31 กรกฎาคม 2555

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 3)


ใกล้เข้าพรรษาแล้ว หลายๆท่านคงคิดถึงเรื่องทำบุญกัน ผมมีเพื่อนหลายคนครับที่พยายามจะงดดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ในระหว่างเข้าพรรษา ช่วงนี้บรรยากาศออกแนวพุทธ พุทธ ผมเลยขอคุยต่อในเรื่องของแนวโน้มใหม่ ที่เราอาจจะมีโอกาสทำบาปน้อยลงจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงเรื่องการ "ปลูกเนื้อสัตว์" หรือ in vitro meat ซึ่งจะทำให้เราปลูกสัตว์ได้เหมือนปลูกพืช ซึ่งเราจะสามารถปลูกน่องไก่ ตับหมู เนื้อสันนอก เนื้อสันใน เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ผมเคยพูดถึงเรื่องการทำไร่ในอาคารสูง ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นอนาคตของเกษตรกรรม เพราะการผลิตพืชอาหาร จะย้ายจากชนบทมาสู่เมือง เป็นการนำสถานที่ผลิตมาอยู่ใจกลางสถานที่บริโภค เขาวิจัยออกมาแล้วครับว่า การอยู่ในเมืองมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและทรัพยาการมากกว่าการกระจายกันอยู่ในชนบท ถ้ามนุษย์ทั้งหมดย้ายเข้ามาอยู่รวมกันในเมือง เราสามารถคืนพื้นที่การเกษตรกลับสู่ธรรมชาติ ปล่อยให้ป่ากลับสู่สภาพเดิมของมัน การทำไร่ในอาคารสูงสามารถที่จะทำในจุดที่มีการบริโภค เช่น บนอาคารมีการผลิตพืชผักแล้วขายในซูเปอร์มาเก็ตชั้นล่างได้เลย หากนำเทคโนโลยีการทำไร่ในอาคารสูง มารวมกับเทคโนโลยีปลูกสัตว์ เราก็จะได้ระบบเกษตรกรรมในเมือง (Urban Agriculture) ที่สมบูรณ์แบบครับ มีทั้งการผลิตพืชและสัตว์ในเมือง เมืองจะเป็น Sustainable City ไม่ต้องพึ่งพาชนบทอีกต่อไป

อีกหน่อย วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา จะไม่มีรถติดแล้วครับ เพราะไม่ต้องมีใครกลับบ้านไปทำบุญแล้ว ในเมื่อชนบทไม่มีคนอยู่แล้ว ทุกที่ที่ไม่ใช่เมืองจะเป็นป่า และ อุทยานแห่งชาติ จะว่าไปแล้วในสมัยก่อน การตั้งอาณาจักรก็จะรวมกันอยู่ในชุมชนใหญ่ๆ เป็นนครและหัวเมืองเท่านั้น ไม่มีใครอยู่ในชนบทหรอกครับ เพิ่งจะไม่นานมานี้ ที่การทำเกษตรเพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้นทำให้มนุษย์ไปบุกป่า และอาศัยอยู่ในชนบทมากขึ้น แต่ในอนาคตเราจะเลิกอยู่ในชนบท แล้วกลับมารวมกันอยู่เป็นเมืองใหญ่ เหมือนเดิมอีกครั้ง ...... ผมฝันถึงวันนั้นครับ .....


(ภาพบน - วัวเป็นสัตว์ที่น่ารักไม่ต่างอะไรจากหมีแพนด้า แต่เนื้อของมันก็อร่อย .... เมื่อไหร่เราจะเลิกเบียดเบียนพวกมันได้เสียที .....)

24 กรกฎาคม 2555

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 2)


เหตุผลหนึ่งในการที่คนเราทานมังสวิรัติ ก็เพื่อจะเลิกเบียดเบียนชีวิตสัตว์ที่ต้องตกเป็นอาหารให้แก่มนุษย์เรา สัตว์เหล่านั้นไม่เพียงแต่ต้องเจ็บปวด ณ เวลาที่โดนฆ่าเพื่อนำมาทำอาหารเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์แบบโรงเรือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังเป็นการทรมานพวกมันตั้งแต่เกิดจนตาย ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ขนาด 25 x 100 เมตร มีไก่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหนาแน่นนับหมื่นตัว หมูก็อยู่อย่างแออัดไม่แพ้กัน สัตว์เหล่านี้ไม่เคยได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน มันตื่นขึ้นมากินอาหารที่ไหลผ่านมาด้วยระบบอัตโนมัติ ขับถ่ายแล้วก็นอน รอวันที่จะถูกนำไปประหาร

พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สัมมาอาชีวะก็เป็นมรรคข้อหนึ่ง นั่นคือ การมีอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างที่ทำกันในปัจจุบันเป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ยังต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จึงอาจจะไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่สมบูรณ์ แต่ในอนาคตการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะเป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเราจะไม่เลี้ยงสัตว์ แต่จะใช้การ "ปลูกสัตว์" แทนครับ

ในต่างประเทศได้มีการก่อตั้งองค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า In Vitro Meat Consortium โดยจะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ต่อไป เราจะได้ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาทำอาหาร แต่เราจะใช้การปลูกเนื้อเยื่อ โดยการนำเซลล์กล้ามเนื้อของสัตว์ที่เราอยากกินมาเลี้ยง ด้วยการป้อนสารโปรตีนเข้าไป เซลล์ที่จะใช้เริ่มกระบวนการก็มักจะเป็นสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะต้องทำให้มีระบบเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์เหล่านี้ เพื่อให้เซลล์มีการเติบโตเสมือนมันอยู่ในสัตว์จริงๆ ซึ่งก็มีคนพยายามจดสิทธิบัตรในเรื่องนี้แล้วด้วยครับ

21 กรกฎาคม 2555

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 1)


จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมเคยสงสัย และถามผู้ใหญ่ว่าทำไมคนเราถึงต้องกินสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ทำไมคนเราถึงต้องพรากชีวิตอื่นเพื่อเป็นอาหารให้ตัวเองอยู่รอด ทำไมเรากินหญ้าแบบวัวไม่ได้ เวลาผมเดินผ่านร้านข้าวหน้าเป็ดหรือข้าวมันไก่ เห็นเขาเอาเป็ดไก่ทั้งตัวมาแขวนเอาหัวลง ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่ถ้ามีสิ่งมีชีวิตที่เจริญกว่าพวกเรา เช่น มนุษย์ต่างดาว มาบุกยึดโลก มนุษย์ต่างดาวพวกนั้นอาจจะกินพวกเราเป็นอาหาร แล้วก็เอาพวกเรามาแขวนโชว์หน้าร้านอาหารแบบนี้บ้าง หรือ เราอาจจะโดนจับใส่ในเข่งแล้วมีมนุษย์ต่างดาวมาชี้ว่าวันนี้จะเอาคนไหนไปกินเป็นอาหารดี ......

ในระยะหลังๆ ได้เริ่มมีความสนใจที่จะผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ (จะได้ไม่ต้องฆ่าสัตว์) หรือหากต้องฆ่าสัตว์ก็ขอให้สัตว์ไม่ทรมาน ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น กันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ จะว่าไปแล้วระบบปศุสัตว์หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันมีข้อเสียหลายอย่างครับ เช่น (1) การเลี้ยงสัตว์ทำในคอกหรือโรงเรือนแออัด ทำให้สัตว์ทรมาน (2) มีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะสัตว์อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด (3) มีการใช้ยาปฏิชีวนะค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องการให้เกิดโรคในข้อ 2 ยาพวกนั้นเหลือมาให้พวกเรานี่แหล่ะครับ รับประทานกัน (4) ฟาร์มเหล่านี้สร้างมลภาวะทางกลิ่นต่อชุมชนอาศัยที่อยู่ใกล้เคียง

ก่อนหน้านี้ ผมได้ออกไปปฏิบัติงานวิจัยภาคสนามที่ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ฟาร์มแห่งนี้เริ่มมีปัญหากับชุมชนรอบข้างฟาร์ม เนื่องมาจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเรื่องของกลิ่นขี้หมู ทางฟาร์มต้องการให้นำ Electronic Nose ไปใช้ศึกษาการลดกลิ่นขี้หมูในฟาร์ม เนื่องจากเราเคยมีผลการทดลองวัดกลิ่นขี้หมูจากฟาร์มหมูที่ จ. ปราจีนบุรีมาก่อน ซึ่งมีผลการทดลองที่ค่อนข้างน่าพอใจว่า Electronic Nose น่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัด "การเหม็น" ของกลิ่นขี้หมูได้ เนื่องจากเรื่องของกลิ่นขี้หมูนี้ คนที่บอกว่าเหม็น อีกคนอาจบอกว่า "พอทนได้" ก็ได้ ดังนั้นเวลาจะเจรจาความกันมันเลยไม่เคยลงตัวเสียที
โดยปกติ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์บก ประเภท หมู เป็ด ไก่ นัก ชอบกินอาหารทะเล โดยเฉพาะปลา มากกว่าครับ การที่ผมได้ไปเห็นเนื้อหมูจากแหล่งกำเนิด คือ ฟาร์มหมู เลยยิ่งทำให้ผมไม่อยากกินหมูเข้าไปใหญ่ มานั่งนึกดูว่า เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต เราสามารถที่จะ "ปลูก" เนื้อสัตว์ขึ้นมาเหมือนกับเราปลูกพืช ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อครับว่า เทคโนโลยีในการปลูกสัตว์อาจเป็นอนาคตของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็ได้ครับ

20 กรกฎาคม 2555

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 11)




เรื่องของพืช เป็นอะไรที่วิทยาศาสตร์ในยุคนี้เริ่มกลับมาค้นหาเชิงลึก ดังที่ผมชอบที่จะนำเรื่องความฉลาดของพืชมาเล่าให้ท่านฟังบ่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ว่าพืชมี "ปัญญา" รู้จักแก้ปัญหา มันสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ มันมีระบบสังค แค่นี้สำหรับบางคนก็แปลกใจแล้วครับ ว่าพืชคุยกันสื่อสารกันได้ด้วยเหรอ แล้วถ้าผมจะบอกท่านผู้อ่านต่อไปอีกว่า พืชก็สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยนะ ท่านผู้อ่านคงจะยิ่งประหลาดใจ หาว่าผมพูดเล่น ....

ท่านผู้อ่านที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Avatar จะสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยากครับ เราจะเห็นว่าชาวนาวีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้ชีวิตแอบอิงกับต้นไม้ ตั้งแต่การอยู่อาศัยเป็นนิคมบนต้นไม้ใหญ่ อาหารการกิน ยารักษาโรค แม้แต่การเลือกคู่ครอง ยังต้องไปแสดงบทรักใต้ต้นไม้ที่เป็นจิตวิญญาณของชนเผ่าที่มีชื่อว่า Eywa ต้นไม้ต้นนี้มีรากอากาศ ที่มีปลายประสาทมากมาย ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมต่อกับปลายประสาทของชนเผ่า Navi ได้ ชนเผ่านี้จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต้นไม้ต้นนี้ได้ แม้กระทั่งหากมีใครต้องหมดอายุขัยที่จะต้องตายไป ร่างของเขานั้นจะถูกนำไปไว้ใต้ต้นไม้นี้ เพื่อให้ปลายประสาทของต้นไม้มาต่อเชื่อมกับสมองของคนที่จะตาย เพื่อที่ข้อมูล ความรู้ ปัญญาต่างๆ ของคนผู้นั้นจะถูกถ่ายเทไปที่ต้นไม้ องค์ความรู้ที่สะสมมาของผู้ที่จากไปก็จะไม่สูญหายไปไหน แค่นี้ยังไม่พอครับ .... ต้นไม้ต้นนี้ยังเชื่อมกับต้นไม้อื่นๆ ผ่านปลายประสาทที่ราก โยงใยกันเป็นเครือข่ายที่ไม่รู้จบ ทำให้ต้นไม้ทั้งหมดของดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า แพนดอรา นี้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายประมวลผลที่ซับซ้อนมากครับ

แล้วตอนหน้า ผมจะนำรายงานการวิจัยฉบับหนึ่ง ที่ค้นพบว่า พันธุกรรมของมนุษย์ มีส่วนเชื่่อมโยงกับต้นไม้ เหมือนกับว่า เรากับต้นไม้ ก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากครับ ....

17 กรกฎาคม 2555

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 10)


เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย มิให้พระภิกษุสงฆ์ตัดถอนต้นไม้โดยไม่มีเหตุอันควร ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ใช้ต้นไม้เป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และปรินิพพาน

นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจความน่าทึ่งของต้นไม้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ที่ผ่านมา ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนธรรมดา ไม่มีเรื่องของความฉลาดเลย แต่หลักฐานใหม่ๆ กลับปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต้นไม้อาจมีระบบสื่อสาร และระบบทางสังคม ที่ใช้ช่องทางที่แตกต่างจากพวกเราอย่างสิ้นเชิง ดังที่ผมได้นำมาเล่าให้ฟังในบทความเป็นตอนๆ ก่อนหน้านี้

ความน่าทึ่งเกี่ยวกับพืชในตอนนี้ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ฟังก็คือ "ต้นสน" ซึ่งเป็นพืชที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 300 ล้านปี มันผ่านช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนตัวของทวีปเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว จากนั้นได้ผ่านมาอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ จนกระทั่งเกิดการชนของอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด มันก็ยังอยู่รอดมาได้ สนเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วโลก เฉพาะในแคว้นแยมแลนด์ (Jamtland) ของสวีเดนที่เดียว ก็มีมวลรวมของต้นสนมากกว่าน้ำหนักของมนุษย์รวมกันทั้งโลกอีกครับ

สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งของสนก็คือ มันมีดีเอ็นเอ (DNA) ยาวกว่ามนุษย์ถึง 7 เท่า ซึ่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าในโครโมโซม 12 คู่ที่เก็บดีเอ็นเอเหล่านั้น มียีนอยู่กี่ตัว อาจจะเพราะด้วยขนาดอันมหึมาของรหัสพันธุกรรมของมัน จึงยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มไหนอยากจะไขปริศนานี้ เพราะอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับความรู้ในเรื่องนี้

แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะให้ทุน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของสน ทั้งนี้เพราะ สน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของสวีเดน เปรียบเช่น ข้าว ของเมืองไทยเราเลยครับ ศาสตราจารย์โอเว นิลสัน (Professor Ove Nilsson) ซึ่งเป็นประธานของโครงการนี้ได้กล่าวว่า "การมีแผนที่พันธุกรรมอย่างสมบูรณ์ของต้นสน จะปฏิวัติงานวิจัยเกี่ยวกับสนของประเทศสวีเดนเลยเชียวครับ และมันจะทำให้ต่อไปภายภาคหน้า เราจะนำต้นสนมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ผมเคยเขียนเรื่อง นาโนวนศาสตร์ (Nanoforestry) และเคยพูดไว้ว่า ต้นไม้กำลังจะกลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ที่จะมาแทนปิโตรเคมีในอนาคตครับ .....

16 กรกฎาคม 2555

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 5)






ช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหารได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก อย่างชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย หลายๆ คนพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในคณะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า เหตุผลของการ "แพงทั้งแผ่นดิน" นั้นเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการค้ากำไรเกินควรของบริษัท ปตท. มานานแล้ว ได้ออกมาประณามบริษัทนี้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ปตท. เป็นสาเหตุทำให้ข้าวของแพง เพราะทำให้ต้นทุนพลังงานแพง

เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งเวลานั้นมีการคาดการณ์กันว่าราคาของอาหารจะถีบตัวสูงขึ้น และประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางด้านอาหาร อาจจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารก็ได้ในอนาคต เนื่องจากศักยภาพในการผลิตอาหารที่ลดลงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ อาหารได้กลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่กองทุนข้ามชาติ ให้ความสนใจเพื่อปั่นราคาทำกำไรแทนน้ำมัน ทำให้วิกฤติที่กำลังกลายเป็นโอกาสของคนไม่มีกลุ่ม อาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ลามสร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งโลก

ก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกว่า ประเทศที่ส่งออกพลังงานและเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะต้องการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารมากขึ้น ประเทศในตะวันออกกลางกำลังขะมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชในสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ในขณะที่ประเทศยุโรปกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการตื่นตัวครั้งใหญ่ ถึงขั้นจะปฏิรูประบบอาหารกันขนานใหญ่เลยครับ นายแฟรงค์ ดี ลูคัส (Frank D. Lucas) ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติ (2012 Farm Bill) ของรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ผลงานของคณะกรรมาธิการด้านเกษตร รวมไปถึงการร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จะกระทบวิถีชีวิตของชาวอเมริกันทุกคนเลยล่ะครับ เราจะสร้างความมั่นใจให้ได้ ว่าเกษตรกรอเมริกันจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พวกเขาต้องการ ในการผลิตอาหารแบบยั่งยืน โดยเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เทียบเท่ากับการป้องกันประเทศนี้"

เป็นที่รู้กันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบของธุรกิจเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่เน้นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ที่เน้นการใช้เทคโนโยี เครื่องจักรกล สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบริษัททางด้านเกษตรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซีพี เบทาโกร พยายามจะนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศของเราซึ่งเป็นการเกษตรแบบครอบครัว ที่เน้นการทำกินในพื้นที่เล็กๆ แบบพอเพียง มาเป็นเกษตรอุตสากรรม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกษตรแบบอุตสาหกรรมได้ตกเป็นจำเลย เป็นตัวการในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายแหล่งน้ำและผืนป่า ทำให้ในระยะหลังๆ มานี้ ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปการเกษตรเสียใหม่ เพื่อหวนคืนกลับมาสู่เกษตรแบบพอเพียง ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลง มีครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำมาหากินแบบวิถีเกษตรกรมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะหยุดความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม และทำให้ระบบผลิตอาหารมีความมั่นคงมากขึ้น

ร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2012 นี้ จะเน้นวิถีเกษตรกรมากขึ้น โดยส่งเสริมเกษตรกรรมแบบครอบครัว เกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบประณีต ที่เน้นความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นหลัก เกษตรกรเจ้าเล็กๆ จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้เงินงู้ดอกเบี้ยต่ำ ได้ค่าชดเชยต่างๆ เพื่อคืนที่ดินบางส่วนให้กลับสู่ธรรมชาติ ป่าชุมชนจะได้รับการรื้อฟื้นเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว คละแซมไปกับพื้นที่เกษตรกรรม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าบางชนิดที่อาจปรับตัวอยู่กับชุมชนเกษตรได้ กฏหมายฉบับนี้จะสนับสนุนให้มีการนำงบประมาณมาใช้เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และปรับพื้นที่เกษตรกรรมเสียใหม่ เกษตรกรรายเล็กๆ จะได้รับเงินและเทคโนโลยี พร้อมความหวังว่าจะเป็นรากฐานความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ระบบอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต มุ่งสู่อาหารที่รู้ที่ไปที่มา อาหารที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกลับมาได้รับความนิยม และเป็นพื้นฐานของชุมชมทำเองกินเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะกลับมาในอนาคต



15 กรกฎาคม 2555

Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 10)


ผมเขียนบทความเรื่องแมลงชีวกล ตอนแรก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 และผมก็ทยอยเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จากที่ได้ติดตามดูความคืบหน้ามาเป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น ได้มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากครับ หลายมหาวิทยาลัยสามารถที่จะควบคุมการบินของแมลง โดยการฝังวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในสมองแมลงแล้ว รวมทั้งยังมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ซึ่งผมจะนำมาเล่าเพิ่มเติมให้ฟังในวันนี้

โครงการวิจัยแมลงชีวกลนี้ เกิดจากแนวคิดของ DARPA (หน่วยงานให้ทุนวิจัยของเพนทากอน) ที่ต้องการจะนำแมลงมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการทหาร โดยการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าไปที่ตัวแมลง แล้วทำให้แมลงทำงานแบบที่สั่งได้ เป็นชีวิตกึ่งจักรกล DARPA ต้องการเอาแมลงชีวกลนี้ไปใช้เพื่อ

(1) การลาดตระเวณในเมือง เพื่อสืบราชการลับและเก็บข้อมูล โดยแมลงอาจติดตั้งกล้องขนาดจิ๋ว ไมโครโฟน แล้วส่งเข้าไปหาข่าว บันทึกภาพและการสนทนาของเป้าหมาย และเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมโดยสามารถเล็ดลอดเข้าไปในเคหสถานของเป้าหมายได้ง่าย

(2) แทรกซึมเข้าไปในฐานที่ตั้งของข้าศึก
โดยหน่วยรบพิเศษสามารถปล่อยฝูงแมลงชีวกลนี้เข้าไปในฐานที่มั่นของข้าศึก เพื่อสืบทราบตำแหน่งยุทโธปกรณ์หลัก การวางกำลังของข้าศึก และเก็บข้อมูลอื่นๆ

(3) ตามหาเป้าหมายที่ต้องการ
เช่น การหาตำแหน่งที่แน่นอนของพลซุ่มยิงฝ่ายศัตรู หาตำแหน่งของหัวหน้าผู้ก่อการร้าย หรือ เก็บภาพจุดที่จะเข้าจู่โจม โดยเฉพาะสงครามในสภาพที่เป็นเมือง

(4) ใช้บรรทุกสัมภาระซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์ หรือ สารเคมี หรือ สารชีวภาพ เพื่อภารกิจบางอย่าง

(5) ใช้ไปเก็บตัวอย่างในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตัวอย่างดิน ตัวอย่างน้ำ

โดยงานวิจัยด้านแมลงชีวกลนี้ เท่าที่ผู้อ่านได้สำรวจเปเปอร์ต่างๆ พบว่าไม่มีประเทศไหนในโลก นอกจากสหรัฐอเมริกาที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอันที่จริง ความก้าวหน้าในการวิจัยเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้เทคโนโลยีแมลงกึ่งจักรกลแล้ว องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาแมลงยังสามารถต่อยอดไปยังศาสตร์อื่นๆ ได้อีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน หุ่นยนต์ศาสตร์ ประสาทวิทยา หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคสมอง หลายคนคิดว่าแมลงเป็นสัตว์ที่กระจอก ดูง่ายไม่ซับซ้อน และคงคิดว่าถ้าเรารู้จักแมลงดีแล้ว คงจะต่อยอดสูงขึ้นไปเพื่อทำอะไรกับสัตว์ใหญ่ๆ แต่แท้จริงแล้ว แมลงมีความซับซ้อนไม่แพ้สัตว์ใหญ่เลย แถมแมลงหลายชนิดยังมีพฤติกรรมแบบฝูงที่ซับซ้อน และฉลาดอีกต่างหากด้วย

ความที่แมลงเป็นสัตว์เล็ก ทำให้การจะนำอุปกรณ์จิ๋วไปติดไว้กับแมลง ก็จะมีปัญหาเรื่องพลังงานที่จะใช้สำหรับอุปกรณ์นั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบตเตอรีขนาดจิ๋ว ที่มีความจุสูงแต่น้ำหนักเบา นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคส เวสเทอร์น รีเสริฟ (Case Western Reserve University) ได้ศึกษาวิธีการนำพลังงานในตัวแมลงมาใช้ เพราะเมื่อแมลงกินอาหารเข้าไป มันก็จะย่อยให้ได้น้ำตาล ซึ่งเป็นสารให้พลังงานในการดำรงชีพของมัน ดังนั้นการนำเอาสารพลังงานของมันมาใช้จึงนับเป็นแนวคิดที่ฉลาดมากๆ ครับ จากผลงานวิจัยที่เปิดเผยในวารสาร Journal of the American Chemical Society (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Michelle Rasmussen, Roy E. Ritzmann, Irene Lee, Alan J. Pollack and Daniel Scherson, "An Implantable Biofuel Cell for a Live Insect", Journal of the American Chemical Society 2012, 134(3), pp 1458-1460) นักวิจัยได้ทำการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปตัวของแมลงสาบ ซึ่งสามารถวัดกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกมาได้ประมาณ 60 ไมโครแอมป์ต่อตารางเซ็นติเมตร โดยมีความต่างศักย์ 0.2 โวลต์ กระแสปริมาณนี้ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็เพียงพอสำหรับการป้อนให้แก่อุปกรณ์ขนาดจิ๋ว ซึ่งอาจพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต โดยอาจจะประจุกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเข้าเก็บไว้ในแบตเตอรีขนาดจิ๋วตลอดเวลา แล้วค่อยนำออกมาใช้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งการเสียบขั้วไฟฟ้าเพื่อไปดักจับอิเล็กตรอนจากตัวของแมลงสาบเพื่อนำออกมาใช้นี้ แมลงสาบก็ไม่ได้เจ็บและรำคาญแต่อย่างใดครับ เพราะระบบไหลเวียนเลือดของมันนั้น ไม่เหมือนกับมนุษย์เรา มันไม่ได้เป็นเส้นเลือดแบบของเรา แต่เป็นช่องเปิดที่มีของเหลวไหลผ่านได้ง่าย

เล่าต่อในตอนหน้านะครับ ....

Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 9)


ในภาพยนตร์อะนิเมชันเรื่อง G-Force เราจะได้เห็นแมลงวันตัวหนึ่งที่มีชื่อว่าเจ้าหน้าที่มูช มันเป็นแมลงวันที่ติดตั้งกล้องวีดิโอ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เจ้าหน้าที่มูชทำหน้าที่ตรวจการณ์หน้า เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้สามารถเห็นภาพมุมสูง และภาพในระยะไกลได้ ถึงแม้เจ้าหน้าที่มูชจะไม่มีบทพูดในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่บทบาทของเจ้าหน้าที่มูชก็ทำให้ผมประทับใจเกือบจะที่สุดแล้ว ในจำนวนเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบราชการลับ

ก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าให้ฟังถึงโครงกาHi-MEMS ซึ่ง DARPA เป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนทุนวิจัย โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแมลงกึ่งหุ่นยนต์ที่สามารถบินเข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจ ตามความต้องการของกำลังรบ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้รับงบก้อนดังกล่าว และกำลังขยันขันแข็งเพื่อพัฒนาแมลงชีวกล เพื่อให้ทำงานได้ตามความต้องการของกองทัพ จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่ DARPA จะมาสนใจศาสตร์ทางด้านแมลงกึ่งจักรกลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ทำการศึกษาวิจัยแมลงชีวกลอย่างเงียบๆ มาพักหนึ่งแล้ว ภายใต้แนวคิดหลักทางด้านวิศวกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติในนามของ Laboratory for Intelligent Machine Systems หรือ LIMS พวกเขาจึงเป็นพวกที่ทำจริง และรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องแมลงกึ่งจักรกลเหล่านี้

ทิม ไรส์แมน (Tim Reissman) นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่ง LIMS กล่าวว่า "แมลงทหารเหรอครับ ผมว่าตอนนี้มันยังตัวใหญ่เกินไปครับ คงต้องรอให้เราสามารถเล่นกับแมลงตัวที่เล็กลงกว่านี้ แล้วก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดบนตัวมันที่เล็กกว่านี้" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านนี้ แม้จะเจ๋งในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กองทัพต้องการ ลองคิดเล่นๆ สิครับว่า ถ้ามีเจ้าแมลงขนาดสักฝ่ามือนึง บินผ่านเข้ามาในบ้านคุณ บนหลังของมันแบกน้ำหนักกล้องวีดิโอ เซ็นเซอร์ต่างๆ อุปกรณ์ส่งวิทยุ และแบตเตอรี มันพยายามจะมาสปายว่าคุณทำอะไรอยู่ คุณก็คงไม่เซ่อพอที่จะปล่อยให้มันหลุดรอดออกไปทางประตูแน่ๆ

และที่คอร์เนลนี่เอง ศาสตราจารย์ Ephrahim Garcia หัวหน้าห้องปฏิบัติการ LIMS ดังกล่าว ได้เน้นการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องพลังงานของแมลงชีวกล ด้วยการพยายามนำเอาพลังงานจากการเคลื่อนที่ของแมลง มาใช้ป้อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนแมลง คณะวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำมาจากวัสดุ piezoelectric material ที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเมื่อปีกแมลงมีการเคลื่อนที่ ก็จะทำให้เกิดการสั่นของวัสดุชนิดนี้ ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ศาสตราจารย์ Garcia หวังว่า เขาจะสามารถสร้างแมลงชีวกล ที่ติดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง GPS เซ็นเซอร์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องมีแบตเตอรีบนตัวแมลงเลย ...

วันนี้ผมมานอนที่ไร่องุ่นครับ ข้างนอกมืดมากๆ มีเพียงจุดที่ผมนั่งทำงานและพักหลับนอนอยู่นี้ ที่มีแสงไฟ เหล่าแมลงพากันบินมาชุมนุมตรงที่เรานั่งอยู่ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องแมลงหลงไฟ ก็อาจเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องแก้ เพื่อให้มันอยากปฏิบัติภารกิจมากกว่าบินตามไฟ ...