30 มีนาคม 2563

เข้าเอเชียแล้ว .. กระแส ซูเปอร์มาร์เก็ต ปลูกผักเองในห้าง แนะเกษตรกรรีบปรับตัว



สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล InFarm ซึ่งนำเทคโนโลยีการปลูกผักแนวตั้ง (Vertical Farming) มาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ ประกาศจะผลักดันกระแสการปลูกผักเองของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วทั้งยุโรป ออกไปยังทวีปอเมริกาและเอเชีย

- เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัท InFarm ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทได้รับเงินทุนจาก JR East หรือ การรถไฟสายตะวันออกของญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัทขยายการดำเนินการเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น โดยจะจัดตั้งบริษัท InFarm Japan ทั้งนี้ บริษัทรถไฟ JR East มีซูเปอร์มาเก็ตมากมายกระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่น

- บริษัท InFarm นี้ ก่อตั้งในเยอรมัน โดยปัจจุบันได้รับเงินทุนกว่า 4 พันล้านบาท โดยมีการติดตั้ง ฟาร์มปลูกผักในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปทั่วยุโรปแล้ว ทั้งในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และตอนนี้ยังขยายไปถึงแคนาดา อีกด้วย รวมๆ กัน มีฟาร์มแบบนี้มากถึง 600 แห่งแล้ว

- ฟาร์มในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของ InFarm จะเน้นการปลูกผักที่มีคุณภาพสูง อุดมด้วยสารอาหาร และสมุนไพรต่างๆ โดย InFarm บอกว่า ผักที่ปลูกแบบนี้ ทั้งปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง แถมยังมีรสชาติ กรอบอร่อย กว่าผักที่ปลูกแบบเดิมอีกด้วย เพราะทางบริษัทใช้สูตรในการดูแลไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง การให้สารอาหาร ที่ปรับแต่งมาแล้ว สำหรับผักแต่ละชนิด ที่จะทำให้รสชาติอร่อยที่สุด



- ระบบปลูกแบบนี้ ได้เป็นที่พึงพอใจทั้งตัวห้างเอง และ ลูกค้าที่มาซื้อผัก เนื่องจากจะได้ผักใหม่ๆ สดๆ สะอาดปลอดภัย ระบบปลูกผักในห้างนี้ สามารถดูแลตัวเองได้ โดยแทบจะไม่ต้องใช้คนดูแลอีกเลยหลังจากนำมาปลูกในระบบแล้ว ซึ่งจะมีเซนเซอร์ต่างๆ คอยเก็บข้อมูล และเฝ้ามอง และส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์อินเทอร์เน็ต ระบบจะควบคุมพารามิเตอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับผักแต่ละชนิด

- การที่ห้างค้าปลีก หันมาปลูกพืชเอง จะทำให้ห่วงโซ่มูลค่าจากเดิมที่ยาวๆ สั้นลงอย่างมากเลยครับพี่น้อง ... เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีห่วงโซ่มูลค่าสั้นลง เพราะใช้จำนวนชิ้นส่วนน้อยลงมาก ... ยุคต่อไป เราจะเห็นแบบนี้มากขึ้น ทั้งการผลิตสินค้าและอาหาร ที่ห่วงโซ่มูลค่าจะสั้นลง และเป็นการผลิตใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น (Local Foods, Local Products)

- ก่อนหน้านี้ ห้างทาร์เก็ต (Target) ในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มทดลองปลูกผักในห้างเอง ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2017 โดยเริ่มต้นปลูก มันฝรั่ง บีทรูท ซุคคินี พริกไทย และมะเขือเทศสายพันธ์หายาก และทยอยขยายจำนวนสาขา และ จำนวนชนิดของพืชผักที่ปลูกไปเรื่อยๆ เช่น จะเพิ่มการผลิตพืชที่เป็นไม้ผล มากขึ้นเรื่อยๆ

- ต่อมา ห้างค้าปลีก Whole Foods ซึ่งมีมหาเศรษฐีเจ้าของเว็บไซต์ อี-คอมเมิร์ซ ชื่อดังยี่ห้อ Amazon เป็นเจ้าของ ก็ประกาศแผนจะเปิดโรงงานปลูกพืชผัก (Plenty) ในเมืองจีนจำนวนกว่า 300 แห่ง เน้นการส่งขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต

เห็นได้เลยว่า ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรผู้ปลูกผักจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่แล้วครับ !!


.
🛰 อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตร และความรู้อื่นๆ ได้ทุกวัน กับ เพจเกษตรอัจฉริยะ 🛰
📲 Facebook ----> https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
📲 Twitter ----> https://twitter.com/teerakiat_kerd/
Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://nocamels.com/2020/03/israel-founded-infarm-urban-farming-japan/
- Data from https://thespoon.tech/infarms-high-tech-vertical-farms-head-to-canadian-grocery-stores/

28 มีนาคม 2563

นมแม่เทียม มาแล้ว สตาร์ทอัพสิงคโปร์เตรียมผลิตนมมนุษย์ ป้อนทารกทั่วโลก



"นมโค ก็ควรจะให้ลูกวัวกินสิ ไม่ใช่ลูกมนุษย์" เป็นสิ่งที่ผมสงสัยมานานแล้วว่า วันหนึ่งเราจะสามารถผลิตน้ำนมสำหรับลูกมนุษย์ ที่ไม่ใช่นมวัวได้หรือไม่ และวันนี้ ก็ได้เกิดสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่ได้พัฒนากระบวนการที่เรียกว่า Cellular Agriculture เพื่อทำการผลิตน้ำนม โดยการเลี้ยงเซลล์ผลิตนม ให้ทำการผลิตน้ำนม

- โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการผลิตอาหารที่เบียดเบียนสัตว์น้อยลง ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเทียมที่ผลิตจากพืช (Plant-based meat) เนื้อสัตว์ปลูก (in vitro meat) ไข่ที่ไม่ต้องมีไก่ (Plant-based egg)นมทางเลือกชนิดต่างๆ ที่ผลิตจากพืช

- สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า TurtleTree Labs ได้พัฒนาเทคโนโลยีเลี้ยงเซลล์ผลิตน้ำนม ให้สามารถผลิตน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็น วัว แพะ แกะ ได้หมด แต่ผลิตภัณฑ์แรกที่เขาจะนำมาขายคือ น้ำนมมนุษย์ ซึ่งมีขนาดตลาดนมเด็กทารกขนาด 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท



- TurtleTree Labs ไม่ได้คิดจะผลิตน้ำนมขายเอง แต่เขาจะขายไลเซนส์ หรือ สิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้บริษัทผลิตนมขนาดใหญ่ นำเทคโนโลยีนี้ไปผลิตน้ำนมขาย 

- ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือ เราสามารถวิศวกรรมการผลิตให้ได้น้ำนมแบบที่ผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น มีไขมัน หรือ คลอเรสเตอรอล ต่ำ ปราศจากแลคโตส เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถเจาะตลาดได้หลายประเภท ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ตลาดอาหารที่ต้องการนมที่มีความเป็นครีมสูง เป็นต้น

- รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านเกษตรและอาหารอีกหลายแห่ง ด้วยความหวังที่จะทำให้สิงคโปร์สามารถผลิตอาหารเองได้ในอนาคต

- ล่าสุดบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน KBW Ventures ซึ่งเป็นของเจ้าชายพระองค์หนึ่งแห่งซาอุดิอารเบีย พักหลังๆ นี้ เราจะเห็นว่า ประเทศอาหรับลงทุนทางด้านเกษตรอาหาร เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงงานผลิตพืชผัก การปลูกข้าวในทะเลทราย ฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้งขนาดใหญ่ในทะเลทราย



Credit : Many Thanks to ....
- Data from https://turtletreelabs.com/
- Picture from https://phys.org/news/2019-06-lab-grown-dairy-food-frontier.html
- Picture from https://www.greenqueen.com.hk/turtletree-labs-singapore-lab-grown-dairy-milk-without-cows/