ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก ความรู้และวิทยาการด้าน Smart Farm และ เกษตรกรรมความแม่นยำสูง มาพบกับท่านที่นี่ ทุกวัน มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้เป็น ประเทศแห่งเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm Nation)
16 พฤศจิกายน 2556
เมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City)
ตั้งแต่ปี 2557 รัฐจะเริ่มดำเนินการโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ครับ โดยนำร่องใน 6 จังหวัด ใช้งบดำเนินการทั้งหมด 2.75 หมื่นล้านบาทครับ ... แหม มีหนองคาย เมืองที่ผมหลงไหลเสียด้วยสิ อาจจะต้องหาเรื่องไปช่วยงานนี้สักหน่อยแล้ว
6 จังหวัดที่นำร่องนี้ ก็ได้แก่
- เชียงใหม่ โดดเด่นในการผลิตผลไม้ และพืชผักเมืองหนาว
- หนองคาย โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรชายแดน
- ศรีสะเกษ โดดเด่นเรื่องการผลิตข้าว พืชผัก และผลไม้
- จันทบุรี โดดเด่นเรื่องการผลิตผลไม้เมืองร้อน และประมง
- ราชบุรี โดดเด่นเรื่องปศุสัตว์ และพืชผัก
- พัทลุง โดดเด่นเรื่องการเกษตรผสมผสาน (ข้าว ผลไม้ สุกร ยางพารา)
หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ ... ศรีสะเกษเนี่ยทำไมโดดเด่นด้านผลไม้ นะ ... เด๋ว ผมต้องไปสืบหาข้อมูลหน่อยแล้ว ... แต่นานมาแล้ว ผมเคยไปฟังงานวิจัยเรื่องที่ว่า พื้นที่แถวนั้นปลูกมังคุดดีกว่าแถวเมืองจันท์อีกครับ
หลักการขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียวต้องมี 3 ต้อง คือ
1.ต้องกำหนดสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด โดยให้จังหวัดเลือกเอง แต่มีเงื่อนไขต้องมีศักยภาพและโดดเด่นจริง มีศักยภาพนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้
2.ต้องให้มีการสร้างเครือข่ายการผลิตให้ผลิตได้มาตรฐานเดียวกัน และมีปริมาณมากพอที่จะขายได้ในระดับแมส
3.ต้องสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลิตสินค้าปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนเทคโนโลยีสนับสนุนการแปรรูป
ส่วนตัวชี้วัด ที่เขาจะใช้วัดความสำเร็จของโครงการคือ
1.เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ปลอดภัยจากสารตกค้างในสินค้าเกษตร
2.มลพิษจากกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง
3.ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น
จริงๆ แล้ว ผมฝันอยากจะเห็นเมืองเกษตรสีเขียวที่ว่านี้ เป็นเมืองฉลาด ด้วยนะครับ (Smart Green Agriculture City)
27 ตุลาคม 2556
ไทยต้องเพิ่มศักยภาพการเกษตรทางน้ำ และ Smart Aquaculture
วันนี้เราลองมาดูสถิติเกี่ยวกับการผลิตสัตว์น้ำของประเทศไทยกันครับ ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ล่าสุด แต่ก็พอจะเห็นอะไร
- ประเทศไทยเน้นการผลิตสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก มากกว่าการบริโภคในประเทศ ดังนั้น เราจึงเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และมีประสบการณ์ยาวนานด้านตลาดต่างประเทศ แต่ก็กำลังจะเผชิญคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามครับ
- จะเห็นว่าประเทศไทยเน้นการผลิตสัตว์น้ำเค็มครับ เรามีกำลังผลิตใกล้เคียงกับ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่มีพื้นที่ติดน้ำมากกว่าเรา ถือว่าเราเก่งเกินตัวเลยครับ
- แต่เราผลิตสัตว์น้ำจืดได้น้อยอย่างน่าตกใจ เราแพ้เวียดนามที่มีพื้นที่น้อยกว่าเรา (แสดงว่า เราต้องทำสัตว์น้ำจืดให้มากขึ้นมั้ย ?)
- และเมื่อมาดูตัวเลขการทำฟาร์ม เราทำฟาร์มสัตว์น้ำเพียง 25.2% นอกนั้นจับจากธรรมชาติ (ตัวเลขค่อนข้างเก่าคือ พ.ศ. 2547 ซึ่งตอนนี้เราน่าจะทำฟาร์มมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก) ซึ่งในอนาคต ผมคิดว่าตัวเลขมันจะกลับกัน เพราะปลาในทะเลจะมีน้อยลง
วันหลัง ผมจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอาชีพไฮเทคนะครับ
(Credit - Picture from ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย และhttp://coursewares.mju.ac.th/)
25 ตุลาคม 2556
Malaysia Smart Paddy - โครงการนาข้าวอัจฉริยะ มาเลเซีย
(Credit - Picture from Malaysian National Paddy Precision Farming Project)
"ประเทศไทย ปลูกอะไรก็ขึ้น จะทำ smart farm ไปทำไม" เป็นคำพูดที่ผมมักจะได้ยินนักวิชาการทางด้านเกษตรพูดดูหมิ่นแนวคิดของ smart farm ทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน แทนที่ผมจะได้นำแนวคิดของเกษตรอัจฉริยะมาใช้กับนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของไทย แต่ผมกลับต้องไปทำ smart farm กับองุ่น พืชที่ปลูกและดูแลยากกว่ามากๆ เพราะนักวิชาการเหล่านั้น "ไม่อนุญาต" ให้เราทำกับสิ่งที่ "ปลูกอะไรก็ขึ้น"
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศักยภาพในการ "ปลูกอะไรก็ขึ้น" กำลังจะสูญเสียไป ประเทศไทยกำลังผจญกับการแข่งขันรอบด้าน เวียดนามกำลังพัฒนาข้าวหอมเพื่อมาแข่งขันกับเรา รวมไปถึงกาแฟที่ทุกวันนี้ ทั้งกาแฟของลาวและเวียดนาม บุกถล่มร้านกาแฟในเมืองไทยกันเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียออกกฎเหล็กเพื่อมาควบคุมทุเรียนไทย อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเอาทุเรียนมาแข่งกับไทยให้ได้
จะเห็นว่า ถ้าเรายังอยู่กับที่ ... มีแต่ ตาย กับ ตาย ครับพี่น้อง !!!
วันนี้ผมจะพาไปดูโครงการนาข้าวอัจฉริยะในประเทศมาเลเซียครับ ไปดูกันครับว่า เพื่อนบ้านเค้าทำนาแบบใหม่กันอย่างไร โครงการนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่าง มาช่วยในการทำนา ผมขออธิบายตามรูปภาพนะครับ ทีนี้ขอให้มองไปที่มุมขวาบนของภาพก่อนครับ
- Soil Sampling ก่อนการทำนาในรอบต่อไป จะมีการตรวจสอบตัวอย่างดินกันก่อนครับ ค่าที่ตรวจสอบจะมี pH, ค่าการนำไฟฟ้า (เพื่อรู้ปริมาณไอออนต่างๆ) ค่าปริมาณของอินทรีย์วัตถุในดิน โดยการใช้รถไถที่ดัดแปลงให้สามารถอ่านค่าตัวอย่างดินได้แบบ ณ ตำแหน่งและเวลาจริงกันเลยทีเดียวครับ ไม่ต้องนำตัวอย่างดินกลับไปทำที่แล็ป
- Soil Mapping จากข้างบน เมื่อเราสามารถตรวจสอบตัวอย่างดินได้ ณ สถานที่และเวลาจริง แบบขับรถไถไปตรวจสอบไป (On-the-go Measurement) เราก็สามารถได้ค่าพารามิเตอร์ของดิน ณ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งก็จะกลายเป็น แผนที่ดินดิจิตอล ที่ทำให้เราทราบว่า ดินในไร่นาของเรามันเหมือนกัน หรือ ต่างกันอย่างไร
- แผนที่ดินดิจิตอลนี้เองครับ จะทำให้เราสามารถดูแลดินแบบแตกต่างกันได้ ตรงไหนไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ยเยอะๆ หน่อย ตรงไหนดินมันดีกว่าที่อื่น ก็ใส่น้อยหน่อย โดยเราสามารถโปรแกรมใส่รถไถที่จะออกไปรถปุ๋ยครับ เจ้ารถไถนี้จะนำเอาแผนที่เหล่านี้มาใช้อย่างอัตโนมัติ
- Plant Growth Monitoring ในระหว่างที่พืชเติบโต เราจะมีการตรวจวัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ กัน เช่น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเติบโต หรือใช้ภาพถ่ายทางอากาศจาก UAV ทำให้เราทราบว่า ตกลงที่เราให้ปุ๋ยแก่ดินไปแตกต่างกันตามตำแหน่งต่างๆ กันนั้น มันเป็นไปอย่างที่เราคิดมั้ย
- Variation Rate Application คือการที่เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไป หากมันยังไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราก็ยังสามารถดูแลให้ปุ๋ย น้ำ ตามความแตกต่างที่เราวัดได้ ซึ่งก็อาจจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามในไร่นา เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน เซ็นเซอร์ตรวจวัดความสูงของต้นข้าว เซ็นเซอร์ตรวจวัดคลอโรฟิล เป็นต้น เรายังสามารถดูแลการกำจัดศัตรูพืช ตามสภาพที่เราตรวจวัดได้อีกด้วย
- Yield Mapping ท้ายสุด เมื่อมาถึงการเก็บเกี่ยว เราจะไม่เก็บเกี่ยวแบบธรรมดาอีกต่อไป แต่เราจะตรวจวัดว่า แปลงไหน ตรงไหน พิกัดที่เท่าไหร่ ให้ผลผลิตมากน้อยอย่างไร แล้วนำค่าผลผลิตที่ตรวจวัดได้นั้นมาทำแผนที่ผลผลิตแบบดิจิตอล เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงโมเดล และ สมมติฐานต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปนั้นดีขึ้นครับ
ตอนนี้ ผมเองก็เสนอโครงการนาข้าวอัจฉริยะไปที่สภาวิจัยแห่งชาติอยู่ครับ ถ้าได้รับการสนับสนุน จะนำมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ หวังว่า เรายังไม่ได้ตามหลังมาเลเซียไกลเกินไป เผื่อจะได้ไล่ทันบ้างครับ
19 ตุลาคม 2556
อนาคตของอ้อย
(Credit - Picture from http://www.wisegeek.com/)
ในจำนวนหุ้นเกษตรนั้น หุ้นที่ผมชอบมากที่สุดคือหุ้นน้ำตาล เพราะผมมีความเชื่อว่าหุ้นตัวนี้จะไม่ทำร้ายผมอย่างแน่นอนครับ ในพอร์ตหุ้นของลูกชายผมคือน้องโมเลกุล มีหุ้นอยู่ 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่งเป็นหุ้นน้ำตาล เขาจะเอาเงินในกระปุกออมสินทะยอยสะสมหุ้นตัวนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยเวลานับ 10 ปีครับ
อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย ราคาน้ำตาลเบอร์ 11 ที่จะส่งมอบ (Futures) ในเดือน มี.ค. 2557 ตกต่ำลงไปเหลือปอนด์ละ 17 เซ็นต์ ในเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ทำเอาหุ้นน้ำตาลของผมต่ำติดฟลอร์
แต่แล้ว ..... ในช่วงไม่มีสัปดาห์ที่ผ่าน มันกลับเริ่มทะยานกลับขึ้นอย่างรวดเร็วครับ ผมจึงเชื่อว่า จุดต่ำสุดของราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ได้ผ่านไปแล้ว
วันนี้ ผมขอนำตัวเลขบางอย่างเกี่ยวกับน้ำตาลมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
- น้ำตาลที่ผลิตได้ในโลกเรานี้ 70% มาจากอ้อย อีก 30% มาจากบีท
- อ้อยเป็นพืชที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด คือ 8% ในขณะที่ข้าวโพดทำได้เพียง 1%
- อ้อยจึงเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตเอธานอล
- บราซิลผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลกคือ 35.75 ล้านตัน (ฤดูกาล 2011/2012) อินเดีย 28.3 อียู 16.74 จีน 11.84 และไทย 10.17
- ถึงแม้ไทยจะผลิตน้ำตาลได้อันดับ 5 ของโลก แต่เราส่งออกอันดับ 2 เลยครับ เหมือนข้าวนั่นแหล่ะครับ ที่เราไม่ใช่ผู้ผลิตอันดับหนึ่ง แต่เราส่งออกเยอะกว่าเพื่อนไงครับ
- โลกมีแต่จะบริโภคน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 166 ล้านตันในปี 2012 ไปเป็น 203 ล้านตันในปี 2021 โดยคนเอเชียจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการกินน้ำตาลเลยครับ โดยจะเพิ่มจาก 75 เป็น 97 ล้านตันต่อปี
- ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับ Top Tree ในการส่งออกน้ำตาล โดยจะมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มจาก 11% ไปเป็น 14% ในอีก 8 ปีข้างหน้า (ไม่รู้ฝรั่งรู้ได้ไง ว่าเรากำลังจะขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย โดยนโยบายการจัดทำโซนนิ่งเกษตรกรรม)
เห็นอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้พูดได้ยังไงล่ะครับว่า อนาคตของอ้อยนั้นดีแน่
11 ตุลาคม 2556
ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมาร์ทฟาร์ม
(Picture from Fujitsu)
เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2556 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานการแสดงทางการค้า (Trade Fair) ที่มีชื่อว่า CEATEC Japan 2013 ในงานนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปติดตามความก้าวหน้าของระบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งบริษัท Fujitsu พัฒนาขึ้นและได้นำมาออกแสดงในงาน CEATEC Japan แทบจะทุกปี โดยเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็เคยเข้าไปดูงาน CEATEC Japan มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2007 นู่นเลยครับ ในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสไปเห็นบริษัท Fujitsu เสนอแนวคิดเรื่องสมาร์ทฟาร์มขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งผมก็ได้นำแนวคิดหลายๆ อย่างจากการไปเห็นในนิทรรศการนั่นแหล่ะครับ เอากลับมาทำ พูดอย่างไม่อายเลยครับว่า การไปดูงานแบบ expo หรือ trade fair เนี่ย มันช่วยจุดประกายความคิดเราได้เยอะ หลายๆ เรื่อง เราแค่ไปดูๆ แล้วเอากลับมาทำต่อยอดได้เลย
หลังจากกลับมาจาก CEATEC Japan 2007 ผมก็ได้ลองนำแนวคิดหลายๆ อย่างของ Fujitsu กลับมาทำ ผ่านไปจากปี 2007 ก็อยากจะกลับไปดูว่า Fujitsu ทำอะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วเวลาที่ผ่านมาตั้ง 6 ปี สิ่งที่ Fujitsu ทำ กับ สิ่งที่ผมได้ทำ มันมีพัฒนาการต่างกันเยอะมั้ย ... ไม่น่าเชื่อครับ พอกลับมาดูอีกที ปรากฎว่า พัฒนาการของสมาร์ทฟาร์มของ Fujitsu กับที่ผมทำและวางแผนจะทำ มันกลับมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งๆ ที่ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยติดตามงานของ Fujitsu อีกเลย
นั่นแสดงว่า แนวโน้มของการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มในโลกนี้ มันกำลังไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือ
(1) เรื่องของการติดตามข้อมูลและกิจกรรมในไร่ ด้วยเซ็นเซอร์ (Field Sensors) ต่างๆ รวมไปถึงการใช้จักรกล หุ่นยนต์ และเครื่องทุ่นแรงที่มีระบบอัจฉริยะ
(2) เรื่องของ mobile devices ที่เข้ามามีส่วนในการทำไร่ทำนา การบันทึกและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ
(3) เรื่องของระบบ Cloud Computing ที่จะทำให้พารามิเตอร์ในการเพาะปลูก ปัจจัยการผลิต สภาพผลผลิต เชื่อมโยงกันหมด จากไร่นาไปสู่โรงงานแปรรูป และผู้จัดส่งอาหาร ไปถึงผู้บริโภค รวมถึงการเชื่อมโยงเซอร์วิสอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด
เมื่อการเพาะปลูกเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด พารามิเตอร์ ตัวแปร ต่างๆ สามารถที่จะนำมาเชื่อมโยงกันด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ และอัลกอริทึมต่างๆ ทำให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ราคาพืชผล จาก demand-supply ได้
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากงาน CEATEC Japan 2013 ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของระบบอัจฉริยะมันมาถึงจุดที่ใกล้ความเป็นจริงมากๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Smart City, Smart Car, Smart Home, Smart Healthcare และนั่น ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ Smart Farm เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ครับ ....
03 สิงหาคม 2556
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 4)
ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตลอด 200 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เอาแหล่งคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้แผ่นดินออกมาเผาผลาญเพื่อผลิตพลังงาน ในเมื่อเรานำเอาคาร์บอนจากใต้ดินมาใช้ ทำไมเราถึงไม่อัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือจากการเผาผลาญนั้น กลับไปอยู่ใต้โลกเหมือนเดิม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดหรือนิยายวิทยาศาสตร์หรอกครับ บริษัทสไลป์เนอร์ (Sleipner) แห่งนอร์เวย์ได้ดำเนินการปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์กลับลงไปเก็บใต้ผิวโลกลึกลงไปกว่า 1 กิโลเมตร จำนวนกว่า 20,000 ตันทุกๆสัปดาห์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 แล้ว ซึ่งก็นับว่าคุ้มเพราะที่ประเทศนอร์เวย์นั้น ผู้ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจะต้องเสียภาษี 50 เหรียญสหรัฐทุกๆ 1 ตัน ตอนนี้แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหลายๆแหล่งทั่วโลก ต่างก็สนใจที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งก๊าซในทะเลจีนใต้ ออสเตรเลีย อลาสก้า เป็นต้น คาร์บอนไดออกไซด์สามารถที่จะอัดลงไปทั้งใต้ดิน ไปเก็บในเหมืองถ่านหินที่ปิดแล้ว แหล่งแร่ใต้ดินที่เลิกใช้ แหล่งน้ำมันและก๊าซที่ดูดออกมาหมดแล้ว
อีกวิธีหนึ่งทำได้โดยการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ท้องทะเล จะว่าไปศักยภาพของมหาสมุทรในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีสูงมาก ปัจจุบันนี้มหาสมุทรก็เก็บคาร์บอนไว้แล้วถึง 40,000 พันล้านตัน ในขณะที่ชั้นบรรยากาศเก็บคาร์บอนไว้เพียง 750 พันล้านตันเท่านั้น เราสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีทั้งหมดในชั้นบรรยากาศตอนนี้ ฝังไว้ในทะเลได้อย่างไม่มีปัญหาเลย วิธีการนั้นก็มีได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ทะเลลึก 3 กิโลเมตร ซึ่งภายใต้ความดันขนานนั้น คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ในรูปของเหลวที่จมดิ่งที่ท้องทะเล ซึ่งจะอยู่ได้หลายพันปี เทคโนโลยีอื่นๆ เช่นการปั๊มก๊าซลงไปปล่อยใต้ทะเลในระยะที่ไม่ลึกมากนัก เช่นสักไม่เกิน 1000 เมตร ก็สามารถทำได้ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีโอกาสปลดปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศได้
อีกวิธีหนึ่งทำได้โดยการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ท้องทะเล จะว่าไปศักยภาพของมหาสมุทรในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีสูงมาก ปัจจุบันนี้มหาสมุทรก็เก็บคาร์บอนไว้แล้วถึง 40,000 พันล้านตัน ในขณะที่ชั้นบรรยากาศเก็บคาร์บอนไว้เพียง 750 พันล้านตันเท่านั้น เราสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีทั้งหมดในชั้นบรรยากาศตอนนี้ ฝังไว้ในทะเลได้อย่างไม่มีปัญหาเลย วิธีการนั้นก็มีได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ทะเลลึก 3 กิโลเมตร ซึ่งภายใต้ความดันขนานนั้น คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ในรูปของเหลวที่จมดิ่งที่ท้องทะเล ซึ่งจะอยู่ได้หลายพันปี เทคโนโลยีอื่นๆ เช่นการปั๊มก๊าซลงไปปล่อยใต้ทะเลในระยะที่ไม่ลึกมากนัก เช่นสักไม่เกิน 1000 เมตร ก็สามารถทำได้ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีโอกาสปลดปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศได้
01 สิงหาคม 2556
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 6)
วิศวกรรมดาวเคราะห์เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายชนิดทั้ง ฟิสิกส์ โยธา อวกาศวิศวกรรมธรณี เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เป้าหมายเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ ในอดีตแนวคิดของวิศวกรรมดาวเคราะห์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันจะไปตั้งรกรากในอวกาศ เช่น ดาวอังคาร ซึ่งก็มีการเสนอวิธีการต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อเปลี่ยนสภาพของดาวอังคารให้เหมาะสมที่สิ่งมีชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ได้ เช่น การสร้างพื้นผิวต่าง (Terraforming) การสร้างทะเลสาบ การปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอุณหภูมิของดาวเคราะห์ ซึ่งทำเพื่อให้เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัย แล้วก็สร้างนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา (Ecopoiesis) นาซ่าได้แอบดำเนินโครงการวิจัยลับๆ เกี่ยวกับการทำวิศวกรรมดาวเคราะห์เพื่อสร้างโลกใหม่บนดาวอังคาร โดยมีเป้าหมายทำให้ดาวอังคารกลายเป็นโลกของสิ่งมีชีวิตให้ได้ แต่ทว่า ……. ตอนนี้ดาวเคราะห์ที่อาจจะได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้กลับไม่ใช่ดาวอังคาร แต่จะเป็นโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นี่เอง บทความตอนนี้ ผมจะมาเล่าต่อครับว่าในขณะนี้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมดาวเคราะห์ มีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ……
อีกไอเดียแก้โลกร้อนเป็นของนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อว่า โรเจอร์ แองเจิ้ล (Roger Angel) ด้วยการกางร่มหรือสร้างม่านบังแดดให้โลกโดยการนำแผ่นกระจกสะท้อนแสงประมาณ 16 ล้านล้านชิ้นขึ้นไปลอยในอวกาศเพื่อบังแสงอาฑิตย์ไม่ให้ตกกระทบผิวโลก โรเจอร์คำนวณว่าถ้าเราสามารถกั้นแสงแดดสัก 2 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้มาถึงโลกก็น่าจะแก้โลกร้อนได้ แต่การทำเช่นนั้น หากต้องทำใกล้กับพื้นผิวของโลก ก็ต้องใช้ม่านบังแดดที่มีพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว โรเจอร์เสนอให้คิดค้นวิธีการส่งจรวดแบบใหม่โดยอาศัยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อส่งกระจกจำนวนมากไปลอยโคจรในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงอาฑิตย์ ที่ระยะประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตรจากโลก เขาประมาณการว่าอภิมหาโปรเจคต์นี้อาจต้องใช้เงินถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 ปี
อีกไอเดียแก้โลกร้อนเป็นของนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อว่า โรเจอร์ แองเจิ้ล (Roger Angel) ด้วยการกางร่มหรือสร้างม่านบังแดดให้โลกโดยการนำแผ่นกระจกสะท้อนแสงประมาณ 16 ล้านล้านชิ้นขึ้นไปลอยในอวกาศเพื่อบังแสงอาฑิตย์ไม่ให้ตกกระทบผิวโลก โรเจอร์คำนวณว่าถ้าเราสามารถกั้นแสงแดดสัก 2 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้มาถึงโลกก็น่าจะแก้โลกร้อนได้ แต่การทำเช่นนั้น หากต้องทำใกล้กับพื้นผิวของโลก ก็ต้องใช้ม่านบังแดดที่มีพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว โรเจอร์เสนอให้คิดค้นวิธีการส่งจรวดแบบใหม่โดยอาศัยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อส่งกระจกจำนวนมากไปลอยโคจรในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงอาฑิตย์ ที่ระยะประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตรจากโลก เขาประมาณการว่าอภิมหาโปรเจคต์นี้อาจต้องใช้เงินถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 ปี
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 5)
วิศวกรรมดาวเคราะห์ หรือ Geoengineering กำลังจะกลายมาเป็นศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใดๆ ที่กระทำโดยสิ่งมีชีวิตจะยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อให้หลุดพ้นจาก Global Warming วันนี้ผมจะมาเล่าต่อให้ฟังครับ ถึงยาอีกขนานหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้อาการโรค (โลก) ร้อน นั่นคือการปลูกป่าในทะเล
จริงๆแล้ว ทะเลก็เหมือนป่าเพราะมีสิ่งมีชีวิตจำพวกไฟโตแพล็งตอน ซึ่งกระบวนการสังเคราะห์แสงของพวกมันจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเข้าไปไว้ในตัวของมัน ในขณะที่ส่วนหนึ่งของพวกมันเป็นอาหารแก่ กุ้งหอยปูปลา ส่วนที่เหลือของมันจะจมลงสู่ก้นบึ้งของทะเลแล้วฝังอยู่ที่นั่นตลอดกาล แพล็งตอนเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้นเมื่อมีความเข้มข้นของไอออนโลหะเหล็กในน้ำทะเล จึงมีผู้เสนอไอเดียให้นำสารละลายเหล็กออกไซด์ไปปล่อยในทะเล โดยใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ โดยปรกตินั้น แพล็งตอนเหล่านี้ก็ได้สารละลายเหล็กจากตะกอนต่างๆ ที่ถูกพัดพามาจากแม่น้ำ ไหลลงสู่ทะเล และจากอนุภาคทรายที่ถูกพัดพามากับลมจากทะเลทรายต่างๆ อยู่แล้ว การนำสารละลายนี้ไปปล่อยลงทะเลด้วยเรือขนาดใหญ่ จะช่วยเร่งให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เติบโตได้ดีและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นยาลดไข้โลกร้อนที่ไม่เลวเลย เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้นมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าแพล็งตอนเหล่านี้ซึ่งได้รับปุ๋ยเหล็กจำนวนมากจากการขยายตัวของทะเลทราย ได้เจริญเติบโตอย่างมากในช่วงยุคน้ำแข็งที่ผ่านมา ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ยุคน้ำแข็งเกิดขึ้นค่อนข้างยาว อย่างไรก็ตามยาแก้โลกร้อนตามวิธีนี้ ก็ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับมากขึ้น จะไม่ไปทำให้ระบบนิเวศน์ในทะเลถูกรบกวนจนเกิดความเสียหาย
14 มิถุนายน 2556
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 3)
เมื่อโลกร้อนเพราะแสงอาฑิตย์ส่องเข้ามามากเกินไป เราก็ต้องห่มผ้าให้โลก เพื่อให้โลกรับแสงอาฑิตย์น้อยลง ไอเดียอันบรรเจิดนี้มาจากศาตราจารย์ พอล ครูทเซล (Paul Crutzel) นักเคมีรางวัลโนเบล ค.ศ. 1995 ผู้ที่ค้นพบว่าของเสียที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ขึ้นไปทำลายชั้นโอโซน แต่มาตอนนี้ท่านกลับเสนอให้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นมลพิษนี้ในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ เพื่อให้ก๊าซนี้สะท้อนแสงอาฑิตย์กลับเข้าไปในบรรยากาศ แล้วทำให้โลกเย็นลง การกระทำเช่นนี้เป็นการเลียนแบบการเกิดภูเขาไฟระเบิดนั่นเอง เพราะทุกครั้งที่มีการระเบิดของภูเขาไฟนั้น จะมีการปล่อยกลุ่มควัน เถ้าถ่าน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน ทำให้พื้นผิวโลกที่อยู่ใต้บริเวณนั้นเย็นลง ดังเช่น การระเบิดของภูเขาไฟปินาทูโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1991 นั้นได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาถึง 20 ล้านตัน ซึ่งมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส ศาสตราจารย์พอลได้เสนอวิธีที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์โดยการปล่อยบอลลูนที่บรรจุก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นไปปล่อยในชั้นบรรยากาศ หรืออาจบรรจุในถังแล้วยิงขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ให้ไปแตกระเบิดออกในชั้นบรรยากาศ ท่านได้คำนวณจำนวนของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ควรปล่อย ราคาของโครงการ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ แนวความคิดอันสุดโต่งและล้ำลึกของท่านนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามทำวิจัยหาข้อมูลเพิ่มทั้งเพื่อยืนยันและหักล้างแนวคิดนี้ ศาสตราจารย์ครูทเซลได้กล่าวว่า หากโลกเราไม่มีความสามารถในการหยุดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วที่สุด นี่ก็อาจจะเป็นทางออกเดียวที่พอทำได้ที่จะหยุดโลกร้อน
ภาพบน - การระเบิดของภูเขาไฟปินาทูโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1991 นั้นได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาถึง 20 ล้านตัน ซึ่งมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส
13 มิถุนายน 2556
Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 2)
วิศวกรรมดาวเคราะห์ หรือ Geoengineering กำลังจะกลายมาเป็นศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใดๆ ที่กระทำโดยสิ่งมีชีวิตจะยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อให้หลุดพ้นจาก Global Warming ลองจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการนี้สิครับ ทะเลทรายที่มีแต่ทรายจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการใช้พืชดัดแปรพันธุกรรม จะมีการปล่อยอนุภาคเหล็กลงไปในทะเลครั้งใหญ่ เพื่อช่วยให้พวกสาหร่ายและแพล็งตอนสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น และดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น การปล่อยสารเคมีที่ช่วยรักษาชั้นโอโซน การปล่อยอนุภาคที่สะท้อนแสงอาฑิตย์ในชั้นบรรยากาศเพื่อลดแสงแดดที่ตกกระทบโลก การอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอซซิล กลับลงไปใต้พื้นพิภพหรือพื้นทะเล ไปจนถึงการสร้างแผงเซลล์สุริยะ หรือ กระจกบานใหญ่ขนาดเป็นร้อยกิโลเมตร ในวงโคจรรอบโลกเพื่อลดแสงอาฑิตย์ที่ส่องเข้ามายังผิวโลก ซึ่งจะเห็นว่าหากต้องการเปลี่ยนฟ้าแปลงโลกให้ได้ผลจริงๆ จะต้องร่วมกันทำทั้งโลก และต้องทำหลายๆอย่างพร้อมๆ กันครับ อย่างไรก็ดีก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับ Geoengineering อยู่แน่นอนครับ กับประเด็นที่ว่า มนุษย์เรามีความรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบต่างๆที่มีขนาดใหญ่อย่างดาวเคราะห์เพียงพอแล้วหรือ แต่ผู้สนับสนุน Geoengineering ก็แย้งว่าการอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร ก็รังแต่จะรอวันสิ้นโลกเท่านั้น สู้เสี่ยงทำอะไรแบบมีสติก็น่าจะดีกว่า
วันหลังผมจะนำรายละเอียด ของวิธีการเปลี่ยนฟ้าแปลงโลก ที่มีการเสนอขึ้นมาเล่าให้ฟังครับ .......
03 มีนาคม 2556
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 5)
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้ทยอยสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อมาประกอบเป็นอากาศยานจิ๋ว (Micro Air Vehicle หรือ MAV) ซึ่งจริงๆ ก็คืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV หรือเรียกกันทั่วไปว่า drone) แบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่มันมีขนาดที่เล็กลงไปมากๆ ในปีที่ผ่านมากระแสในเรื่องของ drone นี่ถือว่าจุดพลุกันดังระเบิดเถิดเถิง ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นกิจกรรม drone ในภาคพลเรือนอย่างแท้จริง เกิดธุรกิจที่ขาย drone สำหรับพลเรือนอย่างเป็นจริงเป็นจัง สามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ อย่างของผมที่สั่งไปนี่ สั่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืนวันอาทิตย์ ตอนบ่ายวันพฤหัสบดีของก็มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พอเช้าวันศุกร์ บริษัท FedEx ก็นัดขอเอาของเข้ามาส่งเลย เด็กๆ ในแล็ปดีใจกันใหญ่ เอาของออกมาประกอบแล้วเอาออกไปลองบินเล่นที่สนามหญ้าของคณะวิทยาศาสตร์ในอีกวันต่อมา ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างสั่งชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน และการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การเก็บภาพ การเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็จะสามารถนำไปใช้ทดลองปฏิบัติงานที่ไร่ได้ โดยทางทีมวิจัยจะมีการดัดแปลงตัว drone รวมทั้งการพัฒนาเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งเข้าไปที่ตัว drone นี้ เพื่อให้เหมาะกับการปฏิบัติภารกิจทางด้านการเกษตร
สมาคมระบบอากาศยานไร้คนขับนานาชาติ (Association for Unmanned Vehicle Systems International หรือ AUVSI) คาดหมายว่าตลาดของ drone ในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มเคลื่อนย้ายจากการทหารและการป้องกันประเทศ กลับมาใช้งานในประเทศมากขึ้น ถึงแม้กองทัพอากาศในสหรัฐฯ ในอนาคตจะมีเป้าหมายที่จะเป็นกองทัพแห่งเครื่องบินไร้นักบินก็ตาม จำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นนอกกองทัพจะมีมากมายเหลือคณานับในภาคประชาชน จนทำให้ตลาดเชิงพาณิชย์ของภาคพลเรือนน่าเร้าใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตมากกว่า โดยตลาดในปีนี้น่าจะเริ่มจากความต้องการในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจหน่วยต่างๆ รวมทั้งตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตระเวณชายแดน แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ทาง AUVSI มั่นใจเป็นอย่างมากว่า ผู้ใช้ที่จะมีอัตราการเติบโตในการใช้ drone มากที่สุด น่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา จากการสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการใช้งาน drone อย่างเป็นทางการโดย FAA (องค์การบริหารการบิน) พบว่าในปี ค.ศ. 2012 มีผู้มาขอและได้ใบอนุญาตในการใช้งาน drone ซึ่งเป็นองค์กรตำรวจจำนวน 17 หน่วยงาน และ มหาวิทยาลัย 21 หน่วยงาน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตที่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต้องการนำไปใช้ทางด้านการเกษตร
ข้อมูลจากทางญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเดียวกัน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 2010 มีการนำ drone ไปใช้ในการพ่นยาและสารเคมีทางการเกษตรในญี่ปุ่นจำนวน 2,300 ลำ ทำให้ตัวเลขการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการพ่นสารเคมีในญี่ปุ่นที่เคยมีมากถึง 1,328 เฮกตาร์ในปี 1995 ลดเหลือเพียง 57 เฮกตาร์ในปี 2011 โดยมีจำนวนการใช้ drone เพื่อทำงานแทนมากถึง 1,000 เฮกตาร์ บริษัท CropCam ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำตลาดเครื่องบินเล็ก drone สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศในไร่นาด้วยสนนราคา 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งขายดิบขายดีมาก แม้แต่ข้างบ้านเราคือประเทศมาเลเซียก็เป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้น่าคิดว่า การใช้งาน drone ทางด้านการเกษตรในประเทศมาเลเซียน่าจะกำลังเติบโต drone ของบริษัทนี้มีน้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม มีความยาวของลำตัว 4 ฟุต ความยาวปีก 8 ฟุต แต่บริษัทบอกว่าเครื่องบิน drone ตัวนี้สามารถที่บินสู่อากาศด้วยการปล่อยด้วยมือ ไม่ต้องใช้รันเวย์แต่อย่างใด สามารถบินได้สูงตั้งแต่ 400 จนถึง 2,200 ฟุต ได้นานถึง 55 นาที วัตถุประสงค์หลักของ drone ตัวนี้จะเน้นไปที่การถ่ายภาพทางอากาศสำหรับใช้งานทางด้านการเกษตร สำหรับผมแล้ว ด้วยภารกิจที่ทำได้เพียงอย่างเดียว กับเงินที่ต้องลงทุนเป็นแสนๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ดังนั้น ทีมวิจัยของเราจึงสนใจเทคโนโลยีแบบเครื่องบินปีกหมุนมากกว่า ซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก
ในไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า เราจะต้องเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคม AEC การเกษตรถือว่าเป็นด้านหนึ่งที่ประเทศมีความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน drone เพื่อการเกษตรจึงเป็นความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามพัฒนาให้ถึงจุดที่เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่ประเทศใน AEC ได้
02 มีนาคม 2556
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 4)
สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคตก็คือ จะมีอากาศยานขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Air Vehicle หรือ MAV บินว่อนไปทั่วในเรือกสวน ไร่นา ฟาร์มเกษตรต่างๆ เจ้า MAV นี้จะบินสำรวจทำแผนที่ เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในไร่ ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ลม ความชื้น สารเคมี แมลง สภาพผลผลิต และอื่นๆ มันจะทำงานกันเป็นฝูง บินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม เกษตรกรเพียงแค่หยิบ Tablet ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์แจก แล้วมากำหนดโคออร์ดิเนตบนแผนที่ว่า วันนี้จะให้เจ้า MAV บินไปเก็บข้อมูลที่บริเวณใดบ้าง โดยเจ้า MAV จะทำหน้าที่ของมัน เมื่อมันได้ข้อมูลแล้ว มันจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) กลับมายัง Data Server ของไร่ จากนั้นเครื่องเซิฟเวอร์ในไร่ จะส่งข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (อาจจะเป็นระบบ 3G ของ AIS หรือสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตของ CAT Telecom ก็แล้วแต่) ไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งข้อมูลทางด้านการเกษตรของไร่ จะถูกแชร์ต่อให้เกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือคนละจังหวัดก็ได้ ที่สนใจในพืชชนิดเดียวกัน ผ่านทาง Facebook, Twitter, Dropbox และอื่นๆ รวมไปถึง Agri-Net ซึ่งอาจจะมีขึ้นในอนาคต (ผมอาจจะทำก็ได้นะครับ ถ้าไม่มีใครทำ)
อ้าว ... ผมกำลังฝันกลางวันอีกแล้วหรอเนี่ย (จริงๆ ตอนนี้ ตอนที่ผมเขียนอยู่นี้เป็นช่วงหัวค่ำนะครับ) แต่ ... อย่าเพิ่งดูถูกนะครับ สิ่งที่ผมฝันนี้ มันต้องเกิดขึ้นแน่นอนครับ แต่จะเมื่อไหร่ละก็ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่นานหรอกครับเพราะจริงๆ แล้ว ใครจะเชื่อละครับว่า ตอนนี้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicles หรือ drone ซึ่งมีราคานับร้อยล้านบาท จะถูกก๊อปปี้มาผลิตขายได้ในราคาประมาณหมื่นกว่าบาทแล้วครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน drone พวกนี้จะบินว่อนไปทั่ว เรียกว่ายุคที่ "ใครๆ ก็บินได้" ของจริงมาถึงแล้ว
จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีที่ถือเป็นกุญแจหลักของเจ้า MAV หรือ drone ก็คือระบบ autopilot (ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ) ซึ่งปัจจุบันระบบนี้มีใช้ในเครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เครื่องบินสามารถบินได้เอง โดยไม่ต้องควบคุมจากนักบินเลยก็ได้ เครื่องบินสามารถบินขึ้นเอง รักษาการบิน และบินลงได้เอง เพียงแต่ตามกฎการบินพาณิชย์นาวีในปัจจุบันนี้ มีข้อบังคับห้ามนักบินใช้ระบบนี้สำหรับบินขึ้น เท่านั้น
ระบบ autopilot นี้ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์วัดความเร็ว ความดันอากาศ ความเฉื่อย มิติทิศทาง สนามแม่เหล็ก ความเร่ง และพิกัด (GPS) ซึ่งในปัจจุบันนี้ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทั้งหมดไปอยู่รวมกันในชิพเพียงชิพเดียวก็ได้ ด้วยสนนราคาเพียง 600 บาทเท่านั้น อะไรจะขนาดนั้น สมองกลของ drone ขนาดเล็กในปัจจุบันก็เอามาจากพวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายล่ะครับ ทำให้นักเทคโนโลยีทางด้านนี้ต่างเรียกเจ้า MAV หรือ drone ขนาดเล็กเหล่านี้ว่า สมาร์ทโฟนบินได้
อีกไม่นานครับ เจ้าสมาร์ทโฟนบินได้ จะขึ้นไปวาดลวดลายบนท้องฟ้า เพื่อนำพาเกษตรไทยให้เป็นเจ้าอาเซียน
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 3)
(ภาพจาก www.petapixel.com)
พอผมพูดเกี่ยวกับเรื่อง UAV หรือ drone สำหรับการเกษตรไปสักสัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าตื่นเต้นออกมาแล้วครับ เพราะเมื่อ 2-3 วันก่อน บริษัท Rotary Robotics ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการทางด้านวิศวกรรมอากาศยานอัตโนมัติ ซึ่งก็รวมถึง drone ด้วยได้ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนา drone ราคาถูกสำหรับประชาชนทั่วไป สนนราคาที่ตั้งใจไว้คือ 100 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,100 บาท) ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Drones for Peace แต่ในระยะแรก ราคาที่พอทำได้คือที่ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 8000 บาท) ซึ่งผมคิดว่าราคาแค่นี้ถือว่าถูกมากๆ แล้วกับสิ่งที่มันทำได้
drone ของ Rotary Robotics บินที่ความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมันจะทำการบินแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยการปรับแต่งเส้นทางการบินด้วย app บนสมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน หรือ แอนดรอยด์ ซึ่งหน้าที่หลักของ drone ประเภทนี้คือการบินขึ้นไปถ่ายภาพ ลองคิดดูสิครับว่า ด้วยเงินไม่ถึงหมื่นบาท เราจะมี drone ส่วนตัว ซึ่งสามารถบินขึ้นไปทำแผนที่ทางอากาศของพื้นที่ที่เราสนใจได้ น่าทึ่งแค่ไหนล่ะครับ ที่อีกไม่นานเราจะมีหุ่นยนต์บินได้ ขึ้นไปบินถ่ายภาพไร่นาของเรา โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ใส่เส้นทางการบินตามแผนที่ Google Map ให้มัน แล้วก็ปล่อยให้มันบินขึ้นไปถ่ายภาพ ซึ่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีประโยชน์มากแล้วครับ เพราะอย่างน้อย เราก็จะได้ภาพมุมสูงของเรือกสวนไร่นาของเรา ซึ่งหากเราถ่ายภาพในช่วงต่างๆ ของการเพาะปลูก ก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบให้ได้เห็นข้อมูลบางอย่าง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการเก็บภาพบ่อยๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี ก็จะยิ่งทำให้ข้อมูลมีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ
ไม่แน่นะครับ เลือกตั้งคราวหน้า นอกจากเด็ก ป. 1 จะได้ Tablet กันคนละเครื่องแล้ว เกษตรกรทุกคนอาจจะได้รับแจก drone กันคนละลำด้วยก็ได้ครับ .......