31 สิงหาคม 2557

ไอบีเอ็ม บุกเบิกโลกแห่งอาหารดิจิตอล



ไอบีเอ็ม (IBM) วิจัยและพัฒนาอาหารแนวใหม่ หรือ การปรุงอาหารแบบจิตสัมผัส (Cognitive Cooking) โดยให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เรียนรู้สูตรอาหารในโลกทั้งหมด คอมพิวเตอร์จะประมวลผลว่าวัตถุดิบอะไร จากที่ไหน เอามาทำอะไรได้บ้าง มันจะประมวลผลโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหาร ว่าทำไมคนถึงเอาวัตถุดิบอันนี้ มาอยู่กับอันนั้น ... แล้วมันก็จะแนะนำเมนูอาหารใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งคนน่าจะกินแล้วถูกปาก ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้ทดลองสูตรอาหารใหม่ โดยการส่งรถขายอาหารที่เรียกว่า Food Truck ออกไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐ เพื่อเก็บข้อมูลว่าเมื่อคนกินแล้วจะรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่

ในอนาคต ... ไอบีเอ็มต้องการจะเข้าไปเป็นผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ระบบไอทีในการจัดส่งวัตถุดิบ การบริหารร้านอาหาร บริหารเครือข่ายโลจิสติกส์ ไปจนถึงการสร้างอาหารประดิษฐ์ชนิดใหม่สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งในอนาคต เนื่องจากไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก และในสมัยที่เกิดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ PC ไอบีเอ็มเองก็เป็นผู้ให้สิทธิ์การผลิตคอมพิวเตอร์แก่บริษัทต่างๆ ... ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่ออุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ยุคของการผลิตแบบ 3 มิติ เกิดเครื่องพิมพ์อาหารแบบต่างๆ เกิดขึ้น ไอบีเอ็มก็จะครอบครองสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเครื่องพิมพ์ สูตรหมึกในการพิมพ์อาหาร (Food Ink) เครื่องกำเนิดรสชาติ (Favor Machine) ต่างๆ 

นับว่า เค้าคิดไกลจริงๆ นะครับ

Credit :
- Picture from http://payload.cargocollective.com/1/0/31063/386201/food_800.jpg
- Picture from http://blog.ice.edu/wp-content/uploads/2014/03/FoodTruck-PR-Photo-550x367.jpg

27 สิงหาคม 2557

เครื่องเลี้ยงแมลง - อนาคตแหล่งโปรตีนโลก



ความคิดสร้างสรรค์ที่น่ายกย่องเรื่องหนึ่งของคนอีสานคือ การรู้จักนำแมลงมาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหนอนรถด่วน ไข่มดแดง จิ้งหรีด ด้วงมะพร้าว ตัวอ่อนผึ้ง ตั๊กแตน เป็นต้น สหประชาชาติถึงกับรณรงค์ให้ประชากรโลกหันมากินแมลงกันเยอะๆ เพราะแมลงเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีแมลงอยู่ตั้ง 1,900 ชนิดที่มนุษย์สามารถรับประทานได้ การเพาะเลี้ยงแมลงยังช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์พวก หมู ไก่ วัว มีการประเมินกันว่าในปี ค.ศ. 2050 โลกต้องการอาหารเนื้อสัตว์เพิ่มอีก 50% แล้วจะไปเอาเนื้อสัตว์จำนวนนี้มาจากไหนหล่ะครับ ก็ต้องแมลงนี่แหล่ะ โลกจึงต้องการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างจริงจัง ..... ท่านผู้อ่านอาจจะตกใจ ถ้าผมจะบอกว่า ในภาคอีสานของเราเองนั้น มีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ถึง 20,000 ฟาร์ม และมีการผลิตแมลงสำหรับรับประทานมากถึงปีละ 7,500 ตันเลยทีเดียวครับ น่าสนใจมากครับ เราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ผลิตแมลงส่งออกระดับโลกในไม่ช้านี้ก็ได้

ในช่วงหลังๆ นี้ ฝรั่งเริ่มมาสนใจในเรื่องของการบริโภคแมลงอย่างจริงจังมากขึ้น จนเกิดแนวคิดในเรื่องของการสร้างเครื่องเลี้ยงแมลงขึ้นมา เพื่อผลิตแมลงใช้บริโภคเองในบ้าน โดยต้องการให้เครื่องนี้เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากหม้อหุ้งข้าวอัตโนมัติ ซึ่งไม่นานมานี้เอง นักออกแบบสาวชาวออสเตรียชื่อ แคทรีนา อุงเกอร์ (Katharina Unger) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนแมลงที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Farm 432 โดยเครื่องนี้ทำงานแบบอัตโนมัติในการเลี้ยงตัวอ่อนแมลงชนิดหนึ่ง วิธีการทำงานคือ เราจะใส่ไข่ของแมลงเป้าหมายลงไปในช่องๆ หนึ่ง เหมือนใส่น้ำยาซักผ้าลงไปในเครื่องซักผ้าแหล่ะครับ จากนั้นเครื่องจะทำงานในการปรับสภาพอุณหภูมิและความชื้น ไข่จะฟักเป็นตัวแมลง แมลงจะผสมพันธุ์ และกินอาหารต่างๆ ที่เราจะป้อนเข้าไปในช่องวัตถุดิบ จากนั้นแมลงจะวางไข่ และไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะไต่ขึ้นไปในช่องไต่ แล้วตกลงไปในถ้วยเก็บ เราก็เอาตัวอ่อนนั่นแหล่ะครับไปทำเป็นอาหารได้เลย โดยอาจจะแบ่งตัวอ่อนส่วนหนึ่ง นำกลับมาป้อนใส่เครื่องเพื่อผลิตตัวอ่อนแมลงไว้กินในมื้อต่อไป แคทรีนาบอกว่า เจ้าเครื่องที่เธอออกแบบนี้สามารถเปลี่ยนไข่ของแมลง 1 กรัม ให้เป็นอาหาร 2.4 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 432 ชั่วโมง ไม่เลวเลยใช่มั้ยครับ

เห็นหรือยังครับว่า แนวคิดใหม่ๆ กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ของการผลิตและบริโภคอาหาร เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ .... ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังครับ กับการเข้ามาของ Digital Food !!!

(Credit - Picture from http://www.dailymail.co.uk/)

25 สิงหาคม 2557

The Future of Rubber - อนาคตของยางพารา



เราควรจะลงทุนปลูกยางหรือไม่ ช่วงนี้ หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยางพาราก็ลงเอาๆ จนราคาถูกน่าซื้อ แต่ ... จริงๆ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับยางพาราหรือไม่ ... มาลองดูผลวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพานิชย์ กันครับว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ยางไทยจะเป็นอย่างไร

- จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV คำถามคือ การขยายพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทยลดลงหรือไม่ ?

- จากการวิเคราะห์พบว่า ผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต

- คาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน ดังนั้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

- ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022

- ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพาราเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา 

- จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLM แรงงานกรีดยางในภาคใต้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศ CLM โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่กรีดยางในประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นราว 2.6 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อกรีดยางในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการกรีดยาง อาจจะกลับไปในประเทศของตน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาแรงงานไว้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้แรงงานกรีดยางเพิ่มขึ้น

Credit - คุณ เกียรติศักดิ์ คำสี (ผู้เขียนบทความ) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB
ที่มา http://scbeic.com/THA/document/note_20131030_rubber/