16 กุมภาพันธ์ 2557

ไทยแลนด์ แดนแห่งความหวาน


ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความหวานจริงๆ ครับ คนไทยกินน้ำตาลกันคนละ 38 กิโลกรัมต่อคน ต่อปี มากกว่า คนอเมริกัน คนยุโรป คนอินเดีย และคนจีนครับ ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือ 23 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ครับ

ประเทศไทยปลูกและได้ผลผลิตอ้อยมากเป็นอันดับ 4 ของโลก มีผลผลิต (ค.ศ. 2011) ปีละ 96 ล้านตัน (ปัจจุบันเกิน 100 ล้านตันแล้ว) บราซิลผลิตได้อันดับ 1 ของโลก เท่ากับ 734 ล้านตัน รองลงมาคือ อินเดีย เท่ากับ 342 ล้านตัน และ จีน เท่ากับ 115 ล้านตัน

ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้เป็นอันดับ 5 ของโลก (ค.ศ. 2011) เท่ากับ 11.3 ล้านตัน รองจาก บราซิล (39 ล้านตัน) อินเดีย (27.8 ล้านตัน) อียู (18.5 ล้านตัน) จีน (12.2 ล้านตัน)

ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลได้เป็นอันดับ 2 ของโลก (ค.ศ. 2011) เท่ากับ 8.5 ล้านตัน รองจากบราซิล (27.6 ล้านตัน)
คนไทยดื่มโคคาโคล่า (ค.ศ. 2012) เท่ากับ 26.7 ลิตร ต่อคนต่อปี ค่าเฉลี่ยของทั้งโลก เท่ากับ 22.2 ลิตร ต่อคนต่อปี

(Credit - Picture fromhttp://www.wisegeek.com/http://glossi.com/)

05 กุมภาพันธ์ 2557

Creative Economy กับเกษตรไทย



เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว เราจะค่อนข้างได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บ่อยมาก นัยว่าในมุมมองของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น คิดว่าคนไทยเราน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างดี เศรษฐกิจแบบนี้จึงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า Knowledge-Based Economy หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ในยุคก่อนหน้าสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ในที่สุด พวกเราเองคงจะรู้ตัวว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตความรู้ขึ้นใช้เอง เนื่องจากสังคมของเรายังอ่อนแอ ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโดยทั่วไป เขามักจะวัดกันที่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสิทธิบัตร ซึ่งเรายังแพ้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

Creative Economy วางจุดโฟกัสที่ตัวผู้ผลิตสินค้าว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลิตสิ่งที่เป็นของใหม่ๆ มีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง Creative Economy ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายถึง "แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)"

ดังนั้น ความหมายของ Creative Economy ในมุมมองของไทย คือการเน้นความเป็นไทย อันได้แก่ ความสามารถด้านศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรม จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ และอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาจากสมัยโบราณ ไม่ใช่ Creative Economy ที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็น Creative Economy ที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรร ที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องครับ เพียงแต่ สินค้าที่เราคิดว่า creative ต่างๆ นี้ มันสามารถที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้จริงหรือไม่ ? ตลาดต่างๆ นอกประเทศไทยจะพึงพอใจสินค้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเรามากเพียงใด เราจะแข่งกับสินค้าอารมณ์จากเกาหลีได้หรือไม่

ในมุมมองของผม ผมฝันถึง Creative Economy ที่อาศัยสินค้าเกษตรเป็นฐานครับ เพราะเรามีสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวที่มีจุดเด่น เอกลักษณ์ และน่าจะผสมผสานความเป็นไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟอะราบิก้า ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน มะม่วง และผลไม้หลากชนิด สมุนไพรไทย อาหารไทยอย่าง ต้มยำกุ้ง และ ผัดไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

มาร่วมกันสร้าง Creative Economy ในภาคเกษตรกันครับ

(Credit - Picture fromhttp://www.elearneasy.com/http://www.liveinternet.ru/http://nenuno.co.uk/)