาพูดในงานนี้เขาฟันธงว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ประเทศเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลกแซงหน้าอินเดีย ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อครับ เพราะตลอดปีที่ผ่านมาผมได้นั่งเฝ้าดูสภาพภูมิอากาศของอินเดีย พบว่าได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นอย่างมาก มีสภาพฝนแล้งทั้งปีที่ผ่านมา


ในช่วงการประชุมทางผู้จัดได้มีการนำผู้เข้าร่วมประชุมไปดูงานบริษัทผลิตชาที่ดอยแม่สลอง และดอยช้าง ผมเองก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ปลูกชาของบริษัทชาดอยช้าง ซึ่งเท่าที่ทราบมานั้น ที่นี่เป็นเจ้าเดียวหรือไม่กี่เจ้าที่ทำการเพาะปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผมเกิดความสนใจที่จะนำระบบเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ไปทดลองใช้ในไร่ชาแห่งนี้ครับ ซึ่งทางเจ้าของสถานที่มีความสนใจในเทคโนโลยี Smart Farm มาก พวกเรากะว่าจะเดินทางขึ้นไปอีกทีในช่วงกลางเดือนธันวาคม เพื่อไปทำแผนที่ไร่และติดตั้งระบบครับ