03 พฤษภาคม 2552

นักวิจัยค้นพบยีนต้านโลกร้อนในพืช


ผมเพิ่งกลับมาจากทำงานที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ ช่วงนี้ที่เขาใหญ่เขียวชอุ่ม อากาศชุ่มชื้น ไร่องุ่นกรานมอนเต้อยู่ในหุบเขาที่มีหมอกบางๆ หล่อเลี้ยงซอกเขาตลอดทั้งวัน จริงๆแล้ว ผู้คนชอบไปเที่ยวเขาใหญ่กันในช่วงหน้าหนาว แต่ผมกลับพบว่าเขาใหญ่สวยที่สุดในช่วงฤดูฝนต่างหากล่ะครับ ยิ่งในระยะหลังๆ นี้ เขาใหญ่กลับได้อานิสงส์ของภาวะโลกร้อน ทำให้เขาใหญ่แทบจะไม่แล้งเลย เมษาที่ผ่านมานี้ฝนตกเร็วกว่าที่เคยเป็น ทำให้แทบไม่มีไฟไหม้ป่า ผิดกับทางภาคเหนือ ที่เริ่มได้รับผลกระทบทางลบจากภาวะโลกร้อน เท่าที่ผมติดตามข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศจาก COLA (Center for Ocean-Land-Atmosphere Studies) พบว่าภาวะโลกร้อนทำให้แถบอินโดจีน คือ ประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม มีฝนตกชุกมากขึ้น ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ทางภาคอีสานจะดีขึ้น แต่ทางภาคเหนือจะแย่ลง ทั้งนี้ เวียดนามก็จะมีฝนตกหนักมากขึ้นในทางภาคเหนือของประเทศ แต่ประเทศทางฝั่งอินเดียและพม่าจะแล้งขึ้น โดยเฉพาะอินเดียนั้น ประสบภาวะแล้งหนักมาตลอดปีที่แล้ว และปีนี้ก็จะแย่อีก ผมจึงเชื่อว่า อีกหน่อย การเกษตรของไทยต้องรุ่งแน่ๆ เพราะคู่แข่งของเราคืออินเดียจะต้องการนำเข้าอาหารมากขึ้นครับ ...... เพราะฉะนั้น ประเทศเราต้องอย่าทิ้งเกษตร

มีข่าวล่าสุดจากวงการวิจัยพืช ซึ่งได้รายงานในวารสารวิชาการ Science (Sang-Youl Park, Pauline Fung, Noriyuki Nishimura, Davin R. Jensen, Hiroaki Fujii, Yang Zhao, Shelley Lumba, Julia Santiago, Americo Rodrigues, Tsz-fung F. Chow, Simon E. Alfred, Dario Bonetta, Ruth Finkelstein, Nicholas J. Provart, Darrell Desveaux, Pedro L. Rodriguez, Peter McCourt, Jian-Kang Zhu, Julian I. Schroeder, Brian F. Volkman, and Sean R. Cutler. Abscisic Acid Inhibits Type 2C Protein Phosphatases via the PYR/PYL Family of START Proteins. Science, 2009; DOI: 10.1126/science.1173041) ซึ่งเป็นการค้นพบยีนที่ช่วยให้พืชทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย รวมทั้งความแห้งแล้งและความร้อน Peter McCourt หนึ่งในคณะวิจัยซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเซลล์และชีววิทยาเชิงระบบ กล่าวว่า "พืชมีระบบฮอร์โมนที่ช่วยให้มันปรับตัวกับความเครียดต่างๆ ได้ หากเราสามารถควบคุมฮอร์โมนเหล่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถปกป้องพืชผลทางการเกษตรต่างๆ จากภาวะโลกร้อนได้ครับ" การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่ออนาคตในการพัฒนาพืชที่มีความทนทานต่อภาวะโลกร้อนได้ อันที่จริง สิ่งที่นักวิจัยค้นพบในรายงานนี้ ก็เป็นเพียงกุญแจดอกหนึ่งในการไขปริศนาว่าพืชปรับตัวอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรง กลไกในการปรับตัวของพืชนั้นมีความซับซ้อนมากและยังต้องการการวิจัยขั้นพื้นฐาน (Basic Research) อีกสักระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเราจะสามารถพัฒนาพืชเกษตรทนร้อนได้ครับ