25 สิงหาคม 2557

The Future of Rubber - อนาคตของยางพารา



เราควรจะลงทุนปลูกยางหรือไม่ ช่วงนี้ หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยางพาราก็ลงเอาๆ จนราคาถูกน่าซื้อ แต่ ... จริงๆ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับยางพาราหรือไม่ ... มาลองดูผลวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพานิชย์ กันครับว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ยางไทยจะเป็นอย่างไร

- จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV คำถามคือ การขยายพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทยลดลงหรือไม่ ?

- จากการวิเคราะห์พบว่า ผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต

- คาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน ดังนั้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

- ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022

- ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพาราเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา 

- จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLM แรงงานกรีดยางในภาคใต้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศ CLM โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่กรีดยางในประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นราว 2.6 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อกรีดยางในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการกรีดยาง อาจจะกลับไปในประเทศของตน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาแรงงานไว้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้แรงงานกรีดยางเพิ่มขึ้น

Credit - คุณ เกียรติศักดิ์ คำสี (ผู้เขียนบทความ) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB
ที่มา http://scbeic.com/THA/document/note_20131030_rubber/