01 ธันวาคม 2555

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 6)



ถ้าผมมีเงินลงทุนสักก้อนเพื่อทำธุรกิจ ผมจะไม่ลังเลเลยที่จะทำธุรกิจทางด้านเกษตรและอาหาร ถึงแม้ว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพของคนจน ทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย แต่หากเราลองคิดดูกันเล่นๆ ว่า ในอีก 18 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ. 2030 โลกเราจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรล้นหลามถึง 9,000 ล้านคน ประเทศไทยจะต้องผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นนับจากวันนี้ไป เท่ากับมีประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเทศ อนาคตของประเทศไทย และอนาคตของโลกคือเกษตรกรรมครับ ไม่ใช่ การท่องเที่ยวและบริการ เพราะถึงวันนั้น เราอาจจะปิดประเทศ ไม่อยากให้ใครเข้ามาในประเทศเรามากกว่านี้แล้วก็ได้ แต่เราต้องการส่งออกอาหารไปเลี้ยงคนเหล่านั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของเรา

แล้วแนวโน้มของเกษตรกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะทำง่ายขึ้นหรือยากขึ้น ผมขอแบ่งเกษตรกรรมออกเป็น 2 ชนิดนะครับ

(1) Outdoor Agriculture หรือ เกษตรกลางแจ้ง เป็นการทำเกษตรที่เก่าแก่และทำมาตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มมีอารยธรรม การเกษตรแบบนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้า อากาศ ที่ไม่อาจควบคุมได้ (ในอนาคต เราอาจมีเทคโนโลยีที่ควบคุมดินฟ้าอากาศได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเบี่ยงเบนวิถีพายุ) การทำการเกษตรแบบนี้ในอนาคตจะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่า Climate-Smart Agriculture หรือ เกษตรกรรมที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ เป็นการเกษตรที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตเราจะต้องรู้ทันสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามาในพื้นที่ไร่นาของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับกิจกรรมในไร่ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น

(2) Indoor Agriculture หรือ เกษตรในร่ม เป็นการเกษตรที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเกษตรแบบนี้ สามารถเราสามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูก หรือ สัตว์ที่เลี้ยงได้ ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรรมแบบนี้จะเริ่มเข้าไปอยู่ในเมือง ในรูปแบบที่เรียกว่า Urban Agriculture หรือ เกษตรกรรมในเมือง หรือแม้แต่ Vertical Farming ซึ่งเป็นการทำไร่ทำนาบนอาคารสูง  ข้อดีของการเกษตรแบบนี้คือ การผลิตจะอยู่ใกล้กับการบริโภค ก่อให้เกิดการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หากเกษตรกรรมแบบนี้ถูกพัฒนาให้เข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบแรกได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบเชิงบวกมากมายมหาศาล  พื้นที่เกษตรกรรมแบบกลางแจ้งจะถูกปล่อยกลับคืนให้เป็นของธรรมชาติ เกิดเป็นป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน มนุษย์จะถูกโยกย้ายจากสังคมชนบทให้เข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เป็นการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างตรงเป้า เพราะว่าเกษตรกรรมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยทั้งหมด มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกัน ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม

แม้ว่าในระยะยาว เกษตรกรรมจะดูดีมีอนาคต แต่ในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะปัจจุบัน การเกษตรของประเทศเราถูกรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้าน ทั้งในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจนยากจะคาดเดา ทั้งในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของดิน และ สภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นภาคส่วนที่มีการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง คนหนุ่มสาวสนใจมาทำการเกษตรน้อยลง สังคมเกษตรจึงเริ่มกลายมาเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานด่างด้าวก็มีไม่มากนักที่สนใจมาใช้แรงงานในการทำไร่ทำนา ทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะต้องเริ่มคิดถึงเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งผมมองว่าเทคโนโลยี 3 ประเภทนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้

(1) Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ความเป็นไปของสภาพแวดล้อมในไร่ และสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง ลม ฝน ความชื้นในดิน พายุที่กำลังจะเข้า การระบาดของแมลง การเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมในไร่ที่ถูกต้อง

(2) Operational Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในไร่นาทำได้อย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากข้อ (1) เช่น รถไถหยอดปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงความต้องการของพืช การระบาดของแมลง ซึ่งเก็บได้จากเซ็นเซอร์ตรวจวัดในข้อ (1) เป็นต้น

(3) Business Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรคาดเดาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในไร่นาของตนเอง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลในข้อ (1) และ (2) รวมไปถึงข้อมูลตลาด supply & demand ของสินค้าเกษตรในอนาคต

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ วันหลังผมจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกครับ